ประวัติพระราชวังพญาไท

เมื่อครั้งเป็นโรงนา

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ดินบริเวณถนน“ซางฮี้” (ปัจจุบันเรียก ซังฮี้) * ซึ่งเป็นที่สวนและนาบริเวณริมคลองสามเสนติดกับทุ่งพญาไท เนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ เป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบท แล้วโปรดให้สร้างพระตำหนักเพื่อเสด็จประพาส พระราชทานนามว่า "พระตำหนักพญาไท" แต่ชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า “วังพญาไท ”

ที่ตำหนักพญาไทแห่งนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดใช้เป็นที่ทดลองปลูกธัญพืชต่าง ๆ และทรงย้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจากทุ่งพระเมรุมาจัดที่นาหลวงคลองพญาไทแห่งนี้ เมื่อถึงฤดูทำนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงนำเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จลงดำนาด้วยพระองค์เอง

ณ ตำหนักพญาไทแห่งนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างโรงเรือนหลังแรกขึ้นคือ "โรงนา" และพระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท ”

หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จมาประทับที่วังพญาไท บ่อยครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสตรงกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๓ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เป็นผลให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวร พระอนามัยทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐาน จากในพระบรมมหาราชวังมาประทับที่วังพญาไทเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมให้ทรงสำราญและเพื่อความสะดวกของแพทย์ ที่จะถวายการรักษาตลอดจนพระประยูรญาติจะได้มีโอกาสเฝ้าเยี่ยมได้โดยง่าย

เมื่อเสด็จมาประทับนั้นปรากฏว่ามีผู้ติดตามมาอยู่ในพระราชสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวงวังพญาไท เป็นจำนวนร่วม ๕๐๐ คน มีทั้งพระประยูรญาติที่ใกล้ชิด ข้าหลวง โขลน จ่า ข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ซึ่งทุกคนจะได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือน เงินปี ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มอย่างอุดมสมบูรณ์ ตามสมควรแก่ฐานะโดยทั่วถึง

พ.ศ.๒๔๖๒ หลังจากที่สมเด็จ ฯ ประทับอยู่เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี ก็สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และได้โปรดเกล้าฯให้ยกวังพญาไทเป็นพระราชวังพญาไทเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี

เป็นพระราชฐานที่ประทับ

เมื่อทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับ จึงโปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน คงเหลือแต่เพียงท้องพระโรงหน้า ซึ่งโปรดให้สร้างถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีในตอนต้นรัชกาลเพียงองค์เดียว

ในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักอุดมวนาภรณ์จากพระราชวังดุสิต มาสร้างใหม่ที่ริมคลองพญาไท เป็นเรือนไม้สักสองชั้น พระราชทานนามว่า “พระตำหนักเมขลารูจี ” และเสด็จมาประทับเป็นครั้งคราวตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นต้นมา ขณะเดียวกันทรงวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียรสถานสำหรับประทับถาวรขึ้นใหม่

“พระตำหนักเมขลารูจี”

การสร้างพระที่นั่งกลุ่มใหม่นี้ใช้เวลาประมาณ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยมีลักษณะเรียงกันและเชื่อมต่อกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อให้คล้องจองกันดังนี้ คือ

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

พระที่นั่งพิมานจักรี

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์

พระราชมณเฑียรที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นหมู่พระที่นั่ง ๓ องค์ ได้แก่

พระที่นั่งพิมานจักรี

 พระที่นั่งพิมานจักรี  เป็นพระที่นั่งองค์ประธานสูง ๒ ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค  ลักษณะพิเศษ  คือ  มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช ( ธงครุฑ ) ธงจะถูกชักขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ภายในพระที่นั่งชั้นล่างประกอบด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ห้องธารกำนัล  ส่วนที่ประทับบริเวณชั้นสองเป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์หรือท้องพระโรงกลาง ภายในตกแต่งแบบยุโรป

ห้องธารกำนัล

ห้องธารกำนัล

ท้องพระโรงชั้น ๒

     ห้องต่อมาเป็น “ ห้องพระบรรทมพร้อมห้องสรง”ภายในตกแต่งลวดลายบนเพดานอย่างงดงามด้วยจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลาน และภาพพญามังกร ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา และปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ห้องพระบรรทม

ห้องพระบรรทม

ภาพพญามังกร

ภาพพญามังกร

      อีกห้องที่น่าสนใจของชั้นนี้คือ ห้องประทับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ภายในตกแต่งด้วยลายดอกไม้ บัวฝ้าเพดานเป็นลายหางนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี และห้องใต้โดมซึ่งคงเป็นห้องทรงพระอักษร เพราะยังปรากฏตู้หนังสือแบบติดผนัง เป็นตู้ขาวลายทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้

ตู้ขาวลายทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน  มีลักษณะศิลปะแบบโรมาเนสก์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง ๒ ชั้น แต่ได้มีการต่อเติมชั้นที่ ๓ ขึ้นภายหลัง เพื่อจัดเป็นห้องพระบรรทม ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓  สิ่งน่าสนใจของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ “ ห้องพระบรรทม ” ภายในมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง (Fresco Secco) บนฝ้าเพดาน เป็นรูปเทพน้อย ๔ องค์ พร้อมเครื่องดนตรีลอยอยู่ในท้องฟ้าเป็นวงกลม วาดด้วยฝีมือที่งดงามมาก   นอกจากนี้ในพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานยังมีห้องทรงพระอักษร ห้องพระสมุด และห้องพระภูษา

ห้องสมุด

ห้องสมุด

ห้องพระบรรทม

ห้องพระบรรทม

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส

            พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส    เดิมมีนามว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรีเป็นพระที่นั่งสูง ๒ ชั้น มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น ๒ ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังใกล้เพดานและบนเพดาน มีจิตรกรรมเป็นลายดอกไม้ ภาพชาย หญิง และแกะ ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก

ภาพเขียนสีแบบตะวันตก บนเพดานห้องชั้น ๒

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

 พระที่นั่งอีกองค์ที่น่าสนใจคือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ลักษณะท้องพระโรงได้รับอิทธิพลจากศิลปะไบเซนไทน์ คือ มีโดมอยู่ตรงกลางรองรับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้ง 4 ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา และมีอักษร “ สผ ” ซึ่งเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา บางครั้งก็ใช้เป็นโรงละครหรือโรงภาพยนตร์

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์

                  พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารที่เรียกว่า ตึกคลัง และน่าจะสร้างขึ้นในภายหลังจึงมีลักษณะแตกต่างไปจากพระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น แบบเรียบง่าย หลังคาชันน้อยกว่าและไม่มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมเขียนสี แต่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง ต่อมาได้เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระสุจริตสุดา พระสนมเอก จึงได้ต่อสะพานเชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์นี้กับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานในระดับชั้นที่ ๒

พระตำหนักเมขลารูจี

พระตำหนักเมขลารูจี

 พระตำหนักเมขลารูจี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักองค์นี้ขึ้นก่อนเพื่อเป็นที่ทรงงานวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียร และพระราชทานนามพระตำหนักองค์นี้ว่า พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ เป็นเรือนไม้สัก ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีภาพเขียนสีลายนกและมีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ต่อมา เมื่อการสร้างพระราชมณเฑียรแล้วเสร็จ และมีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งซึ่งอยู่ด้านตะวันออกที่เชื่อมต่อกับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ใช้นามว่า พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ จึงให้เปลี่ยนนามพระตำหนักแห่งนี้เป็น พระตำหนักเมขลารูจี

อาคารเทียบรถพระที่นั่ง

อาคารเทียบรถพระที่นั่ง

                       อาคารเทียบรถพระที่นั่ง ได้สร้างภายหลังจากการสร้าง พระราชวังพญาไท เรียบร้อยแล้ว อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี สำหรับเป็นลานเทียบรถพระที่นั่ง และเป็นห้องพักคอยของผู้รอเข้าเฝ้า 

สวนโรมัน

สวนโรมัน

นอกจากที่นี่จะมีพระที่นั่งที่งดงามหลายองค์แล้ว ก็ยังมี สวนโรมัน”   ซึ่งเป็นที่พักผ่อนอิริยาบถของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ โดยจัดแต่งสวนเป็นแบบเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน คือ มีศาลาทรงกลมตรงกลาง มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่ง ไม่มีหลังคา บริเวณบันไดทางขึ้น ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมัน ที่ด้านหน้าของทางขึ้นนี้ จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ ตรงกลางมีรูปพระพิรุณอยู่บนฐานซึ่งมีรูปมังกร อันเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ท่าน  

เป็นโฮเต็ลพญาไท

โฮเต็ลพญาไท

                กว่าจะมาเป็น พระราชวังพญาไท ดังที่ได้เห็นในปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมากมายในสถานที่แห่งนี้ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การที่จะดูแลรักษาพระราชวังแห่งนี้ให้ดำรงสภาพที่งดงามอยู่ตลอดไปนั้นจะต้องสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงทรงมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในเวลานั้น ว่าเห็นสมควรปรับปรุงพระราชวังให้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งเพื่อให้ชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับประเทศสยามได้ใช้เป็นที่พักอาศัย อันจะนำมาซึ่งรายได้สำหรับการบำรุงสถานที่ แต่ยังไม่ทันที่จะดำเนินการแต่ประการได พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อโฮเต็ลพญาไท (Phya Thai Palace Hotel) เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘

                 โฮเต็ลพญาไทจัดว่าเป็นโรงแรมที่หรูหรา และได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในภาคตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า มีนักดนตรีประมาณ ๒๐ คน คัดมาจากวงดนตรีของกองดุริยางค์ทหารบก และดนตรีวงนี้จะบรรเลงให้ลีลาศกันในวันสุดสัปดาห์ สลับกับการแสดงโชว์กับคณะนักร้องจากยุโรป และเมื่อหลวงสุขุมนับประดิษฐ์ จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาก็ได้นำวงดนตรีแจ๊ส เข้ามาบรรเลงที่โฮเต็ลแห่งนี้

            โฮเต็ลพญาไทได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารี่กรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๗๓

เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง

ในปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก “สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถาน ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท โดยได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสตอบ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถ่ายทอดจากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มาตามสายแล้วเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงสู่ประชาชนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

เป็นโรงพยาบาล

                  ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ โฮเต็ลพญาไทต้องประสบภาวะการขาดทุนอย่างมาก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมกำลังหาที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะกรรมการราษฎร์ จึงมีมติให้เลิกกิจการโฮเต็ลพญาไทและให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งที่ศาลาแดง และย้ายกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบก เข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไทเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕  ต่อมาในปี ๒๔๘๙ ได้มีการพัฒนากองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๑ เป็นโรงพยาบาลทหารบก โดยใช้เขตพระราชฐานพระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพบกจึงได้ขอพระราชทานนามโรงพยาบาลทหารบกว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”

                 ต่อมาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้สร้างอาคารใหม่และย้ายไปอยู่อาคารใหม่ ส่วนกรมแพทย์ทหารบกยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๒ จึงย้ายไปอยู่ที่บริเวณถนนพญาไท เขตราชเทวี และปรับปรุงพระราชวังพญาไทจนงดงามเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนให้เข้าชม

เป็นโบราณสถาน

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียน พระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระราชวังพญาไท

ท้าวหิรันยพนาสูร

 ในปีพุทธศักราช  ๒๔๔๙  ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ  เมื่อจะออกเดินทางไปในป่า  ผู้ที่ตามเสด็จพากันกลัวว่าจะเกิดภยันตรายต่างๆ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงเพื่อให้คลายกังวลว่า  เจ้าใหญ่นายโตเมื่อจะเสด็จที่ใดคงจะมีทั้งเทวดาและอสูรอันเป็นสัมมาทิษฐิคอยติดตามป้องกันภยันตรายมิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จฯ

ผู้ตามเสด็จผู้หนึ่งกล่าวว่า  ฝันเห็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต  แจ้งว่าชื่อ “หิรันย์” เป็นอสูรชาวป่าจะมาตามเสด็จเพื่อคอยดูแลและระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงมากล้ำกราย  เมื่อทรงทราบความพระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและอาหารไปเซ่นที่ในป่าริมพลับพลา  เวลาเสวยค่ำทุกวัน  และโปรดเกล้าฯให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยไปตั้งเซ่นเสมอ  หลังจากเสด็จประพาสมณฑลพายัพแล้ว  ข้าราชบริพารก็พร้อมกันเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสด็จ  เมื่อเสด็จอออกจากกรุงเทพฯด้วยเสมอ  และโปรดให้เซ่นหิรันยอสูรเป็นธรรมเนียมตลอดมา

                  เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจึงโปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดสูง  ๒๐  เซนติเมตร และพระราชทานนามใหม่ว่า  ท้าวหิรันยพนาสูร ( สะกดตามลายพระราชหัตถเลขา )  มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ

แรกสร้างมี ๔ องค์  องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ข้างพระที่ในห้องพระบรรทม  ปัจจุบันอยู่ที่วังรื่นฤดี  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา  สิริโสภาพัณณวดี  ยังคงให้มีการถวายเครื่องเซ่นเป็นประจำทุกวัน  องค์ที่ ๒  โปรดให้อัญเชิญไว้หน้ารถยนต์พระที่นั่ง  ปัจจุบันอยู่ที่หมวดรถยนต์หลวง  โดยอัญเชิญไว้บนหิ้งบูชา  องค์ที่ ๓  โปรดให้อัญเชิญไว้ที่กรมมหาดเล็กหลวง  ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งราชกรัญยสภา  ในพระบรมมหาราชวัง  และองค์สุดท้ายอยู่ที่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา  อดีตอธิบดีกรมมหาดเล็กหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๖

ในพ.ศ. ๒๔๖๕  เมื่อได้สร้างพระราชวังพญาไทเป็นที่ประทับถาวรเรียบร้อยแล้ว  ได้โปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ  มีพระราชพิธีบวงสรวง อัญเชิญท้าวหิรันยพนาสูรเข้าสิงสถิตในรูปสัมฤทธิ์ เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทสืบไป