ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม จังหวัดพะเยา

ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์มีการอาศัยอยู่ของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ปะโอ ไทใหญ่  ไทลื้อ ไทยจีน ไทยวน (คนพื้นเมือง) มีการขยายตัวของชุมชน และในปี พ.ศ.252๐ มีวัดนันตารามเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน มีวิหารไม้ที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่าง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ประดิษฐานบนสีหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี หลังคายกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด เพดานภายในประดับตกแต่งด้วยกระจกลวดลายวิจิตร
ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม มีวัดนันตารามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน วิหารไม้สักทองที่งดงาม รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่าง พระพุทธปฏิมาประธานไม้สักทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ภายในวัดนันตารามมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ทั้งที่จอดรถสุขาสะอาดจุดถ่ายรูป และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ การตีกลองสะบัดชัย การแสดงดนตรีพื้นบ้านของเยาวชน นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝาก ของที่ระลึกได้แก่  ชาสมุนไพร ยาหม่อง เครื่องแกงฮังเล พวงกุญแจ ฯลฯ ขนม/อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ได้แก่ น้ำพริกคั่วซอมยาคู ขนมปิ้งปะโอ แกงฮังเล

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดนันตาราม
ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๓ ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เดิมเรียกจองคาหรือจองม่านหรือจองเหนือ โดยพ่อหม่องโพธิ์ชิต อริยภา บริจาคที่ดินเนื้อที่ ๓ ไร่ เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้างร่วมกับพ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ มีฐานะเป็นอาราม(ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่าในขณะนั้น) ประชาชนทั่วไปเรียก “วัดม่าน” หรือจองเหนือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗  พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู้) ผู้รับสัมปทานทำไม้ให้กับบริษัทค้าไม้ต่างชาติ เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปรับปรุงเสนาสนะให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง

หออูเตงหม่อง (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน)
เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงวัตถุโบราณ สร้างถวายโดยพ่อวิเชียร เนตรประสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๑โดยพระครูปริยัติธุราทร (จำนง อินทวิโร) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนันตาราม (พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๕๕) ได้รวบรวมวัตถุโบราณ พระพุทธรูปเก่าโบราณเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์สกุลต่าง ๆ คัมภีร์โบราณหลากหลาย ภาษา ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์และความเจริญทางด้านวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว
เป็นการแสดงนางนกสิงโต โดยกลุ่ม บัวระวงค์ ซึ่งการแสดงอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

ชมวิหารไม้สักทอง
ชมวิหารไม้สักทอง รูปแบบสถาปัตยกรรมพม่าตอนล่าง หลังคายกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม
มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด

สักการะพระพุทธปฏิมา
สักการะพระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ประดิษฐานบนสีหบัลลังก์ไม้

สักการะพระเจ้าแสนแซ่
สักการะพระเจ้าแสนแซ่ (พระพุทธรูปที่มีสลักหรือลั่นกลอนไว้นับจำนวนไม่ถ้วนสามารถถอดประกอบได้เกือบทุกชิ้นส่วน) เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวมักจะกราบไหว้สักการะขอพร
เสริมความเป็นสิริมงคล

ชมหออูเตงหม่อง (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน)
ชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดนันตารามที่ได้จัดแสดงวัตถุทางพระพุทธศาสนา และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

วิถีชน คนปะโอ (ดริปชา,กาแฟ)
คนปะโอที่นี่มีความเชื่อเรื่องการต้อนรับผู้มาเยือนจะต้องมีการต้อนรับด้วยชาสมุนไพรพื้นถิ่นหรือลิ้มลองกาแฟดริปสูตรเฉพาะของชาวปะโอ

กิจกรรมฐานหัตถกรรมพื้นถิ่น
มีปราชญ์ชาวบ้านที่ได้นำภูมิปัญญามาสร้างสรรค์เป็นงานประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประดับตกแต่งอีกทั้งจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะงานประดิษฐ์เชื่อมโยงคุณค่า ภูมิปัญญาของอดีตกับกับปัจจุบันให้แก่เด็ก เยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว

ฐานขนมปิ้งปะโอ
ขนมปิ้งปะโอ ทำจากแป้งข้าวเหนียว คล้ายคลึงกับขนมใบจากเพียงแต่เปลี่ยนเป็นห่อด้วยใบตอง โดยมีเครื่องปรุง ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว มะพร้าวขูดหัวกะทิเข้มข้น น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อยผง เนยเค็ม น้ำตาลปี๊บ เกลือ นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ใบตอง ใช้ไม้กลัดบน-ล่าง นำไปปิ้งบนเตาถ่านไฟปานกลางจนสุก จะได้ขนมปิ้งที่มีความหอมของใบตอง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น