ร้านข้าวสตูเกียดฟั่ง จังหวัดสงขลา

ที่ตั้ง เลขที่ ๔๗ ถนนนางงามอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
๑. ร้านข้าวสตูเกียดฟั่ง เป็นร้านข้าวสตูเจ้าแรกของจังหวัดสงขลา ที่มีอายุ (เกือบ) ๑๐๐ ปี จำหน่ายข้าวสตูอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดสงขลา และซาลาเปาลูกใหญ่ ข้าวสตูเป็นอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสงขลา ที่ได้รับการสืบทอดมา เป็นรุ่นที่ ๓ จากก๋งมาจากเมืองจีน มณฑลไหหลำโดยนำสูตรของอินโดนีเซียมาผสมผสานให้เข้ากับสูตรที่คนไทยชอบ และนำมาขายที่สงขลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สตูของทางร้านจะเป็นสตูหมู โดยการนำหมูนุ่ม เครื่องในหมู ตุ๋นด้วยสมุนไพรหลายชนิดประกอบกับมันหางกะทิจนได้รสกลมกล่อม และจะรับประทานกับข้าว หมูกรอบ หมูแดง กุนเชียง และน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ ราคา จะเริ่มตั้งแต่ ๖๐ บาท / ๘๐ บาท /๑๐๐ บาท และ ๑๕๐ บาท ส่วนซาลาเปาจะมีตามขนาด เช่น ลูกใหญ่ ๓๕ บาท ขนาดกลาง ๒๕ บาท และขนาดเล็ก ๒๐ บาท
๒. เมนูเด่น/เมนูแนะนำ
๒.๑ ข้าวสตู
๒.๒ ซาลาเปาลูกใหญ่
๓. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
(ถ้าหมดก่อนก็จะปิดก่อน) ส่วนซาลาเปาจะเริ่มตั้งแต่ ๑๐.๓๐ น.
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐ ๗๔๓๑ ๑๙๙๘
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : ร้านข้าวสตูเกียดฟั่ง ซาลาเปาลูกใหญ่

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมฯ ต้าตงกอกซอย

ชุมชนต้าตงกอกซอยมีวิถีชีวิตเรียบง่ายผูกพันกับสายน้ำ บ้านเรือนสร้างด้วยไม้สักโบราณ มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง และเป็นต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทงสายของจังหวัดตาก ด้วยความโดดเด่นดังกล่าวทำให้ชุมชนต้าตงกอกซอยมีการพัฒนาศักยภาพ  ของชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา เรียกว่า “กาดต้าตง” เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาและสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนได้ทุกมิติ สถานที่ของชุมชนประกอบด้วย บ้านวัฒนธรรมเป็นสถานที่รวบรวมความรู้ทางประวัติความเป็นมาของชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ฐานเรียนรู้วาดภาพศิลปะ การทำโคมล้านนา  การประดิษฐ์กระทงกะลา การทำข้าวแคบ การทำอาหารพื้นถิ่น แกงมะแฮะ แกงหัวตาล กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมกับชุมชนได้ เช่น การตักบาตรเช้า  การล่องเรือชมทัศนียภาพน้ำปิงและไปนมัสการพระเจ้าทันใจ  โดยเรือ”นาวาต้าตง” ไปเทียบท่า ณ บ้านท่าพระธาตุ ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญและรับชมชุดการแสดงท้องถิ่น รับประทานอาหารพื้นถิ่นแบบขันโตก บริเวณท่าน้ำต้าตง ชมการสาธิตและร่วมประดิษฐ์กระทงกะลา โคมต้าตง การสานหมวกใบลาน การทำข้าวแคบและยำข้าวแคบ ฯลฯ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดประเวศน์ภูผา (วัดบ้านตรัง) จังหวัดปัตตานี

ชุมชนบ้านตรัง เป็นแหล่งชุมชนโบราณ เกิดขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปกครองแบบหัวเมือง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง คนในชุมชนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสาน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาภายในชุมชน 

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยการใช้พลังบวร คือ วัด เป็นศูนย์รวมของชุมชน ส่งเสริมคุณธรรมให้ชาวบ้าน บ้านคือแหล่งภูมิปัญญาความรู้ และถ่ายทอดสู่โรงเรียน บ้านตรังจึงเป็นชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และขนบธรรมเนียมประเพณียังคงอนุรักษ์มาตั้งแต่อดีต คือ ประเพณีลากพระลงนาหลังจากออกพรรษา 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดประเวศน์ภูผา (วัดบ้านตรัง) เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๒๔๐ มีอายุราว ๓๐๐ ปี เป็นโบราณสถานที่มากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความศรัทธาของคนในชุมชน

หอประไตรปิฎก หอไตร เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงหลังคาทรงจัตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ สร้างโดยพ่อแก่เจ้าแสง (อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง)

พิพิธภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ

พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชน “คนบ้านตรัง” พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชน “คนบ้านตรัง” แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ครัวเรือนสมัยโบราณ

ต้นตะเคียนแกะสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ต้นตะเคียนความยาว ๒๕ เมตร อายุ ๓๐๐ ปี แกะสลักเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ๑๔ ตอน และเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวชุมชนบ้านตรัง

วิหารหลวงพ่อสุข หลวงพ่อปลอด วิหารหลวงพ่อสุข หลวงพ่อปลอด (อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง)

อาคารเก็บสรีระสังขาร พ่อแก่เจ้าแสง อาคารเก็บสรีระสังขารพ่อแก่เจ้าแสง หรือพระครูมงคลประภาส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านตรัง ซึ่งมรภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วยอายุ ๑๐๑ ปี ท่านได้สร้างวัตถุมงคล คือ ควายธนู และหน้ากากพรานบุญ เชื่อกันว่าหน้ากากพรานบุญเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังแห่งสายเมตตามหานิยมโภคทรัพย์ ที่มีชื่อเสียงไปถึงต่างแดน 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดเช็คอินบ้านตรัง จุดเช็คอินบ้านตรังตั้งอยู่บริเวณนาข้าวในช่วงฤดูการทำนา บริเวณนี้จะมีความสวยงามมีความอุดมสมบูรณ์ของนาข้าวและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินของชุมชน

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านตรัง เป็นแหล่งเรียนรู้ โคกหนองนา ของหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การทำน้ำหมักชีวภาพ

ศูนย์สมุนไพรเพื่อการศึกษาบ้านตรัง แหล่งเรียนรู้สมุนไพรรักษาโรค โดย นายเน จิตมณี ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรที่มีความเชียวชาญสมุนไพรรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

แหล่งเรียนรู้การทำสวนไผ่ในชุมชน แหล่งเรียนรู้ด้านการทำสวนไผ่ และน้ำเยื่อไผ่

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ประเพณีลากพระลงนา วัดประเวศน์ภูผา ประเพณีลากพระลงนาหลังจากออกพรรษา ประเพณียังคงอนุรักษ์มาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านในชุมชนจะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัด และลากไปลงในนาข้าวบริเวณใกล้ ๆ วัด และลากกลับวัดในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดิน โดยมีความเชื่อว่าหากได้ลากเรือพระลงในทุ่งนาแล้ว จะทำให้การทำนาในฤดูกาลนั้น ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตมาก

กิจกรรมเรียนรู้การปลูกข้าว นาข้าวในชุมชนบ้านตรัง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้การทำนาข้าว

นักท่องเที่ยวทำขนมทองม้วน กลุ่มทำขนมบ้านตรัง ตั้งอยู่ในวัดประเวศน์ภูผา กลุ่มทำขนมบ้านตรัง เป็นแหล่งเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้าน อาทิ การทำขนมทองม้วน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการทำขนม

นักท่องเที่ยวทอผ้า ศูนย์ศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าบ้านตรัง ตั้งอยู่ในวัดประเวศน์ภูผา ศูนย์ศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าบ้านตรัง เป็นแหล่งผลิตผ้าทอลายจวนตานี เอกลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี นอกจากเป็นแหล่งจำหน่ายผ้าทอลายจวนตานี ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าโดยภูมิปัญญาที่มีความชำนาญด้านการทอผ้า โดยกลุ่มสตรีชุมชนบ้านตรัง ที่ยังคงอนุรักษ์ รักษา และต่อยอดลวดลายต่าง ๆ ประยุกต์ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่นำรายได้มาสู่ชุมชน

ศิลปะการแสดงกลองยาว คนในชุมชนบ้านตรัง ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มกลองยาวบ้านตรังเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงกลองยาว และเป็นการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนอีกด้วย

ทำอาหารพื้นถิ่น แกงคั่วลูกโหนด น้ำพริกผักสด

ศิลปะการแสดงมโนราห์ ศิลปะการแสดงมโนราห์ การแสดงพื้นบ้านที่คนในชุมชนบ้านตรัง อนุรักษ์เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้และร่วมกันสืบสานให้คงอยู่สืบไป

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม