ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลวงมีวัดบ้านหลวงและวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลเป็นวัดประจำชุมชน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำแม่ขอดไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกทางเกษตร มีศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ เฮือนหลวงมหาวรรณ์ เป็นต้น 

เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งฐานของพญามังราย มีการค้นพบวัดร้างกำแพงเมือง มีบริบทพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด ในอำเภอพร้าว และมีวัฒนธรรมอันโดดเด่นตามหลักพระพุทธศาสนา มีการค้นพบวัดร้างนับ ๑๐ วัด เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลัก ๕ ภาคี ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน ในการขับเคลื่อนงานของคนในชุมชนโหล่งขอด มีประเพณี วัฒนธรรมที่โดดเด่นและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และมีกิจกรรมของชุมชนที่ทำร่วมกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน อย่างต่อเนื่อง

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบ้านหลวง
วัดบ้านหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๙ หมู่ ๖ ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ วัดบ้านหลวงเดิมในอดีตชื่อว่า “วัดโหล่งขอด” ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านหลวงในปัจจุบัน เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมาได้ทำการย้ายมาสร้างใหม่บนที่นาของพ่ออุ๊ยน้อยหาด ที่ได้ถวายที่ดินสำหรับสร้างวัดใหม่ และเป็นวัดที่เก่าแก่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ๒ องค์ ประดิษฐานบนวิหารน้อยวัดบ้านหลวง องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางเปิดโลก นามว่า “หลวงพ่อโมลีไพรีพินาศ” ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น อีกองค์หนึ่งเป็นปางมารวิชัย นามว่า “หลวงพ่อแสนแส่” ศิลปะเชียงแสนสิงห์ ๓ โดยทั้ง ๒ องค์ เป็นพระพุทธรูป ซึ่งมีพุทธศิลป์ที่งดงาม

วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล
ตั้งอยู่ทาง ทิศใต้ของชุมชน ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 โดยวัดตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณของเมือง พร้าว ที่สร้างในสมัยพญามังรายมหาราชกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุที่มีอายุราว 600 ถึง 700 ปี ได้แก่ ก้อนอิฐที่จารึกตัวอักษรฝักขาม, ถ้วยชาม สังคโลก และเครื่องปั้นดินเผา วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลยอดฉัตรพระธาตุทำจาก ทองจังโก เป็นมหาธาตุเจดีย์โบราณที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอ พร้าว มีขนาดกว้างของฐานทั้งสี่ด้านรวม 36 เมตร อดีต เป็นที่พักทัพของกษัตริย์ล้านนา เมื่อครั้งเดินทางผ่านเข้าออก เมืองพร้าว เนื่องจากมีการปรากฏร่องรอยแนวคูค่ายให้เห็นรอบวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล

ศูนย์การเรียนรู้ เฮือนหลวงมหาวรรณ์
ศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูมิปัญญาบรรพชน สร้างขึ้นโดย ท่านพระครูวรรณวิวัฒน์ ดร. และพี่ชาย ดาบตำรวจวิรัตน์ มหาวรรณ์ ได้สะสม รวบรวมโบราณวัตถุในชุมชน และของใช้ของบรรพบุรุษในตระกูล จึงเกิดเป็นความคิดริเริ่มที่จะ สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน ให้ทราบถึงรากเหง้าความเป็นมาของ ชุมชน และเพื่อให้เกิดความรักความ หวงแหน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ประติมากรรมการปั้นรูปโดยใช้ผงขี้เลื่อย (ยางพารา)

เป็นรูปนูนต่ำ นูนสูงและรูปองค์ลอย เช่น  พระพิฆเนศ เป็นต้น มีนายรัฐชฎะ พลหาญ บ้านเลขที่ ๒๒๕  หมู่  ๖ (บ้านหลวง)  ตำบลโหล่งขอด  อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่  จบการศึกษาด้านประติมากรรมสากล จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และครุศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นครูภูมิปัญญาด้านการปั้นรูปเหมือน และเป็นวิทยากรสอนงานประติมากรรมแก่เยาวชน  ประชาชน  และที่สนใจในชุมชนบ้านหลวง

ศูนย์การเรียนเครื่องปั้นดินเผา บ้านคนกับดิน
มี นายมานิตย์ บรรชัย เป็นผู้เจ้าของ และมีการถ่ายทอดศิลปะการปั้นให้แก่เด็ก และเยาวชนผู้ที่สนใจ ในชุมชน นอกจากนั้นยังปั้นภาชนะ และปั้นรูปสัตว์ ต่าง ๆ เพื่อจำหน่าย และเป็นโฮมสเตย์ให้บริการแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายในชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีนายสมศักดิ์ พลหาญ เป็นผู้ประกอบการ และดูแลศูนย์การเรียนรู้ที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้โดยเฉพาะเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ปฏิบัติจนกลายเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผลต่าง ๆ ซึ่งปลอดภัยและไร้สารเคมีทุกชนิดรวมไปถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลาดุก ไก่ประดู่ ไก่ไข่ และกบ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

แอ่วล่องกอง มองวิถี ชมของดี สุขล้นกับธรรมชาติ

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลวง

  • ชมทุ่งนาที่กว้างใหญ่และสวยงามของชุมชน โต้งหลวง จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือลับขอบฟ้าที่สวยงาม
  • รับบรรยากาศของคนในชุมชนด้วยการเดินเที่ยว จับจ่ายของฝาก กาด หรือตลาดในตอนเช้า
  • กราบสักการะวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล พระเจดีย์ที่หุ้มด้วยทองจังโกปิดด้วยกองคำเปลวทั้งองค์ สร้างในสมัยพระพญามังราย เยี่ยมชมจุดชมวิวของชุมชนบ้านหลวงโหล่งขอด และชิมกาแฟดอยเวียงชัย
  • กราบสักการะวัดบ้านหลวง สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด หลวงพ่อแสนแซ่ หรือชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าแสนแซ่ฝนแสนห่า และพระพุทธรูปศิลปะล้านนาปางเปิดโลก หลวงพ่อโมลีไพรีพินาศ
  • ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ที่มีมากมายหลากหลาย ได้แก่ เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมและบ้านดิน เรียนรู้การทำจักสาน เรียนรู้ขนมไทยและอาหารพื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์ เรียนรู้สมุนไพรและยาพื้นบ้าน เรียนรู้การปั้นขี้เลื้อย และงานแกะสลัก
  • โฮมสเตย์คุณภาพของชาวชุมชน ได้แก่ ม่อนจันทร์ฉายโฮมสเตย์ คนกันดินโฮมสเตย์ ม่อนดอยเวียงโฮมสเตย์
  • พบบรรยากาศพูดคุยกับคนในชุมชนด้วยการอุดหนุนร้านอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจ เช่น ร้านลาบ เป็นต้น

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น