ชุมชนคุณธรรมวัดโพนชัย จังหวัดเลย

วัดโพนชัย  เป็นวัดคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย สร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2103 อายุราว 453 ปี เป็นพื้นที่จัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปีในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี

วัดโพนชัย สร้างมาพร้อมกับการสร้างพระธาตุศรีสองรัก มีพระพุทธเจ้าใหญ่ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอด่านซ้าย ยังเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญ ๆ เช่น ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม เป็นผู้นำชาวบ้าน ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโพนชัย
เป็นวัดคู่เมืองของอำเภอ ด่านซ้าย สร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2103 อายุราว 453 ปี

พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน
เป็นที่เก็บรวมรวมเรื่องราวของอำเภอด่านซ้าย มีข้อมูลความเป็นมาของเมืองด่านซ้าย เรื่องราว ประเพณี วัฒนธรรม แบ่งเป็นห้อง ๆ และเป็นสถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับผีตาโขน

พระธาตุศรีสองรัก
พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2103  สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2106 เพื่อให้เป็นสักขีพยาน ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกรุงศรีอยุธยา (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) กับกรุงศรีสัตนาคนหุต (ปัจจุบัน คือแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว)

วัดเนรมิตวิปัสสนา
พระอุโบสถและเจดีย์ภายในวัดก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลังมีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน และมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อพระมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด

ศูนย์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นบ้านเดิ่น
เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของเมืองด่านซ้าย
– โมเดลจำลองงานบุญหลวง
– ประเพณี 12 เดือน

บ้านเจ้าพ่อกวน
เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระธาตุศรีสองรัก และเป็นผู้ดูแลรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

บ้านเจ้าแม่นางเทียม
เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระธาตุศรีสองรัก และเป็นผู้ดูแลรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวสุดทาง ที่ด่านซ้าย
เป็นจุดพักรถและจุดชมวิว ที่นักท่องเที่ยวถ่ายรูป เป็นบรรยากาศที่สวยงามสุดลูกหูลูกตาเพราะว่าด้านล่างนั้นจะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและเห็นบ้านเรือนประชาชนของอำเภอด่านซ้าย

กลุ่มต้นฮังคาว จำนวน 19 ต้น อยู่บริเวณหอน้อย/ ศาลเจ้าแสนเมือง
กลุ่มต้นฮังคาว จำนวน 19 ต้น รุกขมรดกของแผ่นดิน ประจำปี 2562 อยู่บริเวณ หอน้อย บ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวด่านซ้าย (การเข้าไปชม ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแล)

กลุ่มต้นจำปาลาว อยู่บริเวณรอบ ๆ พระธาตุศรีสองรัก
กลุ่มต้นจำปาลาว จำนวน 19 ต้นบริเวณลานด้านบน (โดยรอบ) พระธาตุศรีสองรัก รุกขมรดกของแผ่นดิน ประจำปี 2562

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์ปศุสัตว์ตาม แนวพระราชดำริ
เป็นแหล่งผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์ที่จำเป็นและเหมาะสำหรับสภาพพื้นที่ไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ขาดแคลน รวมทั้งให้กับราษฎรที่ยากจนในเขตพื้นที่ต่าง ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การแสดงผีตาโขน
วัดโพนชัย การแสดงการละเล่นผีตาโขน นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้

การทำต้นผึ้ง
วัดโพนชัย กิจกรรมการทำต้นผึ้ง ถวายพระธาตุศรีสองรักต้นละ 150 บาท

การทำขันหมากเบ็ง
วัดโพนชัย ทำขันหมากเบ็งถวายพระเจ้าใหญ่ พระประธานในอุโบสถวัดโพนชัยคู่ละ 50 บาท

ทำหน้ากากผีตาโขน (เล็ก)
วัดโพนชัย ทำหน้ากากผีตาโขน (เล็ก) ตัวละ 250 บาท

อาหารพื้นบ้าน
วัดโพนชัย ร่วมประกอบ/รับประทานอาหารพื้นบ้าน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำ จังหวัดลำพูน

ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำ ครั้งในสมัยอดีตมีขบวนไพร่พลของพระนางจามรี ที่หนีศึกสงครามเดินทางมาจากหลวงพระบางเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยมีช้างคู่บารมีชื่อ พลายสุวรรณมงคล ติดตามมาด้วย เมื่อครั้งขบวนผ่าน ณ สถานที่แห่งนี้เครื่องประดับของพญาช้างที่ทำมาจากทองคำ มีลักษณะเป็นพวงตกหล่นลง ต่อมาจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านพวงคำ หรือ บ้านปวงคำ ตามภาษาท้องถิ่น

ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำ เป็นชุมชนท่องเที่ยว บวร On Tour ที่มีการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนในทุกด้านสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ผ้าซิ่นจกโหล่งลี้ ที่มีความงดงามด้วยลวดลายสร้างสรรค์ตามจินตนาการของผู้ทอในอดีต และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีที่พักโฮมสเตย์คุ้มภูหมื่นลี้บนพื้นที่ทางธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบ มีความสะอาด ตลอดถึงผู้ให้บริการที่พักมีไมตรี ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยความอบอุ่นดุจญาติมิตร มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดพวงคำ
ถือเป็นสถานที่สำคัญของชุมชนที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนบ้านปวงคำแห่งนี้
อีกทั้ง ยังเป็นลานกิจกรรมของชุมชนในการจัดงานต่าง ๆ งานประเพณีสำคัญ งานทางศาสนารวมถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนอีกด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลลี้ ณ วัดพวงคำ
ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกโหล่งลี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการทอผ้าของชุมชน อาทิ การย้อมสี การทอ การปัก เป็นต้น

ตลาดนัดชุมชน “กาดนัดพอเพียง หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต”
เป็นตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร และสินค้าพื้นถิ่นของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภูหมื่นลี้
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม สามารถมองเห็นวิวสวนลำไยที่เขียวขจีทิวทุ่งนาข้าวสีเหลืองทอง จึงถือว่าเป็น Landmark ที่สำคัญของชุมชนที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภูหมื่นลี้
ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำเป็นชุมชนที่มีการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีพ มีการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เป็นการสร้างรายได้ให้ครัวเรือน โดยการจำหน่ายพืชผักสวนครัว ถือเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือนอีกด้วย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การฟ้อนเล็บ การฟ้อนใต้ฟ้าปวงคำ เป็นต้น
ลานกิจกรรมของ ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำเป็นการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนแบบล้านนา เช่น การฟ้อนเล็บ การฟ้อนใต้ฟ้าปวงคำ เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงที่มีความอ่อนช้อย งดงาม และสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมการสาธิตและฝึกปฏิบัติการประกอบอาหารพื้นบ้าน
ลานกิจกรรมของชุมชนวัดพวงคำ เป็นกิจกรรมการสาธิต และร่วมฝึกปฏิบัติประกอบอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านปวงคำ เช่น น้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกปลาย่าง ฯลฯ

กิจกรรมนั่งรถรางนำเที่ยวชุมชน
ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำ เป็นกิจกรรมที่นำพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมบริบท ภูมิทัศน์โดยรวมของชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ตามสภาพความเป็นจริงโดยจะมีมัคคุเทศก์ของชุมชนที่คอยแนะนำสถานที่สำคัญ รวมถึงให้ความรู้แต่ละสถานที่กับนักท่องเที่ยว

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดป่าบุก จังหวัดลำพูน

ชุมชนคุณธรรมวัดป่าบุก บรรพบุรุษดั้งเดิมเป็นไท-ยองที่อพยพมาจากรัฐฉาน (ประเทศพม่า) เมื่อก่อนบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนี้เป็นป่าที่มีต้นบุกขึ้นหนาแน่น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าบุก” เป็นชุมชนขนาดเล็ก เป็นชุมชนที่มีการน้อมนำหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมอันดีงามเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ชุมชนคุณธรรมบ้านป่าบุกได้รับรางวัลมากมาย อาทิ ชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) เป็นต้น

ชุมชนคุณธรรมบ้านป่าบุก เป็นชุมชนท่องเที่ยว บวร On Tour ที่มีการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนในทุกด้านสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียง เช่น กระเป๋านกฮูกจาก เศษผ้า กระเป๋าผ้าใส่แก้วน้ำ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้าน เป็นต้น ที่พักโฮมสเตย์ ที่มีบรรยากาศที่เน้นความสะอาด ใช้วัสดุพื้นถิ่นในการตกแต่ง ตลอดถึงผู้ให้บริการที่พักมีไมตรี ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยความอบอุ่นดุจญาติมิตร การแสดงศิลปวัฒนธรรมแบบชาวไทยองในการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมเยือน อาหารพื้นถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ รสชาติดี อาทิ น้ำพริกนอนออง ปู้เขียวหางดอก กิมจิยอดผักกาด เป็นต้น 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดป่าบุก : พิพิธภัณฑ์วัดป่าบุก
ชุมชนคุณธรรมวัดป่าบุกได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเป็นที่เก็บรวบรวมภูมิปัญญาต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ของชุมชน ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม  วิถีชีวิต ท้องถิ่นและได้มีการพัฒนาทำเป็นฐานข้อมูลขึ้น โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ วัดป่าบุก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

เสื้อบ้าน เสาใจบ้าน
เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนคุณธรรม บ้านป่าบุก อีกทั้งยังเป็นลานกิจกรรม เพื่อจัดงานต่าง ๆ ของชุมชน

ตลาดม่วนใจ๋
เป็นตลาดสินค้าเกษตร และสินค้าพื้นถิ่นของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในลักษณะของสะพานทอดยาวตามแนวท้องทุ่งรวงทอง ซึ่งตอนเย็นชมพระอาทิตย์ตกงดงามมาก จึงถือว่าเป็น Landmark ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของชุมชนที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนยอง รำกลองหลวง เป็นต้น
ลานกิจกรรมของ ชุมชนคุณธรรม วัดป่าบุก การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนชาวยอง เช่น ฟ้อนยอง รำกลองหลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยองได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมการสาธิตและฝึกปฏิบัติการประกอบอาหารพื้นบ้าน
ลานกิจกรรมของชุมชนวัดป่าบุก เป็นกิจกรรมการสาธิต และร่วมประกอบอาหารพื้นบ้านแบบชาวยอง บ้านป่าบุก เช่น ปู้เขียวหางดอก น้ำพริกนอนออง ฯลฯ

กิจกรรมการสาธิตและฝึกปฏิบัติการ ลงแขกเกี่ยวข้า
ทุ่งเศรษฐี การสร้างความร่วมมือให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคีในการร่วมกิจกรรม ทั้งในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานอีกด้วย เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การลงแขกเก็บลูกลำไย เป็นต้น

กิจกรรม “ชุมชนปลอดขยะ หน้าบ้านน่ามอง”

ชุมชนคุณธรรมวัดป่าบุก การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา ร่วมสร้าง โดยอาศัยความร่วมมือคนในชุมชน ให้เกิดความตระหนักร่วมกัน ในการรณรงค์ การรักษาความสะอาด สถานที่ท่องเที่ยว และการพัฒนาสถานที่ อาคาร บ้านเรือน ถนนสาธารณะตลอดจนหน้าบ้านให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสะอาด สวยงาม น่าอยู่อาศัย จึงมีกิจกรรม “ชุมชนปลอดขยะ หน้าบ้านน่ามอง” ทำให้ปัญหาขยะในชุมชนได้รับการแก้ไข โดยเริ่มจากการคัดแยก เปลี่ยนขยะเป็นเงิน เป็นปุ๋ย ทำเส้นทางขยะ 

กิจกรรม “ชุมชนปลอดขยะ หน้าบ้านน่ามอง” กิจกรรม 4 ฐาน การเรียนรู้

ชุมชนคุณธรรมวัดป่าบุก ชุมชนต้นแบบ สามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่น ๆ เข้ามาศึกษาดูงานได้ ประกอบด้วย
1.แหล่งเรียนรู้การจัดการขยะในบ้าน และขอบคันหินเบาจากโฟม (บ้านอาจารย์นพรัตน์ อุพงค์)
2.แหล่งเรียนรู้พื้นที่ว่างสร้างอาหาร (บ้านนางสายสุภาพ มณีกรรณ์)
3.แหล่งเรียนรู้การจัดการเศษผ้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ (บ้านนางจรรยา กันทาทรัพย์)
4.แหล่งเรียนรู้ก้านตาลแปลงร่าง (บ้านนายอินทร ยะรินทร์)

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย

ทุ่งเสลี่ยมเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา มีลักษณะภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยแนวสันเขามีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม วิถีชีวิตของคนทุ่งเสลี่ยมได้อาศัยร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิตประชาชนส่วนใหญ่มีอุปนิสัยรักสงบดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม ศูนย์กลางตั้งอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยมเป็นสถานที่ประดิษฐานของหลวงพ่อศิลา เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน  ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ชุมชนจัดงานสักการะหลวงพ่อศิลา ในงานจะมีขบวนแห่ครัวทาน ขบวนพานพุ่ม การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นสวยงามตระการตา

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หลวงพ่อศิลา วัดทุ่งเสลี่ยม
หลวงพ่อศิลา เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ สกัดจากหินทรายสีเทาที่กระบังหน้ามีแนวขึ้นตรงกลางลักษณะบ่งบอกว่าทำขึ้นในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษชัดเจนคือมีผ้าทิพย์รองรับตัวองค์พระปกติจะเป็นเส้นตรงมีลายดอกจันที่ขุดลึกลงไปในเนื้อหินต่างจากส่วนใหญ่เป็นลายขีดธรรมดาทรงกรองศอพาหุรัด สวมศิราภรณ์ สวมมงกุฎเทริดพระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยมคล้ายศิลปะขอมโบราณ พระพักตร์ไม่แย้มพระโอษฐ์เหมือนศิลปะบายนประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานขนาดนาคสามชั้น นาคที่ปรกอยู่เหนือพระเศียรมีเจ็ดเศียรด้านหลังหางนาคพาดขึ้นมาถึงลำตัว มีลวดลายแบบศิลปะลพบุรีสร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราชที่ 18-19
ความสำคัญ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปหินจำหลักที่งดงามที่สุดในทวารวดี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัด
วัดทุ่งเสลี่ยม จัดเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวทุ่งเสลี่ยม
ด้านในจัดเป็นสวนธรรมชาติ ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ไทย กล้วยไม้หลากหลายชนิด มีอาคารแหล่งข้อมูลและจัดแสดงสินค้าของที่ระลึก งานหัตถกรรม สินค้าพื้นบ้านของชุมชนชุมชนในบริเวณวัดความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้

ตลาดวัฒนธรรม
ตลาดวัฒนธรรม “กาดฮิมต้า” สร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีแหล่งจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและพัฒนาสินค้า เชื่อมโยงการตลาดจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค โดยตรงสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัด”ตลาดวัฒนธรรม” : ทุนวัฒนธรรมสร้างชาติ ตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข เพื่อนำผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์จากทั่วประเทศ ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน
ความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่พบปะของชาวบ้าน และการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน
(ปัจจุบันปิดตลาดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)

สถานที่ สำคัญทางวัฒนธรรม
ลานวัฒนธรรมหน้าวิหารหลวงพ่อศิลา เป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ในมิติการสืบทอดการแสดงทางวัฒนธรรม เพราะจะมีการแสดงฟ้อนรำแบบชาวล้านนาเพื่อถวายหลวงพ่อศิลา การฟ้อนรำที่มีผู้รำมากที่สุดถึง 1,250 คน

กลุ่มทางวัฒนธรรม
สภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งเสลี่ยม การรวมกลุ่มคนจัดตั้งเป็นสภาวัฒนธรรมตำบล กรรมการสภาฯ ทำหน้าที่
๑. อนุรักษ์ สืบทอด ส่งเสริม ประสานงาน การดำเนินงานกับกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านสภาวัฒนธรรม อำเภอ และจังหวัด
๒. เสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินการ ทางด้านวัฒนธรรม และทำแผนพัฒนาการ
๓. เป็นศูนย์กลาง แลก เปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับสภาวัฒนธรรมอำเภอและจังหวัด

สถานที่สำคัญเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัย
จิตรกรรมร่วมสมัย ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดทุ่งเสลี่ยม ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และวิหาร โดยทั่วไป ส่วนมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชาดก ชุดทศชาติในมหานิบาตชาดก รวมทั้งเป็นเรื่องบริวาร เช่น
เทพชุมชน นรก สวรรค์ นางฟ้า ท้องฟ้า เมฆ นอกจากนี้ เรื่องราวในจิตรกรรมฝาผนัง ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่จิตรกรสะท้อนลงไว้ในภาพด้วย โดยมีความมุ่งหมายรับใช้พระพุทธศาสนาด้วยการแสดงออกทางศิลปะ จิตรกรรมของวัดแห่งนี้เป็นฝีมือของคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะนักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่ “จิตรกรรมฝาผนังที่วัดทุ่งเสลี่ยม เป็นศิลปะร่วมสมัยรัชกาล ที่ ๙ ได้ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตก ตะวันออก และศิลปะไทยถ่ายทอดออกมาสร้างความสนใจในรูปแบบการ์ตูนภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมอร์ส มีประชาชนพาลูกหลานมาขอเข้าชมกันมากขึ้น ยังไม่มีเสียงสะท้อนในแง่ลบแต่ประการใด”ชมข้อมูลเพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=qfvYYyToFT8

ถนนสายวัฒนธรรม
ถนนสายวัฒนธรรม สะพานมิตรภาพแม่น้ำแม่มอก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่หรือเส้นทางวัฒนธรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้มีโอกาสแสดงออกทางศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย

ศูนย์การเรียนรู้/ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม
ศูนย์การเรียนรู้ธรรมนำชีวิต ศนย์ปฏิบัติธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม จัดอบรมประชาชนทั่วไปที่ชอบความสงบ หลีกหนีความวุ่นวายทั้งไปในชีวิตประจำวันและความเครียดสะสมในการทำงาน เพื่อไปปฏิบัติธรรมหาความสงบให้จิตใจ การได้ฝึกปฏิบัติ ฝึกจิต และสมาธิ ใช้ชีวิตแบบ slowlife เหมือนเป็นการชาร์จแบตเสริมพลังชีวิต ชำระจิตใจเข้มแข็ง มองโลกในแง่กุศล เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง เข้มแข็งขึ้น ที่วัดทุ่งเสลี่ยมตั้งขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาฝึกจิตทำสมาธิ

CPOT “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย” (Cultural Product Of Thailand : CPOT)
วัดทุ่งเสลี่ยมร่วมกับชุมชนจัดทำ “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ผ้ามัดย้อมสะเลียม” เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยบูรณาการขับเคลื่อนในชุมชนคุณธรรม ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ และมีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจให้กับประชาชน ชุมชนและประเทศชาติต่อไปสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรีเห็นควรส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีค่ามาต่อยอดสร้างสรรค์เป็น”ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย” (Cultural Product Of Thailand: CPOT) ของจังหวัดสุโขทัย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีค่า ให้คงอยู่สืบไป

สถานที่สำคัญเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินสุโขทัยของพระมหากษัตริย์
วัดทุ่งเสลี่ยม วัดวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนเสาศาลาการเปรียญทั้ง 14 ต้น โดยเสา 7 ต้น ด้านขวามือพระประธานจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ส่วนเสา 7 ต้น ด้านซ้ายมือจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่พระองค์เสด็จฯ มายัง จ.สุโขทัยจำนวน 7 ครั้ง พระครูสุเขตสุทธาลังการ เจ้าอาวาสกล่าวว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาตมาและทางวัดจึงจ้างอาจารย์และนักศึกษาจากกรมศิลปากร มาวาดภาพ ลงเสาของศาลาการเปรียญทั้ง 14 ต้น โดยแบ่งเสาฝั่งซ้ายมือ 7 ต้น เป็นภาพภาพเกี่ยวกับการเสด็จฯ เยือน จ.สุโขทัย ที่พระองค์เสด็จฯทั้ง 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 เสด็จพระราชดำเนิน มายังอำเภอทุ่งเสลี่ยม มีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่มอกให้ชาวบ้านมีน้ำปลูกข้าวทำนา ส่วนเสาด้านขวามืออีก 7 ต้น วาดภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ทรงงานเพื่อคนไทยทั้งประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แม่น้ำแม่มอก
อำเภอทุ่งเสลี่ยมมีแม่น้ำสำคัญ  คือ  ลำน้ำแม่มอกไหลผ่านเขตท้องที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม  เป็นระยะทางยาวประมาณ ๖๐  กิโลเมตร นอกจากนั้นมีลำน้ำแม่ถัน  คลองเหมืองนา คลองสำราญ  คลองแม่ทุเลา  ห้วยคะยางและห้วยไคร้ แม่น้ำผ่านหน้าวัดจึงได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ให้คนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดชมวิวที่สวยงามยามเช้าและยามเย็น

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ลำพัน
– ป่าแม่มอก อยู่ในพื้นที่ตำบลกลางดงและตำบลทุ่งเสลี่ยม ติดต่ออำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ประมาณ 86,632 ไร่ แม่น้ำแม่มอกจากป่าแม่มอก เป็นลำน้ำไหลผ่านหน้าวัดจึงได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้คนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดชมวิวที่สวยงามยามเช้าและยามเย็น 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง/ศาสตร์พระราชา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน  ทั้งในการพัฒนา และบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การใส่บาตรข้าวเหนียว
วัดทุ่งเสลี่ยม  ประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียว เป็นขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติพิธีกรรมและความเชื่อชาวลาวมาช้านาน ชาวลาว ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือ ผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง ประเพณีที่เห็นได้ชัดคือการใส่บาตรตอนเช้าผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงสวยงาม จะมีพระสงฆ์ประมาณ 5 รูปออกมารับบิณฑบาตในตอนเช้า

การปลูกข้าว
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อำเภอทุ่งเสลี่ยมมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทุกคนชื่นชอบเป็นอย่างหนึ่งนั่นก็คือการขี่จักรยานชมทุ่งนา เพราะว่าที่อำเภอทุ่งเสลี่ยงนั้นมีผืนนาเป็นจำนวนมากและชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องการทำนา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน การปลูกข้าวนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนแรก ได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้า เอาไปปักดำในนาผืนใหญ่

งานประดิษฐ์ งานฝีมือ ก๋วย/ฟุ่ย
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ทุ่งเสลี่ยมร่วมกันจัดประเพณีตานก๋วยสลากซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันก๋วยสลากจะมีอยู่2 ลักษณะ

1.ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมี คุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย และสุนัข เป็นต้น    

2.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง

ปั่นจักยาน
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อำเภอทุ่งเสลี่ยม มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทุกคนชื่นชอบเป็นอย่างหนึ่งนั่นก็คือการขี่จักรยานชมทุ่งนา เพราะว่าที่อำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้นมีผืนนาเป็นจำนวนมาก มีจักรยานให้ยืมและให้เช่าติดต่อที่ วัดทุ่งเสลี่ยมและเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม

ร่วมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 วัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง วัฒนธรรมด้านภาษา ภาษาพูด ของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่เป็นภาษาพื้นเมืองแบบล้านนาไทย ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไตยวน (ไต-ยวน)” หรือ “ไทยโยนก (ไทย-โย-นก)” ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง วัฒนธรรมด้านศิลปะการร่ายรำ ศิลปะการร่ายรำของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม เป็นการร่ายรำเนื่องในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีการแห่ครัวทาน ประเพณีการบวชพระ เป็นต้น ศิลปะการร่ายรำประกอบ ดนตรีพื้นเมือง ที่นิยมคือ การฟ้อนปราสาทไหว การฟ้อนเจิง การฟ้อนรำโม้ง จิ่งเจ้ การรำเถิดเทิงกลองต๊ะ การรำซิ้งม่อง เป็นต้น

ประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน)
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อาหารพื้นเมืองของอำเภอทุ่งเสลี่ยมวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร หรือการกินของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม นิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ส่วนอาหารก็เป็นอาหารแบบพื้นเมือง แยกเป็นดังนี้ 
อาหารประเภทแกง  หรือต้มมีน้ำ เช่น แก๋งแค แก๋งอ่อม แก๋งฮังเล แก๋งโฮะ แก๋งส้มแก๋งบ่ค้อนก้อม แก๋งปี๋ป้าว แก๋งเต้งมดแดง แก๋งเห็ดถอบ แก๋งออกลาน เป็นต้น
อาหารประเภทยำ ยำหนามโก๊ง  ยำบ่เขือแจ้ใส่จิ้นย่าง  ยำยอดบ่ม่วง เป็นต้น
อาหารประเภทน้ำพริกผักจิ้ม เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกแม่เก๋ น้ำพริกถั่วเน่าน้ำพริกน้ำปู๋
เป็นต้น
อาหารประเภทดอง เช่น ผักกาดดอง  ผักเสี้ยนดอง  ดองแมงมัน  ป๋าจ่อม ป๋าส้ม จิ้นส้ม
เป็นต้น
อาหารประเภทลาบ/หลู้ เช่น ลาบจิ้น (วัว,ควาย)  ลาบหมู ลาบค้างคาว ลาบจิ้นฟาน (เก้ง)ลาบฮอก (กระรอก) เป็นต้น

การชมความงดงามทางธรรมชาติ
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ทุ่งเสลี่ยมเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนาค่อนข้างสูงมีความเป็นธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์  ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยแนวสันเขาทำให้อำเภอนี้มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม วิถีชีวิตของผู้คนทุ่งเสลี่ยมได้อาศัยร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิตจึงทำให้มีวัดวาอารามมากมาย ประชาชนส่วนใหญ่มีอุปนิสัยรักสงบ ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรไทย

ศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีศิลปวัฒนธรรมด้าน ดนตรีพื้นเมือง ศิลปวัฒนธรรมด้านศิลปะการร่ายรำ ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง ศิลปวัฒนธรรมด้านปฏิมากรรมแบบล้านนาแตกต่างจากที่อื่นในจังหวัดสุโขทัย  

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านผารังหมี จังหวัดพิษณุโลก

หมู่บ้านผารังหมี เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผาหลังหมี” เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กประชากรส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน ที่อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่เป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรมทำให้มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำเกษตร รายได้ของชุมชนมาจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลักโดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ ข้าว มะม่วง รวมไปถึงรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน ผลิตภัณฑ์งานฝีมือในชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มแปรรูปผ้า แปรรูปเสื่อ กลุ่มมะม่วงกวน และกลุ่มจักสานทำไม้กวาด เป็นต้น 

บ้านผารังหมี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของคนอีสาน หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง คนในหมู่บ้านอาศัยอยู่แบบเรียบง่ายโดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านศิลปวัฒนธรรมของอีสานภายใต้สโลแกน “ชุมชนอารมณ์ดี บ้านผารังหมี”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผารังหมี
วัดผารังหมีวนาราม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านผารังหมี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และงานประเพณี ปัจจุบันมีพระอธิการบุญนำ ตปสีโล เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดมีสถานที่สำคัญดังนี้
๑. หลวงพ่อเพชรมณี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2517 เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านผารังหมี
๒. บันไดสวรรค์ที่ทอดยาวขึ้นไปสู่จุดชมวิวมุมสูงของหมู่บ้านด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อสมเด็จองค์ปฐม
๓. การทำถลกบาตร (ขาบาตร)

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว

เจ้าพ่อร่มขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในหมู่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในหมู่บ้าน มีเรื่องเล่าว่า เวลาชาวบ้าน
มีเรื่องทุกข์ใจ หรือร้อนใจในเรื่องใดก็ตาม จะไปไหว้ขอพรให้เจ้าพ่อร่มขาวช่วยปัดเป่าคลายทุกข์เหล่านั้น ซึ่งก็ได้สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านทุกครั้ง จึงนับได้ว่า “เจ้าพ่อร่มขาว” เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ของชาวบ้านผารังหมีโดยมีประเพณีงานบุญเลี้ยงศาลเจ้าพ่อร่มขาวทุกปีในช่วงขึ้นหกค่ำ เดือนหกตามปฏิทินจันทรคติ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวบน วัดผารังหมี วนาราม
จุดชมวิว ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาภายในบริเวณวัดผารังหมีวนาราม นักท่องเที่ยวต้องเดินขึ้นบันไดสวรรค์ ซึ่งจะทำให้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของหมู่บ้าน และสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบซึ่งเป็นภูเขาหินปูน

ภูเขาผาหลวง
ภูเขาผาหลวง เขาหินปูนที่มีอายุหลายล้านปี ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง หมู่ 3 บ้านผารังหมี และหมู่ 12 บ้านคลองซับรังภายในมีถ้าใหญ่-เล็กอยู่หลายถ้ำ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามอยู่ภายใน เช่น ถ้ำ เพชรพลอย มะนาว และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของค้างคาวหลายล้านตัว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
แปลงเกษตรสาธิตครัวเรือนเกษตรสมบูรณ์ มีกินด้วยเกษตรอินทรีย์ 459 เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีเสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ลดภาระรายจ่าย แม้ไม่มีเงินแต่ต้องมีกิน เพียงเดินจากตัวบ้านสี่ห้าก้าวก็สามารถหาวัตถุดิบ พืชผัก เนื้อสัตว์ มาปรุงอาหารได้แล้ว เป็นการใช้พื้นที่เล็ก ๆ รอบบ้านให้เป็นประโยชน์ และใช้เวลาในการผลิตสั้น ๆ เพียงไม่เกิน 45 วัน ก็ได้มีของกินโดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหาจากตลาด

ลานตากข้าว ของชุมชน
เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านผารังหมี สร้างลานตากข้าวที่สามารถตากข้าวได้ถึง ๓๐๐ ตัน พร้อมมีตราชั่งขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ ชาวบ้านผารังหมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ และมีผลผลิตต่อปีเป็นจำนวนมาก หากมีการขายข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวจะทำให้ข้าวราคาตกต่ำ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันสร้างลานตากข้าว เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ขายข้าวได้ราคาดี อีกทั้งบ้านผารังหมีมีการปลูกข้าวปลอดภัยเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมเย็บบายศรีขันธ์ ๕
ศูนย์เรียนรู้ฯ และศาลเจ้าพ่อร่มขาว เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเย็บบายศรีขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วย ใบตอง ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อนำไปสักการะเจ้าพ่อร่มขาวบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้านผู้สูงอายุในชุมชนเป็นผู้สอน 

กิจกรรมทำมะม่วงกวน
โรงกวนมะม่วงสวนลุงบุญสม นักท่องเที่ยวจะรับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงกวนมะม่วง เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตมะม่วงกวน และร่วมทำการบรรจุมะม่วงกวนเพื่อเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยว 

กิจกรรมทำขนม/อาหารพื้นบ้าน
ศูนย์เรียนรู้ การทำอาหาร นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมการทำขนม หรือการทำอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านผารังหมี โดยนักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมในการทำ เช่น การทำข้าวต้มแดก ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำ และได้ร่วมห่อขนมจากใบตอง 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดบางหลวง (บ้านคลองบางหลวง) เดิมเป็นชุมชนชาวมอญหรือรามัญ ซึ่งอพยพเข้ามาทางเรือในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างถิ่นฐานอาศัยตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางหลวง เดิมมีอาชีพเกษตรกรรมและประมง และตั้งชื่อว่า บ้านคลองบางหลวง ตามชื่อคลองที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชน ต่อมาเมื่อชุมชนมีความเจริญขึ้นจึงได้ยกฐานะเป็นตำบลบางหลวงในปัจจุบัน

ชุมชนวัดบางหลวง ยังรักษาความเป็นอัตลักษณ์ชาวมอญได้เป็นอย่างดี และสืบสานวัฒนธรรมของชาวมอญ ไว้อย่างเหนียวแน่น รวมทั้งยังถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ผ้าปักสไบมอญ น้ำพริกมะตาด ข้าวพม่า ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินไทย/จากผ้าใยบัว เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระปทุมธรรมราช
พระประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว สูง ๕๐ นิ้ว ห่มจีวรสังฆาฏิพาด ตั้งอยู่บนฐานบัวสูง ๘ นิ้ว ยาว ๔๗ นิ้ว วัดความสูงถึงยอดพระเกตุมาลาได้ ๖๕ นิ้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานี ว่า “พระปทุมธรรมราช” แล้วทรงมีพระรับสั่งให้นำมาประดิษฐานไว้ ณ วิหารวัดบางหลวง

หลวงพ่อเพชร
พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร มีพุทธลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป คือ พระหัตถ์ซ้ายบิดไปมาได้ เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

อุโบสถวัดบางหลวง
อุโบสถวัดบางหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างพิเศษ คือ ไม่มีเสา ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่าหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดปทุมธานี ผนังภายในเป็นจิตกรรมศิลปะสมัยอยุธยา

ชมสะพานมอญ (สะพานโค้ง ๑๐๐ ปี)

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองหลวงบาง
อยู่ติดกับวัดบางหลวง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แปลงผักพอเพียง วัดบางหลวง

กิจกรรมการท่องเที่ยว

งานประดิษฐ์ งานฝีมือ
ร้านค้าชุมชน เทศบาลตำบลบางหลวง(ศูนย์เรียนรู้ฯ)
– กิจกรรมดอกไม้ประดิษฐ์จากดิน
– กิจกรรมปักผ้าสไบมอญ

ประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน)

  • การทำข้าวพม่า
  • การทำน้ำพริกมะตาด

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านปะขาว จังหวัดอ่างทอง

บ้านปะขาว ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีในสมัยโบราณเอาไว้ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรอินทรีย์ มีพืชสำคัญของชุมชน อย่าง กล้วยหอมทองปลอดสารพิษ โดยใช้ฮอร์โมนที่ผลิตจากนมวัว ไข่ไก่ น้ำตาล และ จุลินทรีย์หน่อกล้วย  ปัจจุบันบ้านปะขาวเป็นชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่โดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมมีศูนย์เรียนรู้อาหารและขนมไทยโบราณ กลุ่มงานอาชีพช่างไม้สัก กลุ่มแพพักตกปลาเพื่อรองรับผู้มาเยือนและชมบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา

บ้านปะขาว มีกลุ่มอาชีพของช่างไม้ท้องถิ่นที่ผลิตชิ้นงานจากไม้สัก เช่น ศาลพระภูมิทรงไทย,เรือโบราณย่อส่วนและเกวียนไม้จำลอง เป็นต้น มีการสาธิตการทำขนมไทยโบราณ ที่หารับประทานได้ยากอย่าง “ขนมหันแก” ขนมมงคลที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี มีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ นำไปซุปไข่ ก่อนจะทอดให้มีสีเหลืองทอง รสชาติหอมหวาน กรอบนอกนุ่มใน และยังมีการอนุรักษ์ศิลปะการละเล่นอย่าง รำวงกลองยาว 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสระแก้ว (วัดสระแก)
ชุมชนคุณธรรมบ้านปะขาว มีพระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมบ้านปะขาว ซึ่งในอดีตนั้นบ้านปะขาวเป็นชุมชนเก่าแก่ และมีขนาดใหญ่จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ที่สืบทอดไว้ให้กับคนรุ่นหลัง และมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่หลอมรวมคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดี่ยว คือวัดสระแก้ว (วัดสระแก) โดยเฉพาะอดีตท่านเจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ต่าย และในวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำ และขบวนแห่รูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ต่าย นอกจากนั้นยังมีประเพณีสงกรานต์กลางหมู่บ้าน (ศาลาแดง) มีกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุในหมู่บ้าน มีการร้องรำทำเพลง (รำกลองยาว) และมีการละเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักกะเย่อ วิ่งกระสอบ เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แพพักตกปลา บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา
แพพักตกปลาบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของชุมชนฯบ้านปะขาว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน
ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีในสมัยโบราณเอาไว้ ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรอินทรีย์ มีพืชสำคัญของชุมชน อย่างกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ โดยใช้ฮอร์โมนที่ผลิตจากนมวัว ไข่ไก่ น้ำตาล แทนการใช้สารเคมี

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

การทำไม้ก้านธูปจาก ไม้ไผ่สีสุก
หมู่ที่ 3 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมกจังหวัดอ่างทอง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธูปหอม เป็นกลุ่มอาชีพที่รวมกลุ่มกันทำไม้ก้านธูปจากไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในการทำนา
การทำศาลพระภูมิไม้สักและของใช้ย่อส่วน
นายอัศวิน พงษ์สุข (ช่างแป๊ะ) หมู่ที่ 3 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นายอัศวิน พงษ์สุข มีความชำนาญจากการฝึกฝนตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาได้ดัดแปลงความรู้ที่มีทำศาลพระภูมิจากไม้สักส่วนเศษไม้ที่เหลือนำไม้มาดัดแปลงเป็นเครื่องมือการเกษตร
การทำขนมไทยโบราณและอาหารพื้นบ้าน
หมู่ที่ 3 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง การปรุงอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านปะขาวเป็นที่เลื่องชื่อกับประชาชนทั่วไป อาทิ เมนูฉู่ฉี่กล้วยน้ำว้าใส่ปลาช่อน ขนมที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ “ขนมหันแก”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านค่าย จังหวัดระยอง

วัดบ้านค่าย สร้างขึ้นในสมัยยุค รศ. มีอายุ 700 กว่าปี เดิมมีชื่อว่า “วัดชัยชมพูพล” ที่มีความหมายว่า ชัยชนะศึกในแผ่นดิน เนื่องจากวัดบ้านค่ายเคยเป็น ป้อมปราการพ่ายพล ช้าง ม้าศึกขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้กอบกู้เอกราช และตั้งค่ายพลนี้ขึ้นก่อนจะเข้าตีเมืองระยอง จนมีชัยชนะ

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านค่าย มีโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานในชุมชน มีอาหารพื้นบ้านและของฝากจากชุมชน ได้แก่ ขนมปั้นสิบ ส้มตำมะพร้าวอ่อนเผา ผลิตภัณฑ์จากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของวัดบ้านค่าย (พริกไทย ดีปลี และผักสวนครัว) เป็นต้น มีการทำไม้กวาดของโรงเรียนผู้สูงอายุ และมีสถานีวิทยุชุมชนของคณะสงฆ์บ้านค่ายตั้งอยู่ในวัดด้วย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
มณฑป วัดบ้านค่าย
มณฑปวัดบ้านค่ายสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร
ศูนย์การเรียนรู้
ศูนย์การเรียนตามรอยของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านค่าย (มีการปลูกพริกไทย ดีปลี และผักสวนครัว)
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของเอกชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชน ชมวิถีชีวิตการทำนา การเก็บหมากที่ปลูกบนคันนา
สระน้ำให้อาหารปลา
เป็นสระที่อยู่ภายในวัดบ้านค่าย มีปลาชุกชุมนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารและถ่ายภาพได้

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนหมาก
เป็นการทำเกษตรแบบสวนผสมมีทั้งหมากและมังคุด
แปลงผักสวนครัว
เป็นการปลูกผักสวนครัวโดยใช้เกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านค่าย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การปลูกข้าว
เป็นการทำนาโดยใช้น้ำของกรมชลประทาน 
การชมความงดงามทางธรรมชาติ
ชมการปลูกผลไม้แบบสวนผสม และการเก็บหมาก
ร่วมประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน)

ชมสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านและฝึกทำขนมไทย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบางเกตุ จังหวัดเพชรบุรี

ติดทะเลอ่าวไทย มีชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติที่สะอาด บรรยากาศดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ หาดบางเกตุ มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีดงตาล เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน จำนวน 79 ไร่ มีต้นไม้ใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี ได้แก่ ต้นมะม่วงป่า ต้นเกด และพืชหายาก เช่น มะกล่ำตาหนู 

บ้านบางเกตุ มีชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผักบุ้งทะเล หอยทรายเป็นจำนวนมาก บรรยากาศชายหาดเงียบสงบ ปลอดภัย มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมมากางเต็นท์พักผ่อนหย่อนใจ ภายในชุมชนมีโรงแรม ที่พัก ไว้บริการนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ บ้านบางเกตุมีการปลูกน้อยหน่าใน ทุกครัวเรือน เป็นผลไม้พันธุ์พื้นเมืองขึ้นชื่อด้วยรสชาติหวานอร่อย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโตนดหลวง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลบางเก่า ที่ชาวบ้านบางเกตุนิยมไปเข้าวัดทำบุญ เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่า ก่อสร้างขึ้นราวปลายสมัยอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ มีอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยา ลักษณะคล้ายเรือสำเภา มีประตูเดียว มีหน้าต่าง 2 บาน และเรียกอุโบสถลักษณะนี้ว่า “อุโบสถมหาอุด”

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หาดบางเกตุ
ชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผักบุ้งทะเลหอยทรายเป็นจำนวนมาก บรรยากาศชายหาดเงียบสงบ ปลอดภัย  มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมมากางเต็นท์พักผ่อน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านบางเกตุ (บ้านสวน นกน้อย)
ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๓๖/๒ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ภายในศูนย์ฯ มีการปลูกต้นน้อยหน่า ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติหวานอร่อย นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชผลชนิดอื่นอีกด้วย
ดงตาล ๗๙ ไร่
เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านจำนวน ๗๙ ไร่ มีต้นตาล และต้นไม้ใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี มีพืชหายาก ได้แก่ ต้นมะกล่ำตาหนู ที่ชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกหลานได้รู้จัก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ล่องเรือศึกษาระบบนิเวศน์ ป่าชายเลน
คลองระบายน้ำบ้านบางเกตุบ้านบางเกตุมีเรือบริการนักท่องเที่ยวล่องเรือชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชม.
นอนกระโจมดูดาว
หาดบางเกตุ หาดบางเกตุ เป็นชายหาดที่สะอาด เงียบสงบนักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มากางนอนบริเวณชายหาดเล่นน้ำทะเลขุดหอยทราย
ปั่นจักรยาน/ขึ้นรถราง ชมวิถีชีวิตชุมชน
บ้านบางเกตุ บ้านบางเกตุมีจักรยานและรถรางบริการนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชม. ได้แก่ ชมต้นไม้อายุกว่า ๑๐๐ ปี /เก็บใบชะคราม /ชมการทำโมบายเปลือกหอย / ชมสวนน้อยหน่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
การละเล่นพื้นบ้าน “เพลงโนเน”
บ้านบางเกตุ การแสดงพื้นบ้าน “เพลงโนเน” จัดเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ประเภทเกี้ยวพาราสี มีบทร้องพร้อมบทเจรจาโต้ตอบกันเพลงโนเน ไม่ใช้เครื่องดนตรี การให้จังหวะใช้การปรบมือให้พร้อมเพรียงกัน นิยมเล่นในช่วงวันสงกรานต์ โดยจะรวมกันระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงร่วมร้องเพลงโนเนกันในหมู่บ้าน
ทำอาหารพื้นบ้าน 
บ้านบางเกตุ บ้านบางเกตุเป็นชุมชนที่อยู่ติดทะเลจึงมี ใบชะครามขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำใบชะครามมาประกอบอาหาร ได้แก่ แกงใบชะคราม / ข้าวผัดชะคราม /ทอดมันชะคราม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม