ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

ที่ตั้ง ตำบลโคกสูง อำเภอ โคกสูง จังหวัดสระแก้ว
๑. ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมซึ่งเป็นศาสนสถานเกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ตั้งอยู่ในอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นปราสาทขอมโบราณที่สำคัญของจังหวัดสระแก้ว และใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อ ในลัทธิศาสนาฮินดู คำว่าสด๊กก๊อกธม หมายถึง “ เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่ ” ปัจจุบันยังพอมองเห็น หนองน้ำใหญ่ในอดีตอยู่ใกล้ ๆ ปราสาทนั่นเอง สิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือ การพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม 2 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมโบราณซึ่ง เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ตลอดจนบอกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้าง จดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี ว่าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ได้ปฏิสังขรณ์ปราสาทแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.1595 และกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม เป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำศาสนา ให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์รวมทั้งประวัติ สายสกุลพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีเทวราชา การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่าง ๆ ในศาสนามีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน จันทร์ – อาทิตย์ 08.30 – 16.30 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
0 3721 2610
๕. ช่องทางออนไลน์
www.facebook.com/Sadokkokthom
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ / ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู

ที่ตั้ง ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
๑. สันนิษฐานว่า ปราสาทนี้สร้างในพุทธศตวรรษที่ 12 และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 15 และคงความสำคัญจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 เชื่อว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูตัวปราสาทเป็นโบราณสถานก่ออิฐไม่ผสมปูน ประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลังคือ ปรางค์ทิศเหนือ ปรางค์องค์กลาง และวิหารทิศใต้ แต่คงเหลือเพียงปรางค์องค์กลางเท่านั้นที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนปรางค์ทางทิศเหนือ และวิหารทิศใต้เหลือเพียงฐานเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2478 ปราสาทเขาน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจากกรมศิลปากร และมีการสำรวจ ขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ปราสาทหลังนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูแต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าเป็นลัทธิใด เป็นอาคารก่ออิฐไม่ผสมปูน 3 หลัง พังทลายเหลือแต่ปรางค์องค์กลาง กับเนินดินอีก 2 เนิน พบโบราณวัตถุหลายชิ้นบริเวณบริเวณโบราณสถาน ได้แก่ ทับหลัง ศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก (พุทธศตวรรษที่ 12-13) ติดอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าองค์กลาง พบจารึก อยู่บนแผ่นวงกบประตูปรางค์องค์กลาง ระบุมหาศักราช 559 ตรงกับ พ.ศ. 1180 นอกจากนี้เสา ประดับกรอบประตูเป็นศิลปะเขมรแบบกุเลน (พุทธศตวรรษที่ 14-15) ประติมากรรมรูปบุคคลมี 4 กร แต่โบราณวัตถุเหล่านี้สูญหายและบางส่วน ถูกย้ายไปเก็บรักษาจนหมดสิ้น นอกจากนี้ยังพบทับหลัง4 ชิ้นที่ปราสาทองค์ทิศเหนือบริเวณหน้าซุ้มประตูเป็นศิลปะเขมรแบบต่าง ๆ และพบโบราณวัตถุ ทำจากหินทรายจำนวนมาก อาทิ ศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพศิลาฤกษ์ ธรณีประตู ประติมากรรมบุคคุล ชิ้นส่วนประติมากรรม หินลับ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เช่น หม้อ ไห จานมีเชิงสังข์ดินเผา เครื่องโลหะและชิ้นส่วนเครื่องโลหะ เช่น ตราประทับทำจากเหล็กหุ้มด้วยสำริด มีจารึกอยู่ที่ดวงตราเป็นตัวอักษรในพุทธศตวรรษที่ 16 ด้ามมีดทำด้วยเหล็ก ห่วงเหล็ก เชิงเทียน เป็นต้น ที่หน้าเขาน้อยมีการสร้างศาลไว้ เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อเขาน้อย หรือ เจ้าพ่อขุนดาบ และมีการเซ่นไหว้ทุกเดือน 6 และเดือน 12 ของทุกปี และยังมีประเพณีขึ้นเขาเป็นการนมัสการเจ้าพ่อทุกปี
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.00 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม –
๕.ช่องทางออนไลน์ –
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก –

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี

๑.อุทยานหินเขางู เดิมเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหินที่สำคัญของไทยตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาทั้งภาครัฐและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิประเทศ และวิวทิวทัศน์ อีกทั้งที่เขางูยังเป็นศาสนสถานอันเก่าแก่ จึงได้มีการยกเลิกสัมปทานการระเบิดและย่อยหินที่บริเวณนี้ หลังจากยกเลิกสัมปทาน ทางจังหวัดราชบุรีจึงได้พัฒนาเขางูให้เป็นสวนสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยว จึงได้สร้างพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ เต็มพื้นที่หน้าผา สร้างจากการยิงแสงเลเซอร์ลงหน้าผาหิน ภายในอุทยานหินเขางูยังมีถ้ำฤาษีเขางู ถ้ำฝาโถ ถ้ำจีน และถ้ำจาม ภายในถ้ำพบพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีสลักหินที่ฝาผนังถ้ำหลายองค์ จุดท่องเที่ยวที่สำคัญและห้ามพลาดคือจุดชมวิวกลางหุบเขาแบบพาโนรามา มีสะพานและทางเดินเชื่อมยาวบนทะเลสาบกลางหุบเขา ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน ๐๘.๐๐ น- ๑๘.๐๐ น.
๓.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ช่วงเดือนที่เหมาะสมคือ เดือนพฤษภาคมถึงกุมภาพันธ์ สำหรับเดือนมีนาคมและเมษายน ตอนกลางวันอากาศค่อนข้างร้อนจัดเพราะเป็นภูเขาหินปูน ต้นไม้จะแห้งเปลี่ยนสีไม่ร่มรื่น แต่ในช่วงเย็นมีลมจะพัดเย็นสบายสำหรับในเวลาพลบค่ำ ตอนที่ท้องฟ้าเริ่มมืด ก็จะได้เห็นแสงสว่างจากหิ่งห้อย
๔.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ (ไม่มี)
๕. กิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ
– เรือเป็ดให้เช่าปั่น ๒๐ บาท
๖. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร. เทศบาลตำบลเขางู ๐ ๓๒๓๙ ๑๓๐๘
๗.ช่องทางออนไลน์ –
๘.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ประสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ที่ตั้ง บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
 ๑.ปราสาทหินเมืองต่ำเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ตามคติศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่ ณ พื้นราบเบื้องล่างของเขาพนมรุ้งและน่าจะเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับปราสาทพนมรุ้ง เห็นได้จากปราสาททั้งสองแห่งอยู่ใกล้กัน ลักษณะสถาปัตยกรรมด้านในของปราสาทเมืองต่ำนั้นได้รับการก่อสร้างด้วยฝีมือช่างในระดับช่างหลวง ไม่ด้อยกว่าปราสาทพนมรุ้งเลย ชื่อของปราสาทเมืองต่ำเป็นชื่อที่เข้าใจกันว่ามาเรียกกันในภายหลัง คือเปรียบเทียบกับเมืองสูงอย่างพนมรุ้งก็เป็นได้ เพราะคำว่า “เมืองต่ำ” หมายถึงพื้นที่ต่ำ หรือพื้นที่ราบ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกันก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า ระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองนั้นมีซุ้มประตูก่อด้วยหินทรายอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน หรือมีอายุการก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ศาสนสถานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปในช่วงหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานโดยเฉพาะหลังจากที่อาณาจักรกัมพูชาเสื่อมถอยลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 18
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
08.00-18.00 นาฬิกา ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (20บาท)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม 0 4466 6251
๕. ช่องทางออนไลน์
https://www.bankokmuang.in.th
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ที่ตั้ง บ้านดอนหนองแหน ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
๑.ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เป็นโบราณสถานเนื่องในอิทธิพลอารยธรรมเขมรโบราณที่มีความงดงาม และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ หนึ่งในสามเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู (ตรีมูรติ) ลัทธิไศวะนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล กลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 – 18 มีปราสาทประธาน เป็นสถาปัตยกรรมหลักที่สำคัญที่สุด ชื่อ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ โดยคำนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
07.00 – 18.00 นาฬิกา ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (20บาท)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม 0 4466 6251
๕. ช่องทางออนไลน์
http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/phanomrung
https://www.facebook.com/Ensemble.of.Phanom.Rung
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดอัมพวัน จังหวัดตาก

ที่ตั้งตำบล ป่ามะม่วง อำเภอ เมืองตาก จังหวัดตาก
๑.วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เมืองตาก เป็นศาสนสถานที่มีความร่มรื่นของสวนมะม่วง วัดอัมพวัน แปลเป็นภาษาไทยว่า“สวนมะม่วง” วัดอัมพวันก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๕ และยังได้เข้าร่วมเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบฯวัดอัมพวัน ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก มีสภาพสังคมแบบชนบททั่วไป ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงและลำห้วยแม่ท้อ มีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน และวัฒนธรรมอันดีงามตามแนววิถีชาวพุทธดำรงมั่นในพระพุทธศาสนาและสืบทอดวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมาโดยตลอด ชาวบ้านอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้อง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดำรงชีวิตด้วยความสามัคคี เป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต มีคุณธรรม ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐ -๑๘.๐๐ น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๕ ๕๕๕ ๘๑๔๗
๕.ช่องทางออนไลน์
Facebook : ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม