ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ จังหวัดศรีสะเกษ

บ้านกู่ เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมานานกว่าสามร้อยปี  จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีวัดบ้านกู่ซึ่งสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓  เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ ของชาวปรางค์กู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญของชุมชน 

“บ้านกู่” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีเสน่ห์ของชุมชนด้วยการต้อนรับแบบวิถีของชาวกูย      มีอัตลักษณ์ของชุมชน คือการแต่งกายและภาษาพูด ชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ สตรีชาวกูย เป็นผู้มีความสามารถและขยันขันแข็ง มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้เสริมจากการทำการเกษตร ผลิตผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
“ปรางค์กู่”หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะโก” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูประจำชุมชน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ปรางค์กู่ ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง เรียงตัวตามแนวแกนทิศเหนือ -ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุมเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อสอดรับกับบันไดทางขึ้น ปราสาททั้ง 3 หลัง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวยู (U) อายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 -ต้น พุทธศตวรรษที่ 17

วัดบ้านกู่
วัดบ้านกู่ สร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ของอำเภอปรางค์กู่ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกูย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกู่และศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สระกู่
สระกู่ เป็นแหล่งน้ำโบราณที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รอบสระน้ำกู่ เป็นป่าไม้ชุมชน มีต้นมะขามจำนวนมาก อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ภายในชุมชน บ้านเรือน มีความสะอาด    น่ามอง ยังคงวิถีชีวิตของชาวกูย ที่เป็นอัตลักษณ์ ของชุมชน โดยบริเวณใกล้สระน้ำจะมีปราสาทปรางค์กู่ ที่เป็นโบราณสถานสมัยขอมโบราณที่มีอายุยาวนาน ซึ่งชาวชุมชนบ้านกู่ มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาทำความสะอาดชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนแห่งนี้ มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้าวอินทรีย์
ประชาชนชาวบ้านกู่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ทำนา

– เกษตรอินทรีย์
– ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
– ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง รวมถึงการ ทำไร่อ้อยสวนยางพารา  เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สาวไหม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๑๔  กิจกรรม “สาวไหม” เป็นการนำรังไหมที่เลี้ยง มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือดก่อน แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบา ๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขึ้นมา   การสาวไหมมีวิธีการขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญอยู่มาก ผู้ทำการสาวไหมต้องมีความชำนาญ  เส้นไหมจึงจะออกมาสวยงามสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำและร่วมกิจกรรมของชุมชนได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเส้นไหม และขั้นตอนอื่น ๆ ร่วมด้วย

ร่วมทอผ้าด้วย กี่กระตุก แบบดั้งเดิม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุมชนจะมีฐานการเรียนรู้การทอผ้าไหมชาติพันธุ์กูย  นักท่องเที่ยวสามารถชม และร่วมทอผ้า ตลอดทั้งช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ที่บริเวณลานวัฒนธรรมดุงกูย

สวมชุดชาวกูย
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุดอัตลักษณ์ของชาวกูย บ้านกู่ นักท่องเที่ยวร่วมทดลองสวมใส่และถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกได้

ทำขนมพื้นบ้าน
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ขนมพื้นบ้าน “ขนมไปรกระซัง”ชุมชนทำขนมพื้นบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่วมทำขนมและรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ไปเยี่ยมชม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น