ชุมชนคุณธรรมบ้านคอกช้าง จังหวัดยะลา

ชาวบ้านคอกช้าง ในอดีตคือชาวบ้านโตที่ได้อพยพจากพื้นที่เดิม ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ คือ “เขื่อนบางลาง” ในอดีตบริเวณบ้านคอกช้างเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่า ควาญช้างจึงทำการคล้องช้างและทำคอกบริเวณสนามโรงเรียนบ้านโตในปัจจุบัน จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามคำเรียกขานของชาวบ้านว่า ” คอกช้าง”

         “ชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม ศักยภาพเข้มแข็ง สามัคคี กองทุนดี มีทรัพยากรสมบูรณ์”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดคอกช้าง วัดคอกช้างเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ศูนย์รวมชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ วัดคอกช้างยังมีความสำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณี สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพึ่งความสงบ เพื่อคลายความทุกข์ใจ 

ชุมชนโบราณ หรือ ชุมชนบ้านคอกช้างเดิม ชุมชนโบราณที่ถูกน้ำท่วมจมบาดาล หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบางลาง และโผล่ให้เห็นหลังน้ำแห้งเป็นบริเวณกว้าง ปรากฏเป็นโครงสร้างมัสยิด และวิหารวัดอยู่ไม่ไกลกัน สามารถมองเห็นสถานที่ต่าง ๆตลอดจนบ้านเรือนโบราณหลายร้อยหลังคาเรือน ซึ่งบ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติในอดีต 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำตกบ้านคอกช้าง น้ำตกคอกช้าง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลคอกช้าง จะเห็นป้ายเล็ก ๆ บอกทางไว้ตรงกลาง โดยทางด้านซ้ายมือเป็นเส้นทางไป อำเภอเบตง สายล่างเลาะริมเขื่อนบางลาง มีเส้นทางที่คดเคี้ยว ส่วนทางด้านขวามือเป็นเส้นทางไป อำเภอเบตง สายบน เส้นทางมีความลาดชัน แต่ใกล้กว่าสายล่างส่วนทางตรงกลางคือเส้นทางตรงไปน้ำตกคอกช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดคอกช้างประมาณ ๒๐๐ เมตร มีน้ำใสไหลเย็น ชุ่มชื้นตลอดปี

ทะเลหมอกวัดคอกช้าง บนเทือกเขาวัดคอกช้าง แหล่งท่องเที่ยวชม “ทะเลหมอก” โดยการเดินทางนั้นจะต้องเดินเท้าจากวัดคอกช้าง ขึ้นไปบนภูเขาหลังวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดคอกช้าง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ระดับความชันของเนินเขาประมาณ ๔๕ องศา เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่มีต้นไม้ธรรมชาติขึ้นอยู่เรียงราย และใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ ๓๐ นาที ก็ถึงจุดชมวิวทะเลหมอก

สะพานข้ามเขื่อนบางลาง หรือ สะพานฆอแย สะพานฆอแย แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ย่นระยะยะลา – เบตง นักท่องเที่ยวมีความสะดวกในการใช้เส้นทางมากยิ่งขึ้น บริเวณสะพาน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังอำเภอเบตง จะแวะเวียนมาชมความสวยงามทัศนีย์ภาพของเขื่อนบางลางในแต่ละวัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพการขายอาหารและของฝากจากอำเภอธารโต เป็นอาชีพใหม่ เสริมรายได้นอกเหนือจากอาชีพการกรีดยางที่เป็นอาชีพหลัก

ทะเลสาบธารโต เป็นทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนบางลาง พื้นที่ครอบคลุมอำเภอธารโต จดจังหวัดนราธิวาส เป็นแหล่งปลาน้ำจืด ศึกษาธรรมชาติทางน้ำ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กลุ่มแม่บ้านเกษตรคอกช้าง เป็นแหล่งเรียนรู้การถ่ายทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหาร ซึ่งเป็นสูตรปลาส้มของแม่ดาวที่ขึ้นชื่อในบ้านคอกช้าง มาถ่ายทอดให้กับชุมชน หมู่บ้าน คนที่สนใจ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ ไปสร้างกลุ่ม ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ซึ่งเป็นความต้องการของชุมชน ที่ต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เทศกาลประเพณีชักพระทางน้ำ ช่วงออกพรรษา เกาะทวด ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ประเพณีชักพระทางน้ำของชุมชนคุณบ้านคอกช้าง ที่เกาะทวดจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีชุมชนไทยพุทธในเขื่อนบางลาง โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ นอกจากประเพณีลากพระทางน้ำ แล้วได้จัดกิจกรรมชกมวยทะเล และแข่งพายเรือละเล่นพื้นบ้าน หาดูได้ที่นี้ที่เดียวใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

เทศกาลประเพณี สารทเดือน ๑๐ วัดคอกช้าง ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ชุมชนคุณธรรมบ้านคอกช้างได้จัดงานส่งเสริมประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประจำทุกปี จะมีการแห่หมรับ และการปีนเสาน้ำมัน ประชาชนจำนวนมากนำขนมเดือนสิบ ประกอบด้วย ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมเจาะหู ขนมลา ขนมกรุบ ขนมจู้จุน ขนมบ้า ขนมไข่ปลา ยาหนม  เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ปู่ ยา ตา ยาย ทวด  พร้อมทั้งการทำบุญตักบาตร ร่วมชิงเปรต และการปีนเสาน้ำมันเพื่อส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เทศกาลประเพณีกวนขนมอาซูรอ มัสยิดอัลอูบูดียะห์ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา      การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เนื่องด้วยเป็นวันที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด ได้ถือศีลอดและส่งเสริมให้มุสลิม ปฏิบัติตาม และให้ถือศีลอดในวันที่ ๙ มุฮัรร็อม อีกหนึ่งวัน เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น