ชุมชนคุณธรรมวัดหนองอ้อ จังหวัดจันทบุรี

ชุมชนคุณธรรมวัดหนองอ้อ มีวัดหนองอ้อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาและทำสวนผลไม้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมี    ในครัวเรือนอีกด้วย ที่มาชื่อบ้านหนองอ้อมาจากบริเวณหมู่บ้านมีต้นอ้อขึ้นอยู่มากในหนองน้ำธรรมชาติ

ชุมชุนคุณธรรมวัดหนองอ้อ นอกจากเป็นชุมชนวิถีเกษตรแล้วยังเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชนอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการแบ่งปันจากของที่ตนเองมีอยู่ไปจนถึงการค้าขายในชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดหนองอ้อ ตั้งอยู่ที่ ต.มะขาม อ.มะขาม จังหวัดจันทบุรี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดจันทบุรี แห่งที่ ๓๗ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้รับการประกาศวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีมีพระครูวิศาลรจันทรสุขคุณ (เฉียบ จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรก

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

บ้านดินมังกร เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไส้เดือน ทดลองเลี้ยงไส้เดือนและการทำสปาด้วยตัวเอง นำผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนกลับไปลองใช้ และเพลิดเพลินไปกับการช้อปพืชผักสมุนไพรปลอดสารพิษ

ศิลปะปั้นขี้เลื่อย ศิลปะปั้นขี้เลื่อย เป็นแหล่งเรียนรู้และลงมือทำการปั้นขี้เลื่อยด้วยตนเอง และสามารถนำชิ้นงานของตนเองกลับบ้านเป็นที่ระลึก

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบางสระเก้า จังหวัดจันทบุรี

ชุมชนสวรรค์บนดิน ถิ่นบางสระเก้า (ดินแดน ๓ น้ำ ๙ นา) เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำที่เชื่อมสู่ทะเลป่าชายเลน โดยชาวบ้านมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทอเสื่อ ทำนา ทำสวนผลไม้ และการประมงพื้นบ้าน อย่างที่เรียก 3 น้ำ 9 นา คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย พร้อมทำนาข้าว นากก นาปอ นาบัว นาถั่ว นาข้าวโพด นามะพร้าว นามะนาว และนากุ้ง

คงเสน่ห์ด้วยวิถีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่มีเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม นักท่องเที่ยวจะได้ไหว้พระขอพรหลวงพ่อเต่า นั่งซาเล้ง ตะลุยชุมชน ชมวิถีชีวิต 3 น้ำ 9 ลิ้มรสอาหาร ๕ หมู่ (บ้าน) ชมสาธิตและร่วมทำเสื่อกก   จันทบูร และการทำเหละ เดินชมตลาดสี่มุมเมรุ ตลาดที่ไม่กลัวความตาย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบางสระเก้า

ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า

กิจกรรมของศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า

1. ส่งเสริมการปลูกกก ปลูกปอ จุดมุ่งหมายต้องการให้ลดต้นทุนการผลิตมีวัตถุดิบในพื้นที่เพียงพอ ส่งเสริมด้านเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกและจัดเตรียม มีการคืนทุนสังคมของสมาชิก

2. รับซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การรับซื้อจะรับซื้อเสื่อกกจากสมาชิกและแปรรูปวางจำหน่าย  โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ 

ตลาดสี่มุมเมรุ ตลาดพื้นบ้านที่มีในชุมชน เปิดทุกวันบริเวณสี่แยกมุมเมรุวัดบางสระเก้า สินค้าพื้นบ้าน เช่น กุ้งแห้ง กะปิ  ทุเรียนทอด  ปลา ปู กุ้ง สดจากทะเล ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ศูนย์เรียนรู้และศึกษาธรรมชาติ บ้านปลา-ธนาคารปู หมู่ที่ ๕ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบางสระเก้า โดยริเริ่มของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำด้วยการเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

ป่าตะกาดใหญ่ พื้นที่ราว 150 ไร่ บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางสระเก้า อันเป็นที่ตั้งของป่าตะกาดใหญ่ อุดมไปด้วยป่าไม้ชายเลนชนิดต่าง ๆ เช่น  โกงกาง  ขลู่  แสม ฝาด ฯลฯ  เป็นแหล่งอาหารแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ สร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ให้อุดมสมบูรณ์

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนปันสุข สร้างชาติ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง วัดบางสระเก้า เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน มีการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายคนในชุมชน รวมทั้งผู้ที่เดือดร้อน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การทำบุญตักบาตร หน้าวัดบางสระเก้า การทำบุญตักบาตร พระที่เดินบิณฑบาต ยามเช้า

ชมและร่วมสาธิตการทำเสื่อกก กลุ่มทอเสื่อกก นักท่องเที่ยวหรือผู้มาศึกษาดูงาน นอกจากจะได้ชมและเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตเสื่อกก ยังสามารถร่วมทอเสื่อกกได้ด้วย

ชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมชุมชน ระบำทอเสื่อ

– องค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้า

– ลานวัฒนธรรม กิจกรรม ศุกร์สร้างสรรค์ ลานสามสุข เป็นการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงาน “ระบำทอเสื่อ”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี

ชุมชนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม  เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ และมีวัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือชื่อที่ชาวชุมชนเรียกขานอีกนามหนึ่งว่าวัดใต้ เป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกาญจนบุรีวัดหนึ่ง อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง

ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดไชยชุมพลชนะสงคราม  เป็นชุมชนคุณธรรมที่มีพลัง บวร ที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ยึดมั่นปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางศาสนา  และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาคุณภาพชีวิต  ตลอดจนสืบสานและรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง วัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือ วัดใต้ตั้งอยู่เลขที่ถนนไชยชุมพล  ตำบลบ้านใต้  อำเภอเมืองกาญจนบุรี  เป็นวัดพระอารามหลวง สร้างในสมัยกรุงศรี อยุธยาตอนปลายครับ วัดนี้ตั้งอยู่บนริมแม่นํ้าแคว ทางทิศใต้ เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างสงครามไทย รบกับพม่ามาแต่โบราณ  ส่วนมาก ทัพพม่าจะต้องยกทัพมาทางด่านพระเจดีย์  ๓  องค์  ผ่านตรงเข้าจังหวัดกาญจนบุรีแทบทุกครั้งและกองทัพไทย ที่ยกออกไปต่อต้านทัพพม่าก็จะต้องมา พักแรม ประชุมพลที่ตำบลปากแพรก หรือบริเวณอาณาเขตวัดไชยชุมชนะสงคราม  แทบทุกครั้ง 

พิพิธภัณฑ์อักษะเชลยศึกหรือพิพิธภัณฑ์สงครามวัดใต้ พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THE JEATH WAR MUSEUM ต่อมาเป็นที่รู้จักกันสำหรับชาวต่างประเทศว่า WAR MUSEUM หรือพิพิธภัณฑ์สงคราม เหตุที่ใช้ชื่ออย่างนี้ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์นี้เป็นที่เก็บรวบรวมเอกสาร หลักฐานภาพเขียน ภาพถ่าย ตลอดจนเครื่องใช้สอยต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเหตุการณ์สร้างทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี-พม่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  

ประตูเมืองเก่า ประตูเมืองกาญจนบุรีเป็นประตูเมืองก่ออิฐถือปูน ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2374 เมื่อครั้งย้ายเมืองกาญจนบุรีเก่าจากตำบลลาดหญ้ามาตั้งที่ตำบลปากแพรก เดิมมี 8 ประตู ประกอบด้วย ประตูเมือง 6 ประตูและประตูช่องกุด 2 ประตู ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะประตูเมืองด้านหน้าและกำแพงเมืองบางส่วนที่อยู่ติดกันโดยได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2549

สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก หรือ “สุสานทหารสหประชาชาติ” หรือที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีทั่วไปเรียกว่า “ป่าช้าอังกฤษ” เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะถึง 6,982 หลุม รัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้น บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่าง ๆ

สะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานข้ามแม่น้ำแคว เดิมสร้างขึ้นโดยแรงงานของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ภายใต้การควบคุมของกองทัพญี่ปุ่น การก่อสร้างใช้เวลาแล้วเสร็จเพียงหนึ่งปี ก่อนจะถูกระเบิดทิ้งทำลายจากกองบินสัมพันธมิตรจนสะพานช่วงกลางพังถล่มลงมา ต่อมาภายหลังสงครามโลกยุติลง รัฐบาลไทยได้ซื้อทางรถไฟนี้ต่อจากอังกฤษ แล้วบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2489 ความยาวของสะพานทั้งสิ้น 322.90 เมตร

ปัจจุบันสะพานข้ามแม่น้ำแคว ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพทางจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ประจำปีทุกปี ซึ่งมีการแสดงสีเสียง ย้อนรำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี โรงกระดาษไทย กาญจนบุรี สถาปัตยกรรมที่ผ่านช่วงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานกระดาษเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2484 (ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 8) ถือเป็นโรงงานการกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย (ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2466 ไทยมีโรงงานกระดาษแห่งแรกเปิดดำเนินการที่ตำบลสามเสน กรุงเทพมหานคร) เป็นอาคารทรงทันสมัยในยุคสมัยนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมของกาญจนบุรี

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หาดทรายชุกโดน หาดทรายชุกโดน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะเป็นชายหาดน้ำจืดขนาดเล็ก เหมาะสำหรับการพักผ่อน ด้วยเพราะโดยรอบชายหาดจะมีที่นั่งไว้สำหรับให้ทุกคนนั่งกินอาหาร ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ภูเขาและสายน้ำ กิจกรรมท่องเที่ยว มีตั้งแต่ลงเล่นน้ำเย็น ๆ เล่นเครื่องเล่นสนุก  ๆ หรือจะพักผ่อนรับประทานอาหาร ที่นี่ก็เพียบพร้อมด้วยร้านอาหารร้านค้าให้เลือกหลายร้าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แปลงสาธิตการเกษตรวัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นแปลงสาธิตการทำเกษตรแบบพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและเป็นวัตถุดิบในการนำมาปรุงอาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เล่นน้ำที่หาดทรายชุกโดน หาดทรายชุกโดน พักผ่อนชมความงามทางธรรมชาติ หรือเล่นกิจกรรมกลางแจ้งทางน้ำ มีหลายกิจกรรมให้เลือก เช่น การเล่นสไลเดอร์ พายเรือ เป็นต้น

ชมการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรม ลานแสดงวัฒนธรรม ตลาดไทย ตลาดธรรม ตลาดวัฒนธรรม 
วัดไชยชุมพลชนะสงครามเปิดพื้นที่ลานแสดงวัฒนธรรม ภายในบริเวณวัดติดกับบริเวณ ตลาดไทย ตลาดธรรม เพื่อเปิดโอกาส เด็ก เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้มีสถานที่ในการแสดงความสามารถทางศิลปะและวัฒนธรรม ให้นักท่องเที่ยวได้ชม

ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน จังหวัดกาญจนบุรี

ที่ตั้ง 235 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน เกิดจากความร่วมมือของพลัง “บวร” ที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน นำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นภูมิคุ้มกัน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต 

เป็นชุมชนที่ประชาชนยึดหลักศีล ๕ ในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่มีการจัดกิจกรรมทางด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย เช่น การจัดงานประจำปีปิดทองรอยพระพุทธบาท และทำบุญอุทิศอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน ๗ หัวเมือง งานอุ้มพระสรงน้ำ   วันสงกรานต์ งานแห่หลวงพ่อทองคำ งานตามประทีปหมื่นดวงเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดท่าขนุน หลักฐานการมีวัดท่าขนุนมาปรากฏชัด เมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า อรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา สองพระราชธิดาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ กับเจ้าจอมมารดาอ่อน เสด็จมาประพาสป่าทองผาภูมิ ทั้งสองพระองค์ได้ทูลขอพระราชทานพระพุทธรูปรัชกาล ขนาดหน้าตักประมาณ ๑ ศอก ๒ องค์ และธรรมาสน์ทรงบุษบกฝีมือช่างหลวง ถอดประกอบได้ทุกชิ้น จากในหลวงรัชกาลที่ ๗ มาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เป็นพระเถระเชื้อสายมอญ มีสีลาจารวัตรที่งดงาม เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งสองพระองค์ทราบกิตติศัพท์ จึงเสด็จมานมัสการพร้อมกับถวายสิ่งของพระราชทานดังกล่าวข้างต้น หลวงปู่พุกปกครองดูแลวัดท่าขนุนมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็มรณภาพลง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำพุร้อนหินดาด บ้านกุยมั่ง หมู่ 6 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอุณหภูมิความร้อนของน้ำในบ่อประมาณ ๔๕ – ๕๕ องศาเซลเซียส และยังมีแร่ธาตุที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายเราหลายชนิด เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม ประโยชน์ของการอาบน้ำแร่มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนัง ทำให้การไหลเวียนของโลหิต แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามข้อ กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดกระดูกและเหน็บชา

เขื่อนวชิราลงกรณ์ เดิมมีชื่อว่า เขื่อนเขาแหลม เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีวัตถุประสงค์ด้านผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก สร้างปิดกั้นแม่น้ำแควน้อยบริเวณตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แปลงสาธิตการเกษตรวัดท่าขนุน เป็นแปลงสาธิตการทำเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและเป็นวัตถุดิบในการนำมาปรุงอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวโคโรนา 2019 (COVID-19)

เรือนครูไท เป็นที่พักรูปแบบรีสอร์ท ภายในรีสอร์ทมีสวนผลไม้ซึ่งเป็นของเจ้าของรีสอร์ท เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักสามารถเยี่ยมชมและรับประทานผลไม้สดตามฤดูกาลจากต้นได้ฟรี หากต้องการผลไม้กลับบ้าน ก็สามารถเลือกซื้อผลไม้สดจากสวนได้เลย

ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลอง จังหวัดนครนายก

ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลองเป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความภาคภูมิใจในวิถีแห่งชาติพันธุ์ไทยพวน ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมต้อนรับผู้มาเยือน และมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

ชุมชนคุณธรรมวัดฝั่งคลอง เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิต อันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งด้านภาษา การแต่งกาย รวมถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลอง ตลอดจนมีความโดดเด่น เข้มแข็ง ในเรื่องการธำรงรักษาวิถีไทยพวน ประเพณีฮีต ๑๒ คอง ๑๔

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช วัดฝั่งคลอง ตั้งอยู่ในวัดฝั่งคลอง เป็นแหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน ภายในมีการจัดแสดงเพื่อให้เยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยพวน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน

มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี เกิดจากความร่วมมือของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลองเป็นพิพิธภัณฑ์ ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้ โดยจัดแสดงนิทรรศการชื่อว่า “ชาติพันธุ์ตำนานพวน : ตำนานรักเจ้าจอมกับนางกอย” ภายใต้แนวคิด “วิถีไทยพื้นบ้านในวิถีสากล” เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวน

กลุ่มสตรีสหกรณ์หัตถกรรมผ้าทอไทยพวนบ้านใหม่ กลุ่มสตรีสหกรณ์หัตถกรรมผ้าทอไทยพวนบ้านใหม่ เป็นกลุ่มที่เกิดจากรวมกลุ่มกันของชาวไทยพวนในพื้นที่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องมือเครื่องใช้เก่า ๆ เช่น กี่ทอผ้า ที่ปั้นด้าย ที่ยังหลงเหลืออยู่ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาการทอผ้า ของชาวไทยพวนในพื้นที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จึงอยากที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าให้กลับมาอีกครั้ง

พระธาตุกุสาวดี วัดปทุมวงษาวาส (บ้านใหม่) พระธาตุกุสาวดีหรือสถูป กุสาวดี ตั้งอยู่ภายในวัดปทุมวงษาวาส (บ้านใหม่) โดยจำลองแบบมาจากประเทศอินเดีย ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รวมทั้งเสาอโศกที่สลักจากหินหยกอินเดีย ให้ชาวพุทธได้เข้ามาสักการะ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำวังบอน อ่างเก็บน้ำวังบอน ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นอ่างเก็บน้ำ ที่เงียบสงบ บริเวณรอบ ๆ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บรรยากาศร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดน้อยใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ เล่นน้ำ และตกปลา

จุดชมนกเหยี่ยวดำ ทุ่งใหญ่ปากพลี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่นกล่าเหยื่ออย่าง “เหยี่ยวดำ” ได้บินอพยพจากความหนาวในพื้นที่แถบไซบีเรียมายังประเทศไทยบริเวณทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งมีพื้นที่กว้างถึง 1,500 ไร่ ถือเป็นจุดชมนกเหยี่ยวดำอีกแห่งหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาส่องดูเหยี่ยวดำจำนวนมาก ที่มาหากินอยู่กันเป็นฝูงบริเวณทุ่งนา

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนเกษตรเปรมปรี สวนเกษตรเปรมปรี เป็นสวนผลไม้กึ่งผสมผสาน โดยมีไม้ผลหลักคือ มะยงชิด มะปรางหวาน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายก และสร้างรายได้หลักให้กับสวนเกษตรเปรมปรี นอกจากนี้ยังมีผลไม้อื่น ๆ ที่ปลูกผสมผสานในสวน รวมทั้งมีการจำหน่ายกิ่งพันธุ์สำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย

สวนสุขภาพสุริยภรต สวนสุขภาพสุริยภรตเกิดจากแนวความคิดของคุณนิพพิทา เรืองรักษ์ลิขิต เจ้าของพื้นที่ ที่มองเห็นปัญหาด้านสุขภาพ ของผู้คนในสังคมปัจจุบัน และอยากนำพื้นที่ว่างเปล่าของตนเองมาใช้ประโยชน์ จึงดำเนินการจัดสร้างสวนสุขภาพสุริยภรตขึ้นภายในประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ดนางฟ้า นอกจากนี้ยังมีการให้บริการด้านที่พัก และห้องสำหรับ จัดเลี้ยงอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้วิถีเชิงเกษตรชุมชนไทยพวน โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนหนองแสง “นิทรรศการไทยพวนชวนเอ๊ดนา ศูนย์ การเรียนรู้วิถีเชิงเกษตร” เป็นโครงการของสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงสีข้าวชุมชน บ้านเนินหินแร่ ตำบลหนอง-แสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นโครงการ ที่เกิดจากการนำงานวิจัยเรื่อง “เรื่องเล่าประวัติชีวิต : การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน” มาเป็นแนวทาง ในการพัฒนารูปแบบส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม วิถีไทยพวน

ชุมชนคุณธรรมวัดคีรีวัน จังหวัดนครนายก

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลศรีนาวาอำเภอ เมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ผู้นำชุมชน พระครูอุดมกิจจานุกูล ชุมชน ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาอันอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้หนาทึบ มีแม่น้ำนครนายกไหลผ่าน เหมาะสมกับการทำการเกษตรกรรมและปลูกพืช ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

ชุมชนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นทางด้านภาษา อาหาร และการแต่งกาย พื้นถิ่นลาวเวียง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตเรียบง่าย สงบสุข มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ เปิดพื้นที่ทำกิจกรรมทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑ์รัตนจัน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต

วิหารพระแก้วมรกต เป็นวิหารที่ตั้งอยู่บนเขาคีรีวัน ประดิษฐานพระแก้วมรกต
องค์จำลองเรซิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยเวียง เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ของฝาก/สินค้าของชุมชน

ปราสาทขอมองค์ใหญ่ แสดงถึงสถาปัตยกรรมแบบขอมองค์ใหญ่ ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อโพธิ์พันปี

ตลาดลาวเวียงวัดคีรีวัน เป็นลานวัฒนธรรมและตลาดวัฒนธรรมลาวเวียง (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์)

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ใหญ่ที่สุดประเทศไทย

น้ำตกวังตระไคร้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีธารน้ำตกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

น้ำตกนางรอง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีธารน้ำตกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้ภูกะเหรี่ยง

1. ฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนา
2. ฐานการเรียนรู้ทำสวนเกษตรผสมผสาน
3. ฐานการถ่ายทอดภูมิปัญญาต่าง ๆ อาทิ การสีข้าวแบบโบราณ/การทำขนมข้าวกระยาคู
4. สวนสัตว์ปล่อย และสะพานพราวฟ้าที่ทอดยาวตามทุ่งนา

สวนไม้หอมกฤษณา

1. ชมสวนไม้หอมกฤษณากว่า 5,000 ต้น เรียนรู้การทำสวนไม้หอมกฤษณา การทำปุ๋ยอินทรีย์
2. เรียนรู้การทำกระยาสารท การทำน้ำพริกต่าง ๆ และการทำผลไม้แปรรูป

ชุมชนคุณธรรมตำบลชุมพล จังหวัดนครนายก

          บริบทของชุมชนด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมโดยมีรูปแบบของความเป็น สามเชื้อชาติ สองวัฒนธรรม สามเชื้อชาติ คือ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยมอญ สองวัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมแบบศาสนาพุทธ และวัฒนธรรมแบบศาสนาอิสลาม จำนวน 5 แห่ง มีวัด 1 แห่ง ชุมชนตำบลชุมพล มีประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีทั้ง ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยมอญ

          ชุมชนคุณธรรมตำบลชุมพล มี 3 เชื้อชาติ ไทยพุทธไทยมอญ ไทยมุสลิม และมีมุสลิมมากถึง 87.13% จึงกำหนดให้การแสดงลิเกฮูลู เป็นอัตลักษณ์ของตำบลชุมพล และการแสดงชุดนี้ได้รับรางวัลโครงการต้นแบบระดับประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

มัสยิดกลางจังหวัดนครนายก (ฮากีมุดดีน) เฉลิมพระเกียรติ เป็นมัสยิดที่สร้างด้วยหินอ่อน บริเวณด้านหน้ามุขมีการฉลุ พระนามของพระเจ้า ๙๙ พระองค์ ที่หินอ่อนไว้อย่างสวยงาม และมีการฉลุพระนามของพระเจ้าด้วยไม้สักที่บริเวณหน้าต่างของมัสยิด

วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม เป็นวัดของชาวศาสนาพุทธ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ชาวพุทธในตำบลชุมพลมีการจัดกิจกรรมประเพณีการแข่งเรือยาว ในช่วงเทศกาลสารทไทย และในช่วงประเพณีสงกรานต์ มีกิจกรรมการละเล่นทอย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บึงพระอาจารย์ หลายปีก่อน จ.นครนายก เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นแหล่งน้ำที่ทางราชการใช้ใช้ในการประกอบพิธีกรรม อาทิ พิธีสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้นำดินในที่แห่งนี้ไปเข้าพิธีปลุกเสกด้วย อีกทั้งเมื่อปี 2542 จ.นครนายกได้ทำพิธีตักน้ำจากบึงพระอาจารย์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แหล่งเรียนรู้เห็ดเศรษฐกิจเพื่อชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะเห็ดเพื่อเศรษฐกิจในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ด เพื่อนำมาสร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ชุมชน

แหล่งเรียนรู้บ้านเพิ่มพูน (แม่จำนงค์) เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อมาเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น การทำไม้กวาด การทำพรมเช็ดเท้า การตัดผ้าขาวม้าเพื่อทำเป็นเสื้อผ้าเอนกประสงค์

ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวชุมชน เป็นศูนย์ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรในชุมชน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม