วัดหนองบัว จังหวัดน่าน

ที่ตั้ง.หมู่ 5 ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
๑.วัดไทลื้อเก่าแก่ของหมู่บ้านหนองบัว สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่
– ภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่า เขียนโดย “หนานบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวน ภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลและผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม
– บุษบกสมัยล้านนา ที่เก็บรักษาภายในพระอุโบสถ
– บ้านจำลองไทลื้อ (เฮือนไทลื้อมะเก่า) ซึ่งมีอุปกรณ์การประกอบอาชีพของชาวไทลื้อจัดแสดงไว้
– การสาธิตการทอผ้าด้วยกี่กระตุก ที่คนในหมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิต และเลือกซื้อผ้าทอสีสันสวยงามจากฝีมือชาวบ้าน โดยตั้งอยู่บริเวณด้านนอกของพระอุโบสถ

๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 06.30 น. – 18.00 น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
0 5479 9091
๕.สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ /ที่จอดรถ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดประเวศน์ภูผา (วัดบ้านตรัง) จังหวัดปัตตานี

ชุมชนบ้านตรัง เป็นแหล่งชุมชนโบราณ เกิดขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปกครองแบบหัวเมือง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง คนในชุมชนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสาน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาภายในชุมชน 

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยการใช้พลังบวร คือ วัด เป็นศูนย์รวมของชุมชน ส่งเสริมคุณธรรมให้ชาวบ้าน บ้านคือแหล่งภูมิปัญญาความรู้ และถ่ายทอดสู่โรงเรียน บ้านตรังจึงเป็นชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และขนบธรรมเนียมประเพณียังคงอนุรักษ์มาตั้งแต่อดีต คือ ประเพณีลากพระลงนาหลังจากออกพรรษา 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดประเวศน์ภูผา (วัดบ้านตรัง) เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๒๔๐ มีอายุราว ๓๐๐ ปี เป็นโบราณสถานที่มากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความศรัทธาของคนในชุมชน

หอประไตรปิฎก หอไตร เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงหลังคาทรงจัตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ สร้างโดยพ่อแก่เจ้าแสง (อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง)

พิพิธภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ

พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชน “คนบ้านตรัง” พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชน “คนบ้านตรัง” แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ครัวเรือนสมัยโบราณ

ต้นตะเคียนแกะสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ต้นตะเคียนความยาว ๒๕ เมตร อายุ ๓๐๐ ปี แกะสลักเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ๑๔ ตอน และเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวชุมชนบ้านตรัง

วิหารหลวงพ่อสุข หลวงพ่อปลอด วิหารหลวงพ่อสุข หลวงพ่อปลอด (อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง)

อาคารเก็บสรีระสังขาร พ่อแก่เจ้าแสง อาคารเก็บสรีระสังขารพ่อแก่เจ้าแสง หรือพระครูมงคลประภาส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง ซึ่งมรภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วยอายุ ๑๐๑ ปี ท่านได้สร้างวัตถุมงคล คือ ควายธนู และหน้ากากพรานบุญ เชื่อกันว่าหน้ากากพรานบุญเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังแห่งสายเมตตามหานิยมโภคทรัพย์ ที่มีชื่อเสียงไปถึงต่างแดน 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดเช็คอินบ้านตรัง จุดเช็คอินบ้านตรังตั้งอยู่บริเวณนาข้าวในช่วงฤดูการทำนา บริเวณนี้จะมีความสวยงามมีความอุดมสมบูรณ์ของนาข้าวและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินของชุมชน

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านตรัง เป็นแหล่งเรียนรู้ โคกหนองนา ของหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การทำน้ำหมักชีวภาพ

ศูนย์สมุนไพรเพื่อการศึกษาบ้านตรัง แหล่งเรียนรู้สมุนไพรรักษาโรค โดย นายเน จิตมณี ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรที่มีความเชียวชาญสมุนไพรรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

แหล่งเรียนรู้การทำสวนไผ่ในชุมชน แหล่งเรียนรู้ด้านการทำสวนไผ่ และน้ำเยื่อไผ่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ประเพณีลากพระลงนา วัดประเวศน์ภูผา ประเพณีลากพระลงนาหลังจากออกพรรษา ประเพณียังคงอนุรักษ์มาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านในชุมชนจะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัด และลากไปลงในนาข้าวบริเวณใกล้ ๆ วัด และลากกลับวัดในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดิน โดยมีความเชื่อว่าหากได้ลากเรือพระลงในทุ่งนาแล้ว จะทำให้การทำนาในฤดูกาลนั้น ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตมาก

กิจกรรมเรียนรู้การปลูกข้าว นาข้าวในชุมชนบ้านตรัง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้การทำนาข้าว

นักท่องเที่ยวทำขนมทองม้วน กลุ่มทำขนมบ้านตรัง ตั้งอยู่ในวัดประเวศน์ภูผา กลุ่มทำขนมบ้านตรัง เป็นแหล่งเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้าน อาทิ การทำขนมทองม้วน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการทำขนม

นักท่องเที่ยวทอผ้า ศูนย์ศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าบ้านตรัง ตั้งอยู่ในวัดประเวศน์ภูผา ศูนย์ศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าบ้านตรัง เป็นแหล่งผลิตผ้าทอลายจวนตานี เอกลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี นอกจากเป็นแหล่งจำหน่ายผ้าทอลายจวนตานี ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าโดยภูมิปัญญาที่มีความชำนาญด้านการทอผ้า โดยกลุ่มสตรีชุมชนบ้านตรัง ที่ยังคงอนุรักษ์ รักษา และต่อยอดลวดลายต่าง ๆ ประยุกต์ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่นำรายได้มาสู่ชุมชน

ศิลปะการแสดงกลองยาว คนในชุมชนบ้านตรัง ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มกลองยาวบ้านตรังเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงกลองยาว และเป็นการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนอีกด้วย

ทำอาหารพื้นถิ่น แกงคั่วลูกโหนด น้ำพริกผักสด

ศิลปะการแสดงมโนราห์ ศิลปะการแสดงมโนราห์ การแสดงพื้นบ้านที่คนในชุมชนบ้านตรัง อนุรักษ์เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้และร่วมกันสืบสานให้คงอยู่สืบไป

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดสนวนนอก จังหวัดบุรีรัมย์

หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมแบบครบวงจร ที่อยู่ร่วมกันแบบ เครือญาติ มีชาติพันธุ์ไท – เขมร ใช้ภาษา “แขมร์” เป็นภาษาถิ่น มีการหลอมรวมวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ลงตัวและยังคงรักษากลิ่นอายชาติพันธุ์เขมร สามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้ ด้วยมีระยะทางห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์เพียง 12 กิโลเมตร

เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหม กลิ่นอายวิถีชีวิตแบบเซราะกราว ที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายตามแบบชาติพันธุ์ไท – เขมร มีผ้าไหมยกดอกพิกุล ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ผ้าที่เกิดจากผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ไท – ลาว และไท – เขมร การละเล่นเรือมตรด ขนมตดหมา วิหารคู่ พระพุทธรูปไม้โบราณ โฮมสเตย์และรีสอร์ทไว้รองรับนักท่องเที่ยว    

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสนวนนอก
ภายในวัดสนวนนอก    มีพุทธอุทยานทำดี    ละชั่ว  กลัวบาป เดิมมีชื่อว่า  “อุทยานหยุดทำชั่วเถิด”  สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช  ๒๕๑๙ และมีโบสถ์ สร้างตั้งคู่กันอยู่ 2 หลัง ภายในมีพระประธานที่สวยงาม  

ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก
แหล่งทอผ้าไหมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหม

กำแพงดินและ คูเมืองโบราณ
เป็นกำแพงดิน จำนวน  ๓ ชั้น มีคูเมืองอยู่ตรงกลางระหว่างกำแพงดิน  ความสูงของกำแพงดิน  ประมาณ  ๑  เมตร  ๕๐  เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเมื่อประมาณ  ๑,๕๐๐  ปี เป็นกำแพงป้องกันภัยจากศัตรูและอาจเคยเป็นฐานทัพ  

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สะพานยายชุน
สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๘ ด้วยเงินบริจาคของยายชุน ผู้เป็นเศรษฐีนี ในยุคสมัยนั้น  ลักษณะของสะพานเป็นกระดานไม้แผ่นเดียววางทอดกัน ระยะทางประมาณ  ๕๐ เมตร เพื่อข้ามลำห้วยจากฝั่งหมู่บ้านสนวนนอกไปยังทุ่งนา

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน ของนายประถม  โกติรัมย์ ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 บนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การบายศรีสู่ขวัญ
ลานวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลเกิดความสวัสดิ์ดีกับผู้รับขวัญ โดยใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษา “แขมร์” เป็นบทเรียกขวัญ 

การแสดงรำตรด
ลานวัฒนธรรม เป็นการละเล่นพื้นบ้าน ใช้เล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และใช้ภาษาถิ่นในการแสดง 

ตักบาตร
วัดสนวนนนอก หรือหน้าบ้าน ทำบุญตักบาตร  ตอนเช้าที่วัดสนวนนอกหรือหน้าบ้าน

ทอผ้า
ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก เรียนรู้และทดลองทอผ้า

ฐานบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ฐานบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เรียนรู้และทดลองปลูกหม่อน เลี้ยงไหม

ฐานบ้านนก
ฐานบ้านนก เรียนรู้และทดลองทำนกจากกะลามะพร้าว

ฐานบ้านจักสาน
ฐานบ้านจักสาน เรียนรู้และทดลองจักสานจากไม้ไผ่

ฐานบ้านกระดิ่ง
ฐานบ้านกระดิ่ง เรียนรู้และทดลองทำกระดิ่ง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาไฟปลายบัด มีชาติพันธุ์ไท – ลาว และ ไท – เขมร ที่มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยมีโบราณสถานเป็นทุนทางวัฒนธรรม อาทิ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทเขาปลายบัด กุฏิฤาษี และสามารถเชื่อมโยงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ด้วยระยะทางเพียง 8 กิโลเมตร

ตามรอยอารยธรรมขอมทวารวดีสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เที่ยวชมโบราณสถานอายุกว่า 1,400 ปี รอบ ๆ ชุมชน เรียนรู้วิถีวัฒนธรรม สินค้าภูมิปัญญา อาทิ ผ้าไหมลายผักกูด  ผ้าหมักโคลนบารายพันปี ข้าวภูเขาไฟเขาปลายบัด เสื่อกกยกลาย สมุนไพรเขาปลายบัด พร้อมที่พักมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทที่สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ตามคติศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ปี

กุฏิฤาษี
อโรคยศาลในพุทธศาสนามหายา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ครอบคลุม เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา

ปราสาทเขาปลายบัด 1
ศาสนสถานที่สร้างในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศิลปะเขมรแบบคลัง -บาปวน

ปราสาทเขาปลายบัด 2
ศาสนสถานตั้งอยู่บนสันเขาตามความเชื่อศาสนาฮินดู มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในรัชกาลของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงผนังด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เนื่องจากถูกนักล่าของเก่าระเบิดทำลาย เพื่อขุดหาโบราณวัตถุ

ตลาดโบราณ
ตลาดชุมชน จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชน เปิดจำหน่ายทุกวันช่วงเช้าและเย็น

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภูเขาไฟปลายบัด
ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว  ปากปล่อง มีลักษณะเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก สูง 289 เมตร จากระดับนน้ำทะเลปานกลาง มีปราสาทตั้งอยู่ 2 หลัง ได้แก่ ปราสาทปลายบัด 1 และปลายบัด 2 อยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร 

บารายเมืองต่ำ
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่บริเวณเหนือตัวปราสาทเมืองต่ำ สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับปราสาทเมืองต่ำ คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็น สถานที่กักเก็บน้ำ เพื่อใช้ในสาธารณูปโภคในสมัยนั้น 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

องุ่นภูเขาไฟ
ไร่องุ่นออแกนิค ตั้งอยู่เชิงเขาปลายบัด เปิดให้ชมระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน หรือจนกว่าองุ่นจะหมด 

239 ฟาร์มปูนา
ฟาร์มปูนาที่ได้นำระบบน้ำใต้ดินมาช่วยในการบริหารจัดการพื้นที่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การบายศรีสู่ขวัญ
ลานวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลเกิดความสวัสดิ์ดีกับผู้รับขวัญ โดยพราหมณ์จะใช้ภาษาอีสาน เป็นบทนำกล่าว 

การแสดงพื้นบ้าน
ลานวัฒนธรรม แสดงพื้นบ้านชุด เมืองต่ำระบำขอม เป็นชุดการแสดงที่จัดเตรียมไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 

ปั่นจักรยาน
รอบบริเวณชุมชน ปั่นจักรยาน ชมบายรายเมืองต่ำ กุฏิฤาษี ปราสาทเมืองต่ำ ทัศนียภาพรอบชุมชน เช็คอินที่จุดชมวิวต้นตาลคู่ อุโมงค์ต้นไม้ สะพานขอม

ตักบาตร
หน้าตลาดโบราณ ทำบุญตักบาตร ตอนเช้า หน้าตลาด 

ย้อมผ้าหมักโคลนบารายพันปี
กลุ่มผ้าหมักโคลน หมู่ 15 เรียนรู้และทดลองย้อมผ้าแบบโบราณ ด้วยการหมักโคลนจากบารายกุฎิฤาษี

ทอเสื่อกก
กลุ่มเสื่อกกคนพิการ เรียนรู้ขั้นตอนการทอเสื่อกก และทดลองทอเสื่อกก 

ทอผ้า
กลุ่มทอผ้า บ้านโคกเมือง เรียนรู้และทดลองทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร

บ้านภู ตั้งอยู่ทามกลางภูเขาและทิวทัศน์ที่สวยงาม (ซึ่งคล้ายกับฟูเขาไฟฟูจิ ในประเทศญี่ปุ่น) อากาศสดชื่นบริสุทธิ์  มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และแหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต โดยเพาะปลูกข้าวและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ราบโดยไม่ใช้สารเคมี คนในชุมชนจะนิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน

“ชาวบ้านภูสามัคคี  สืบวิถีแบบพอเพียง เด่นชื่อเสียงศูนย์เรียนรู้ ฟื้นฟูวัฒนธรรมผู้ไทย รักษ์ใส่ใจในพิพิธภัณฑ์ ภูสวรรค์ถิ่นรื่นรมย์ เที่ยวเพลินชมหมู่บ้านโฮมสเตย์” บ้านภู เป็นชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไทย ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม ตั้งอยู่ทามกลางทิวทัศน์ภูเขาล้อมรอบ สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ใช้ชีวิตบนวิถีความพอเพียง

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดศรีนันทาราม
เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน โดยมีสิมเก่า หรือ โบสถ์เก่า ตั้งอยู่ในบริเวณวัด เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจและร่วมมือกันก่อสร้างคนชนในบ้านภู เมื่อปี พ.ศ. 2449 ซึ่งด้านในได้ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนบ้านภู

ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู
ศูนย์เรียนรู้บ้านภู เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ของชุมชนเป็นสถานที่ประชุม เสวนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นที่หลอมรวมภูมิรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน  และใช้เป็นแหล่งบริการชุมชนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะให้บริการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน และเป็นศูนย์ประสานงานและบูรณาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้นำกลุ่มองค์กร เครือข่ายที่ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนบ้านภูให้มีความเข้มแข็ง จนเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่ได้รับความนิยมจากทั่วประเทศ

วัดภูผาขาว (ถ้ำโส้ม)
วัดถ้ำภูผาขาวหรือวัดถ้ำโส้ม ชื่อเรียกที่เป็นภาษาภูไท เป็นวัดที่สร้างอยู่บนหน้าผาอันสูงชันของภูเขาอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีพระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาเป็นพระประธานของวัดแห่งนี้ ซึ่งเจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านภูบ้านเป้าร่วมกันสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ร่วมกันก่อสร้างถนนคอนกรีตขึ้นวัดปลูกสร้างอาคารที่ใช้เป็นกุฏิสงฆ์ และห้องพักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย ถือได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนชาวบ้านภู และละแวกใกล้เคียง

วัดพุทธคีรี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ก่อนทางเข้าหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาบริเวณวัด มีสถานที่พักกางเต็นท์และมีจุดชมทัศนียภาพที่สวยงาม

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวบ้านภู
จุดชมวิวบ้านภู ตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน เป็นที่ราบเชิงเขาเป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ชมทัศนียภาพของท้องทุ่งนาและสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของภูจ้อก้อ (ซึ่งจะคล้ายกับวิวของภูเขาไฟฟูจิประเทศญี่ปุ่น)ซึ่งมีความอุดมสมบุณ์เขียวขจีสลับกับสีฟ้าของท้องฟ้าอย่างสวยงาม

ฝ่ายมีชีวิต
ตั้งอยู่บริเวณลำห้วยกระเบียน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศห้วยกระเบียน ซึ่งชุมชน เพื่อจะได้ชะลอน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะใช้ประโยชน์จากฝ่ายเหล่านี้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ยังทำให้เกิดความชุ่มชื้นในต้นน้ำของชุมชน และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อป่าชุมชน

แหล่งศึกษาธรรมชาติวัดถ้ำกระพุง
ตั้งอยู่บนภูเขาท้ายหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนและมีสมุนไพรต่าง ๆ มากมาย จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและสมุนไพรของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์ถวัลย์ ผิวขำ
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์ถวัลย์ ผิวขำ ตั้งอยู่บริเวณของบ้านอาจารย์ถวัลย์ ซึ่งได้ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบพอเพียง การปลูกพืชผักสวนครัวและอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อนักท่องเที่ยวเข้า สู่ชุมชน (กรณีเป็นหมู่คณะ)
บริเวณหน้าวัดศรีนันทาราม สื่อบุคคลและมักคุเทศก์น้อยจะกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยภาษาผู้ไทย และร่วมกันคล้องพวงมาลัยให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งขบวนและแห่กลองตุ้ม ฟ้อนรำและการแสดงวิถีชีวิตชาวบ้านภูให้กับนักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่บริเวณ  วัดเพื่อเข้าไปนมัสการขอพรพระใหญ่ในสิมเก่าวันศรีนันทาราม

กิจกรรมพาแลง
ศูนย์เรียนรู้บ้านภู เป็นกิจกรรมไฮไลท์ของชุมชนบ้านภู ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ นักท่องเที่ยวร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญตามรูปแบบของชาวภูไทยบ้านภู โดยได้นำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงาม ที่ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน ข้าวเหนียวนึ่ง สุรากลั่น ไข่ไก่ต้ม ไก่ต้มทั้งตัว ด้ายผูกข้อมือมีด้ายสายสิญจน์ ประกอบเป็น “พาขวัญ” โดยจะมีพราหมณ์เป็นผู้ ทำพิธีเรียกขวัญสร้างขวัญกำลังใจ และมีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทำการผูกข้อมือพร้อมอวยพรให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น
  • กิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมนักท่องเที่ยวร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากกลุ่ม ๓ วัยซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงดังกล่าว อาทิ การเต้นบาสโลป การแสดงวงโปงลาง การแสดงลงข่วงเข็นฝ้าย เป็นต้น
  • การรับประทานอาหาร ในรูปพาแลง คือ เป็นขันโตกอาหารพื้นบ้านของบ้านภู พร้อมกับรับชมการแสดงของชุมชนไปพร้อม

กิจกรรมนุ่งซิ่น ปูสาดใส่บาตรตอนเช้า
หน้าวัดศรีนันทาราม เป็นกิจกรรมในตอนเช้ารุ่งอรุณ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเสน่ห์ของชุมชน โดยการตักบาตรข้าวเหนียวบริเวณหน้าบ้านพักโฮมสเตย์หรือบริเวณหน้าวัดศรีนันทารามซึ่งจะได้รับบุญพร้อมสัมผัสอันบริสุทธิ์ของชุมชน 

กิจกรรมประกอบอาหารพื้นบ้าน
บ้านพักโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกับเก็บผักพื้นบ้านในชุมชน อาทิ ผักหวาน กะหล่ำปลี พริก ข่า ตะไคร้ ชะอม    เป็นต้น มาประกอบอาหาร อาทิ แกงผักหวาน อ่อมไก่ ตำแจ่ว (น้ำพริก) โดยจะมีคนชุมชนตามบ้านพักโฮมสเตย์เป็นผู้พาดำเนินการ ซึ่งในชุมชนบ้านภูทุกครัวเรือนจะนิยมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และนำผักเหล่านั้นมาประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยวได้ชิมและลิ้มรสชาติเมนูอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาลให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส

ปั่นจักรยานตามเส้นทางชมบรรยากาศรอบ ๆ หมู่บ้าน
รอบบ้านภู นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานตามเส้นทางชมบรรยากาศ ภูเขา ทุ่งนาบริเวณรอบชุมชนบ้านภู พร้อมเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ชุมชน โดยมีกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยเป็นผู้ปั่นนำทางและเล่าประวัติสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้ชมและสัมผัส โดยเดินทางไปตามเส้นทางไปยังกลุ่มต่าง ๆ ประกอบด้วย

– ฐานเพิ่มรายได้ กลุ่มทอผ้าไหม
-ฐานประหยัด กลุ่มออมทรัพย์เศรษฐกิจพอเพียง
– ฐานเพิ่มรายได้ กลุ่มแกะสลักไม้
– ฐานเอื้ออารี กลุ่มทอผ้าลายขิด

กิจกรรมทอผ้าและย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ
ศูนย์เรียนรู้การทอผ้า นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าและการย้อมผ้าจากธรรมชาติจากครูภูมิปัญญาของชุมชน 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ จังหวัดศรีสะเกษ

บ้านกู่ เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมานานกว่าสามร้อยปี  จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีวัดบ้านกู่ซึ่งสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓  เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ ของชาวปรางค์กู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญของชุมชน 

“บ้านกู่” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีเสน่ห์ของชุมชนด้วยการต้อนรับแบบวิถีของชาวกูย      มีอัตลักษณ์ของชุมชน คือการแต่งกายและภาษาพูด ชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ สตรีชาวกูย เป็นผู้มีความสามารถและขยันขันแข็ง มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้เสริมจากการทำการเกษตร ผลิตผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
“ปรางค์กู่”หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะโก” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูประจำชุมชน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ปรางค์กู่ ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง เรียงตัวตามแนวแกนทิศเหนือ -ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุมเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อสอดรับกับบันไดทางขึ้น ปราสาททั้ง 3 หลัง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวยู (U) อายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 -ต้น พุทธศตวรรษที่ 17

วัดบ้านกู่
วัดบ้านกู่ สร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ของอำเภอปรางค์กู่ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกูย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกู่และศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สระกู่
สระกู่ เป็นแหล่งน้ำโบราณที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รอบสระน้ำกู่ เป็นป่าไม้ชุมชน มีต้นมะขามจำนวนมาก อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ภายในชุมชน บ้านเรือน มีความสะอาด    น่ามอง ยังคงวิถีชีวิตของชาวกูย ที่เป็นอัตลักษณ์ ของชุมชน โดยบริเวณใกล้สระน้ำจะมีปราสาทปรางค์กู่ ที่เป็นโบราณสถานสมัยขอมโบราณที่มีอายุยาวนาน ซึ่งชาวชุมชนบ้านกู่ มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาทำความสะอาดชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนแห่งนี้ มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้าวอินทรีย์
ประชาชนชาวบ้านกู่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ทำนา

– เกษตรอินทรีย์
– ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
– ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง รวมถึงการ ทำไร่อ้อยสวนยางพารา  เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สาวไหม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๑๔  กิจกรรม “สาวไหม” เป็นการนำรังไหมที่เลี้ยง มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือดก่อน แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบา ๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขึ้นมา   การสาวไหมมีวิธีการขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญอยู่มาก ผู้ทำการสาวไหมต้องมีความชำนาญ  เส้นไหมจึงจะออกมาสวยงามสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำและร่วมกิจกรรมของชุมชนได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเส้นไหม และขั้นตอนอื่น ๆ ร่วมด้วย

ร่วมทอผ้าด้วย กี่กระตุก แบบดั้งเดิม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุมชนจะมีฐานการเรียนรู้การทอผ้าไหมชาติพันธุ์กูย  นักท่องเที่ยวสามารถชม และร่วมทอผ้า ตลอดทั้งช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ที่บริเวณลานวัฒนธรรมดุงกูย

สวมชุดชาวกูย
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุดอัตลักษณ์ของชาวกูย บ้านกู่ นักท่องเที่ยวร่วมทดลองสวมใส่และถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกได้

ทำขนมพื้นบ้าน
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ขนมพื้นบ้าน “ขนมไปรกระซัง”ชุมชนทำขนมพื้นบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่วมทำขนมและรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ไปเยี่ยมชม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา จังหวัดสระแก้ว

ประมาณ ปี พ.ศ. 2525 มีครัวเรือนชาวนครราชสีมา จำนวน 6 ครัวเรือน ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน อยู่ที่หมู่บ้านหนองหมอบ (ชื่อตามชาวบ้านเรียก) กลุ่มชนนี้ได้นำวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้อนุรักษ์ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ต่อมามีครัวเรือนย้ายตามกันมาและตั้งถิ่นฐาน อยู่มากขึ้น ปัจจุบันทางราชการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่ไทยพัฒนา

เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมในด้านทอผ้า เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  ในปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สั่งทอผ้าไหมจากบ้านใหม่ไทยพัฒนาและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานกระบือจำนวน 25 ตัว ให้กับเกษตรกรบ้านใหม่ไทยพัฒนาเพื่อใช้ในการเกษตรและทำมาหาเลี้ยงชีพ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม
แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม เกิดจากการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน เพื่อทอผ้าไหม ซึ่งผ้าไหมของบ้านใหม่ไทยพัฒนามีกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนภายในชุมชน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม และการทอผ้าไหม ซึ่งความโดดเด่นของผ้าไหมทอมือบ้านใหม่ไทยพัฒนา คือ ใช้เส้นไหมแท้มาย้อมสี ทอเป็นผ้าที่มีลายสวยงาม เนื้อผ้าละเอียดเรียบ สีไม่ตก เนื้อแน่นเป็นเงางาม ซักแล้วไม่หดตัว ลายผ้ามีทั้งลายดั้งเดิม ลายประยุกต์ 

แหล่งเรียนรู้การจักสาน
แหล่งเรียนรู้การจักสาน มีนายทักษิณ เสนาน้อย และนายบุญเลิศ บันอุมาลี ซึ่งเป็นคนในชุมชน ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจักสาน (ตะกร้าโบราณ, กระด้ง, ไซ) และมีนายยนต์ ละวิเวก มีความรู้ด้านการทำซุ้มไก่ และมีนางสาวสุมิตรา ทองไทย และนางคำปอง ทองไทย และนายแก้ว ทวดทอง จักสานชะลอมไม้ไผ่ โดยการจักสานไม้ไผ่นั้น เมื่อก่อนทำเพื่อขายเลี้ยงชีพ และใช้ในครัวเรือน แต่ในปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจักสาน 

แหล่งเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้าน (หมอลำ, หมอแคน)
เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านมรดกภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่ได้รับการสืบทอดมาจากคนอีสาน โดยคนในชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา ย้ายถิ่นฐานมาจากอีสาน และมีการเล่นหมอลำ หมอแคนสืบทอดกันมาภายในชุมชน โดยปัจจุบันได้มีการนำหมอลำ หมอแคน มาใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

แหล่งเรียนรู้งานฝีมือจากเศษผ้าไหม
นางบุญมี ปกพันธ์ นางทองดี พาชื่น และนางทิพย์ ปกพันธ์ เป็นผู้บุกเบิกการทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหม และรังไหม ซึ่งทั้ง ๓ คน เห็นว่าเศษผ้าไหมและรังไหมนั้น ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเกิดไอเดียที่จะนำเศษผ้าไหม และรังไหมมาสร้างมูลค่า โดยการผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ สบู่จากรังไหม เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก
อ่างเก็บน้ำท่ากระบากมีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปรับปรุงระบบชลประทาน ในเขตพื้นที่ราบเชิงเขาอ่างเก็บเป็นแหล่งน้ำ สำหรับเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร มีสภาพแวดล้อมที่งดงาม ของป่าโปร่ง รายรอบด้วยต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมทั้งชนิดพันธุ์ที่นำมาปลูกประดับ ที่นี่จึงเป็น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีบรรยากาศสวยงาม โดยเฉพาะในยามเย็นที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลาลับนั้น วินาทีที่ ท้องฟ้าแปรเปลี่ยนเป็นสีทองเหนือผืนน้ำขนาดใหญ่ในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ 

สวนสัตว์ช่องก่ำบน
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดสระแก้ว อยู่ที่ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร ได้เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทย ภายในมีสัตว์หลากหลายชนิด เช่น กวาง ละมั่ง หมี หมา นกเงือกปากย่น นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง นกขุนทอง ไก่ฟ้าหลังเทา

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นอาคารสำหรับการเรียนรู้ การจัดอบรมคนในชุมชน และผู้ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อศึกษาเรียนรู้ที่จะทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยชุมชนเริ่มคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน นอกจากทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรแล้ว ทางชุมชนไดดำเนินการปลูกสมุนไพรในชุมชน เพื่อลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ วไลยอลงกรณ์ปทุมธานี

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ต้อนรับผู้มาเยือน
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรม หมอรำพื้นบ้าน หมอพิณ หมอแคน พร้อมแนะนำชุมชน และกราบนมัสการหลวงพ่อไพศาล และศาลปู่ตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จากนั้นนั่งมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ชมวิถีชุมชนที่แสนเรียบง่าย
ทดสอบงานฝีมือ
แหล่งเรียนรู้งานฝีมือจากเศษผ้าไหม ศึกษาเรียนรู้วิธีการทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหม รังไหม และทดลองปฏิบัติ

จักตอก สานชะลอม
แหล่งเรียนรู้การจักสาน ศึกษาเรียนรู้วิธีการจักตอก และวิธีการสานชะลอม จากผู้เชี่ยวชาญด้านงานจักสานของชุมชน และทดลองจักตอก สานชะลอม
กว่าจะเป็นผ้าไหม
แหล่งเรียนรู้การทอผ้าไหม ศึกษากระบวนการขั้นตอนการเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม และการทอผ้าไหม ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นจนจบ 
พืชผัก ปลอดสารพิษ
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เยี่ยมชมสวนผักผลไม้ในชุมชน ซึ่งเป็นพืชผักปลอดสารพิษ พร้อมเรียนรู้เทคนิคการปลูกผักไร้สารอย่างไร ให้รอดพ้นจากแมลง
เรียนรู้วิถีชาวนา
ศูนย์การเรียนรู้วิถีชาวนา ศึกษาเรียนรู้ วิถีชาวนาในอดีต ตั้งแต่การไถนาด้วยกระบือ การดำนา การลงแขกเกี่ยวข้าว การสีข้าว การยาลานด้วยมูลกระบือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นต้น ทั้งนี้พร้อมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

สมุนไพรไทย ทำอะไรได้บ้าง
แหล่งเรียนรู้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ศึกษาเรียนรู้ประโยชน์ของสมุนไพร การแปรรูปสมุนไพร และกระบวนการขั้นตอนในการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตั้งแต่ต้นจนจบ
ควายแสนรู้
ศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์กระบือบ้านใหม่ไทยพัฒนา สนุกเพลิดเพลินกับการแสดงของควายแสนรู้ในชุมชน ขั้นตอนการฝึกควาย และการออกคำสั่งให้ควายทำตาม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม