ละลุ จ.สระแก้ว

ที่ตั้ง ม.12 บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๑. ละลุ เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยามีความสวยงามแปลกตาลักษณะคล้ายแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ หรือเสาดินนาน้อยและคอกเสือ จังหวัดน่าน
ละลุมาจากภาษาเขมรแปลว่าแผ่นดินทะลุ เกิดจากการพังทลายของดินที่เกิดจากน้ำฝนและลมจนยุบตัวลงจนเกิดเป็นแท่งหินรูปร่างต่างๆ บ้างมีรูปร่างคล้ายจอมปลวกบ้าง ดอกเห็ดบ้าง หรือมีรูปร่างแบบเจดีย์ มียอดแหลมหรือเป็นแท่ง หรือเป็นหน้าผาเตี้ยที่มีหลืบ บริเวณที่ตั้งของละลุมีลักษณะเป็นท้องกระทะ กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร โดยทั่วไปแล้ววัดจากพื้นจนถึงส่วนบนสุดที่เป็นหน้าผาจะมีความสูงไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก พื้นที่ของประมาติมากรรมละลุนี้ครอบคลุมหลายหมู่บ้านของอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 10,000-30,000 ปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่ยุบตัวของละลุนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกๆปี ในทุกๆปี ละลุจะเปลี่ยนรูปร่างของมันไปเรื่อย ๆ ตามแต่ลมและฝนที่ช่วยกันตกแต่งชั้นดิน และในบางพื้นที่ ก็จะมีละลุที่มีสีน้ำตาลทองตัดกับสีเขียวสดของต้นข้าวกลางพื้นที่ทำนาของชาวบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามมากจนได้รับขนานนามว่าเป็นแกรนด์แคนยอนของเมืองไทยเลยทีเดียวนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากชมปรากฏการณ์ธรรมชาติละลุจะต้องจอดรถไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการยุบตัวและเสียหาย จากการขับรถเข้าไปเอง แต่จะมีการให้บริการรถอีแต๊กของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปชมละลุและจะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นรวมถึงยุวมักคุเทศก์มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของละลุอีกด้วย
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น.
๓. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีมุมให้ถ่ายทั้งช่วงเช้าและบ่ายแต่มุมที่ถ่ายรูปได้มากกว่าคือช่วงบ่าย ควรหลีกเลี่ยงช่วงเที่ยงและช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด นอกจากนั้นช่วงพระอาทิตย์ตก หากฟ้าเปิดแสงยามเย็นจะกระทบละลุมีความสวยงาม
๔. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ
– แต่มีค่ารถนำเที่ยว รถอีแต๋น 200 บาท/คัน(นั่งได้ 6 คน) เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้
๕. กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ
ปั่นจักรยาน นั่งรถอีแต๋นชมละลุและวิถีชุมชน เช่น ทำนา ทำไร่สวนพริก เกษตรตามทฤษฎีเกษตรพอเพียง บ่อปลา ชมธารน้ำไหลวังครก วังกระทะ เป็นต้น
๖. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โทร. 0 3724 9708-9
๗.ช่องทางออนไลน์
FaceBook : ละลุ บ้านคลองยาง จังหวัดสระแก้ว
Youtube : ชุมชนคุณธรรมบ้านคลองยาง
๘.สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ/ ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว / ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง

ชุมชนบางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านได้เคยร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และชาวบางระจัน สู้รบกับทหารพม่า ณ บ้านบางระจัน ภายหลังการสู้รบยุติลงแล้ว “นายฉ่า” จึงได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำน้อย

ชุมชนคุณธรรมบ้านบางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมและมีเสน่ห์ของชุมชนในเรื่องงานจักสานไม้ไผ่ คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดำเนินชีวิตแบบพอเพียงเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการส่งเสริมคุณธรรม ความดี ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรม เกิดความเข้มแข็งในชุมชน 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดยางทอง
เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของชุมชนบ้านบางเจ้าฉ่า
พิพิธภัณฑ์ไม้ไผ่บางเจ้าฉ่า
เป็นแหล่งรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นพัฒนาการของงานจักสานไม้ไผ่ของบางเจ้าฉ่าในแต่ละยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์สิริพัฒนคุณานุสรณ์

เป็นแหล่งรวมงานจักสานไม้ไผ่ในรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ ของชุมชนเอาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้
ศูนย์เรียนรู้บ้านครูอ๊อด
เป็นสถานที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาจักสานให้แก่เด็กรุ่นใหม่หรือผู้ที่มีความสนใจในงานจักสานไม้ไผ่และเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานจักสานร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (Cpot ของชุมชนบ้านบางเจ้าฉ่า)

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ต้นยางนาคู่ (รุกขมรดกของแผ่นดิน)
รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี (ต้นยางนาคู่) ซึ่งมีอายุกว่า ๔๐๐ ปี และได้รับการขึ้นทะเบียน โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนกระท้อนตาเลิศ
เป็นสวนกระท้อนที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ทองใบใหญ่ซึ่งมีรสชาติเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ร่วมประกอบอาหารพื้นบ้าน
บ้านพักโฮมสเตย์ ร่วมทำอาหารพื้นถิ่นกับเจ้าของบ้าน เช่น แกงคั่วกระท้อนแกงพื้นบ้าน
ตักบาตรตอนเช้า

บ้านพักโฮมสเตย์ ตักบาตรพระภิกษุบริเวณหน้าบ้านพัก
นั่งรถอีแต๋นชมหมู่บ้าน
ในชุมชน ชมบรรยากาศริมแม่น้ำน้อยและเที่ยวชมสวนผลไม้ในชุมชน
จักสานตะกร้า
บ้านครูอ๊อด ฝึกทำจักสานชิ้นงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม