ละลุ จ.สระแก้ว

ที่ตั้ง ม.12 บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
๑. ละลุ เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยามีความสวยงามแปลกตาลักษณะคล้ายแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ หรือเสาดินนาน้อยและคอกเสือ จังหวัดน่าน
ละลุมาจากภาษาเขมรแปลว่าแผ่นดินทะลุ เกิดจากการพังทลายของดินที่เกิดจากน้ำฝนและลมจนยุบตัวลงจนเกิดเป็นแท่งหินรูปร่างต่างๆ บ้างมีรูปร่างคล้ายจอมปลวกบ้าง ดอกเห็ดบ้าง หรือมีรูปร่างแบบเจดีย์ มียอดแหลมหรือเป็นแท่ง หรือเป็นหน้าผาเตี้ยที่มีหลืบ บริเวณที่ตั้งของละลุมีลักษณะเป็นท้องกระทะ กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร โดยทั่วไปแล้ววัดจากพื้นจนถึงส่วนบนสุดที่เป็นหน้าผาจะมีความสูงไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก พื้นที่ของประมาติมากรรมละลุนี้ครอบคลุมหลายหมู่บ้านของอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 10,000-30,000 ปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่ยุบตัวของละลุนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกๆปี ในทุกๆปี ละลุจะเปลี่ยนรูปร่างของมันไปเรื่อย ๆ ตามแต่ลมและฝนที่ช่วยกันตกแต่งชั้นดิน และในบางพื้นที่ ก็จะมีละลุที่มีสีน้ำตาลทองตัดกับสีเขียวสดของต้นข้าวกลางพื้นที่ทำนาของชาวบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามมากจนได้รับขนานนามว่าเป็นแกรนด์แคนยอนของเมืองไทยเลยทีเดียวนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากชมปรากฏการณ์ธรรมชาติละลุจะต้องจอดรถไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการยุบตัวและเสียหาย จากการขับรถเข้าไปเอง แต่จะมีการให้บริการรถอีแต๊กของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปชมละลุและจะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นรวมถึงยุวมักคุเทศก์มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของละลุอีกด้วย
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น.
๓. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีมุมให้ถ่ายทั้งช่วงเช้าและบ่ายแต่มุมที่ถ่ายรูปได้มากกว่าคือช่วงบ่าย ควรหลีกเลี่ยงช่วงเที่ยงและช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด นอกจากนั้นช่วงพระอาทิตย์ตก หากฟ้าเปิดแสงยามเย็นจะกระทบละลุมีความสวยงาม
๔. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ
– แต่มีค่ารถนำเที่ยว รถอีแต๋น 200 บาท/คัน(นั่งได้ 6 คน) เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้
๕. กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ
ปั่นจักรยาน นั่งรถอีแต๋นชมละลุและวิถีชุมชน เช่น ทำนา ทำไร่สวนพริก เกษตรตามทฤษฎีเกษตรพอเพียง บ่อปลา ชมธารน้ำไหลวังครก วังกระทะ เป็นต้น
๖. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โทร. 0 3724 9708-9
๗.ช่องทางออนไลน์
FaceBook : ละลุ บ้านคลองยาง จังหวัดสระแก้ว
Youtube : ชุมชนคุณธรรมบ้านคลองยาง
๘.สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ/ ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว / ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม จังหวัดปทุมธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญดั้งเดิมอาศัยอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสายน้ำ อาชีพหลักดั้งเดิมของชุมชน คือ อาชีพทำนา ทำสวนผลไม้

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสืบทอดวัฒนธรรมของชาวมอญผ่านวัดและวิถีประเพณีวัฒนธรรม เป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ในการรักษา สืบทอดประเพณีรามัญไว้อย่างแนบแน่นกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดชินวรารามวรวิหาร
เดิมชื่อ วัดมะขามใต้ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2358 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธชินวร (หลวงพ่อทองคำ) พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และพระตำหนักชินวรสิริวัฒน์

วัดเจตวงศ์ (วัดร้าง)
อยู่ในซอยเดียวกับวัดชิน วรารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น   พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก มีช่องประตูเดียวแบบโบสถ์มหาอุต ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติตั้งแต่ครั้งอดีตที่มีความสวยงาม

พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์
พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์ เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2465 อยู่ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตก ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร มีพื้นที่กว้างขวางซึ่งสามารถชมธรรมชาติของสายน้ำ พระอาทิตย์ตก และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และให้อาหารปลาได้ 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านต้นโพธิ์
เรียนรู้การทำยาหม่องสมุนไพร และการฝึกอาชีพต่าง ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ปั่นจักรยาน
เส้นทางปั่นจักรยานถนนปทุมธานีสายใน ผ่านวัดบางหลวง-วัดชินวรารามวรวิหาร

ทำบุญตักบาตร
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตักบาตรริมน้ำเจ้าพระยา พระสงฆ์จะพายเรือมารับบิณฑบาตช่างเช้ามืด
ให้อาหารปลา
วังมัจฉา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดชินวรารามวรวิหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดหนองผักหนอก จังหวัดสระบุรี

บ้านหนองผักหนอก มีคนชื่อแก้วได้มาบุกเบิกถางป่าเอาพื้นที่ทำไร่ข้างหนองน้ำซึ่งมีผักหนอกขึ้นอยู่มาก ตาแก้วเลยตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านหนองผักหนอก ชาวบ้านก็เลยเรียกตามตาแก้วเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้   ทุกวันนี้หนองน้ำนั้นอยู่แต่ผักหนอกนั้นไม่มีแล้ว มีบริเวณสามแยกทางเข้าวัดสัจพล ชื่อผู้ใหญ่บ้าน   นางประภาภรณ์ เพิ่มพูนผาสุก

หลวงพ่อทันใจ ตั้งอยู่ในวัดหนองผักหนอก เป็นองค์พระขนาดใหญ่สีขาวที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่ามีความสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาอีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น สวนดอกเบญจมาศ ไร่องุ่น ผักปลอดสารพิษ และสวนเกษตรอินทรีย์

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หลวงพ่อทันใจ
ตั้งอยู่ในวัดหนองผักหนอก เป็นองค์พระขนาดใหญ่สีขาวที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่ามีความสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชา
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านหนองผักหนอก เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชน
วัดหนองผักหนอก
เป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของชาวบ้าน ทั้งประชุม จัดงานประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสลับกับที่ราบ ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งมีหน้าดินตื้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ในช่วง 180 – 402 เมตร
อุทยานแห่งชาติน้ำตกมวกเหล็ก
น้ำตกมวกเหล็ก ตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติมวกเหล็ก ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นน้ำตกที่ไม่สูง แต่มีบริเวณกว้างมาก เพราะสวนรุกขชาตินี้มีเนื้อที่ถึง 375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กับอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก
แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของสระบุรี มีถนนเลียบสันเขื่อน ภูเขาล้อมรอบ เป็นธรรมชาติ ด้านซ้ายของอ่างเก็บน้ำทำเป็นจุดชมวิวบนยอดเขา สามารถมองเห็นวิวของ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้อย่างสวยงาม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ของ คุณสมยศ บุตรน้ำเพชร
ตั้งอยู่หมู่ 7 ห่างจากวัดหนองผักหนอก 2 กิโลเมตร  เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองย่างเสือ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรที่เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปเข้าไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรปลอดภัย
สวนผักครูสรรเสริญ
ตั้งอยู่เลขที่ 72 หมู่ 13 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งผลิตผักปลอดสารพิษบนเนื้อที่ 47 ไร่ โดยมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม เช่น ปลูกผัก มีผลิตภัณฑ์น้ำสลัดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักผลไม้อีกหลายชนิด
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านหนองผักหนอก
เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งด้านการเกษตร เช่น การปลูกข้าวไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษ การเพาะเห็ด การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี การเลี้ยงปลา ปลูกโกโก้ ต้นไม้เศรษฐกิจ ผักหนอก เห็ดทอด ฯลฯ 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ประเพณีปลูกข้าวไร่
โรงเรียนบ้านหนองผักหนอก เป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมการปลูกข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้าน   โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนเป็นแปลงสำหรับปลูกข้าวไร่ เนื่องจากโรงเรียนบ้านหนองผักหนองเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ  โดยโรงเรียน ชาวบ้าน วัด และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงร่วมกันอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวนาไว้ให้คงอยู่  
ปั่นจักรยาน
อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก สำหรับเส้นทางปั่นจักยานผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเขา ชมความงดงามธรรมชาติท่ามกลางขุนเขา ชมธรรมชาติของอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก
ล่องแก่ง
ล่องแก่งภูเกาะ ล่องแก่ง ภูเกาะ ซึ่งภูเกาะเป็นอีกสาขาของน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เต็มไปด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ตลอดเส้นทางการล่องแก่ง เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงท้าทาย พิชิตแก่งเล็กแก่งใหญ่ กับสายน้ำที่เชี่ยวกราดและไหลแรง นอกจากนี้ยังมีบริการ ATV สำหรับใครที่ชอบความเร็ว ตื่นเต้น และท้าทายเส้นทางหฤโหด

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) จังหวัดสมุทรสงคราม

เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ อาศัยระบบนิเวศสามน้ำที่มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ ๒ ครั้ง จึงเหมาะแก่การทำสวนยกร่อง ชาวบ้านส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชผลแบบผสมผสาน ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ นอกจากนี้ยังมีไม้ผลอื่น ๆ อีกมากมาย 

เสน่ห์ของชุมชนคุณธรรมฯวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เป็นชุมชนที่ดำรงวิถีชีวิตชาวสวน เป็นชุมชนเกษตรที่พึ่งพาตนเองและอยู่อย่างพอเพียง มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เหมาะแก่การเรียนรู้ หลากหลาย มีประเพณีที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก คือ ประเพณีตักบาตรขนมครก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดบางพลับ
เป็นวัดเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าตากสินมหาราชและเหล่าทหารใช้บริเวณวัดนี้เป็นที่พักค้างคืน และประกอบพิธีกรรมภายในอุโบสถ ก่อนจะยกทัพเรือข้ามฟากไปรบกับพม่าที่ค่ายบางกุ้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยเป็นวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับวัดบางกุ้ง จึงเรียกชุมชนนี้ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ชุมชนบ้านพักทัพ” และเรียกชื่อวัดว่า วัดพักทัพ ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็นวัดบางพลับในที่สุด
วัดแก่นจันทน์เจริญ
ตามประวัติเล่าว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ บนที่ดินของพระยาดาราและคุณหญิงปิ่น บนเนื้อที่เกือบ ๗ ไร่ เมื่อแรกมีพระสงฆ์มาอยู่ชื่อพระอธิการแสง และพระอธิการทอง ต่อมาวัดทรุดโทรมลงจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ กำนันจึงนิมนต์หลวงพ่อโห้ เจ้าอาวาสวัดบางพลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทน์เจริญด้วย
ลานจันบวร
เป็นพื้นที่ตลาดวัฒนธรรม ภายในบริเวณวัดแก่นจันทน์เจริญซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียน นำพืชผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนมาวางจำหน่าย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองบางพลับ
เป็นคลองที่ไหลผ่านภายในชุมชน ทางวัดแก่นจันทน์เจริญจึงทำ   ท่าน้ำสำหรับเป็นที่นั่งเล่น พักผ่อน และในอนาคตจะมีกิจกรรมการพายเรือ และการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนส้มโอ
ชุมชนบ้านบางพลับปลูกส้มโอขาวใหญ่โดยใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมไปกับการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วดึงนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเป็นชุมชนแรกของจังหวัดสมุทรสงครามที่ปลูกส้มโอขาวใหญ่

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตรขนมครก
วัดแก่นจันทน์เจริญ เป็นงานประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย จัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ สมัยหลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส มีความเป็นมาว่า ในสมัยที่หลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่พระสงฆ์ในวัดทำการตัดเลื่อยไม้เพื่อมาใช้ในการสร้างเสนาสนะ ได้มีแม่ค้าพายเรือนำขนมครกมาจำหน่ายและถวายพระ ชาวบ้านเห็นจึงซื้อขนมครกถวายพระเป็นประจำ จนเป็นประเพณีสืบต่อมา
ปั่นจักรยาน
ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวภายในชุมชนระยะทาง ๕ – ๗ กิโลเมตร เริ่มจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยมีจักรยานไว้สำหรับนักท่องเที่ยวปั่นภายในชุมชน ไปยังโบราณสถานวัดบางพลับ ประกอบไปด้วย พระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ เสมา ซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากนั้นปั่นจักรยานไปยังบ้านพญาซอชมรุกขมรดก ต้นมะพร้าวซอ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และพบกับปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะสาธิตการทำกะโหลกซอ และฟังเพลงบรรเลงจากซออันไพเราะ เดินทางปั่นจักรยานผ่านเส้นทางสวนส้มโอ แวะชิมส้มโอปลอดสารสด ๆ จากต้น ต่อจากนั้นปั่นจักรยานไปยังวัดแก่นจันทน์เจริญ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอุโบสถชมภาพจิตรกรรมฝีมือช่างเอก
ทำผลไม้กลับชาติ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ “ผลไม้กลับชาติ” คือการนำผักหรือผลไม้ที่มีรสชาติขมอย่างบอระเพ็ด มะกรูด มาแช่อิ่มกลายเป็นของหวานแบบไทยโบราณ ซึ่งสูตรนี้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของครอบครัวหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันเอง ก็มีการนำผักผลไม้ที่ขึ้นริมรั้วบ้านอย่างมะระขี้นก พริก มะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ แตงกวา มาแช่อิ่มเพื่อให้มีรสชาติหวาน กินได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผลไม้กลับชาติ”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม