ทะเลบัวแดง จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้ง ท่าเรือบ้านเดียม หมู่ที่ ๕ ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี
๑. แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ “หนองหานกุมภวาปี” จังหวัดอุดรธานี อยู่ในบึงหนองหาน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ 22,500 ไร่ หรือ 36 ตารางกิโลเมตร ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอกู่แก้ว เชื่อมกับลำน้ำปาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของอำเภอกุมภวาปี หนองหานกุมภวาปีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาจำนวนมาก เป็นแหล่งดูนกหลายสายพันธุ์มากกว่า 74 ชนิด และพืชน้ำอีกอย่างน้อย 15 ชนิด พันธุ์พืชน้ำที่เป็นไฮไลต์ ก็คือ “บัวแดง” หรือ “บัวสาย” จะผลิดอกเบ่งบานเป็นสีชมพูสีแดงบานสะพรั่งบนผืนน้ำในช่วงเช้าตรู่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทะเลบัวแดง” ความงดงามของดอกบัวที่บานสะพรั่งและสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้ทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี ได้ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 15 ทะเลสาบที่แปลกที่สุดในโลก (การจัดอันดับโดย CNN)
เมื่อชมความสวยงามของหนองหาน นักท่องเที่ยวจะมาสักการะขอพรพระธาตุเทพจินดาบ้านเดียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 1 พันปี พระมหาธาตุเทพจินดา ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ ด้านหน้าอุโบสถ บนสถูปมีพระพุทธรูปเก่าแก่ ๒ องค์ ประดิษฐาน ทั้ง ๒ ด้าน ในชุมชนบ้านเดียม ติดกับโรงเรียนบ้านเดียมซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านเดียม
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่ ๐๖.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.
เวลาชมบัวแดงบานสวย 06.00 – ๐๙.00 น.
เวลาล่องเรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที
๓.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
ประมาณ เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปี ( ฤดูหนาว)
๔.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
– เรือบริการขนาดเล็ก นั่งได้ 2 คน
คิดค่าบริการคนละ 1๐0 บาท ต่อเที่ยว
– เรือบริการขนาดใหญ่ นั่งได้ 6-10 คน
ราคาลำละ ๕00 บาท
๕. กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ
ชมธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพ หนองหาน มีพืชน้ำ พันธุ์ปลา พันธุ์นก หลากหลายชนิด
๖.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
นายไพรสิทธิ์ สุขรมย์ ประธานกลุ่มเรือนำเที่ยว มือถือ ๐๘ ๙๓๙๕ ๐๐๘๗
นางวันเพ็ญ เหล่าก้อนคำ ผู้ใหญ่บ้านเดียม หมู่ที่ ๕
มือถือ ๐๘ ๖๒๓๙ ๗๖๕๕
๗. ช่องทางออนไลน์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100021085964614

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้ง บ้านโนนเมือง หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุ
๑. เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดินแดนลี้ลับของพญานาค เป็นที่เคารพและศรัทธาของคนในจังหวัดอุดรธานีและอีสานตอนบน คำชะโนด มีลักษณะเป็นเกาะลอยน้ำ ที่เต็มไปด้วยต้นชะโนดป่าคำชะโนดเป็นสถานที่ปรากฏในตำนานพื้นบ้าน เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญานาคปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีประทุมมา และสิ่งลี้ลับต่าง ๆ เกาะคำชะโนดไม่เคยจมน้ำ โดยมีความเชื่อที่ว่าเพราะมีพญานาคคอยปกปักรักษาและเป็นสถานที่ขึ้นลงระหว่างมนุษยพิภพกับนาคพิภพของพญาสุทโธนาคราช ผู้สร้างแม่น้ำโขงและเป็นเจ้าของปลาบึก คำชะโนดมีพื้นที่ 50 ไร่ มีบ่อน้ำอยู่กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ก่อขอบปูนสูง 60 เซนติเมตร ใกล้กับบ่อน้ำ จะมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธตั้งอยู่ 2 ศาล เพื่อให้คนได้กราบไหว้บูชาและบนบานศาลกล่าวต่าง ๆ
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
๓. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
เปิดตลอดทั้งปี
๔. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๕. กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ
“ศาลของเจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา” (พ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมา) สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของที่นี่ ซึ่ง แต่ละวันจะมีคนเดินทางมากราบไหว้ รำบวงสรวงถวาย เจ้าปู่และเจ้าย่ากันเป็นจำนวนมาก
๖. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
06 4973 8384
๗. ช่องทางออนไลน์
Facebook : ศูนย์อำนวยการคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
๘. สิ่งอำนวยความสะดวก (ห้องน้ำ /ทางลาด /ที่จอดรถ/จุดบริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร)

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320
๑. จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง มาจากการพบภาชนะลายเขียนสี เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยชาวบ้านเชียง ต่อมาปี พ.ศ. 2509 ชาวอเมริกัน ได้พบภาชนะดินเผาที่บ้านเชียงโดยบังเอิญจึงนำไปแจ้งที่กรมศิลปากร ปีพ.ศ. 2510 จึงได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกปี พ.ศ.2515 ได้ขุดค้นเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในพร้อมกับแหล่งอื่นในบ้านเชียง และครั้งสุดท้ายปีพ.ศ. 2517-2518
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
วันอังคาร – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดทุกวันจันทร์)
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ
ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ยกเว้น นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ (ชาวไทย) ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร : 0 4220 8340
โทรสาร : 0 4220 8341
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : https://www.facebook.com/bcnmfinearts
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง : Banchiang National Museum
https://www.finearts.go.th/banchiangmuseum/categorie/history
e-mail : nm_banchieng@finearts.go.th
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก ( ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านพิพิธภัณฑ์ จังหวัดอุดรธานี

บ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทพวนอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ด้านภาษาพูด ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามฮีตสิบสองภาคอีสาน จากบ้านเชียงค้นพบภาชนะลายเขียนสี แหล่งขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการภูมิปัญญา สร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการสืบเนื่องต่อกันมายาวนาน

หมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนบ้านเชียงมีความสามัคคี และมีศักยภาพต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของลวดลายภาชนะดินเผาลายเขียนสี ลายเชือกทาบ ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมทำร่วมรับผลประโยชน์ มาพัฒนาสร้างสรรค์สู่สากล 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี วัดโพธิ์ศรีใน
ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นสถานที่สำคัญหนึ่งที่เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้ 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
ก่อตั้งขึ้นหลังการเสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่  20 มีนาคม พ.ศ. 2515 การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้น และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  ซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวนบ้านเชียง
สถานที่รวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของบ้านเชียง การจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่น ประวัติบุคคลสำคัญของชุมชน การเล่าประวัติโรงเรียน วัดสำคัญในพื้นที่ เช่น วัดโพธิ์ศรีใน ประเพณี งานบุญสำคัญ ภายนอกอาคาร โดยใช้พื้นที่รอบ ๆ อาคารนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น เกวียนในอดีตใช้บรรทุกข้าว เครื่องมือ เครื่องใช้การทำนา กี่ หรือหูกทอผ้า พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ 

บ้านไทพวน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ บ้านหลังนี้สร้างอยู่ในบริเวณแหล่งโบราณคดีที่เคยขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 โดยได้ประทับ ณ บ้านหลังนี้ ทรงถามถึงทุกข์สุข และชีวิตความเป็นอยู่แบบไทพวน ต่อมาภายหลังนายพจน์ได้มอบให้แก่กรมศิลปากรดูแล 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สวนสาธารณะ บึงนาคำ
ในเขตตำบลบ้านเชียงมีหนองน้ำธรรมชาติ ที่สวยงาม ปัจจุบันได้จัดภูมิทัศน์รอบหนองน้ำ  ให้เป็นสวนสาธารณะที่ชุมชนบ้านเชียง ตั้งชื่อว่า “บึงนาคำ” ได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายในยามเช้าและยามเย็น

พุทธอุทยาน วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่)
วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่) มีพระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว หนึ่งเดียวในสยาม” วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่) เป็นพระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทรงดอกบัว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เมตร สูง 19 เมตร มีกลีบดอกบัว 24 กลีบ รูปภาพวาดบนผนังดอกบัว เป็นรูปภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า มีองค์พระประธานสีขาวอยู่ภายในอุโบสถให้กราบไหว้ขอพร

วัดสันติวนาราม หรือวัดป่าดงไร่
ทางวัด ร่วมกับชุมชนมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เช่น ปลูกผักปลอดสารพิษ  การทำธนาคารปุ๋ยหมักชีวภาพ  การเลี้ยงปลาการทำนา

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การบายศรีสู่ขวัญ
ลานวัฒนธรรมการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาแบบคณะศึกษาดูงานชมฟ้อนรำไทพวนบ้านเชียง  กลองยาวอีสาน และรับประทานอาหารพาแลง

ชมการสาธิตการย้อมสีคราม สาธิตการทอผ้า
กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านเชียง   แหล่งผลิต ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา สาธิตการมัดย้อมฝ้ายจากสีคราม  การทอผ้า  และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้าแปรรูปจากผ้า ของชุมชน

กิจกรรมถนนสายบุญ ใส่บาตรพระ
ลานวัฒนธรรม หรือ บริเวณถนนหน้าบ้านพัก นักท่องเที่ยวใส่บาตรที่หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ เวลา ๐๖.๓๐ -๐๗.๓๐ น.หรือ บริเวณ หน้าลานวัฒนธรรม ถนนสายบุญ ในทุกวันอาทิตย์ ที่ ๑ และ ที่ ๓ ของเดือน โดยมีพระสงฆ์ จำนวน ๕ วัด มารับบิณฑบาต

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านผาสิงห์ จังหวัดอุดรธานี

บ้านผาสิงห์ ล้อมด้วยภูเขาสูงในเทือกเขาภูพาน วนตามเข็มนาฬิกาตั้งแต่ ภูฝอยลม-ภูผาแดง-ภูสิงห์-ภูนกแซว และภูกุ้มข้าว เดิมชาวบ้านเรียกว่า บ้านผาโพง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีภูเขาและหน้าผารายล้อมรอบหมู่บ้านมีลักษณะเหมือนสิงโต เป็นทำเลในการเลี้ยงสัตว์และแหล่งหาของป่าของชาวบ้านหมากหญ้าจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “บ้านผาสิงห์” มีประชากรประมาณ ๒๕๐ หลังคาเรือน อาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ไร่มัน ปลูกข้าว เก็บของป่า ในยามเช้าวิถีชีวิตของชุมชน 

บ้านผาสิงห์ เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม มีจุดเช็คอินบนซุ้มสะพานรูปสิงห์ เป็นจุดชมวิวมองเห็นภูเขารอบ ๆ บ้านผาสิงห์  ๓๖๐ องศา มีที่พักโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยว พุทธศาสนิกชน เดินทางมาทำบุญตักบาตรยามเช้า และไปทำบุญที่วัดป่าถ้ำสหาย มีเส้นทางเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมะ เช่น วัดป่า สำนักสงฆ์ สายวิปัสสนากรรมฐาน ปฏิบัติธรรม 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดป่าทับกุง (วัดถ้ำสหายธรรมจันทร์นิมิต) วัดถ้ำสหาย (วัดป่าทับกุง) อยู่ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ ๓ กม.ซึ่งมีหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร เป็นเจ้าอาวาสวัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านผาสิงห์ เคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน ยามเช้าพระสงฆ์มาบิณฑบาต ในหมู่บ้าน ผาสิงห์ จำนวน ๑๐๐ กว่ารูป ทำให้มีพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศ มาแวะเวียน มาชุมชนบ้านผาสิงห์ เพื่อรอใส่บาตรพระวัดป่าทับกุง

กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ /แหล่งเรียนรู้การทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ การรวมกลุ่มทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ ใช้วัตถุดิบธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่
ผ้าฝ้าย  ผ้าไหม  ผ้าหมี่สลับขิดขั้น ชุมชนได้อนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าแบบโบราณ จากรุ่นสู่รุ่นเด็กเยาวชน ชาวบ้าน มีรายได้ มีอาชีพเสริมจากการผลิตผ้าทอมือ ในยามว่าง หลังจากฤดูกาลทำนา 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิว ซุ้มสะพานผาสิงห์ เป็น Land mark ที่ตั้งอยู่พื้นที่ใจกลางหมู่บ้าน สามารถมองเห็นมุมสูงรอบ ๆ อย่างสวยงาม

จุดชมวิว ร้านกาแฟ ภูผาสิงห์ ร้านอาหาร และ เครื่องดื่ม จัดร้านบรรยากาศสบาย นั่งเล่น จิบกาแฟชมวิวภูเขารอบหมู่บ้าน ๓๖๐ องศา วันหยุดมีอาหารตามสั่ง สเต็ก
สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 06 4189 7839

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ฮักไร่ฮักนา ฟาร์ม
สวนฮักไร่ฮักนา ก็เริ่มปรับพื้นที่มากกว่า ๑๐ ไร่ มาปลูกดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ ทำบ่อตกปลา และไร่นาสวนผสม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอนุรักษ์ธรรมชาติ และมีจำหน่ายอาหารตามสั่ง เครื่องดื่ม กาแฟสด
สอบถามรายละเอียด ลุงแดง  09 8656 4816

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตร พระสงฆ์วัดป่า ๑๐๐ กว่ารูป
ถนนสายธรรมะ บ้านผาสิงห์ มีพระสงฆ์ จากวัดป่าทับกุง มาบิณฑบาตทุกวัน จำนวน ๑๐๐ กว่ารูป ทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐ น. ณ ถนนสายธรรมะ บ้านผาสิงห์

ถนนสายธรรมะ บ้านผาสิงห์ มีพระสงฆ์ จากวัดป่าทับกุง

มาบิณฑบาตทุกวัน จำนวน ๑๐๐ กว่ารูป ทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐ น.

ศึกษาเรียนรู้ ภูมิปัญญา ผ้าทอมือ และงานหัตถกรรม
กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ /แหล่งเรียนรู้การทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ – DIY สาธิตการย้อมสีธรรมชาติ
– DIY ร้อยสร้อย จากผ้า , การทำเข็มขัด สายรัดซิ่น
– สาธิต การทอผ้าแบบโบราณเทคนิค กวักล้วง
– สาธิต งานจักสานไม้ไผ่ เช่น ฮวด  กระติ๊บข้าว

กิจกรรมเดินป่า ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ

น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากหมู่บ้านผาสิงห์ ออกกไป ๓ กม.
-กิจกรรมชมศึกษาเรียนรู้ พันธุ์ไม้ ยาสมุนไพรพื้นบ้านจากป่าธรรมชาติ  วิถีชาวบ้านเก็บของป่า เช่น หน่อไม้  เห็ด  ผัก ยาสมุนไพร และกิจกรรมร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น โยนเมล็ดกล้าไม้ป่า
-ชมน้ำตกตาดโตน แหล่งน้ำธรรมชาติจากภูฝอยลม น้ำประปาภูเขา สู่ชุมชน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี

บ้านโนนกอก เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เกษตรกร มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ที่อนุรักษ์การทอผ้าขิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย นำโดยนายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้าน พัฒนาให้ปราชญ์ชาวบ้านโนนกอก ได้นำภูมิปัญญา การทอผ้าแบบดั้งเดิมของคนในตำบลหนองนาคำ มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก นำเอาภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิม ที่ยังใช้กี่ทอผ้า (หูก)ในการทอผ้า ประยุกต์ลวดลายผ้า จากลายหมอนขิดอีสาน ขิดลายนาค ลายกนกประตูโบสถ์วัดบ้านหนองนาคำ ลายขอเล็บแมว และลายขอขิดเกียง นำสายบัวแดง ดอกบัวแดง และเกสรบัวแดง มาย้อมเส้นไหมที่ใช้ทอ ซึ่งดอกบัวแดงที่นำมาย้อมเกิดขึ้นในลำห้วยเชียงรวง ที่ไหลผ่านในหมู่บ้านโนนกอก มาผสมผสานแนวคิด เทคนิคสร้างสรรค์ เกิดผืนผ้าขิดที่มีความประณีต และความงดงาม 

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระธาตุโพนทอง
เป็นที่สักการะบูชาของชาวขอมในสมัยนั้น ถือเป็น “วัด” ที่มีความสำคัญเนื่องจากมีพระพุทธรูปที่โดดเด่นและสวยงามอยู่หลายองค์ พระธาตุโพนทอง มีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานกว้าง ๘ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดสูง ๑๐ เมตร เดิมเป็นที่บรรจุอัฐิพระอรหันต์พร้อมมีการบรรจุพระพุทธรูปทองคำไว้ข้างใน

ศูนย์การเรียนรู้ ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก
– สาธิตการย้อมสีดอกบัวแดง,การทอผ้า
– ผ้าไหมลายสายธารนาคเชียงรวง (CPOT)
– ผ้าคลุมไหล่แม่แบบขิดเกียง (CPOT)
– กระเป๋าถือจากผ้าขิดบ้านโนนกอก
อาหารพื้นถิ่น : ส้มตำไทยสายบัว
ขนม : ข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัว น้ำชาบัวแดง
นายอภิชาติ  พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้าน
โทรศัพท์ 09 3547 8285

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หนองหานทะเลบัวแดง (แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใกล้เคียง)
เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ 22,500 ไร่ ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอกู่แก้ว เชื่อมกับลำน้ำปาว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาจำนวนมาก เป็นแหล่งดูนกหลายสายพันธุ์มากกว่า 74 ชนิด และพืชน้ำอีกอย่างน้อย 15 ชนิด พันธุ์พืชน้ำที่เป็นไฮไลต์ ก็คือ “บัวแดง” สีชมพูสีแดงบานสะพรั่งบนผืนน้ำในช่วงเช้าตรู่ ในฤดูหนาวของทุกปี  

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนตาลคู่ แหล่งเรียนรู้ เชิงเกษตร
เป็นศูนย์เรียนรู้อินทผลัม เที่ยว ให้คำปรึกษาการปลูก จำหน่ายต้นกล้า ผลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปอินทผลัม
นายอำนาจ ผการัตน์  09 2956 6159
คุณอ๊อด ผู้จัดการสวน  08 3956 4644

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมนิทรรศการผ้าโบราณ บ้านโนนกอก และหมอนขิดอีสานโบราณ
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอ แหล่งรวบรวมลายผ้าทอโบราณและหมอนขิดเก่าแก่ เช่น ลายขิดเกียง  ซึ่งเป็นลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณ รวมถึงผ้าทอโบราณอื่น ๆ ที่หาดูได้ยาก

ชมการสาธิต ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ การมัดย้อม/การย้อมผ้าจากดอกบัวแดงและสายบัวแดง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก กิจกรรมการมัดย้อมผ้า ตามจินตนาการของนักท่องเที่ยวและฐานการสาธิตการย้อมสีจากดอกบัวแดงและสายบัวแดง การย้อมสีผ้าด้วยกลีบดอกบัว ดอกบัวแดงย้อมได้ถึง 3 สี จากสีธรรมชาติ ไม่ต้องใช้สารเคมี ที่จะให้สีแตกต่างกันไป เช่น สีทองได้จากการย้อมจากดอกบัวตากแห้ง  สีเงิน ได้จากการย้อมจากสายบัวตากแห้ง ส่วนสีชมพูสดได้จากการย้อมจากน้ำกลีบบัวแดงสดผสมน้ำมะนาวในอัตราส่วนที่เหมาะสม

การทอผ้า ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนมีการสาธิต การทอผ้าแบบโบราณ โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักร เป็นการทอด้วยหูกแบบโบราณและมีเทคนิค

การทำเส้นขนมจีนสด ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก การบีบข้าวปุ้น (ขนมจีน) จากแป้งข้าวจ้าว หมักแบบโบราณเป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นมาบีบลงหม้อน้ำที่ต้มเดือด นักท่องเที่ยว สามารถร่วมฝึกบีบข้าวปุ้นกับชุมชนได้ และสามารถนำไปรับประทานได้กับส้มตำ น้ำยาขนมจีนต่าง ๆ หรือแกงเขียวหวานได้

การทำข้าวเขียบ
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก เขียบ (ข้าวโป่ง) ทำจากข้าวเหนียวนึ่ง นำไปตำด้วยครกมองโบราณ ผสมข้าวเหนียวนึ่ง คลุกเคล้าแบบอีสาน เม็ดงา และน้ำสมุนไพร คือ น้ำจากใบตดหมา โดยนำใบตดหมามาขยี้กับน้ำแล้วนำใส่กับส่วนผสมทั้งหมด ร่วมแรงทำข้าวเขียบ ในครกคลุกเคล้าให้เข้ากันจนเหนียวพอดีปั้นแล้วทุบเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปตากให้แห้งแล้วนำมาจี่ (ย่าง) ไฟ ให้กรอบ รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งใบตดหมาจะเป็นยาสมุนไพรขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน  

งานประดิษฐ์ ใบตอง ใบเตย ขันหมากเบ็ง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนจะนำใบตองในพื้นที่มาทำ ขันหมากเบ็ง เพื่อบูชาพระในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน  โดยการทำจะเน้นความเรียบง่ายใช้วัสดุ และดอกไม้ที่มีอยู่ในชุมชน

การเรียนรู้ การห่อขนมข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัวแดง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก สาธิตการทำ “ข้าวต้มกลีบบัวแดง”ขนาดพอดีคำ เป็นอาหารว่างสำหรับนักท่องเที่ยว มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนผสม เช่น เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งนำไปนึ่งสุกแล้ว มาห่อด้วยใบตอง เช่น ข้าวเหนียว, ถั่วดำ, เผือก ,กล้วย และกลีบบัวแดง ห่อด้วยใบตอง แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง ซึ่งจะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม นักท่องเที่ยวสามารถร่วมการห่อข้าวต้มบัวแดงได้

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม