ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อ จังหวัดอุทัยธานี

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดโคกหม้อ มีวัดโคกหม้อที่เป็นวัดเก่าแก่ มีอายุมากกว่า  ๑๓๐ ปี ประชาชนนิยมมาสักการะขอพรหลวงพ่อโสธร และภายในบริเวณวัดประกอบด้วยหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของตำบลโคกหม้อ นอกจากนี้ ชุมชนแห่งนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองอุทัยธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อ เป็นชุมชนที่รวมตัวกันของ ๒ หมู่บ้าน ที่มีความร่วมแรงร่วมใจในการสืบสาน ประเพณี วัฒนธรรมในชุมชน ดังคำขวัญ “บ้านโคกหม้อ ผ้าทอมัดหมี่ จักสานฝีมือดี ประเพณีแห่ธงนางด้งกวัก ตักน้ำสรงพระ ก่อเจดีย์ทราย บายศรีสู่ขวัญ”

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโคกหม้อ
ตั้งอยู่หมู่ที่  2 ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน มหานิกาย ประเภทวัดราษฎร์ วันที่ตั้งวัด พ.ศ. 2426 เป็นวัดเก่าแก่ มีอายุมากกว่า  ๑๓๐ ปี วัดโคกหม้อ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระอุโบสถหน้าบรรณลายปูนปั้น มีอายุ ร้อยกว่าปี  มีเจดีย์หักมุมไม้สิบสองเก่าแก่ ๑ คู่

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกหม้อ (หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดโคกหม้อ)
เป็นอาคารสองชั้นอยู่ในวัดโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของหมู่บ้านโคกหม้อ เป็นที่รวบรวมวัตถุโบราณซึ่ง พระครูนิวุฒิพรหมจรรย์ เจ้าอาวาสวัดโกรกพระใต้ จังหวัดนครสวรรค์มอบให้ เช่น พระพุทธรูปสมัยปางต่าง ๆ เครื่องเบญจรงค์  เครื่องลายคราม  เครื่องเงิน  เครื่องทอง  เครื่องรัก หนังสือ ผ้าทอโบราณ เครื่องใช้ในการทำมาหากินของคนในชุมชน ประวัติชุมชนหมู่บ้าน ประวัติผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาฯลฯ

กลุ่มทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ
ตั้งอยู่เลขที่ 4/1 หมู่ 2 ต.โคกหม้อ  อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีนางอรอนงค์ วิเศษศรี เป็นประธานกลุ่ม  : ได้รับการคัดเลือกเป็น ครูช่างศิลปะหัตกรรม ปี ๒๕๕๖ ซึ่งผ้าทอนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลาวครั่ง ที่สืบทอดต่อกันมา200ปี ผ้าที่ทอจะเป็นผ้ามัดหมี่ต่อตีนจก ผ้ายกดอกลายเชิงแบบเก่า ลวดลายบนผ้าเป็นแบบโบราณ เช่น ลายด่านเมืองลาว ลายนาค ลายด่านใหญ่ เป็นต้น ด้ายที่ใช้ทอจะเป็นเส้นใยไหมคุณภาพดี และเป็นผู้ผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT)

กลุ่มทอผ้าแม่บ้านโคกหม้อ
ตั้งอยู่เลขที่ ตั้งอยู่เลขที่ 134 หมู่ 2 ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี  จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยรวบรวมผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้าได้ในหมู่บ้านโดยใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่ก่อตั้ง ครั้งแรกมีสมาชิก 16 คน เงินทุนในการก่อตั้งได้จากค่าสมัคร คนละ 10 บาท เป็นเงิน 160 บาท และได้ดำเนินการทอผ้าด้วยกี่มือ และกี่กระตุก

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภูเขาหลวง
ที่ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออก ของ หมู่ที่ 2 บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางจากโรงเรียนประมาณ ๕ กิโลเมตร ติดกับบ้านกึ่งวิถีสุนัข
ความสำคัญ ภูเขาหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติระบบนิเวศ มีป่าไม้  ต้นไม้ ลำธาร สัตว์ป่าขนาดเล็ก  นก  แมลง  ของป่า ฯลฯ ภูเขาหลวงเป็นภูเขาที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านโคกหม้อ เก็บของป่าเพื่อดำรงชีวิต และขายเป็นรายได้  เช่น หน่อไม้ ผักหวาน ผักอีนูน เห็ดโคน เห็ดรวก   มีความสูงประมาณ 4000 ฟุต

อ่างเก็บน้ำหุบไม้ไฮ
ที่ตั้ง อยู่บนภูเขาหลวง  ติดกับบ้านกึ่งวิถีสุนัข หมู่ที่ 2 บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางจากโรงเรียนประมาณ 5 ก.ม.
ความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ระบบนิเวศ ป่าไม้  ต้นไม้ สัตว์น้ำ เช่นปลา เต่า กบ เขียด คางคก  เป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำเพื่อใช้การเกษตร และประปาหมู่บ้าน เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ปลาธรรมชาติ

อ่างเก็บน้ำหุบหนองกระทุ่ม
ที่ตั้ง  อยู่ติดชานภูเขาหลวง  หมู่ที่ 2 บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี     ระยะทางจากโรงเรียนประมาณ  5  กิโลเมตร
ความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ระบบนิเวศ ป่าไม้  ต้นไม้ สัตว์น้ำ เช่น ปลา เต่า กบ คางคก  เป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำเพื่อใช้การเกษตร และประปาหมู่บ้าน เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ปลาธรรมชาติ และท่องเที่ยว  ความจุ ประมาณ   70  ล้านลูกบาตรเมตร

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ร่นาสวนผสม ของนายศรีรัตน์ พิลึก
ที่ตั้ง  อยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียน ติดกับภูเขาหลวง หมู่ที่ 2 บ้านโคกหม้อ
ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางจากโรงเรียนประมาณ  4.5 ก.ม.
ความสำคัญ  เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตร ของเกษตรกร  ในชุมชน และนอกชุมชน


กิจกรรมการท่องเที่ยว

แห่ดอกไม้
วัดโคกหม้อสำหรับประเพณีแห่ดอกไม้เทศกาลสงกรานต์ของที่นี่จะทำพิธีแห่กัน 3 วันเมื่อเลิกสงกรานต์วันสุดท้าย ในช่วงเช้าชาวบ้านจะขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทรายและประดับประดาให้สวยงาม ช่วงเย็นจะมีการแห่ธงจากหมู่บ้านต่าง ๆเพื่อแสดงว่าเรามีชัยชนะในการที่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดปี รวมทั้งมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นการทำบุญร่วมกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่บ้าน และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

แห่ธงสงกรานต์
ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ คือ ประเพณีทำบุญทอดผ้าป่าของชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง จะจัดขึ้นในราวเดือนเมษายนหลังจากวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ผ่านไปแล้วสัก ๑ สัปดาห์ ธงสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ ยาวประมาณ ๑๐ เมตรขึ้นไป ปลายธงมีกิ่งไผ่และที่สำหรับแขวนสิ่งของไว้ สิ่งที่จะนำมาแขวนที่ธงนั้นได้แก่ ผืนธงชาติและสิ่งของเครื่องใช้ ที่มีลักษณะเป็นผืนพอจะแขวนได้ เช่น เสื่อ พรม ผ้าม่าน ซึ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางวัดจำเป็นต้องมีไว้ใช้ ชาวบ้านจะพับให้มีขนาดพอเหมาะที่จะแขวนกับปลายธงได้เพียง ๑ ชิ้นเท่านั้น ตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง

ประเพณีนางด้ง นางกวัก
เป็นการสืบทอดประเพณีที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของชาวลาวครั่งบ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี มีขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นระยะเวลา ๕ วัน เริ่มจากวันที่นำพระเจ้า หรือพระพุทธรูปลงมาให้ประชาชนสรงน้ำ และจะสิ้นสุด เมื่อ นำพระเจ้า หรือพระพุทธรูปไปประดิษฐานดังเดิม จะแบ่งเป็น ประเพณี นางด้ง และนางกวัก

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น