ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย

ทุ่งเสลี่ยมเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา มีลักษณะภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยแนวสันเขามีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม วิถีชีวิตของคนทุ่งเสลี่ยมได้อาศัยร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิตประชาชนส่วนใหญ่มีอุปนิสัยรักสงบดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม ศูนย์กลางตั้งอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยมเป็นสถานที่ประดิษฐานของหลวงพ่อศิลา เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน  ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ชุมชนจัดงานสักการะหลวงพ่อศิลา ในงานจะมีขบวนแห่ครัวทาน ขบวนพานพุ่ม การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นสวยงามตระการตา

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หลวงพ่อศิลา วัดทุ่งเสลี่ยม
หลวงพ่อศิลา เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ สกัดจากหินทรายสีเทาที่กระบังหน้ามีแนวขึ้นตรงกลางลักษณะบ่งบอกว่าทำขึ้นในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษชัดเจนคือมีผ้าทิพย์รองรับตัวองค์พระปกติจะเป็นเส้นตรงมีลายดอกจันที่ขุดลึกลงไปในเนื้อหินต่างจากส่วนใหญ่เป็นลายขีดธรรมดาทรงกรองศอพาหุรัด สวมศิราภรณ์ สวมมงกุฎเทริดพระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยมคล้ายศิลปะขอมโบราณ พระพักตร์ไม่แย้มพระโอษฐ์เหมือนศิลปะบายนประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานขนาดนาคสามชั้น นาคที่ปรกอยู่เหนือพระเศียรมีเจ็ดเศียรด้านหลังหางนาคพาดขึ้นมาถึงลำตัว มีลวดลายแบบศิลปะลพบุรีสร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราชที่ 18-19
ความสำคัญ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปหินจำหลักที่งดงามที่สุดในทวารวดี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัด
วัดทุ่งเสลี่ยม จัดเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวทุ่งเสลี่ยม
ด้านในจัดเป็นสวนธรรมชาติ ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ไทย กล้วยไม้หลากหลายชนิด มีอาคารแหล่งข้อมูลและจัดแสดงสินค้าของที่ระลึก งานหัตถกรรม สินค้าพื้นบ้านของชุมชนชุมชนในบริเวณวัดความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้

ตลาดวัฒนธรรม
ตลาดวัฒนธรรม “กาดฮิมต้า” สร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีแหล่งจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและพัฒนาสินค้า เชื่อมโยงการตลาดจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค โดยตรงสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัด”ตลาดวัฒนธรรม” : ทุนวัฒนธรรมสร้างชาติ ตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข เพื่อนำผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์จากทั่วประเทศ ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน
ความสำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่พบปะของชาวบ้าน และการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน
(ปัจจุบันปิดตลาดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)

สถานที่ สำคัญทางวัฒนธรรม
ลานวัฒนธรรมหน้าวิหารหลวงพ่อศิลา เป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ในมิติการสืบทอดการแสดงทางวัฒนธรรม เพราะจะมีการแสดงฟ้อนรำแบบชาวล้านนาเพื่อถวายหลวงพ่อศิลา การฟ้อนรำที่มีผู้รำมากที่สุดถึง 1,250 คน

กลุ่มทางวัฒนธรรม
สภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งเสลี่ยม การรวมกลุ่มคนจัดตั้งเป็นสภาวัฒนธรรมตำบล กรรมการสภาฯ ทำหน้าที่
๑. อนุรักษ์ สืบทอด ส่งเสริม ประสานงาน การดำเนินงานกับกระทรวงวัฒนธรรม ผ่านสภาวัฒนธรรม อำเภอ และจังหวัด
๒. เสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินการ ทางด้านวัฒนธรรม และทำแผนพัฒนาการ
๓. เป็นศูนย์กลาง แลก เปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับสภาวัฒนธรรมอำเภอและจังหวัด

สถานที่สำคัญเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัย
จิตรกรรมร่วมสมัย ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดทุ่งเสลี่ยม ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และวิหาร โดยทั่วไป ส่วนมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชาดก ชุดทศชาติในมหานิบาตชาดก รวมทั้งเป็นเรื่องบริวาร เช่น
เทพชุมชน นรก สวรรค์ นางฟ้า ท้องฟ้า เมฆ นอกจากนี้ เรื่องราวในจิตรกรรมฝาผนัง ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่จิตรกรสะท้อนลงไว้ในภาพด้วย โดยมีความมุ่งหมายรับใช้พระพุทธศาสนาด้วยการแสดงออกทางศิลปะ จิตรกรรมของวัดแห่งนี้เป็นฝีมือของคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะนักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่ “จิตรกรรมฝาผนังที่วัดทุ่งเสลี่ยม เป็นศิลปะร่วมสมัยรัชกาล ที่ ๙ ได้ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตก ตะวันออก และศิลปะไทยถ่ายทอดออกมาสร้างความสนใจในรูปแบบการ์ตูนภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมอร์ส มีประชาชนพาลูกหลานมาขอเข้าชมกันมากขึ้น ยังไม่มีเสียงสะท้อนในแง่ลบแต่ประการใด”ชมข้อมูลเพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=qfvYYyToFT8

ถนนสายวัฒนธรรม
ถนนสายวัฒนธรรม สะพานมิตรภาพแม่น้ำแม่มอก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่หรือเส้นทางวัฒนธรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้มีโอกาสแสดงออกทางศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย

ศูนย์การเรียนรู้/ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม
ศูนย์การเรียนรู้ธรรมนำชีวิต ศนย์ปฏิบัติธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม จัดอบรมประชาชนทั่วไปที่ชอบความสงบ หลีกหนีความวุ่นวายทั้งไปในชีวิตประจำวันและความเครียดสะสมในการทำงาน เพื่อไปปฏิบัติธรรมหาความสงบให้จิตใจ การได้ฝึกปฏิบัติ ฝึกจิต และสมาธิ ใช้ชีวิตแบบ slowlife เหมือนเป็นการชาร์จแบตเสริมพลังชีวิต ชำระจิตใจเข้มแข็ง มองโลกในแง่กุศล เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง เข้มแข็งขึ้น ที่วัดทุ่งเสลี่ยมตั้งขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาฝึกจิตทำสมาธิ

CPOT “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย” (Cultural Product Of Thailand : CPOT)
วัดทุ่งเสลี่ยมร่วมกับชุมชนจัดทำ “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ผ้ามัดย้อมสะเลียม” เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยบูรณาการขับเคลื่อนในชุมชนคุณธรรม ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ และมีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจให้กับประชาชน ชุมชนและประเทศชาติต่อไปสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรีเห็นควรส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีค่ามาต่อยอดสร้างสรรค์เป็น”ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย” (Cultural Product Of Thailand: CPOT) ของจังหวัดสุโขทัย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีค่า ให้คงอยู่สืบไป

สถานที่สำคัญเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินสุโขทัยของพระมหากษัตริย์
วัดทุ่งเสลี่ยม วัดวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนเสาศาลาการเปรียญทั้ง 14 ต้น โดยเสา 7 ต้น ด้านขวามือพระประธานจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ส่วนเสา 7 ต้น ด้านซ้ายมือจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่พระองค์เสด็จฯ มายัง จ.สุโขทัยจำนวน 7 ครั้ง พระครูสุเขตสุทธาลังการ เจ้าอาวาสกล่าวว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาตมาและทางวัดจึงจ้างอาจารย์และนักศึกษาจากกรมศิลปากร มาวาดภาพ ลงเสาของศาลาการเปรียญทั้ง 14 ต้น โดยแบ่งเสาฝั่งซ้ายมือ 7 ต้น เป็นภาพภาพเกี่ยวกับการเสด็จฯ เยือน จ.สุโขทัย ที่พระองค์เสด็จฯทั้ง 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 เสด็จพระราชดำเนิน มายังอำเภอทุ่งเสลี่ยม มีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่มอกให้ชาวบ้านมีน้ำปลูกข้าวทำนา ส่วนเสาด้านขวามืออีก 7 ต้น วาดภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ทรงงานเพื่อคนไทยทั้งประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แม่น้ำแม่มอก
อำเภอทุ่งเสลี่ยมมีแม่น้ำสำคัญ  คือ  ลำน้ำแม่มอกไหลผ่านเขตท้องที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม  เป็นระยะทางยาวประมาณ ๖๐  กิโลเมตร นอกจากนั้นมีลำน้ำแม่ถัน  คลองเหมืองนา คลองสำราญ  คลองแม่ทุเลา  ห้วยคะยางและห้วยไคร้ แม่น้ำผ่านหน้าวัดจึงได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ให้คนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดชมวิวที่สวยงามยามเช้าและยามเย็น

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ลำพัน
– ป่าแม่มอก อยู่ในพื้นที่ตำบลกลางดงและตำบลทุ่งเสลี่ยม ติดต่ออำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ประมาณ 86,632 ไร่ แม่น้ำแม่มอกจากป่าแม่มอก เป็นลำน้ำไหลผ่านหน้าวัดจึงได้จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้คนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดชมวิวที่สวยงามยามเช้าและยามเย็น 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง/ศาสตร์พระราชา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน  ทั้งในการพัฒนา และบริหารให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การใส่บาตรข้าวเหนียว
วัดทุ่งเสลี่ยม  ประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียว เป็นขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติพิธีกรรมและความเชื่อชาวลาวมาช้านาน ชาวลาว ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือ ผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง ประเพณีที่เห็นได้ชัดคือการใส่บาตรตอนเช้าผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงสวยงาม จะมีพระสงฆ์ประมาณ 5 รูปออกมารับบิณฑบาตในตอนเช้า

การปลูกข้าว
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อำเภอทุ่งเสลี่ยมมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทุกคนชื่นชอบเป็นอย่างหนึ่งนั่นก็คือการขี่จักรยานชมทุ่งนา เพราะว่าที่อำเภอทุ่งเสลี่ยงนั้นมีผืนนาเป็นจำนวนมากและชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องการทำนา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน การปลูกข้าวนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนแรก ได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้า เอาไปปักดำในนาผืนใหญ่

งานประดิษฐ์ งานฝีมือ ก๋วย/ฟุ่ย
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ทุ่งเสลี่ยมร่วมกันจัดประเพณีตานก๋วยสลากซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันก๋วยสลากจะมีอยู่2 ลักษณะ

1.ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมี คุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย และสุนัข เป็นต้น    

2.ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง

ปั่นจักยาน
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อำเภอทุ่งเสลี่ยม มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทุกคนชื่นชอบเป็นอย่างหนึ่งนั่นก็คือการขี่จักรยานชมทุ่งนา เพราะว่าที่อำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้นมีผืนนาเป็นจำนวนมาก มีจักรยานให้ยืมและให้เช่าติดต่อที่ วัดทุ่งเสลี่ยมและเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม

ร่วมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 วัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง วัฒนธรรมด้านภาษา ภาษาพูด ของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่เป็นภาษาพื้นเมืองแบบล้านนาไทย ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไตยวน (ไต-ยวน)” หรือ “ไทยโยนก (ไทย-โย-นก)” ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง วัฒนธรรมด้านศิลปะการร่ายรำ ศิลปะการร่ายรำของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม เป็นการร่ายรำเนื่องในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีการแห่ครัวทาน ประเพณีการบวชพระ เป็นต้น ศิลปะการร่ายรำประกอบ ดนตรีพื้นเมือง ที่นิยมคือ การฟ้อนปราสาทไหว การฟ้อนเจิง การฟ้อนรำโม้ง จิ่งเจ้ การรำเถิดเทิงกลองต๊ะ การรำซิ้งม่อง เป็นต้น

ประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน)
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 อาหารพื้นเมืองของอำเภอทุ่งเสลี่ยมวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร หรือการกินของชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม นิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ส่วนอาหารก็เป็นอาหารแบบพื้นเมือง แยกเป็นดังนี้ 
อาหารประเภทแกง  หรือต้มมีน้ำ เช่น แก๋งแค แก๋งอ่อม แก๋งฮังเล แก๋งโฮะ แก๋งส้มแก๋งบ่ค้อนก้อม แก๋งปี๋ป้าว แก๋งเต้งมดแดง แก๋งเห็ดถอบ แก๋งออกลาน เป็นต้น
อาหารประเภทยำ ยำหนามโก๊ง  ยำบ่เขือแจ้ใส่จิ้นย่าง  ยำยอดบ่ม่วง เป็นต้น
อาหารประเภทน้ำพริกผักจิ้ม เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกแม่เก๋ น้ำพริกถั่วเน่าน้ำพริกน้ำปู๋
เป็นต้น
อาหารประเภทดอง เช่น ผักกาดดอง  ผักเสี้ยนดอง  ดองแมงมัน  ป๋าจ่อม ป๋าส้ม จิ้นส้ม
เป็นต้น
อาหารประเภทลาบ/หลู้ เช่น ลาบจิ้น (วัว,ควาย)  ลาบหมู ลาบค้างคาว ลาบจิ้นฟาน (เก้ง)ลาบฮอก (กระรอก) เป็นต้น

การชมความงดงามทางธรรมชาติ
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ทุ่งเสลี่ยมเป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนาค่อนข้างสูงมีความเป็นธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์  ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยแนวสันเขาทำให้อำเภอนี้มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม วิถีชีวิตของผู้คนทุ่งเสลี่ยมได้อาศัยร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำรงชีวิตจึงทำให้มีวัดวาอารามมากมาย ประชาชนส่วนใหญ่มีอุปนิสัยรักสงบ ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรไทย

ศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม หมู่ 3 และ หมู่ 5 ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีศิลปวัฒนธรรมด้าน ดนตรีพื้นเมือง ศิลปวัฒนธรรมด้านศิลปะการร่ายรำ ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง ศิลปวัฒนธรรมด้านปฏิมากรรมแบบล้านนาแตกต่างจากที่อื่นในจังหวัดสุโขทัย  

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดห้วยแก้ว จังหวัดลพบุรี

วัดห้วยแก้วมีอายุราว ๑๔๐ ปี ตั้งอยู่บนลำห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี บริเวณวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย ให้ประชาชนได้มากราบไหว้ อาทิ องค์พระเจดีย์มหาเมตารัตนะรังสีกลางน้ำที่สวยงาม ตระการตามาก ๆ รูปทรงในยุคขอม ตั้งอยู่กลางน้ำ ดูเด่นเป็นสง่า เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างไทย เขมร และพม่า 
วัดห้วยแก้ว เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรมีพระครูรัตนาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดห้วยแก้ว เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสอน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน บูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนจนเป็นพลังบวรที่เข้มแข็งปัจจุบันและยังคงอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นมาจนปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดห้วยแก้ว
อายุราว ๑๔๐ ปี ตั้งอยู่บนลำห้วยแก้ว มีองค์พระเจดีย์มหาเมตารัตนะรังษีกลางน้ำที่สวยงาม ตระการตามาก ๆ รูปทรงในยุคขอม ตั้งอยู่กลางน้ำ ดูเด่นเป็นสง่า เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างไทย เขมร และพม่า ออกแบบวิจิตรงดงาม
วัดมหาสอน
วัดมหาสอนเป็นวัดเก่าแก่ริมน้ำบางขาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2408 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2509 ภายในวัดมีอุโบสถเก่า สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2511 มีพระประธานและรูปหล่อหลวงพ่อเคลือบประดิษฐานอยู่ให้ประชาชนได้กราบไหว้ นอกจากนี้ยังมีอาคารไม้ เก่าแก่ สร้างในปี พ.ศ. 2485 สำหรับใช้สวดมนต์และปฏิบัติธรรม
วัดบางพึ่ง
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขาม มีพระแม่จามเทวี และหลวงพ่อโล่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเลื่อมใส ศรัทธา และมากราบสักการะ
วัดวงเทพ
เป็นวัดราษฎร์ที่อยู่ทางนอกเมืองที่ยังคงมีทุ่งนาเขียวขจีอยู่ สามารถมองเห็นองค์พระปรางค์นาคปรกเด่นตระหง่านที่มีลักษณะงานศิลป์ที่แปลกออกไปแต่มีความสวยงาม ประดิษฐานอยู่ภายในวัดวงเทพหรือศูนย์ปฏิบัติธรรม เกาะสวรรค์ ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ภายในศาลาด้านหน้าของพระพุทธนาคปรก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธลาภ ที่มีพระเศียรสีขาวองค์ใหญ่ รูปปั้นเซียนแปะโรงสีผู้สร้างวัด และยังมีเทพทันใจและเทพอื่น ๆ ให้ได้ขอพรอีกด้วย
ด้านข้างของศาลาเป็นอาคารสักการะบูชา 60 เซียนศักดิ์สิทธิ์ ภายในมีเซียนมากมายให้ขอพรได้ตามศรัทธา
ตลาดวัฒนธรรมวัด ห้วยแก้ว
เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูป อาหาร ปลาส้มฟัก เครื่องจักสาน ตะกร้าหวาย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวแม่น้ำ บางขามวัดมหาสอน
ล่องแพไม้ไผ่ และชมบรรยากาศยามเย็นวิถีชีวิตของชุมชนบนลุ่มน้ำบางขาม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้บ้านสวนขวัญ
เป็นแหล่งเรียนรู้การพึ่งตนเอง น้อมนำศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นการรวมตัวของศูนย์การเรียนรู้และชุมชน ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อใช้ในการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีอาหารพื้นบ้านและผลผลิตทางการเกษตรสด ๆ ปลอดภัยไร้สารเคมี สัมผัสการท่องเที่ยวภูมิปัญญาและวิถีชุมชน โดยนั่งรถอีแต๋น และทำกิจกรรมพึ่งตนเอง

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การปลูกข้าว
ศูนย์การเรียนรู้ บ้านสวนขวัญ นั่งรถอีแต๋นสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนมุ่งสู่ฐานการเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ฝึกปฏิบัติดำนา เกี่ยวข้าว แปลงนาข้าวปลอดสารพิษ
ล่องแพสัมผัสลุ่มแม่น้ำบางขาม
บ้านสวนขวัญ สัมผัสวิถีคนลุ่มน้ำ ล่องแพไม้ไผ่ยามเย็น  ชมวิถีชีวิตบ้านริมน้ำ กินกุ้งก้ามแดง ชมบรรยากาศสวยๆ ของบ้านทรงไทยโบราณ
นั่งรถอีแต๋นเที่ยวชุมชน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตร ชมแหล่งท่องเที่ยวและศาสนาสถาน
1.วัดมหาสอน
2.วัดห้วยแก้ว
3.วัดวงเทพ
4.วัดบางพึ่ง
5.บ้านแคปหมู
6.บ้านไก่ชนเงินร้าน
7.บ้านหวาย
8.บ้านเห็ด
9.บ้านขนมดอกจอก
10.บ้านไทยหลบโจร
11.บ้านปฏิมา
12.บ้านควาย
13.ศูนย์การเรียนรู้บ้านสวนขวัญ
การจักสานหวายบ้านมหาสอน

1.วิสาหกิจจักสานหวายบ้านมหาสอน
2.บ้านนางชะลอทนทองคำ
ชมการสาธิตผลิตภัณฑ์จักสานหวายจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากว่าร้อยปีอันมีลักษณะที่โดดเด่นแสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี
ชมศูนย์เรียนรู้บ้านสวนขวัญ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ศูนย์การเรียนรู้บ้านสวนขวัญ เยี่ยมชมและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเรียนรู้การแปรรูป เช่น สบู่สมุนไพรก้อน สมุนไพรไล่ยุง ลูกประคบ บะหมี่ใบมะรุม ชาสมุนไพร ไข่เค็มใบเตยดินสอพองกิจกรรมรักโลกโดยทำกระถางจากผักตบชวา เพ้นท์กระเป๋าผ้าจากสีธรรมชาติ การทำกระดาษจากผักตบชวาและวัสดุธรรมชาติ พิซซ่าเตาถ่านแช่มือแช่เท้า ด้วยสมุนไพร จากภูมิปัญญาของชุมชนและ ล่องแพ
ชิมโชว์การทำแคป หมูจากภูมิปัญญา
แม่นงค์แคบหมูและประสิทธ์แคบหมู ชมสาธิตการทำแคปหมู ชิม ช้อป รสชาติกลมกล่อมกรอบอร่อย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านค่าย จังหวัดระยอง

วัดบ้านค่าย สร้างขึ้นในสมัยยุค รศ. มีอายุ 700 กว่าปี เดิมมีชื่อว่า “วัดชัยชมพูพล” ที่มีความหมายว่า ชัยชนะศึกในแผ่นดิน เนื่องจากวัดบ้านค่ายเคยเป็น ป้อมปราการพ่ายพล ช้าง ม้าศึกขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้กอบกู้เอกราช และตั้งค่ายพลนี้ขึ้นก่อนจะเข้าตีเมืองระยอง จนมีชัยชนะ

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านค่าย มีโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานในชุมชน มีอาหารพื้นบ้านและของฝากจากชุมชน ได้แก่ ขนมปั้นสิบ ส้มตำมะพร้าวอ่อนเผา ผลิตภัณฑ์จากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของวัดบ้านค่าย (พริกไทย ดีปลี และผักสวนครัว) เป็นต้น มีการทำไม้กวาดของโรงเรียนผู้สูงอายุ และมีสถานีวิทยุชุมชนของคณะสงฆ์บ้านค่ายตั้งอยู่ในวัดด้วย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
มณฑป วัดบ้านค่าย
มณฑปวัดบ้านค่ายสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร
ศูนย์การเรียนรู้
ศูนย์การเรียนตามรอยของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านค่าย (มีการปลูกพริกไทย ดีปลี และผักสวนครัว)
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของเอกชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชน ชมวิถีชีวิตการทำนา การเก็บหมากที่ปลูกบนคันนา
สระน้ำให้อาหารปลา
เป็นสระที่อยู่ภายในวัดบ้านค่าย มีปลาชุกชุมนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารและถ่ายภาพได้

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนหมาก
เป็นการทำเกษตรแบบสวนผสมมีทั้งหมากและมังคุด
แปลงผักสวนครัว
เป็นการปลูกผักสวนครัวโดยใช้เกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านค่าย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การปลูกข้าว
เป็นการทำนาโดยใช้น้ำของกรมชลประทาน 
การชมความงดงามทางธรรมชาติ
ชมการปลูกผลไม้แบบสวนผสม และการเก็บหมาก
ร่วมประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน)

ชมสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านและฝึกทำขนมไทย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม