ชุมชนคุณธรรมบ้านผารังหมี จังหวัดพิษณุโลก

หมู่บ้านผารังหมี เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผาหลังหมี” เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กประชากรส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน ที่อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่เป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรมทำให้มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำเกษตร รายได้ของชุมชนมาจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลักโดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ ข้าว มะม่วง รวมไปถึงรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน ผลิตภัณฑ์งานฝีมือในชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มแปรรูปผ้า แปรรูปเสื่อ กลุ่มมะม่วงกวน และกลุ่มจักสานทำไม้กวาด เป็นต้น 

บ้านผารังหมี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของคนอีสาน หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง คนในหมู่บ้านอาศัยอยู่แบบเรียบง่ายโดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านศิลปวัฒนธรรมของอีสานภายใต้สโลแกน “ชุมชนอารมณ์ดี บ้านผารังหมี”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผารังหมี
วัดผารังหมีวนาราม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านผารังหมี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และงานประเพณี ปัจจุบันมีพระอธิการบุญนำ ตปสีโล เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดมีสถานที่สำคัญดังนี้
๑. หลวงพ่อเพชรมณี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2517 เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านผารังหมี
๒. บันไดสวรรค์ที่ทอดยาวขึ้นไปสู่จุดชมวิวมุมสูงของหมู่บ้านด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อสมเด็จองค์ปฐม
๓. การทำถลกบาตร (ขาบาตร)

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว

เจ้าพ่อร่มขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในหมู่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในหมู่บ้าน มีเรื่องเล่าว่า เวลาชาวบ้าน
มีเรื่องทุกข์ใจ หรือร้อนใจในเรื่องใดก็ตาม จะไปไหว้ขอพรให้เจ้าพ่อร่มขาวช่วยปัดเป่าคลายทุกข์เหล่านั้น ซึ่งก็ได้สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านทุกครั้ง จึงนับได้ว่า “เจ้าพ่อร่มขาว” เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ของชาวบ้านผารังหมีโดยมีประเพณีงานบุญเลี้ยงศาลเจ้าพ่อร่มขาวทุกปีในช่วงขึ้นหกค่ำ เดือนหกตามปฏิทินจันทรคติ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวบน วัดผารังหมี วนาราม
จุดชมวิว ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาภายในบริเวณวัดผารังหมีวนาราม นักท่องเที่ยวต้องเดินขึ้นบันไดสวรรค์ ซึ่งจะทำให้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของหมู่บ้าน และสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบซึ่งเป็นภูเขาหินปูน

ภูเขาผาหลวง
ภูเขาผาหลวง เขาหินปูนที่มีอายุหลายล้านปี ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง หมู่ 3 บ้านผารังหมี และหมู่ 12 บ้านคลองซับรังภายในมีถ้าใหญ่-เล็กอยู่หลายถ้ำ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามอยู่ภายใน เช่น ถ้ำ เพชรพลอย มะนาว และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของค้างคาวหลายล้านตัว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
แปลงเกษตรสาธิตครัวเรือนเกษตรสมบูรณ์ มีกินด้วยเกษตรอินทรีย์ 459 เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีเสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ลดภาระรายจ่าย แม้ไม่มีเงินแต่ต้องมีกิน เพียงเดินจากตัวบ้านสี่ห้าก้าวก็สามารถหาวัตถุดิบ พืชผัก เนื้อสัตว์ มาปรุงอาหารได้แล้ว เป็นการใช้พื้นที่เล็ก ๆ รอบบ้านให้เป็นประโยชน์ และใช้เวลาในการผลิตสั้น ๆ เพียงไม่เกิน 45 วัน ก็ได้มีของกินโดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหาจากตลาด

ลานตากข้าว ของชุมชน
เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านผารังหมี สร้างลานตากข้าวที่สามารถตากข้าวได้ถึง ๓๐๐ ตัน พร้อมมีตราชั่งขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ ชาวบ้านผารังหมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ และมีผลผลิตต่อปีเป็นจำนวนมาก หากมีการขายข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวจะทำให้ข้าวราคาตกต่ำ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันสร้างลานตากข้าว เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ขายข้าวได้ราคาดี อีกทั้งบ้านผารังหมีมีการปลูกข้าวปลอดภัยเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมเย็บบายศรีขันธ์ ๕
ศูนย์เรียนรู้ฯ และศาลเจ้าพ่อร่มขาว เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเย็บบายศรีขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วย ใบตอง ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อนำไปสักการะเจ้าพ่อร่มขาวบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้านผู้สูงอายุในชุมชนเป็นผู้สอน 

กิจกรรมทำมะม่วงกวน
โรงกวนมะม่วงสวนลุงบุญสม นักท่องเที่ยวจะรับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงกวนมะม่วง เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตมะม่วงกวน และร่วมทำการบรรจุมะม่วงกวนเพื่อเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยว 

กิจกรรมทำขนม/อาหารพื้นบ้าน
ศูนย์เรียนรู้ การทำอาหาร นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมการทำขนม หรือการทำอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านผารังหมี โดยนักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมในการทำ เช่น การทำข้าวต้มแดก ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำ และได้ร่วมห่อขนมจากใบตอง 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น