กลุ่มสตรีทอผ้านวลละออ

ที่ตั้ง : บ้านนวลละออ หมู่ที่ 12 ตำบลละเอาะ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ
ผ้าหางกระรอกบ้านนวลละออ เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย มีความประณีตงดงามใช้เทคนิคการทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่ากูย (ส่วย) ซึ่งรักษาสืบทอดจากบรรพบุรุษ คือ “การควบเส้น” ชาวศรีสะเกษ นิยมใช้และทอผ้าไหมควบ สตรีชาวกูยมีความชำนาญในการตีเกลียวเส้นไหม (ละวี/ระวี) ตามความเชื่อเรื่องความกลมเกลียวสามัคคีในครอบครัวและสายตระกูลที่นับถือผีกวยด้วยกัน
ผ้าไหมบ้านนวลลออ ได้รับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากลายดั้งเดิมของชุมชน จนได้ลายอัตลักษณ์ของชุมชน คือ “ผ้าหางกระรอกจกดาว” ซึ่งเป็นผ้าที่มีความสวยงาม ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของกระทรวงวัฒนธรรม
๑.ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์ “ผ้าไหมบ้านนวลละออ”
๒.ชื่อผู้ประกอบการ นางจงรักษ์ พลายงาม
๓.ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ “ผ้าหางกระรอกจกดาว”
๓.๒ ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าคลุมไหล่ยกดอกลายลูกแก้ว/ผ้าไหมลายดอกจำปี
๔.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่ 07.30 น.-18.00 น.
๕.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
นางจงรักษ์ พลายงาม โทร.08 2875 4841 หรือ 08 2747 0354
๖.ช่องทางออนไลน์ : เพจ facebook ชื่อ “นวลละออ”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณ บ้านพิงพวย จ.ศรีสะเกษ

ที่ตั้ง : บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณ บ้านพิงพวย หมู่ที่ ๑๒ ตำบลพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งเรียนรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมลายโบราณ และผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดศรีสะเกษ อีกหนึ่งแห่ง ที่สืบทอดโดยคนรุ่นใหม่ในชุมชน เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าคิดค้นลายใหม่ ๆ พัฒนาผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรีแส่ว” สู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน เป็นศูนย์สาธิตและเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการ ทอผ้า การมัดหมี่ การย้อมผ้าสีธรรมชาติ
รวมถึงการตัดเย็บและปักแส่วด้วยมือเป็นลวดลายต่าง ๆ
๑.ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์  ผ้าไหมพื้นเมือง (ถ้ามี)
๒.ชื่อผู้ประกอบการ นายพนมกร สังข์แก้ว
๓.ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมลายลูกแก้วต่อตีนซิ่นแส่วมือ
ผ้าเอกลักษณ์จังหวัดศรีสระเกษ ผ้าไหมพื้นบ้านโบราณ
๓.๒ ชื่อผลิตภัณฑ์ ย่ามน้อย
ย่ามสะพายสไตล์เรียบๆ ปักมือ
๓.๓. ผ้าไหมลายประยุกต์
ผ้าไหมและการปักแส่วลายต่าง ๆ ที่สวยงาม
๔.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่ 07.30-18.00 น.
๕.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม –
๖.ช่องทางออนไลน์ : facebook พนมกร ผ้าโบราณอุษาคเนย์

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

สินค้าพื้นเมือง จ.ศรีสะเกษ

ที่ตั้ง (บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ หลังที่ 3) ศูนย์ OTOP ศรีสะเกษ
๑.แหล่งรวบรวมภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสินค้าของชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการในด้านการตลาด เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้า รองรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างจังหวัดที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ
๒.ประเภทของผลิตภัณฑ์
– ผ้าพื้นเมือง “ผ้าทอเบญจศรี”
– ของใช้ของที่ระลึก
– อาหารของฝาก/ของประดับตกแต่ง
3.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน 08.30 – 17.00 น.
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม 0 4561 1465
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสระเกษ
เวลาทำการ: เปิด-ปิด 08.30 น. – 17.00 น.
โทรศัพท์: 0 4561 1465
๕.ช่องทางออนไลน์ –

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

น้ำตกห้วยจันทร์ จ.ศรีสะเกษ

ที่ตั้ง : บ้านน้ำตกห้วยจันทร์ หมู่ที่ 5 ถนนกันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ ต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 33150
๑. น้ำตกห้วยจันทร์ หรือ น้ำตกกันทรอม ในบริเวณน้ำตกมีต้นจันทน์แดงและจันทร์ขาวขึ้นอยู่หนาแน่น จึงได้ชื่อว่า “น้ำตกห้วยจันทร์” น้ำตกแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะตั้งอยู่ริมถนน ทางหลวงแผ่นดิน น้ำตกห้วยจันทร์ มีต้นกำเนิดจากภูเสลาบนเทือกเขาบรรทัด ไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ น้ำตกห้วยจันทร์เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีน้ำตลอดทั้งปี แต่ถ้าต้องการสัมผัสสายน้ำได้อย่างจุใจขอแนะนำให้เดินทางมาในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ กิจกรรมยอดนิยม คือการลงเล่นน้ำ และนักท่องเที่ยวสามารถปูเสื่อนั่งรับประทานริมธารน้ำ หรือจะใช้บริการศาลาเล็ก ๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่เป็นระยะก็ได้เช่นกัน
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดบริการทุกวัน/ช่วงเวลา 08.30 – 16.30 น.
๓.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
เดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์
4.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
5.กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ –
6.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม โทร. 0 4551 4447
7.ช่องทางออนไลน์ –
8.สิ่งอำนวยความสะดวก  ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดมหาพุทธาราม พระอารามหลวง หรือวัดพระโต

ที่ตั้ง ถนนขุขันธ์ ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
๑.วัดมหาพุทธาราม พระอารามหลวงหรือวัดพระโต เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดศรีสะเกษ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ เป็นปีที่เจ้าเมืองศรีสะเกษ คนที่ ๒ พระยาวิเศษภักดี (ชม) ย้ายเมืองศรีสะเกษ จากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมายังเมืองศรีสะเกษ ซึ่งในขณะนั้นมีคนพบหลวงพ่อโต ภายใน ใจกลางป่าแดงจึงได้อุปถัมภ์บำรุง โดยสร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต ตั้งชื่อว่า “วัดพระโต หรือวัดป่าแดง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดมหาพุทธาราม” ภายในวิหารวัดประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง ศรีสะเกษ จากคำบอกเล่า หลวงพ่อโตองค์จริง ถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปหินดำเกลี้ยง (บางแห่งว่าหินเขียว บางแห่งว่าหินแดง) ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดศรีสะเกษและผู้มาเยือน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดบริการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : ๐๖.๐๐น. – ๑๘.๐๐น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
พระมหาสิงโห รักษาการเจ้าอาวาสวัด เบอร์โทร : ๐๘ ๐๒๘๐ ๔๑๔๙
๕.ช่องทางออนไลน์
เพจ facebook : “วัดพระโต อำเภอเมืองศรีสะเกษ”
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดจำปา (บ้านหัวนา) จังหวัดศรีสะเกษ

เป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ทำการประมงเป็นหลักแต่เดิมชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เรียกว่า “วังขามเฒ่า” ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับทุ่งนา จึงเรียกว่า “บ้านหัวนา” และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น เรียกว่า “วัดจำปา”    

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดจำปา (บ้านหัวนา) เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชนเผ่าลาว เสน่ห์ชุมชนที่มีวิถีชีวิตติดฝั่งแม่น้ำมูล – แม่น้ำชี มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งการแต่งกายและภาษาพูดที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร มีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นคือประเพณีโฮมบุญข้าวใหม่ปลามัน ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี มีศิลปะการแสดง ฟ้อนกลองตุ้มและการฟ้อนชนเผ่าลาวหัวนาซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลาวและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดจำปา
เดิมชื่อ วัดบ้านหัวนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดจำปาในภายหลัง เนื่องจากวัดมีต้นจำปาเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีเป็นวัดที่เก่าแก่ เคยเป็นสำนักเรียนหนังสือ       “พระมูลกัจจายนสูตร” สมัยนั้นเป็นวัดที่ไม่เคยขาดพระสงฆ์ดูแล และเป็นที่พักพิงของพวกพ่อค้าชาวเรือกระแซงที่สัญจรทางน้ำ  ปัจจุบันมีพระครูบวรสังฆรัตน์ (มอน อนุตฺตโร เครือบุตร)       เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ภายในวัด มีสิ่งเคารพสักการะ คือ หลวงพ่อใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทราย ปางมารวิชัย จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่ามีอายุราว ๑,๔๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้วัดจำปา
จัดแสดง ณ ศาลาเจ้าคุณปู่พระศรีจันทรคุณ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องทอ อุปกรณ์การเกษตร เครื่องดักสัตว์ เครื่องจักสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและมรดกอันเก่าแก่ในแถบลุ่มแม่น้ำมูล – ชี

พระธาตุกตัญญู
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2551 ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ขนาดกว้าง 6×6 เมตร สูง 31 เมตร ภายในประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประทานจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร องค์พระธาตุมีจิตรกรรมภาพหินทราย แสดงเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกเพื่อแสดงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และวิถีชีวิตของชนบทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่ายางนาเก่าแก่ชุมชนบ้านหัวนา
เป็นป่าชุมชนที่มีต้นยางนาขนาด ๓ – ๕ คนโอบ ซึ่งมีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี จำนวนกว่า ๓๐๐ ต้น เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า ๒๒ ไร่ ที่ถูกส่งต่อเป็นมรดกให้ดูแลรักษาต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และภายในป่าชุมชนยังมีศาลปู่ตา ซึ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนในชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นศูนย์อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติฯ ในทุก ๆ ปี

เขื่อนหัวนา
เขื่อนหัวนา ห่างจากชุมชน ๕ กิโลเมตร เป็นโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น ให้ สร้างฝายยางกั้น แม่น้ำมูล บริเวณ หัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และเก็บกักน้ำไว้เพียงตลิ่งแม่น้ำมูล แต่เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ตัวเขื่อนมีความกว้าง ๒๐๗.๓ เมตร มี ๑๔ บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล กั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยโครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ปัจจุบันมีการสร้างสวนสาธารณะ ขึ้นบริเวณเขื่อน เพื่อให้คนในชุมชนรอบ ๆ ใช้ในการออกกำลังกาย รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมาด้วยเช่นกัน

สามแยกรัตนะ (แม่น้ำมูลแม่น้ำชีบรรจบกัน)
ชุมชนบ้านหัวนา เป็นชุมชนลุ่มน้ำมูลชี อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิต แม่น้ำมูลเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติซึ่งสามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฟากฝั่งมูลอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ล่องเรือไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งเรียกว่า สามแยกรัตนะ เป็นจุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกันเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำชี เมื่อสองสายน้ำมารวมกันไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม เรียกว่า โขงชีมูล เกิดเป็นแม่น้ำสองสีของจังหวัดอุบลราชธานี ที่สามแยกรัตนะยังมีหาดทรายขาวที่มีความงดงามเหมาะแก่การเล่นน้ำพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

อุทยานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดจำปา ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยการประกาศเขตอภัยทานเฉลิม   พระเกียรติฯ ในพื้นที่ป่าชุมชนดงปู่ตา และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่าถาวรมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ต้น มีการจัดแสดงแปลงสาธิตในการเกษตร ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ กล้วยหนึ่งหน่อไผ่หนึ่งกอ มะละกอหนึ่งต้น แหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพ การเลี้ยงกบ หอยนา ปลาดุก ปลาหมอเทศ และฟาร์มปูนาศรีสะเกษ

นาบัวเงินล้าน
ชุมชนบ้านหัวนามีอาชีพหลักคือ การทำนาและเลี้ยงปลาในกระชัง เมื่อหมดฤดูการทำนาข้าวได้ใช้พื้นที่ไร่นาให้เกิดประโยชน์หรือแบ่งที่นาบางส่วนมาทำนาบัวเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชน ชุมชนบ้านหัวนาได้ประสบผลสำเร็จในการทำนาบัวซึ่งมีรายได้จากการทำนาบัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดกระแสในการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับการถ่ายภาพบริเวณนาบัว และเดินทางมาท่องเที่ยวภายในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กราบหลวงพ่อใหญ่และสักการะพระธาตุกตัญญู
กราบสักการะหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปเก่าแก่ อายุราว ๑,๔๐๐ ปี   เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน และบูชาขันหมากเบ็ง นำไปนมัสการพระธาตุกตัญญู

ล่องเรือแม่น้ำมูล
เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางน้ำ ของชุมชนวัดจำปา (บ้านหัวนา) โดยทางชุมชนจะมีท่าน้ำอยู่ท้ายวัด สามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำมูลชี กั้นระหว่างศรีสะเกษกับอุบลราชธานี ชมแม่น้ำสองสี แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ห่างจากวัดจำปา ประมาณ 4 กิโลเมตร   และมีกิจกรรมประกอบอาหารพื้นบ้านและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ จังหวัดศรีสะเกษ

บ้านกู่ เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมานานกว่าสามร้อยปี  จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีวัดบ้านกู่ซึ่งสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓  เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ ของชาวปรางค์กู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญของชุมชน 

“บ้านกู่” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีเสน่ห์ของชุมชนด้วยการต้อนรับแบบวิถีของชาวกูย      มีอัตลักษณ์ของชุมชน คือการแต่งกายและภาษาพูด ชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ สตรีชาวกูย เป็นผู้มีความสามารถและขยันขันแข็ง มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้เสริมจากการทำการเกษตร ผลิตผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
“ปรางค์กู่”หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะโก” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูประจำชุมชน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ปรางค์กู่ ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง เรียงตัวตามแนวแกนทิศเหนือ -ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุมเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อสอดรับกับบันไดทางขึ้น ปราสาททั้ง 3 หลัง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวยู (U) อายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 -ต้น พุทธศตวรรษที่ 17

วัดบ้านกู่
วัดบ้านกู่ สร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ของอำเภอปรางค์กู่ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกูย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกู่และศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สระกู่
สระกู่ เป็นแหล่งน้ำโบราณที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รอบสระน้ำกู่ เป็นป่าไม้ชุมชน มีต้นมะขามจำนวนมาก อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ภายในชุมชน บ้านเรือน มีความสะอาด    น่ามอง ยังคงวิถีชีวิตของชาวกูย ที่เป็นอัตลักษณ์ ของชุมชน โดยบริเวณใกล้สระน้ำจะมีปราสาทปรางค์กู่ ที่เป็นโบราณสถานสมัยขอมโบราณที่มีอายุยาวนาน ซึ่งชาวชุมชนบ้านกู่ มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาทำความสะอาดชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนแห่งนี้ มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้าวอินทรีย์
ประชาชนชาวบ้านกู่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ทำนา

– เกษตรอินทรีย์
– ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
– ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง รวมถึงการ ทำไร่อ้อยสวนยางพารา  เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สาวไหม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๑๔  กิจกรรม “สาวไหม” เป็นการนำรังไหมที่เลี้ยง มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือดก่อน แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบา ๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขึ้นมา   การสาวไหมมีวิธีการขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญอยู่มาก ผู้ทำการสาวไหมต้องมีความชำนาญ  เส้นไหมจึงจะออกมาสวยงามสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำและร่วมกิจกรรมของชุมชนได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเส้นไหม และขั้นตอนอื่น ๆ ร่วมด้วย

ร่วมทอผ้าด้วย กี่กระตุก แบบดั้งเดิม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุมชนจะมีฐานการเรียนรู้การทอผ้าไหมชาติพันธุ์กูย  นักท่องเที่ยวสามารถชม และร่วมทอผ้า ตลอดทั้งช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ที่บริเวณลานวัฒนธรรมดุงกูย

สวมชุดชาวกูย
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุดอัตลักษณ์ของชาวกูย บ้านกู่ นักท่องเที่ยวร่วมทดลองสวมใส่และถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกได้

ทำขนมพื้นบ้าน
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ขนมพื้นบ้าน “ขนมไปรกระซัง”ชุมชนทำขนมพื้นบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่วมทำขนมและรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ไปเยี่ยมชม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม