ชุมชนคุณธรรมบ้านพิพิธภัณฑ์ จังหวัดอุดรธานี

บ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทพวนอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ด้านภาษาพูด ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามฮีตสิบสองภาคอีสาน จากบ้านเชียงค้นพบภาชนะลายเขียนสี แหล่งขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการภูมิปัญญา สร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการสืบเนื่องต่อกันมายาวนาน

หมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนบ้านเชียงมีความสามัคคี และมีศักยภาพต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของลวดลายภาชนะดินเผาลายเขียนสี ลายเชือกทาบ ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมทำร่วมรับผลประโยชน์ มาพัฒนาสร้างสรรค์สู่สากล 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี วัดโพธิ์ศรีใน
ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นสถานที่สำคัญหนึ่งที่เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้ 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
ก่อตั้งขึ้นหลังการเสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่  20 มีนาคม พ.ศ. 2515 การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้น และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  ซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวนบ้านเชียง
สถานที่รวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของบ้านเชียง การจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่น ประวัติบุคคลสำคัญของชุมชน การเล่าประวัติโรงเรียน วัดสำคัญในพื้นที่ เช่น วัดโพธิ์ศรีใน ประเพณี งานบุญสำคัญ ภายนอกอาคาร โดยใช้พื้นที่รอบ ๆ อาคารนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น เกวียนในอดีตใช้บรรทุกข้าว เครื่องมือ เครื่องใช้การทำนา กี่ หรือหูกทอผ้า พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ 

บ้านไทพวน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ บ้านหลังนี้สร้างอยู่ในบริเวณแหล่งโบราณคดีที่เคยขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 โดยได้ประทับ ณ บ้านหลังนี้ ทรงถามถึงทุกข์สุข และชีวิตความเป็นอยู่แบบไทพวน ต่อมาภายหลังนายพจน์ได้มอบให้แก่กรมศิลปากรดูแล 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สวนสาธารณะ บึงนาคำ
ในเขตตำบลบ้านเชียงมีหนองน้ำธรรมชาติ ที่สวยงาม ปัจจุบันได้จัดภูมิทัศน์รอบหนองน้ำ  ให้เป็นสวนสาธารณะที่ชุมชนบ้านเชียง ตั้งชื่อว่า “บึงนาคำ” ได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายในยามเช้าและยามเย็น

พุทธอุทยาน วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่)
วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่) มีพระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว หนึ่งเดียวในสยาม” วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่) เป็นพระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทรงดอกบัว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เมตร สูง 19 เมตร มีกลีบดอกบัว 24 กลีบ รูปภาพวาดบนผนังดอกบัว เป็นรูปภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า มีองค์พระประธานสีขาวอยู่ภายในอุโบสถให้กราบไหว้ขอพร

วัดสันติวนาราม หรือวัดป่าดงไร่
ทางวัด ร่วมกับชุมชนมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เช่น ปลูกผักปลอดสารพิษ  การทำธนาคารปุ๋ยหมักชีวภาพ  การเลี้ยงปลาการทำนา

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การบายศรีสู่ขวัญ
ลานวัฒนธรรมการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาแบบคณะศึกษาดูงานชมฟ้อนรำไทพวนบ้านเชียง  กลองยาวอีสาน และรับประทานอาหารพาแลง

ชมการสาธิตการย้อมสีคราม สาธิตการทอผ้า
กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านเชียง   แหล่งผลิต ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา สาธิตการมัดย้อมฝ้ายจากสีคราม  การทอผ้า  และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้าแปรรูปจากผ้า ของชุมชน

กิจกรรมถนนสายบุญ ใส่บาตรพระ
ลานวัฒนธรรม หรือ บริเวณถนนหน้าบ้านพัก นักท่องเที่ยวใส่บาตรที่หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ เวลา ๐๖.๓๐ -๐๗.๓๐ น.หรือ บริเวณ หน้าลานวัฒนธรรม ถนนสายบุญ ในทุกวันอาทิตย์ ที่ ๑ และ ที่ ๓ ของเดือน โดยมีพระสงฆ์ จำนวน ๕ วัด มารับบิณฑบาต

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น