ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ “ในบาง” เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปี ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพึ่งพิงแม่น้ำลำคลอง ทำสวน มีพระพุทธรูปหลวงพ่อข้าวสุขเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในชุมชนมีคลองเล็กคลองน้อย นับร้อยสายเชื่อมโยงกันไหลไปออกแม่น้ำตาปี สองฝั่งคลองมีธรรมชาติร่มรื่น มีต้นจากขึ้นอยู่เรียงรายและลู่ใบเข้าหากันเป็นอุโมงค์ธรรมชาติที่งดงาม วันอาทิตย์จะมีตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 

หากมาเที่ยวชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางใบไม้ สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตของชาวในบางที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ชมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติตลอดแนวสองฝั่งคลอง ลอดอุโมงค์จากที่งดงาม ฟังเรื่องเล่าจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ศึกษาเคล็ดลับภูมิปัญญาท้องถิ่น เลือกซื้ออาหาร ของฝาก ผลิตภัณฑ์ในชุมชน ดื่มด่ำบรรยากาศแห่งมิตรภาพของเจ้าบ้านที่ดีและเสน่ห์ของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบางใบไม้    วัดบางใบไม้ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์กลางทางสังคมของประชาชนในชุมชน วัดบางใบไม้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีหลวงพ่อขำ เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น

ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดชุมชนมีพลังบวรเป็นแกนหลักในการจัดการ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้และคนในชุมชน เปิดทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เพื่อให้ประชาชนในชุมชนและใกล้เคียงนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นบ้าน ขนมไทย อาหารทะเล และผักผลไม้ ที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติเป็นภาชนะ อร่อย ราคาถูกมาจำหน่าย สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน เป็นที่พักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

บ้านโบราณ ๒๐๐ ปี เชื่อว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ เป็นเรือนทรงไทยหลังใหญ่สร้างตามแบบเรือนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นจุดกำเนิดของชุมชนบางใบไม้ มีลักษณะเป็นเรือนปั้นหยาแฝด สร้างโดยใช้วิธีการเข้าสลักไม้ ยึดโครงสร้างของบ้านแทนการตอกตะปู 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองร้อยสาย คลองร้อยสาย เป็นชื่อเรียกของลำน้ำเล็ก ๆ ที่แตกแขนงมาจากแม่น้ำตาปี ซึ่งมีคลองเล็กคลองน้อยนับร้อยคลอง ประกอบด้วยพื้นที่ ๖ ตำบลของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนชนบทที่แฝงอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง

อุโมงค์จาก เป็นอุโมงค์ธรรมชาติที่ต้นจากลู่ใบเข้าหากันเป็นซุ้มยาวหลายร้อยเมตร มีความสวยงาม ร่มรื่น ชวนให้น่าบันทึกภาพเก็บไว้เป็นความประทับใจสำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนลุงสงค์ เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ใช้น้ำมันมะพร้าวในการดูแลสุขภาพตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า และใช้ในการบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพ โดยนำน้ำมันมะพร้าวที่สกัดได้มาพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอางค์ ภายใต้   แบรนด์ “Prow Thai by สวนลุงสงค์” เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปเป็นของฝากจากชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ล่องเรือคลองร้อยสาย คลองร้อยสาย ล่องเรือคลองร้อยสายมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและป่าชายเลนสองฝั่งคลองจะเต็มไปด้วยกอจาก ต้นลำพู ต้นลำแพนและโกงกาง มีนกตามธรรมชาติหลากหลายชนิดในสองฝั่งคลองความอุดมสมบูรณ์ของต้นจากทำให้ทางและปลายใบโน้มเข้าหากันทำให้เกิดลักษณะเป็นอุโมงค์จากและสะท้อนบนพื้นน้ำเป็นความงดงามตามธรรมชาติ การล่องเรือมี ๒ แบบ คือล่องแบบระยะสั้นโดยใช้เรือแจว ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ ๒๐-๔๐ นาที ล่องเรือระยะไกลโดยใช้เรือหางยาวใช้เวลาประมาณ ๓๐-๖๐ นาที 

ล่องเรือชมหิ่งห้อย คลองร้อยสาย ล่องเรือชมหิ่งห้อยจะเริ่มที่ประมาณเวลา ๑ ทุ่ม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและป่าชายเลนทำให้ยังมีหิ่งห้อยตามต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ต้นลำพู ลำแพน ต้นโกงกางและต้นสำลีงา ซึ่งมีกลิ่นอ่อน ๆ ของใบและต้นดอกมีสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากเนื่องจากเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก กลาง ขึ้นสองฝั่งคลองทำให้ กีดขวางการสัญจรทางเรือชาวบ้านจึงโค่นทิ้งเป็นส่วนใหญ่

การสาธิตการสานทางมะพร้าวและ หมาน้ำ ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ชุมชนวัดบางใบไม้เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพการทำสวนมะพร้าว ในสมัยก่อนการ จัดงานก็จะนิยมใช้ทางมะพร้าวมาขัดสานเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อประดับสถานที่ให้มีความสวยงาม แต่เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้สิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ในภายหลัง เช่นการใช้ลูกโป่ง ดอกไม้พลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อชุมชนได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจึงได้รื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมขึ้นมาใช้และถ่ายทอดแก่ผู้สนใจหมาน้ำเป็นภาชนะที่ทำจากใบจากอ่อน (ยอดจาก) ใช้สำหรับตักน้ำ วิธีการทำจะนำใบจากทับซ้อนกันเป็นแถวแล้วงอปลายทั้งสองข้างเข้าหากัน มัดด้วย เชือกก้านจาก หรือต้นคล้าที่มีความเหนียว ปัจจุบันมีการนำหมาน้ำมาเป็นภาชนะใส่อาหาร ประดับตกแต่งสถานที่ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น