วัดพระศรีเจริญ

ที่ตั้ง บ้านหัวตะพาน ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
๑. พระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดพระศรีเจริญมีพุทธลักษณะแบบศิลปะล้านช้าง ปางมารวิชัย หล่อด้วยปูน ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร 30 เซนติเมตร ส่วนสูงจากพระชงฆ์ถึงยอดพระเกศ 2 เมตร สร้างมาประมาณ 750 ปี ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญเป็นที่เลื่องลือถึงความแคล้วคลาดใครที่ได้มากราบไหว้ขอพรหรือมีพระเครื่องพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญจะเดินทางไปมาค้าขายแคล้วคลาดปลอดภัย จนเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ไม่มีกำหนดตามมาตรการของจังหวัด
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
เทศบาลตำบลหัวตะพาน เบอร์โทรศัพท์ 0 4552 5798-9
๕. ช่องทางออนไลน์ –
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านปลาค้าว จังหวัดอำนาจเจริญ

ประมาณ  ๑๕๐ – ๒๐๐  ปี มาแล้ว มีนายพรานเกิ้นกับนายพรานสีโท พร้อมลูกน้องอพยพครอบครัวจากหนองบัวลำภู นั่งหลังช้างมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านขามเฒ่า อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาสองนายพรานได้ออกหาล่าเนื้อในละแวกนี้ เรียกว่า ป่าดงใหญ่ ซึ่งมีลำห้วย หนองน้ำ สัตว์ป่า ปลาชุกชุมมาก ลำห้วยที่เป็นคุ้งน้ำลึก เรียกว่า  กุด มีปลาค้าวเนื้ออ่อนต่อมาเรียกว่าปลาค้าว สองนายพรานเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงมาตั้งบ้านเรือนและเรียกชื่อว่าบ้านกุดปลาค้าว ต่อมาการพูดเพี้ยนสั้นลงเป็นบ้านปลาค้าว 

ชุมชนบ้านปลาค้าว มีความสามารถในเรื่องงานช่างฝีมือพื้นบ้าน การทอผ้า ทอเสื่อกก ตำรายาสมุนไพร และหมอลำ นอกจากนั้นยังมีการรำผญา เป่าแคน ดีดพิณ กลองยาว รวมถึงการร้องสรภัญญะ บ้านปลาค้าวได้รับรางวัล  “ค่าของแผ่นดิน” ด้านการส่งเสริมและการอนุรักษ์ภาษาถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน มีภูมิปัญญาที่รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมในการทำเครื่องสักการะบูชาอีสานโบราณ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดศรีโพธิ์ชัย
วิหารโบราณ สถานที่สำคัญ ที่ตั้งอยู่ในวัด ศรีโพธิ์ชัย เป็นศิลปะผสมผสานของ ไทย ลาว เวียดนาม ร่วมกันสร้างวิหารแห่งนี้ ได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นศาสนสถานที่ร่วมกิจกรรมของชาวบ้านทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส ใช้วิหารนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม  เช่น 
การฟังเทศน์ ฟังธรรม (ธรรมวัตร ) ของชาวบ้าน     

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
บ่อน้ำโบราณในวัดฉิมพลี มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นศูนย์รวมชาวบ้าน แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชนถ้าน้ำในบ่อแห้งขอดไม่ไหลซึมแสดงถึงการขาดความสามัคคีของคนในชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สวนวิมานดิน
สวนวิมานดินเกษตรอินทรีย์เป็นแหล่งรวบรวมพืชผลเกษตรอินทรีย์ และภูมิปัญญาด้านการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชและพืชเกษตรอินทรีย์ เลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ถนน ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนวิมานดิน
ศูนย์เรียนรู้สวนวิมานดินเกษตรอินทรีย์ เลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ถนน ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ต้อนรับด้วยขบวนกลองยาว กิจกรรมนำชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชนบ้านปลาค้าว ณ จุดเช็คอินบริเวณด้านหน้าวิหารโบราณบ้านปลาค้าวมีคณะกลองยาวที่มีชื่อเสียง คือ คณะศรีโพธิ์ทอง 

การแสดงหมอลำและดนตรีพื้นบ้านสอนร้องและรำหมอลำแก่ผู้สนใจ ณ บริเวณโฮมสเตย์บ้านปลาค้าว อัตลักษณ์ของชาวบ้านปลาค้าวคือ หมอลำกลอน ลำเรื่องต่อกลอน นอกจากนั้นยังมีการรำผญา เป่าแคน ดีดพิณ กลองยาว รวมถึงการร้องสรภัญญะ 

ทำบุญตักบาตร บริเวณด้านหน้าวัดศรีโพธิ์ชัยร่วมทำบุญตักบาตรถนนสายวัฒนธรรมบริเวณหน้าวัดศรีโพธิ์ชัย

กิจกรรมข้าวใหม่ปลามัน เรียนรู้ความหลากหลายทางธรรมชาติ หาผัก หาปลา แปรรูปอาหาร เมนูเด็ดของชุมชน บริเวณด้านหน้าวัดศรีโพธิ์ชัยร่วมทำบุญตักบาตรถนนสายวัฒนธรรมบริเวณหน้าวัดศรีโพธิ์ชัยสวนวิมานดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนวิมานดินเกษตรอินทรีย์เลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ถนน ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ

ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ เกิดเหตุน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน มีการถากถางเพื่อตั้งบ้านเรือน เรียกว่า “บ้านนาอัศดร”ต่อมามีสัตว์ป่ามาทำลายต้นข้าวในนาของชาวบ้าน จึงได้ทำการป่าวประกาศหาหมออาคม หมอคนสุดท้ายมีพาหนะเป็นม้า พร้อมหอก ดาบและธนู มาทำพิธีทางไสยศาสตร์ ได้ใช้หอก ดาบ ไล่ฟันแทงสัตว์ป่าจนมาตายที่ทุ่งนาริมห้วย ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อห้วยว่า “ห้วยนาหมอม้า” ซึ่งคำว่า “นา” ได้มาจากทุ่งนาที่สัตว์ป่าจบชีวิตลง และคำว่า “หมอม้า” ก็ได้มาจากหมอที่ขี่ม้ามาปราบสัตว์ป่า พร้อมทั้งขนานนามหมู่บ้านว่า “บ้านนาหมอม้า” 

เป็นชุมชนที่มีการดำเนินกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ด้านการแต่งกาย ด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และแสดง อัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน มีอาคารโบราณสถานพันปี แหล่งโบราณสถานลานเสมาดงเฒ่าเก่า รวมถึงวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ชุมชนมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การบริการ เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดดงเฒ่าเก่า
วัดดงเฒ่าเก่าเป็นแหล่งโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ใบเสมาพันปี พระนารายณ์หินที่เหมือนไม้ หินแกะสลักภาพโบราณ เช่น ฮาบช้างซาแมว ตีนช้างเหมือนเหยียบปากนก มีต้นไม้ใหญ่มากมาย มีความสงบร่มเย็นเป็นธรรมชาติ ปัจจุบันวัดดงเฒ่าเก่าได้พัฒนามาเป็นแหล่งเรียนรู้โบราณวัตถุ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน 

วัดบูรพา บริเวณลานศาลาไม้ ๑๐๐ ปี สำหรับจัดประชุม จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ดอนปู่ตา
ชุมชนบ้านนาหมอม้า มีความเชื่อเรื่องปู่ตา หากจะกระทำใด ๆ ก็จะมีการบอกกล่าว
ถ้าได้ผลสำเร็จตามที่ตนขอ ก็จะนำหัวหมูหรือเหล้าขาวมาถวาย จะเป็นการไหว้ประจำทุกปีจะไหว้ก่อนฤดูทำนาเพื่อจะได้บอกกล่าวปู่ตาและถามไถ่เรื่องฝนเรื่องน้ำของปีนั้นผ่านพ่อจ้ำหรือร่างทรงนั่นเอง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภูจำปา
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวทุกวันที่ ๑๗ เมษายน ของทุกปีชาวบ้านนาหมอม้าและตำบลใกล้เคียงได้ร่วมกันจัดงาน “สรงน้ำพระถ้ำภูจำปา”เป็นประจำทุกปี ภูจำปายังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่นหินสามก้อน พระพุทธรูปไม้แกะสลัก ต้นจำปาที่เกิดบริเวณหินดาน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้ นาภูคำ
เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับบรรยากาศท้องนาที่แท้จริง

แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม

แหล่งเรียนรู้การทอเสื่อกก นางสว่าง หอมสิน  ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลนาหมอม้า

ข้ามขัวหมอม้าเบิ่งเสมาพันปี 
ขัวหมอม้า เป็น สะพานขนาดกว้า ๒ เมตร ยาว ๓๘๐ เมตร เป็นสะพานเตี้ย ๆ ที่ก่อสร้างโดยแรงศรัทธาของชาวบ้าน นาหมอม้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา วัดดงเฒ่าเก่า ก่อสร้างจากบ้านนาหมอม้าลัดทุ่งนาไปจนถึงวัดดงเฒ่าเก่า ทุกเช้าพระสงฆ์จากวัดดงเฒ่าเก่าจะเดินมาบิณฑบาตโดยใช้ เส้นทางนี้ ตลอดสองข้างทางจะอุดมไปด้วยความเขียวชอุ่มของต้นข้าวที่กำลังงอกงาม หากมาเที่ยวในฤดูหนาวก็ได้สูดดมกลิ่นอายของรวงข้าวเหลืองอร่าม เป็นจุดแลนด์มาร์คที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

รำวงฝูงปลาบ้านนาหมอม้า
ณ บริเวณโฮมสเตย์บ้านหมอม้ารำวงฝูงปลาบ้านนาหมอม้า  ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์ศิลปะการแสดงที่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะรำวงฝูงปลา ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันก่อตั้งเป็นคณะรำวง มีการจับคู่กันฟ้อนรำ  โดยการแสดงจะแสดงในโอกาสต่าง ๆ เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะไม่มีเวทีในการแสดงไม่มีเครื่องขยายเสียงมากมาย นอกจากนี้บ้านนาหมอม้า ยังมีเพลงประจำหมู่บ้านเช่น เพลงฝูงปลา เพลงกระต่ายน้อย เพลงน้ำตกไทรโยค ซึ่งในอดีตมีการเป่าแคนเดินรอบหมู่บ้านและร้องเพลงประจำหมู่บ้าน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม