บานาน่าแลนด์

ที่ตั้ง 223 หมู่ 1 บ้านหนองบัว ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย
๑.เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรใกล้กับภูหอ ภูเขายอดตัด ที่มีรูปร่างแปลกตาเหมือนชามคว่ำ สัญลักษณ์โดดเด่น สะดุดตาของอำเภอภูหอ บานาน่าแลนด์เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเศรษฐกิจพอเพียง การทำไร่นา สวนผสม และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน เช่น การทอผ้า การจักสาน และการทำ Eco print นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อ เลือกชิม เลือกใช้ เช่น ขนมจากกล้วย กล้วยตาก ขนมขาไก่ แป้งกล้วย และผ้าทอมือ เป็นต้น
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
๓.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน) มิถุนายน – กุมภาพันธ์
๔.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ ไม่มี่
๕.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
08 8993 9905
๖.ช่องทางออนไลน์
https://www.facebook.com/99BananaLand/
๗.สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ /ที่จอดรถ /ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม

๑.โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พื้นที่บริเวณนี้เดิมทำเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ มีการใช้ที่ดินอย่างผิดวิธีทำให้หน้าดินเสียหาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดสภาพความแห้งแล้งโดยทั่วไปจนไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือผลผลิตลดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรมแห่งนี้ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ รวมทั้งทรงยังแนะนำให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ หน่วยงานต่างๆ ได้สนองพระราชดำริด้วยการศึกษาทดลองเพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินในพื้นที่ให้กลับนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อีก ที่ดินแห่งนี้เหมาะแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ทั้งความรู้ และเพลิดเพลิน พื้นที่กว่า ๘๔๙ ไร่ เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ภายในมีไร่แปลงสาธิต ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ต้นไม้ชื่อ และกิจกรรมแนะนำคือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนป่าเขาเขียว ระยะทาง ๑,๑๗๐ เมตร ในเส้นทางจะได้สัมผัสกับป่าเต็งและป่าเบญพรรณ จุดชมวิวบนเขาเขียวมองเห็นพื้นที่โครงการด้านล่าง
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น.
๓.ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว (ช่วงเดือน)
พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม
๔.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ (ไม่มี)
๕.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร. ๐ ๓๒๒๔ ๐๘๐๓
๖.ช่องทางออนไลน์
https://www.facebook.com/Khaochangoom/
๗.สิ่งอำนวยความสะดวก (ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/จุดบริการนักท่องเที่ยว)

ตลาดกลางผลไม้ตะพง(ร้านอาหาร,ของฝาก) จ.ระยอง

ที่ตั้ง เลขที่ ๑๕๓/๒๙ หมู่ที่ ๑๒ ต.ตะพง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง
๑. ตลาดกลางผลไม้เพื่อการเกษตรตะพง อำเภอเมือง ระยอง อยู่บนถนนสุขุมวิท เป็นศูนย์รวมการค้าผลไม้ของจังหวัด ผลไม้ที่ขึ้นชื่อได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน ในรอบๆ บริเวณตลาดกลางผลไม้เพื่อการเกษตรตะพง จะมีพื้นที่ในการทำสวนของเกษตรกรติดกันเป็นจำนวนมาก หลายสวนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินชม และชิมผลไม้ในสวน หลายๆ แห่งมีการปลูกไม้ดอกสีสันสวยงามน่าชมเป็นสถานที่พักผ่อนของครอบครัวได้ ตลาดกลางผลไม้ตะพงเป็นศูนย์รวมของผลไม้ในภาคตะวันออก ทั้งในจังหวัดระยองรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่างจันทบุรีหรือชลบุรีด้วย ซึ่งมีผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาล อย่างทุเรียน มะม่วง มังคุด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน เป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน ผลไม้จะมีเป็นจำนวนมากขึ้นและหลากหลายชนิด รวมถึงผลไม้ที่ผลิตนอกฤดูกาล และที่ผลิตตลอดฤดูกาล อย่างแก้วมังกร ลำไย เงาะ พุทรา เป็นต้นทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผลไม้เพิ่มขึ้น หากมาเที่ยวจังหวัดระยอง อย่าลืมแวะที่ตลาดกลางผลไม้ตะพง ซื้อผลไม้กลับไปฝากคนที่บ้านด้วยราคาที่ถูก
๒.ประเภทของผลิตภัณฑ์ (อาทิ ของกิน ของใช้ เครื่องประดับ หรือตกแต่ง)
-ผลไม้สด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ฯลฯ
–ผลไม้แปรรูป เช่น ทุเรียนกวน ทุเรียนทอดกรอบ สับปะรดกวน
-อาหารทะเลสด และตากแห้ง
3.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน
เปิดทุกวัน เวลา 0๖.00-๑๘.00 น.
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร.0 3866 4053, 0 3864 5366-7
๕.ช่องทางออนไลน์
http://www.tapong.go.th › intro

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดพระบรมธาตุ (ชุมชนบ้านปากคลองใต้) จังหวัดกำแพงเพชร

นครชุม ชุมชนเมืองโบราณ มีประวัติความเป็นมาของชุมชนมากกว่า ๗๐๐ปี มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยตอนต้น หลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง คือกำแพงเมืองเก่า ป้อมทุ่งเศรษฐี  วัดต่าง ๆ ที่ยังคงปรากฏในปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต 

ชุมชนคุณธรรมบ้านนครชุม เอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชน ได้แก่ แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี วิถีชีวิต วรรณกรรมท้องถิ่น และอาหาร จะเห็นได้ว่านครชุม เป็นชุมชนที่มีลักษณะโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง มีการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่สะสมมาตั้งแต่อดีตมาต่อยอดสู่การท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม ที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้แก่ชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระบรมธาตุ เจดียาราม (พระบรมธาตุนครชุม)
พระบรมธาตุนครชุม มหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ เสมือนดั่งเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ เมื่อได้เข้าไปนมัสการและบูชาแล้ว ดังได้พบกับพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง เป็นพระบรมธาตุเจดีย์อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุม ยาวนานกว่า  600 ปี

เจดีย์กลางทุ่ง
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย คาดว่ามีอายุประมาณ ๖๐๐ ปี (พ.ศ.๑๙๐๐) เจดีย์นี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์พิเศษ ที่ดูจะแน่นแฟ้นของสองนคร สุโขทัย-นครชุม แบบทัดเทียมกันภูมินามเดิมของวัดซึ่งโอ่อ่าด้วยเส้นสายลายศิลป์

ป้อมทุ่งเศรษฐี
ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองนครชุม บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใกล้วัดซุ้มกอ เป็นป้อมปราการรูปสี่เหลี่ยม ใช้ในการป้องกันการรุกรานจากข้าศึก โดยอยู่บริเวณหัวมุมกำแพง มีช่องเข้าออกที่บริเวณกึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน สร้างด้วยก้อนศิลาแลง แข็งแกร่งดังชื่อกำแพงเพชร

โบราณสถาน บ้านพะโป้ (บ้านห้าง รัชกาลที่ 5)
หมู่อาคารเก่าแก่อายุตั้งแต่ 50 ปี ถึง 100 ปี โดยมีอาคารที่มีความเก่าแก่ และมีความสวยงามของสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จนมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมมากที่สุด ก็คือ บ้านห้าง ร.๕ หรือบ้านพะโป้ ต.นครชุม อ.เมืองกำแพงเพชร ใกล้วัดสว่างอารมณ์

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดพระบรมธาตุ
แหล่งแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตไทยของคนในชุมชน ต.นครชุม  อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร  

ตลาดย้อนยุคนครชุม
ตลาดแบบย้อนยุค ที่พ่อค้า แม่ค้าจะแต่งกายด้วยชุดไทยนำอาหาร ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวนครชุมหรือร่วมสมัยมาวางจำหน่าย รวมถึงศิลปหัตถกรรม อาทิ การจักสานไม้ไผ่ งานฝีมือใบตองหรือการวาดรูป ระบายสี มุ่งเน้นการแต่งกายพื้นบ้าน โดยตลาดย้อนยุคนครชุม จะมีการจัดกิจกรรมทุกวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ต้นเดือน 

หอคัมภีร์โบราณ/กุฏิพระวิเชียรโมลี (อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ)
วัดพระบรมธาตุ ได้พัฒนาอาคารโบราณภายในวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เกี่ยวกับบ้านโบราณของตำบลนครชุม อาทิ “หอคัมภีร์โบราณ” เป็นอาคารทรงไทยแบบนครชุม สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ซึ่งได้มีการปรับปรุงให้มีความสวยงาม  “กุฏิพระวิเชียรโมลี” เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๓ มุข  

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ริมแม่น้ำปิง
ริมแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกำแพงเพชร ช่วงเวลายามเย็นจะมีประชาชนมาวิ่งออกกำลังกาย นั่งชมบรรยากาศริมปิง เดินทางมาเป็นครอบครัว เป็นคู่ และบริเวณแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับสวนสิริจิตอุทยาน ยังมีบริการนวดฝ่าเท้า เพื่อผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามยามเย็นอีกด้วย

คลองสวนหมาก
คลองสวนหมากเป็นคลองสายสำคัญที่ผ่านเมืองนครชุม เปรียบเสมือนสายโลหิต ของชาวนครชุม เหตุที่เรียกว่าคลองสวนหมากเพราะบริเวณปากคลอง ประชาชนนิยมปลูกต้นหมากเป็นจำนวนมาก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านนครชุม หมู่ 5 ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร กลุ่มคณะเด็กนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่และคณะเจ้าหน้าที่ จากต่างอำเภอทั้งในและนอกจังหวัดกำแพงเพชร เดินทางเข้าศึกษาเรียนรู้ การใช้ชีวิตแบบพอเพียงและการเรียนรู้อาชีพเกษตรกรรม  โดยมีนางสาวอริยา ปานจีน เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในด้านการเกษตรแบบพอเพียง    

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

ประเพณีไหว้พระบรมธาตุ (เพ็ญเดือน ๓)
วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดแพงเพชร ประเพณีนบพระ-เล่นเพลงเป็นงานประเพณี ที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร โดยได้นำคำในศิลาจารึกศรีนครชุม หลักที่ ๓ มาเป็นชื่องาน มีความว่า “ผู้ใดไหว้นบ กระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธิไซร้ มีผล อานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า…” คำว่า “นบ” เป็นคำโบราณ แปลว่า ไหว้ ดังนั้น การนบพระจึง หมายความว่า “ไหว้พระ”

สวดมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทุกวันอาทิตย์
ณ ลานพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดแพงเพชร กิจกรรม “ธรรมจักรซันเดย์”เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสวดมนต์ นั่งสมาธิ หน้าลานพระบรมธาตุเจดีย์ โดยพระราชวชิรเมธี ผศ.ดร.  เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  จัดสวดมนต์บทธรรมจักร และบทโพชฌังคปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลกับผู้เข้าร่วม กิจกรรมสวดมนต์ ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ – ๑๙.๓๐ น. ทุกวันอาทิตย์    

ตลาดย้อนยุคนครชุม
บ้านนครชุม หมู่ที่ ๕ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ตลาดแบบย้อนยุค ภายในตลาดจะมีพ่อค้า แม่ค้าแต่งกายด้วยชุดไทย นำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวนครชุมหรือร่วมสมัยวางจำหน่าย รวมถึงศิลปหัตถกรรม อาทิ การจักสานไม้ไผ่ งานผีมือใบตอง หรือการวาดรูประบายสี 

แกงขี้เหล็ก (ต้องมาในช่วง ประเพณีลอยกระทง)
บ้านนครชุม หมู่ที่ ๕ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร “ขี้เหล็ก” เป็นพืชสมุนไพรที่ให้รสชาติขม ชาวบ้านนิยมนำยอด ใบและดอกอ่อนมาใช้แกงกับกะทิ หรือที่เรียกกันว่า “แกงขี้เหล็ก” ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ชาวนครชุมเชื่อว่ายอดขี้เหล็กจะเป็นยารักษาสารพัดโรค จะมีการเก็บยอด ใบ และดอกอ่อนของขี้เหล็กตอนเช้ามืด และแกงให้เสร็จภายในวันนั้น 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านดอนตะโหนด จังหวัดสิงห์บุรี

ชุมชนบ้านดอนตะโหนดเป็นชุมชนที่อยู่รวมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คนในชุมชนอยู่กันแบบญาติ พี่น้อง อยู่กันด้วยความรักและความสามัคคี ไม่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งชนชั้น การจัดกิจกรรมทุกอย่างทุกคนต่างให้ความร่วมมือกัน และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนบ้านดอนตะโหนด คือ ความพอเพียง วิถีชาวบ้าน และความเป็นธรรมชาติของคนในชุมชน ที่ไม่ต้องปั้นแต่งใด ๆ คนในชุมชนอยู่กันแบบญาติพี่น้อง มีความรักและความสามัคคี มีน้ำใจ มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีกับทุกคนที่ไปเยือน และมีความพร้อมในการทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดี มีความเป็นจิตอาสาในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วยความอบอุ่นดุจญาติมิตร

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนตะโหนด
เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของตลาดกลางชุมชน สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนตะโหนดด้วย

ตลาดกลางชุมชน ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านดอนตะโหนด
เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนตะโหนดด้วย ที่คนในชุมชนรวมตัวกันนำผลผลิตทางการเกษตรของตน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมาจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจในราคาย่อมเยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษที่ทำการเพาะปลูกแบบอินทรีย์

ห้องประวัติศาสตร์บ้านโพทะเล
เป็นสถานที่แสดงโบราณวัตถุของชุมชนบ้านโพทะเล โดยส่วนใหญ่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านในชุมชน และเก็บแสดงไว้ให้เด็กและเยาวชนหรือผู้ที่สนใจเข้ารับชมได้ โดยตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านโพทะเลสามัคคี ม.5 ต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน  จังหวัดสิงห์บุรี

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ บ้านดอนตะโหนด
อยู่ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลโพทะเล อำเภอค่ายบางระจัน 

สวนเกษตรอินทรีย์ บ้านดอนตะโหนด
อยู่ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลโพทะเล อำเภอค่ายบางระจัน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เรียนรู้การทำกระยาสารท จากข้าวไรซ์เบอร์รี่
บ้านขนมไทยแม่บุญชู ชุมชนบ้านดอนตะโหนด หมู่ที่ 7 ตำบลโพทะเล อำเภอค่ายบางระจัน เรียนรู้การทำกระยาสารทจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปลูกแบบปลอดสารพิษของชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนตะโหนด  มาเรียนรู้วิธีก ารทำและสามารถซื้อเป็นของฝากหรือของทานเล่นได้ ในราคาที่ไม่แพง 

เรียนรู้การทำนาอินทรีย์ ปลอดสารพิษ
ชุมชนบ้านดอนตะโหนด นักท่องเที่ยวสามารถร่วมเรียนรู้และร่วมกิจกรรมทำนาอินทรีย์ปลอดสารพิษ เช่น การหว่านข้าว การดำนา การเกี่ยวข้าวด้วยเคียว เป็นต้น

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม จังหวัดปทุมธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญดั้งเดิมอาศัยอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสายน้ำ อาชีพหลักดั้งเดิมของชุมชน คือ อาชีพทำนา ทำสวนผลไม้

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสืบทอดวัฒนธรรมของชาวมอญผ่านวัดและวิถีประเพณีวัฒนธรรม เป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ในการรักษา สืบทอดประเพณีรามัญไว้อย่างแนบแน่นกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดชินวรารามวรวิหาร
เดิมชื่อ วัดมะขามใต้ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2358 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธชินวร (หลวงพ่อทองคำ) พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และพระตำหนักชินวรสิริวัฒน์

วัดเจตวงศ์ (วัดร้าง)
อยู่ในซอยเดียวกับวัดชิน วรารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น   พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก มีช่องประตูเดียวแบบโบสถ์มหาอุต ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติตั้งแต่ครั้งอดีตที่มีความสวยงาม

พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์
พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์ เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2465 อยู่ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตก ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร มีพื้นที่กว้างขวางซึ่งสามารถชมธรรมชาติของสายน้ำ พระอาทิตย์ตก และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และให้อาหารปลาได้ 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านต้นโพธิ์
เรียนรู้การทำยาหม่องสมุนไพร และการฝึกอาชีพต่าง ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ปั่นจักรยาน
เส้นทางปั่นจักรยานถนนปทุมธานีสายใน ผ่านวัดบางหลวง-วัดชินวรารามวรวิหาร

ทำบุญตักบาตร
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตักบาตรริมน้ำเจ้าพระยา พระสงฆ์จะพายเรือมารับบิณฑบาตช่างเช้ามืด
ให้อาหารปลา
วังมัจฉา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดชินวรารามวรวิหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม