ชุมชนคุณธรรมชุมชนพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ชุมชนคุณธรรมฯ ชุมชนพนัสนิคม  เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม (จำนวน ๑๒ ชุมชนย่อย) มีนายวิจัย  อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม เป็นผู้นำชุมชนฯ สามารถพัฒนาเมืองพนัสนิคมซึ่งมีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ส่งเสริมคนในชุมชนโดยใช้พลังบวร ให้มีความรัก ความสามัคคี เห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของวิถีชีวิตคนไทย จีน ลาว และร่วมมือ ร่วมใจที่จะรักษา สืบทอดเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นงานฝีมือจักสาน อาหารพื้นถิ่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน เป็นการเพิ่มคุณค่าทางทางสังคม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

เป็นชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแต่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งความดั้งเดิมในวัฒนธรรมประเพณี อัตลักษณ์ที่โดดเด่น ได้แก่ เป็นแหล่งจักสานใหญ่ที่สุดในโลก มีประเพณีบุญกลางบ้าน ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี  เป็นเมืองแห่งตำนานพระรถเมรี มีศิลปะการแสดงเอ็งกอ การทายโจ๊กปริศนา และอาหารพื้นบ้านที่โดดเด่น ได้แก่ ขนมก้นถั่ว หมี่แดงแกงลาว ขนมเทียนแก้ว ก๋วยเตี๋ยวเป็ด หมูเย็น ฯลฯ ดังคำขวัญชุมชน คือ “พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก”

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หอพระพนัสบดี พระพนัสบดีเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มีอายุประมาณ 1,200 – 1,300 ปี แกะสลักจากหินดำเนื้อละเอียดมาจากอินเดีย ประทับยืนบนหลัง  สัตว์ประหลาดที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ รูปร่างคล้ายนก 

ศาลเจ้าขอเล่ง ฉื่อปุยเนี้ยว สถานที่เคารพสักการะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยเชื้อสายจีน

พระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปปางมารวิชัย  (พระพุทธรูปมิ่งเมือง) (พนัสนิคม) เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย แกะสลักด้วยไม้ประดู่ ลักษณะเป็นศิลปะของชาวลาว สร้างในราว พ.ศ. 2371 เป็นการสร้างขึ้นของชาวลาวอพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบนี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในวัดร้าง วัดผ้าขาวใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นก่อนเป็นวัดแรกในเขตตำบลพนัสนิคม ต่อมาเทศบาลเมืองพนัสนิคม ได้ปรับปรุงสถานที่และบริเวณวัดร้างนั้น พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างหอพระเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน ณ ที่ตั้งพระอุโบสถเดิม

ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานจักสานด้วยไม้ไผ่ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูล และมีผลงานจักสานใหญ่ที่สุดในโลกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์

ถนนสายวัฒนธรรม “บ้าน สาน ใจ” กิจกรรมสืบทอดภูมิปัญญาการจักสาน  กิจกรรม “บ้าน สาน ใจ”  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชุมชนคุณธรรมฯ ชุมชนพนัสนิคม ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิด และดำเนินกิจกรรม ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์

งานประเพณีบุญกลางบ้าน งานประเพณีบุญกลางบ้าน  เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม ซึ่งจะจัดขึ้นในราวเดือน ๓ – ๖ โดยผู้เฒ่าหรือผู้นำชุมชนจะเป็นผู้กำหนดวันทำบุญและทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้าน

สตรีทอาร์ท ถนนศิลปะ สตรีทอาร์ทถนนศิลปะ ที่กลุ่มศิลปินพนัสนิคมได้สร้างสรรค์ขึ้นบนกำแพงริมถนนให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

ศูนย์ฝึกการเรียนรู้เอ็งกอ (โรงเรียนเทศบาล 2) ศูนย์ฝึกการเรียนรู้เอ็งกอ (โรงเรียนเทศบาล 2) คณะเอ็งกอ เทศบาลเมืองพนัสนิคม คอยฝึกฝนเยาวชนหรือผู้ที่สนใจ ให้แสดงศิลปะเอ็งกอ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ถ้ำนางสิบสอง นางสิบสอง อยู่ห่างจากชุมชนพนัสนิคมประมาณ 5 กิโลเมตร สมัยก่อนบริเวณนี้มีหินขนาดใหญ่หลายก้อนวางกองกันอยู่ภายในมีอุโมงค์ หรือหลุมลึกลงไป ด้วยกาลเวลาหินที่มีอยู่มากมาย (ตามตำนานพระรถเมรีเชื่อว่าคือหมอนของนางสิบสอง) ได้ถูกชาวบ้านเอาไปใช้ประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งอยู่วัดเนินหลังเต่า ปัจจุบันปากถ้ำได้ปิดไปแล้ว

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนย่อยที่ 8 พนัสนิคม ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนย่อยที่ 8 พนัสนิคม เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ถึงวิถีการใช้ชีวิตแบบพอเพียง การปลูกผักสวนครัว  และการสร้างรายได้จากการเกษตร ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และทดลองการปลูกผัก

นักท่องเที่ยวร่วมฝึกจักสานไม้ไผ่กับชุมชนและสามารถนำผลงานกลับบ้านได้ ศูนย์เครื่องจักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานจักสานด้วยไม้ไผ่ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูล และมีผลงานจักสานใหญ่ที่สุดในโลกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์

นักท่องเที่ยวร่วมทำกิจกรรมเปเปอร์มาเช่ เป็นตุ๊กตาหรือกระปุกออมสินเอ็งกอ บ้านรัตนศิลป์ การนำกระดาษเหลือใช้มาต่อยอดเป็นตุ๊กตา หุ่น หรือกระปุกออมสิน ที่ใส่เอกลักษณ์ของพนัสนิคมเข้าไป คือ การแสดงเอ็งกอ

นักท่องเที่ยวร่วมฝึกพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสมุนไพรไทยหรือวัตถุดิบในท้องถิ่น ของพนัสนิคม “ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่” “ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่” ตั้งอยู่ ณ ชุมชนย่อยที่ ๑๐ ขับเคลื่อนโดย กลุ่มเซฟเดอะเอิร์ท     ชุมสิบรักษ์โลก ดำเนินการโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากสมุนไพรไทย ด้วยเทคโนโลยี   จุนลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ (EM) สืบสานแนวทางพระราชดำริ ปิดทองหลังพระ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น