พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์

ที่ตั้ง วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
๑. พิพิธภัณฑ์ผามูบ หรือพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์ เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรักษาสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของคนในชุมชนตั้งแต่สมัยอตีตจนถึงปัจจุบัน โดยก่อตั้งขึ้นมาจากการที่พระครูสิริอุทุมพรพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพรคณารักษ์ มีความคิดที่ต้องการจะเก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้น เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และศึกษาค้นคว้า จึงได้เก็บรวบรวมและสะสมเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เวลา 0๙.00 น. – เวลา 1๕.00 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
เบอร์โทรศัพท์ 08 2882 2622
เบอร์โทรศัพท์ 08 8422 9652
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ ทางลาด / ที่จอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

ที่ตั้ง หมู่ที ๔ ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๑. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเมืองไชยา ตั้งอยู่ในวัดเวียง ก่อตั้งโดยพระครูศรีปริยัติชยาภรณ์(รุ่งเรือง ธมมปวโร) เจ้าอาวาสวัดเวียงและเจ้าคณะอำเภอไชยา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 และเปิดให้ชมเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการรักษาและฟื้นฟูมรดกอันล้ำค่าของบรรพชนไว้มิให้สูญหาย ใช้กุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่าที่ว่างอยู่เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ กุฏิหลังนี้งดงามด้วยสถาปัตยกรรมฝีมือสกุลช่างไชยาที่ยังหลงเหลืออยู่และสมควรอนรักษ์ไว้ เป็นอาคารใต้ถุนสูง อายุร้อยกว่าปี แต่เมื่อของที่ได้รับบริจาคจากประชาชนมีมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างอาคารหลังที่ 2 อีกหลัง ด้วยเงินงบประมาณที่คณะทำงานต้องจัดหากันเองมูลค่ากว่า 200,000 บาท และได้ขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดเวียงนำกุฎิเก่าโบราณปรับปรุงเป็นอาคารหลังที่ 3 เพื่อขยายพื้นที่ให้กว้างขวางต่อไปการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 อาคาร ได้แก่
1. อาคารหอฉัน 2 ชั้น
2. อาคารชั้นเดียว
3. กุฏิเก่า
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด – ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ น. – ๑๖.๓๐ น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๘ ๑๘๙๑ ๕๐๑๔
๕. สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ/ที่จอดรถ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น

ที่ตั้ง : บ้านสาวะถี หมู่ที่ ๘ ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

๑. วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม ที่มีอายุกว่าร้อยปีเศษ เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 หลังคาทรุดโทรมจึงมีการรื้อและทำหลังคาขึ้นใหม่ เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ที่ยังคงมีความเด่นชัด โดยฝีมือช่างแต้มพื้นบ้านแท้ ๆ เป็นภาพเรื่องราวอดีตพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรชาดก เรื่องราววรรณกรรมชิ้นเอกของอีสานเรื่อง “สินไซ” (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ บุคคลและสัตว์ต่างๆ ถึงแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม และแม้จะมีบางส่วนเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่ถือว่าฮูปแต้มของที่นี่ยังคงมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก สิ่งที่น่าสนใจ : สิมอีสาน , ฮูปแต้ม , พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 0๖.00 – 1๘.00 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐ ๔๓๔๔ ๘๓๕๐ , ๐๘ ๙๒๗๖ ๔๒๐๒
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : วัดไชยศรี สาวะถี
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก ( ห้องน้ำ / ทางลาด / ที่จอดรถ / ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว )

ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์ จังหวัดชัยภูมิ

วัดเจดีย์ เดิมชื่อวัดธาตุ หรือวัดโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่แห่งแรกก่อนตั้งเมืองคอนสาร ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ขึ้นทะเบียนเป็นวัดชื่อว่า วัดเจดีย์ ตามประวัติกล่าวว่า ปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ หลวงพิชิตสงคราม (หมื่นอร่ามกำแหง) เจ้าเมืองคอนสารคนแรก ได้พบวัดร้าง มีพระพุทธรูปอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี หรือพระพุทธชัยสารมุนี  ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๘ ศอก ศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เนื้อศิลาแลงองค์ใหญ่ หันพระพักต์ไปทางทิศตะวันตก  มีริมพระโอษฐ์สีแดง นอกจากนี้ยังพบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และต้นศรีมหาโพธิ์อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี  จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ และมีการดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน  

จุดเด่นของชุมชนคือ โบราณสถานโบราณวัตถุที่เก่าแก่มีอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี และอัตลักษณ์ด้านการแต่งกาย ภาษาพูด “ภาษาไทยคอนสาร” อาหารขึ้นชื่อคือ คั่วปลาและคั่วเนื้อ  และมีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ได้แก่ “บุญเดือนสี่ ประเพณีไทยคอนสาร” หรือที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “บุญตรุษสงกรานต์” ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญขึ้นปีใหม่ ในสมัยโบราณ โดยจะมีพิธีถวายบูชาพระประธาน ๗๐๐ ปี และถวายสักการะอนุสาวรีย์ปู่หมื่นอร่ามกำแหง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคอนสารคนแรก ด้วยพานบายศรีและการรำถวายบูชา เป็นต้น นอกจากนี้ ในชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์ยังมีการละเล่นที่นิยมเล่น ได้แก่ การเล่นสะบ้า และการโหนลมเก็บหมาก เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดเจดีย์
วัดเจดีย์ ตั้งอยู่เลขที่ ๖ หมู่ที่ ๑  บ้านนาเขิน    ตำบลคอนสาร  อำเภอคอนสาร  จังหวัดชัยภูมิ   ห่างจากจังหวัดชัยภูมิ ๑๒๐ กิโลเมตร   เดิมชื่อว่า  วัดโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่แห่งแรกในประวัติศาสตร์ก่อนตั้งเมืองคอนสาร  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗  หลวงพิชิตสงคราม (หมื่นอร่ามกำแหง) เจ้าเมืองคอนสารคนแรก ได้มาพบบริเวณวัดร้าง ในป่าดงดิบรกทึบ มีต้นโพธิ์ ๗ ต้น และพระพุทธรูปโบราณ  สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัย  พุทธศตวรรษที่ ๑๘  อายุ ๗๐๐ กว่าปี และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยา และในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดราษฎร์ ชื่อว่า วัดเจดีย์ ภายในวัดเจดีย์จะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่มีอายุมากกว่า ๖๐๐ ปี ได้แก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ “พระพุทธชัยสารมุนี” ชาวบ้านมักจะเรียกว่า หลวงพ่อ ๗๐๐ ปี  เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง “เจดีย์ศรีชัยมุนี”สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และใบเสมาโบราณที่อยู่รอบอุโบสถนอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน “ไทคอนสาร” ให้ได้ศึกษาเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเจดีย์  ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์  สร้างเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗  โดยพระครูนันทเจติยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ และชาวบ้าน เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้นสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง

ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ สมัยโบราณ เครื่องจักสาน เครื่องแต่งกาย และมรดกภูมิปัญญาของชาวบ้านไทคอนสาร ซึ่งเป็นการแสดงถึงวิถีชีวิต ศิลปะและประเพณีวัฒนธรรมไทคอนสารให้ได้ศึกษาเรียนรู้  เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา  ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.  โดยมีพระครูนันทเจติยาภิรักษ์ เป็นผู้นำชม

อนุสาวรีย์เจ้าเมืองคอนสาร
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นายภูมิ  เป็นทหารยศนายกอง พร้อมด้วยขุนจงอาสา  พรานทองแดง  ชาวนครไทย เมืองพิษณุโลก  ได้มาปฏิบัติหน้าที่ไล่จับพวก    จรจัดช่วงอำเภอหล่มสักเมืองเพชรบูรณ์  มาพบว่าบริเวณป่าดงดิบนี้ เป็นสมรภูมิที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ จึงรวบรวมเอาน้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง งาช้าง มูลค้างคาว และดินประสิว ส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น “หมื่นอร่ามกำแหง” มีตำแหน่งเป็นนายหมวด มีหน้าที่รักษาป่าผึ้ง  มูลค้างคาวในบริเวณนี้ แต่เนื่องจากว่าระยะที่ห่างไกลมากทางจากกรุงเทพมหานครถึงบ้านคอนสาร  การนำเอาพระราชสารตราตั้งเมืองมาต้องห่อด้วยผ้าแพร  แล้วใช้ไม้คอนมาจนถึงหมู่บ้าน จึงได้ตั้งชื่อว่า เมืองคอนสาร มีภาษาพูดเหมือนชาวนครไทย และหล่มสัก  ชาวบ้านมักเรียกตัวเองว่า ไทยคอนสาร มาจนทุกวันนี้ ต่อมาท่านได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น “หลวงพิชิตสงคราม” เป็นเจ้าเมืองคอนสารคนแรก  “อนุสาวรีย์ปู่หมื่นอร่ามกำแหง” ตั้งอยู่ที่หน้าวัดเจดีย์ ชาวบ้านนับถือและศรัทธามาก และถือว่าท่านเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเมืองคอนสาร ซึ่งชาวคอนสารจะกำหนดจัดงานประเพณีบวงสรวงปู่หมื่นอร่ามกำแหงขึ้นทุกปี ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำผุดทับลาว สวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว
ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูซำผักหนาม อำเภอคอนสาร มีเนื้อที่ ๑๖๐ ไร่ ห่างจากอำเภอคอนสาร ๙ กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นลำธาร โดยต้นน้ำไหลจากตาน้ำซึ่งเป็นจุดให้น้ำผุดขึ้นมา เป็นน้ำผุดที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงไปตามที่ลาดต่ำลัดเลาะไปตามซอกหินและแนวป่าเป็นทางยาว

เขื่อนจุฬาภรณ์
เขื่อนจุฬาภรณ์   ตั้งอยู่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร ห่างจากชุมชนวัดเจดีย์ประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเขื่อนแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวดสันเขื่อนยาว ๗๐๐ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า การชลประทาน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้ร่วมกิจกรรม เช่น กางเต็นท์ บริการห้องพักของเขื่อนจุฬาภรณ์ ปั่นจักรยานชมทิวทัศน์เหนือเขื่อน และล่องเรือชมทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำ

วัดถ้ำพญาช้างเผือก
วัดถ้ำพญาช้างเผือก ตั้งอยู่ ตำบลห้วยยางออำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ  ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนวัดเจดีย์ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรตั้งอยู่บนภูเขา  เป็นวัดที่หลวงปู่วิไลย์ เขมิโก ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ภายในถ้ำมีอุโบสถมีพระพุทธรูปพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานเป็นพระประธาน หลวงปู่วิไลย์  เขมิโก เป็นพระนักปฏิบัติสายวัดป่าเป็นศิษย์ของหลวงปู่ขาวอนาลโย แห่งวัดถ้ำกองเพล ในหมู่คณะสงฆ์ต่างยกย่องให้เป็นพญาช้างเผือกแห่งพระพุทธศาสนาเนื่องจากหลวงปู่วิไลย์ มักจะปฏิบัติอยู่ในหุบเขาป่าลึกดุจพญาช้างเผือกมีปฏิปทาที่เรียบง่าย วัดถ้ำพญาช้างเผือก เป็นสถานที่ที่สะอาดร่มรื่น เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

บ้านสวน อ.ศิลป์ชัยฟาร์มสเตย์ หมู่ที่ 8 ตำบล ทุ่งพระ อำเภอคอนสาร ชัยภูมิ  อยู่ห่างจากชุมชนวัดเจดีย์ประมาณ   ๖  กิโลเมตรเป็นโคกหนองนาโมเดลที่มีครบทุกอย่าง ที่พัก อาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่  ตามรอยศาสตร์พระราชา 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมการทำบุญตักบาตร
ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์  ร่วมกิจกรรมตักบาตรเช้าที่ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์เพื่อความเป็นศิริมงคล โดยนักท่องเที่ยวจะได้สวมใส่ชุดพื้นบ้านไทคอนสารในการตักบาตรครั้งนี้

กิจกรรมการละเล่นสะบ้า
ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์  นักท่องเที่ยวสามารถร่วมเล่นสะบ้าซึ่งเป็นการละเล่นโบราณของชาวคอนสารซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน และนิยมเล่นกันในเทศกาลบุญเดือนสี่

กิจกรรมงานประดิษฐ์พวงมาลัยจากผ้า
กลุ่มศิลปะประดิษฐ์จากผ้าบ้านนาเขิน นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถ เรียนรู้ฝึกทำงานประดิษฐ์ดอกไม้จากผ้าโดยนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยถวายพระ ซึ่งมีความสวยงามคงทน นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น พานขันหมากสำหรับพิธีแต่งงาน พานสักการะ ฯลฯ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดจำปา (บ้านหัวนา) จังหวัดศรีสะเกษ

เป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ทำการประมงเป็นหลักแต่เดิมชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เรียกว่า “วังขามเฒ่า” ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับทุ่งนา จึงเรียกว่า “บ้านหัวนา” และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น เรียกว่า “วัดจำปา”    

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดจำปา (บ้านหัวนา) เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชนเผ่าลาว เสน่ห์ชุมชนที่มีวิถีชีวิตติดฝั่งแม่น้ำมูล – แม่น้ำชี มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งการแต่งกายและภาษาพูดที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร มีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นคือประเพณีโฮมบุญข้าวใหม่ปลามัน ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี มีศิลปะการแสดง ฟ้อนกลองตุ้มและการฟ้อนชนเผ่าลาวหัวนาซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลาวและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดจำปา
เดิมชื่อ วัดบ้านหัวนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดจำปาในภายหลัง เนื่องจากวัดมีต้นจำปาเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีเป็นวัดที่เก่าแก่ เคยเป็นสำนักเรียนหนังสือ       “พระมูลกัจจายนสูตร” สมัยนั้นเป็นวัดที่ไม่เคยขาดพระสงฆ์ดูแล และเป็นที่พักพิงของพวกพ่อค้าชาวเรือกระแซงที่สัญจรทางน้ำ  ปัจจุบันมีพระครูบวรสังฆรัตน์ (มอน อนุตฺตโร เครือบุตร)       เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ภายในวัด มีสิ่งเคารพสักการะ คือ หลวงพ่อใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทราย ปางมารวิชัย จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่ามีอายุราว ๑,๔๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้วัดจำปา
จัดแสดง ณ ศาลาเจ้าคุณปู่พระศรีจันทรคุณ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องทอ อุปกรณ์การเกษตร เครื่องดักสัตว์ เครื่องจักสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและมรดกอันเก่าแก่ในแถบลุ่มแม่น้ำมูล – ชี

พระธาตุกตัญญู
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2551 ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ขนาดกว้าง 6×6 เมตร สูง 31 เมตร ภายในประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประทานจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร องค์พระธาตุมีจิตรกรรมภาพหินทราย แสดงเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกเพื่อแสดงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และวิถีชีวิตของชนบทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่ายางนาเก่าแก่ชุมชนบ้านหัวนา
เป็นป่าชุมชนที่มีต้นยางนาขนาด ๓ – ๕ คนโอบ ซึ่งมีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี จำนวนกว่า ๓๐๐ ต้น เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า ๒๒ ไร่ ที่ถูกส่งต่อเป็นมรดกให้ดูแลรักษาต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และภายในป่าชุมชนยังมีศาลปู่ตา ซึ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนในชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นศูนย์อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติฯ ในทุก ๆ ปี

เขื่อนหัวนา
เขื่อนหัวนา ห่างจากชุมชน ๕ กิโลเมตร เป็นโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น ให้ สร้างฝายยางกั้น แม่น้ำมูล บริเวณ หัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และเก็บกักน้ำไว้เพียงตลิ่งแม่น้ำมูล แต่เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ตัวเขื่อนมีความกว้าง ๒๐๗.๓ เมตร มี ๑๔ บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล กั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยโครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ปัจจุบันมีการสร้างสวนสาธารณะ ขึ้นบริเวณเขื่อน เพื่อให้คนในชุมชนรอบ ๆ ใช้ในการออกกำลังกาย รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมาด้วยเช่นกัน

สามแยกรัตนะ (แม่น้ำมูลแม่น้ำชีบรรจบกัน)
ชุมชนบ้านหัวนา เป็นชุมชนลุ่มน้ำมูลชี อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิต แม่น้ำมูลเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติซึ่งสามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฟากฝั่งมูลอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ล่องเรือไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งเรียกว่า สามแยกรัตนะ เป็นจุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกันเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำชี เมื่อสองสายน้ำมารวมกันไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม เรียกว่า โขงชีมูล เกิดเป็นแม่น้ำสองสีของจังหวัดอุบลราชธานี ที่สามแยกรัตนะยังมีหาดทรายขาวที่มีความงดงามเหมาะแก่การเล่นน้ำพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

อุทยานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดจำปา ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยการประกาศเขตอภัยทานเฉลิม   พระเกียรติฯ ในพื้นที่ป่าชุมชนดงปู่ตา และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่าถาวรมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ต้น มีการจัดแสดงแปลงสาธิตในการเกษตร ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ กล้วยหนึ่งหน่อไผ่หนึ่งกอ มะละกอหนึ่งต้น แหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพ การเลี้ยงกบ หอยนา ปลาดุก ปลาหมอเทศ และฟาร์มปูนาศรีสะเกษ

นาบัวเงินล้าน
ชุมชนบ้านหัวนามีอาชีพหลักคือ การทำนาและเลี้ยงปลาในกระชัง เมื่อหมดฤดูการทำนาข้าวได้ใช้พื้นที่ไร่นาให้เกิดประโยชน์หรือแบ่งที่นาบางส่วนมาทำนาบัวเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชน ชุมชนบ้านหัวนาได้ประสบผลสำเร็จในการทำนาบัวซึ่งมีรายได้จากการทำนาบัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดกระแสในการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับการถ่ายภาพบริเวณนาบัว และเดินทางมาท่องเที่ยวภายในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กราบหลวงพ่อใหญ่และสักการะพระธาตุกตัญญู
กราบสักการะหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปเก่าแก่ อายุราว ๑,๔๐๐ ปี   เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน และบูชาขันหมากเบ็ง นำไปนมัสการพระธาตุกตัญญู

ล่องเรือแม่น้ำมูล
เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางน้ำ ของชุมชนวัดจำปา (บ้านหัวนา) โดยทางชุมชนจะมีท่าน้ำอยู่ท้ายวัด สามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำมูลชี กั้นระหว่างศรีสะเกษกับอุบลราชธานี ชมแม่น้ำสองสี แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ห่างจากวัดจำปา ประมาณ 4 กิโลเมตร   และมีกิจกรรมประกอบอาหารพื้นบ้านและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์

“บ้านหาดสองแคว” เป็นชุมชนลาวเมืองเวียงจันทน์ที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 “บ้านหาดสองแคว”ตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางออกของลำน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่าน กับคลองตรอน มีลักษณะเป็นลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจึงเรียกกันว่า “สองแคว” 

มีประเพณี และวิถีชีวิตด้านการแต่งกาย ภาษา และอาหาร ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของคนลาวเวียงจันทร์ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คนในชุมชนมีความสามัคคี โอบอ้อมอารีย์ มีมิตรไมตรีแก่ผู้มาเยือน มีแม่น้ำน่านซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งแสดงถึงความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ของคนในชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
เป็นอาคารกึ่งปูนกึ่งไม้สองชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดหาดสองแคว เป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ ของคนในชุมชน

อุโบสถ์เก่าวัดคลึงคราช ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
โบสถ์เก่าแก่อายุ 109 ปี มีศิลปะแบบลาวเวียงจันทร์ หลวงพระบาง ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 10 เมตร โบสถ์เป็นแบบมหาอุด มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้าน รวม 6 ช่อง มีสิงห์คู่ตั้งอยู่ด้านหน้าบันไดประตูทางเข้า หลังคามุงด้วยสังกะสี

ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง
เป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง โดยกำหนดให้ร้านค้าทุกร้านแต่งกายด้วย ผ้าพื้นเมืองเสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่น สีต่าง ๆ ใส่งอบ ใช้ร่มผ้าสีขาว และแคร่ไม้ไผ่ ในการตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียง ใช้วัสดุทางธรรมชาติเป็นภาชนะใส่อาหารแทนกล่องโฟม สินค้าที่จำหน่ายภายในตลาด เป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์และอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ งานแฮนด์เมด

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ถนนปั่นจักรยานริมน้ำน่าน
ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำหลังวัด  หาดสองแคว เหมาะสำหรับ  ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม เช่น เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานออกกำลังกายและชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำน่านยามเช้าและเย็น

สะพานชมวิวริมน้ำน่าน
เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์บรรยากาศชุมชนหาดสองแควริมฝั่งแม่น้ำน่าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แหล่งเรียนรู้ สวนไผ่ซางหม่น
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๒ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีนายพงษ์เทพ ไชยอ่อน เป็นเจ้าของและ      ผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้การขยายพันธุ์และจำหน่ายไผ่ซางหม่น พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ดี

สวนอินทผาลัม “บ้านสวนดวงดัน”
ตั้งอยู่ที่ บ้านสวนดวงดัน ต.หาดสองแคว อ.ตรอน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ตักบาตรหาบจังหัน
ชุมชนบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 1-๗ การหาบอาหารคาว-หวาน ไปถวายพระสงฆ์ที่วัดในตอนเช้า กล่าวคือขณะที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตตอนเช้าชาวบ้านจะตักบาตรด้วยข้าวสวยอย่างเดียว ส่วนอาหารคาว-หวาน จะมีนางหาบ/นายหาบ แต่งตัวชุดลาวเวียงวันละ 5-10 คน ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหาบอาหารด้วยสาแหรกเดินตามพระเข้าวัด ซึ่งอาหารคาว-หวานที่หาบไป จะได้จากชาวบ้านนำอาหารไปวางไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลัง โดยนางหาบ/ นายหาบ จะเดินเก็บอาหารตามแป้นเสาหน้าบ้านแต่ละหลังไปตามเส้นทางไปจนถึงวัด จากนั้นจะนำอาหารที่ได้ถวายพระที่วัดในตอนเช้า ถือเป็นการเชื่อมบุญมาสู่คนในชุมชน หลังจากถวายพระแล้ว นางหาบ/นายหาบ จะนำภาชนะใส่อาหารกลับไปวางคืนไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลังตามเดิม ซึ่งจะปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันพระหรือสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะไปตักบาตรที่วัด

ขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน
วัดหาดสองแคว หมู่ที่ ๑เป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญู ต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ต่อแม่โพสพ แม่คงคา อีกทั้งเป็นการขอบคุณที่นำความอุดมสมบูรณ์มายังคนในชุมชนตำบลหาดสองแคว และอำเภอตรอน รวมถึงเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกิน ต่อผู้มีพระคุณซึ่งในชุมชนได้มีการสืบสานประเพณีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน

ไหลแพไฟ เฉลิมพระเกียรติ
วัดหาดสองแคว หมู่ที่ ๑ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ในอดีตการไหลแพไฟจะเริ่ม ทำพิธีปล่อยแพที่ท่าน้ำวัดวังแดง หมู่ 3 ตำบลวังแดง ล่องตามลำน้ำน่านถึงท่าน้ำวัดสองแคว ตำบลหาดสองแคว ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางจะมีประชาชนเที่ยวชมแพไฟอยู่ตาม จุดชมแพตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และจะมีพิธีถวายพระพรชัยมงคล ตีกลองย่ำฆ้องกลอง จุดพลุ ประดับไฟริมถนนและ ริมแม่น้ำ แต่ในปัจจุบัน ได้จัดให้มีขึ้นทั้งหมด 3 วัน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-5 ธันวาคม ของทุกปี 

เรียนรู้การทำสาแหรกจิ๋ว และไม้กวาดทางมะพร้าว
ศูนย์เรียนรู้การทำสาแหรกจิ๋ว และไม้กวาดทางมะพร้าว ตั้งอยู่เลขที่ ๗๒ หมู่ที่ ๒ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีนายสมาน ประดับเพ็ชร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจักสานไม้ไผ่ หวาย และไม้กวาดทางมะพร้าว

เรียนรู้ทำ ผ้ามัดย้อม
ศูนย์เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม ตั้งอยู่เลขที่ 81/2 หมู่ที่ ๓ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม ตัด เย็บ ย้อม ตาก และสามารถนำกลับบ้านได้เลยโดยมีนางมานิตถา เพ็ชรศิลา เป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้ 

เรียนรู้ทำผ้าด้นมือ
ศูนย์เรียนรู้การทำผ้าด้นมือและการปกกระเป๋าผ้า ๙๗ หมู่ที่ ๓ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน
จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การปักผ้าลวดลายเป็นรูปหาบจังหันลงบนผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้ารูปแบบต่าง ๆ โดยมี นางวันเพ็ญ กลมดวงซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้

เรียนรู้ทำอาหารพื้นบ้าน
ศูนย์เรียนรู้ทำอาหารพื้นบ้าน 16/5 หมู่ที่ 3 ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านคาว-หวาน   ของชุมชนหาดสองแควที่ได้รับการ  สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพ มาจากลาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีนางอรุณี นันทโชติ และนางบุญส่วน เรืองเดช
เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้

เรียนรู้แปรรูปกล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ
ศูนย์เรียนรู้การแปรรูป กล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ ตั้งอยู่เลขที่ 16 หมู่ที่ 2 ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้าน การแปรรูปอาหาร และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร  แปรรูป ได้แก่ กล้วยฉาบ  เผือกฉาบ มันฉาบ ฯลฯ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม จังหวัดพะเยา

ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์มีการอาศัยอยู่ของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ปะโอ ไทใหญ่  ไทลื้อ ไทยจีน ไทยวน (คนพื้นเมือง) มีการขยายตัวของชุมชน และในปี พ.ศ.252๐ มีวัดนันตารามเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน มีวิหารไม้ที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่าง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ประดิษฐานบนสีหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี หลังคายกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด เพดานภายในประดับตกแต่งด้วยกระจกลวดลายวิจิตร
ชุมชนคุณธรรมวัดนันตาราม มีวัดนันตารามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน วิหารไม้สักทองที่งดงาม รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบพม่าตอนล่าง พระพุทธปฏิมาประธานไม้สักทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ภายในวัดนันตารามมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ทั้งที่จอดรถสุขาสะอาดจุดถ่ายรูป และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ การตีกลองสะบัดชัย การแสดงดนตรีพื้นบ้านของเยาวชน นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝาก ของที่ระลึกได้แก่  ชาสมุนไพร ยาหม่อง เครื่องแกงฮังเล พวงกุญแจ ฯลฯ ขนม/อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ได้แก่ น้ำพริกคั่วซอมยาคู ขนมปิ้งปะโอ แกงฮังเล

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดนันตาราม
ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๓ ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เดิมเรียกจองคาหรือจองม่านหรือจองเหนือ โดยพ่อหม่องโพธิ์ชิต อริยภา บริจาคที่ดินเนื้อที่ ๓ ไร่ เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้างร่วมกับพ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ มีฐานะเป็นอาราม(ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่าในขณะนั้น) ประชาชนทั่วไปเรียก “วัดม่าน” หรือจองเหนือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗  พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู้) ผู้รับสัมปทานทำไม้ให้กับบริษัทค้าไม้ต่างชาติ เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปรับปรุงเสนาสนะให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง

หออูเตงหม่อง (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน)
เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงวัตถุโบราณ สร้างถวายโดยพ่อวิเชียร เนตรประสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๑โดยพระครูปริยัติธุราทร (จำนง อินทวิโร) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนันตาราม (พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๕๕) ได้รวบรวมวัตถุโบราณ พระพุทธรูปเก่าโบราณเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์สกุลต่าง ๆ คัมภีร์โบราณหลากหลาย ภาษา ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์และความเจริญทางด้านวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว
เป็นการแสดงนางนกสิงโต โดยกลุ่ม บัวระวงค์ ซึ่งการแสดงอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

ชมวิหารไม้สักทอง
ชมวิหารไม้สักทอง รูปแบบสถาปัตยกรรมพม่าตอนล่าง หลังคายกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม
มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด

สักการะพระพุทธปฏิมา
สักการะพระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ประดิษฐานบนสีหบัลลังก์ไม้

สักการะพระเจ้าแสนแซ่
สักการะพระเจ้าแสนแซ่ (พระพุทธรูปที่มีสลักหรือลั่นกลอนไว้นับจำนวนไม่ถ้วนสามารถถอดประกอบได้เกือบทุกชิ้นส่วน) เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวมักจะกราบไหว้สักการะขอพร
เสริมความเป็นสิริมงคล

ชมหออูเตงหม่อง (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน)
ชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดนันตารามที่ได้จัดแสดงวัตถุทางพระพุทธศาสนา และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

วิถีชน คนปะโอ (ดริปชา,กาแฟ)
คนปะโอที่นี่มีความเชื่อเรื่องการต้อนรับผู้มาเยือนจะต้องมีการต้อนรับด้วยชาสมุนไพรพื้นถิ่นหรือลิ้มลองกาแฟดริปสูตรเฉพาะของชาวปะโอ

กิจกรรมฐานหัตถกรรมพื้นถิ่น
มีปราชญ์ชาวบ้านที่ได้นำภูมิปัญญามาสร้างสรรค์เป็นงานประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประดับตกแต่งอีกทั้งจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะงานประดิษฐ์เชื่อมโยงคุณค่า ภูมิปัญญาของอดีตกับกับปัจจุบันให้แก่เด็ก เยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยว

ฐานขนมปิ้งปะโอ
ขนมปิ้งปะโอ ทำจากแป้งข้าวเหนียว คล้ายคลึงกับขนมใบจากเพียงแต่เปลี่ยนเป็นห่อด้วยใบตอง โดยมีเครื่องปรุง ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว มะพร้าวขูดหัวกะทิเข้มข้น น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลอ้อยผง เนยเค็ม น้ำตาลปี๊บ เกลือ นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ใบตอง ใช้ไม้กลัดบน-ล่าง นำไปปิ้งบนเตาถ่านไฟปานกลางจนสุก จะได้ขนมปิ้งที่มีความหอมของใบตอง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมา จังหวัดพะเยา

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมา เป็นชุมชนไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองมาง ในสิบสองปันนา ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้ สิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้ชาวไทลื้อปฏิบัติตามจารีตเดิม คือการนับถือผีควบคู่กับพระพุทธศาสนามีการดำรงชีวิตอยู่กันอย่างสงบ เรียบง่าย และร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวิถีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาวไทลื้อเมืองมางให้คงอยู่  อาทิ การแต่งกายภาษา เป็นต้น 

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมาเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นชุมชนไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองมาง ในสิบสองปันนาที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ ใช้ภาษาไทลื้อเป็นภาษาสื่อสารในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ “แอ่วเฮือนลื้อ แต่งกายชุดลื้อ กินอาหารลื้อ และพูดภาษาลื้อ” ชุมชนมีนักเล่าเรื่องของชุมชนคอยต้อนรับให้ข้อมูลและบริการนำเที่ยวในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง โดยทุกวันพุธแรกของเดือนมีตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” ชิมอาหารไทลื้อ อาทิ จิ้นซ่ำพริก ปลาปิ้งอบ แอ่งแถะ ถั่วโอ่ (ถั่วเน่า) ชมการแสดงพื้นบ้าน การฟ้อนไทลื้อ การบรรเลงดนตรี “บ้านมางบันเทิงศิลป์” และมีของฝากจากชุมชน อาทิ ข้าวแคบ ข้าวแต๋นซี่ กะละแม ผ้าทอไทลื้อ และที่พักโฮมสเตย์ ในชุมชนไทลื้อใกล้เคียง เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วิหารไทลื้อวัดแสนเมืองมา
สร้างตามแบบศิลปะไทลื้อผสมล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงาม หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม บนพื้นสลักลายสวยงาม บันไดทางเข้าเป็นรูปพญานาค ซึ่งมีเขากวางประดับด้วย ประตูด้านข้างทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตูภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้านบอกเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดแสนเมืองมา
เป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในอดีตเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น รวมทั้งอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด สร้างสรรค์ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงเนื้อหา
แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1. จัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดพะเยา
2.จัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
3.เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสนเทศ สืบสาน ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง”
ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” เป็นตลาดที่ให้คนในชุมชนนำพืชผักสวนครัว ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และมีการแสดงดนตรี ศิลปะการแสดงไทลื้อ ทุกวันพุธแรกของเดือน 

เฮือนไทลื้อเมืองมาง
เป็นอาคารเรือนไทลื้อจำลองของชาวไทลื้อเมืองมาง ในอดีตที่แสดงลักษณะและองค์ประกอบของการสร้างเรือนไทลื้อเมืองมางในสิบสองปันนา เพื่ออนุรักษ์ มรดกภูมิปัญญาการสร้างเรือนไทลื้อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปศึกษา  

หอเทวดาหลวงเมืองมาง
ชาวไทลื้อเมืองมางนับถือเทวดาหลวงเมืองมาง คือเจ้าเมืองที่ปกครอง เมืองมางใน อดีตซึ่งชาวเมืองมาง ให้ความเคารพยกย่อง และนับถือวิญญาณของเจ้าเมืองเหล่านั้นให้เป็นเทวดาผู้ดูแลความสงบร่มเย็น และถือเป็นต้นตระกูลของชาวเมืองมางทั้งหมด จะทำพิธีเลี้ยงเทวดาหลวงเมืองมาง ปีละ ๑ ครั้ง เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีของคนในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ฐานการเรียนรู้ภายในวัดแสนเมืองมา
กิจกรรมสาธิตและถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำข้าวแคบ ข้าวแต๋นซี่ และกะละแม การตัดตุงไส้หมู ทำของฝากของที่ระลึก พวงกุญแจแม่เหล็กติดตู้เย็น โดยกลุ่มภูมิปัญญาพื้นบ้าน 

นั่งรถราง เพื่อไปเรียนรู้ฐานกิจกรรมในชุมชน

  • ฐานการเรียนรู้ถั่วงอก
  • ฐานการเรียนรู้ภาพวาดวิถีไทลื้อ
  • ฐานการเรียนรู้ถั่วโอ่
  • ฐานการเรียนรู้หอเทวดาหลวงเมืองมาง
    นั่งรถราง ชมความงดงามของชุมชนวัดแสนเมืองมา และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สวนสุขภาพ 100 ปี จากนั้นร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ภายในชุมชน อาทิ
    -การเพาะถั่วงอก
  • ภาพวาดวิถีไทลื้อ
  • การทำถั่วโอ่ และหอเทวดาหลวงเมืองมางเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของชุมชน


ชมการศิลปะแสดง และชมตลาดชุมชน ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง

ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” ภายในวัดแสนเมืองมาเป็นพื้นที่ ที่คนในชุมชนนำพืชผักสวนครัว ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมาจำหน่าย มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม มีขันโตกแคร่ไม้ไผ่ไว้บริการนักท่องเที่ยว ทุกวันพุธแรกของเดือน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) จังหวัดนครสวรรค์

ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ อาชีพการทำการตาลโตนด เจดีย์ทรงลังกาคว่ำสมัยสุโขทัย มีพิพิธภัณฑ์จำนวน ๔ หลัง มีแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ  หนึ่งเดียวในสยามจุดนัดพบยม-น่าน จระเข้ด่างเกยไชย เป็นต้น

ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) มีประเพณี วัฒนธรรม และเทศกาลที่ดีงามของชาวบ้าน ที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน อาทิ  ประเพณีการห่มผ้าองค์หลวงพ่อพระบรมธาตุเกยไชย งานเทศกาลกินตาล ฯลฯ และมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) คือ ข้าวขาวเกยไชย เค้กตาลโตนด คุกกี้ตาล

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระบรมธาตุเกยไชย
เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ แบบลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ไม่ทำเสาหาน ความสูงปัจจุบันประมาณ ๑๔ เมตร ซึ่งได้รับสถาปัตยกรรมมาจากสมัยสุโขทัย ในช่วงของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นต้นมา ในปี พ.ศ. ๑๙๐๖ อย่างน้อยที่สุดเป็นเวลามากกว่า ๖๕๘ ปีที่ผ่านมา

วิหารพระพุทธศรีสรรเพชญ์
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระบรมธาตุ เกยไชย เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน โดยมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง และในครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ พระครูนิธานปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอชุมแสง เจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) รูปปัจจุบัน ท่านได้ทำการออกแบบและก่อสร้างอาคารรอบนอก ก่อผนังด้วยศิลาแลง สำหรับไว้ใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว หลังคาหน้าจั่ว ทำจากไม้ตาลทั้งหลังแต่เดิมพิพิธภัณฑ์หลังนี้ ยังไม่มีชื่อเรียกที่เป็นทางการว่าอะไร ซึ่งได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อันเนื่องมาจากความคิดของพระครูนิทานธรรมประนาท อดีตเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ รูปที่ ๔ เจ้าคณะตำบลเกยไชย ร่วมกับคณะครู – อาจารย์ของโรงเรียนชุมชนวัดเกยไชยเหนือ ผู้นำท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้านในตำบลเกยไชย ซึ่งจุดกำเนิดที่สำคัญของการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ
วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับการจัดสรรงบประมาณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๙,๖๐๐,๐๐๐.- บาท (เก้าล้านหกแสนบาทถ้วน) ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ บูรณะปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ ก่อสร้างห้องน้ำ และสถานที่จอดรถ เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

พิพิธภัณฑ์ราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย”
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ซึ่งมีขนาดความกว้าง ๑๗.๖๐ เมตร ความยาว ๔๐.๕๐ เมตร ภายในอาคาร ชั้น ๑ เป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการ ๖ โซน สำหรับอาคารด้านบนชั้นที่ ๒ เป็นสถานที่จัดแสดงรูปปั้นราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่าง เกยไชย” ซึ่งออกแบบและปั้นโดยช่างฝีมือท้องถิ่น คือ นายประเทือง แสงวิเศษ และคณะ รูปปั้นราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย” มีขนาดลำตัว กว้าง ๗.๖๐ เมตร ยาว ๔๔ เมตร และมีขนาดความสูง ๖.๓๐ เมตร ตามลำดับ ณ ปัจจุบันเป็นรูปปั้นจระเข้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในโลก ก็ว่าได้

อาคารอาศรมศิลป์ท้องถิ่นชุมชน ต.เกยไชย
สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในบริเวณ วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารจากโรงเรียนรุ่งอรุณ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับอุปกรณ์การทำตาลโตนด ซึ่งเป็นอาชีพพื้นบ้านของชาวบ้านตำบลเกยไชย และได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ จากตาลโตนด

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หนึ่งเดียวในสยาม จุดนัดพบยม-น่าน
แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด แม่น้ำน่านจะมีสีแดงขุ่น เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน ส่วนมากจะไหลผ่านบริเวณที่น้ำกัดเซาะและเกิดจากการพังทลายของดินลูกรัง ดินดาน ทำให้มีสีแดงขุ่น ส่วนแม่น้ำยมจะมีสีเขียวใส เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำไหลผ่านจะเป็นที่ราบลุ่มดินทราย จึงทำให้น้ำมีสีเขียวใสแม่น้ำทั้งสองสายนี้เปรียบเสมือนสายโลหิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้

ทุ่งนาที่สวยที่สุดในปฐพี
ทุ่งนาที่สวยที่สุด คือ ทุ่งนาข้าวที่มีพื้นหลังเป็นทุ่งต้นตาลโตนด ที่มีความสวยงามโดยธรรมชาติ เป็นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เป็นที่พักผ่อน ผ่อนคลายสายตา และชื่นชมกับความสวยงามได้เป็นอย่างดี

สวนตาลโตนด
สวนตาลโตนด ในเขตอำเภอชุมแสงมีมากกว่า 24,000 ต้น (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2560) พบมากในเขตตำบลท่าไม้ และตำบลเกยไชย ตามลำดับ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อ ตำบล เกยไชย
เป็นแหล่งเรียนรู้ และท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ และเป็นแหล่งพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวเกยไชย เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การประกอบอาหารพื้นบ้าน
วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) และหมู่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน ที่อยู่ในชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) การประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน) อาทิ เช่น แกงหัวตาลสามรส ผัดกุ้งยอดตาล น้ำพริกกุ้งเสียบตาลเต๋า แกงปลากรายหัวตาล การทำน้ำตาลสดเดือดแรก น้ำตาลปึก–ปี๊บ จาวตาลเชื่อม จาวตาลอบแห้ง ลอนตาล ลอยแก้ว ลอนตาลล่องธารา ขนมตาล เค้กตาลโตนด ทองม้วนตาลสด คุกกี้ตาล ฯลฯ

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 สถานที่สำคัญ

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้

  • พระบรมธาตุเกยไชย (เพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง)
  • หลวงพ่อทองอยู่ (เพื่อการสอบเข้าราชการ และสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง)
  • พระพุทธศรีสรรเพชญ์ (เพื่อส่งเสริมชีวิตคู่ และความรักให้ ยืนยาว)
  • พญาด่างเกยไชย (เพื่อเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ สืบชะตา และรับโชคดี)
  • พระเจ้าตากสินมหาราช (เพื่อความโชคดี จากการเสี่ยงโชค)

การชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

  • วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)
  • หมู่บ้านต่างๆ
  • เมืองชุมแสง
  1. วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)
  • ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • พิพิธภัณฑ์ราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย”
  • วิหารหลวงพ่อทองอยู่
  • หนึ่งเดียวในสยาม จุดนัดพบ ยม-น่าน
  • พระบรมธาตุเกยไชย
  • วิหารพระพุทธศรีสรรเพชญ์
  • อาคารอาศรมศิลป์ท้องถิ่นชุมชนตำบลเกยไชย
  • พิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ
  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
  1. หมู่บ้านต่างๆ
  • กลุ่มเบเกอรี่ตาล หมู่ที่ 4
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยว บ้านปากคลองเกยไชย หมู่ที่ 5
  • กลุ่มอาชีพจากตาลโตนด หมู่ที่ 6
  • ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อ ตำบลเกยไชย หมู่ที่ 7
  • ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตาลโตนดริมทางหลวง 225 หมู่ที่ 9
  • กลุ่มขนมไทยจากตาลโตนด หมู่ที่ 14
  • กลุ่มแปรรูปน้ำพริก หมู่ที่ 15
  • กลุ่มผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด-มะพร้าว หมู่ที่ 14 ตำบลท่าไม้
  1. เมืองชุมแสง
  • สะพานหิรัญนฤมิตร
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
  • ชุมแสงแกลอรี่
  • ตลาดเก่ากว่า 100 ปี
  • ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
  • สถานีรถไฟเมืองชุมแสง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมชุมชนคุณธรรมบ้านดงยาง (ชมรมไทย-ลาวแง้วทองอน) จังหวัดสิงห์บุรี

ชุมชนคุณธรรมบ้านดงยาง (ชมรมไทย-ลาวแง้วทองเอน) ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 12 ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ ใจกลางชุมชนมีคลองส่งน้ำของกรมชลประทานตัดผ่าน ทำให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สภาพบ้านเรือนมีทั้งในยุคอดีตและยุคปัจจุบัน การเดินทางเข้า-ออก จากชุมชนโดยรถยนต์ส่วนตัว (ไม่มีรถประจำทาง) ถนนในหมู่บ้านเป็นถนน 2 เลน สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ รวม 15 หมู่บ้าน

ชุมชนคุณธรรมบ้านดงยาง เสน่ห์ของชุมชน คือ อัตลักษณ์ที่โดดเด่น รวม 5 ด้าน ได้แก่ การแต่งกาย ภาษา การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารประจำถิ่น และอาชีพจักสาน คนในชุมชนอยู่กันแบบญาติพี่น้อง ไม่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งชนชั้น มีความรัก ความสามัคคี มีอัธยาศัยไมตรี และมีความเป็นเจ้าบ้านที่ดี ชุมชนจึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเข้าไปเยี่ยมชมเป็นประจำตลอดทั้งปี 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดดงยาง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลทองเอน
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งแต่แรกเริ่มสร้างวัดมีต้นยางอยู่จำนวนมาก จึงเรียกกันว่า “วัดดงยาง” แต่ต้นยางรุ่นเก่าได้หมดไปแล้ว ปัจจุบันเป็นต้นยางที่พระครูโสภิตกิติคุณ และชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกขึ้นมา ภายในวัดมีปูชนียวัตถุ คือ วิหารหลวงพ่อใหญ่พระเนตรมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนเคารพนับถือ

วัดกฤษณะ เวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ) หมู่ที่ 4 ตำบลทองเอน
วัดเป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยารูปทรงระฆังคว่ำที่ยังคงลักษณะสมบูรณ์กว่าเจดีย์องค์อื่น ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะพื้นเจดีย์เพื่อป้องกันการพังทลาย ต่อมาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์ใหม่ เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ นอกจากนี้ยังมีต้นไผ่ดำซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด

วัดกลาง หมู่ที่ 2 ตำบลทองเอน
วัดเป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะของเจดีย์เป็นอิฐมอญแดงโบราณ ทับซ้อนกันรูปทรงเจดีย์แบบเก่า บนยอดเจดีย์มีต้นจำปาคู่อายุกว่า 100 ปี

อาคาร 100 ปี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ชาวไทย-ลาวแง้ว ทองเอน
อาคาร 100 ปี ตั้งอยู่ภายในวัดดงยาง เป็นอาคารสำหรับจัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวลาวแง้วทองเอน ที่มาของชื่อตำบลทองเอน และเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวลาวแง้วทองเอน ตั้งแต่สมัยอดีต

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสายพันธุ์และการตัดแต่งกิ่งมะม่วง พร้อมทั้งจำหน่ายมะม่วงและมะม่วงน้ำปลาหวานเพื่อเป็นของฝาก

ไร่แสนสมบูรณ์ หมู่ที่ 9 ตำบลทองเอน

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา  โคกหนองนาโมเดล แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมแบบครบวงจร ภายในไร่จัดให้มีกิจกรรมฐานเรียนรู้การทำนา จับปลา จับกุ้ง เลี้ยงเป็ด ฝึกทำไข่เค็มใบเตย พายเรือเก็บดอกบัว พับดอกบัว และรับประทานอาหารพื้นบ้านกลางทุ่ง

สวนคำภาหรรษา หมู่ที่ 10 ตำบลทองเอน
ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและไร่นาสวนผสม บนเนื้อที่ 8 ไร่ ที่มีทั้งบึงบัว  บ่อปลา
บ่อกบ นาข้าว แปลงผัก ผลไม้ และคอกแพะ

บ้านสวนเกษตรอินทรีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลทองเอนแหล่งเรียนรู้การทำสวนเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่ 4 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักประเภทไม้เลื้อยไว้ด้านบนมุ้ง สำหรับผักประเภทอื่น อาทิ สะเดา ขนุน มะม่วง ปลูกไว้ด้านล่าง รวมทั้งจัดทำน้ำหมักสมุนไพร จำนวน 12 ชนิด ซึ่งมีสรรพคุณในการนำไปใช้กับพืช และบางชนิดใช้เป็นยารักษาโรค
แหล่งเรียนรู้การทำสวนเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่ 4 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักประเภทไม้เลื้อยไว้ด้านบนมุ้ง สำหรับผักประเภทอื่น อาทิ สะเดา ขนุน มะม่วง ปลูกไว้ด้านล่าง รวมทั้งจัดทำน้ำหมักสมุนไพร จำนวน 12 ชนิด ซึ่งมีสรรพคุณในการนำไปใช้กับพืช และบางชนิดใช้เป็นยารักษาโรค

สวนอินทผาลัม ทองเอน หมู่ที่ 7 ตำบลทองเอน
แหล่งศึกษาเรียนรู้การปลูกต้น อินทผาลัมพันธุ์บาฮี บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ และจำหน่ายผลอินทผาลัมเพื่อรับประทานและเป็นของฝาก
ไร่สิงห์เกษตร หมู่ที่ 7 ตำบลทองเอน
แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสาน บนเนื้อที่ 25 ไร่ แบ่งเป็นโซนปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร จุดพักรถ จุดถ่ายรูป และจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากชุมชนเพื่อเป็นของฝาก

บ้านสวนศิลป์ สุขดี หมู่ที่ 5 ตำบลทองเอน
สวนเกษตรผสมผสานและการสร้างงานศิลปะจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น การทำกระถางต้นไม้จากผ้าเช็ดหน้า กระถางต้นไม้จากแผงรังใส่ไข่ และทำพวงกุญแจจากเปลือกหอยขม 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การสร้างงานศิลปะจากวัตถุดิบในท้องถิ่น
บ้านสวนศิลป์ สุขดี หมู่ที่ 5 ตำบลทองเอน นักท่องเที่ยวจะได้ชมการสาธิตและร่วมทำกระถางต้นไม้จากผ้าเช็ดหน้า กระถางต้นไม้จากแผงรังใส่ไข่ และทำพวงกุญแจจากเปลือกหอยขม พร้อมทั้งสามารถนำกลับไปเป็นของที่ระลึก

การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเปลี่ยนสายพันธุ์มะม่วง และการตัดแต่งกิ่งมะม่วง

สวนมะม่วงสองเรา” หมู่ที่ 14 ตำบลทองเอนนักท่องเที่ยวที่มาชมสวนจะได้รู้จักมะม่วงสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งฟังการบรรยายวิธีการเปลี่ยนสายพันธุ์มะม่วง การตัดแต่งกิ่งมะม่วง รวมทั้งวิธีการทำน้ำปลาหวานสูตรเข้มข้นเพื่อทานกับมะม่วงที่เก็บจากต้นสด ๆ และซื้อกลับไปเป็นของฝาก

การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและการทำไร่นาสวนผสม

สวนคำภาหรรษา หมู่ที่ 10 ตำบลทองเอน นักท่องเที่ยวจะได้ฟังบรรยายเรื่อง องค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และชมไร่นาสวนผสม พร้อมทั้งให้อาหารแพะ เรือพายเก็บดอกบัวขึ้นมาพับแล้วนำไปสักการะพระพุทธรูป

การถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา โคก หนอง นาโมเดล
ไร่แสนสมบูรณ์  หมู่ที่ 9 ตำบลทองเอน นักท่องเที่ยวจะได้เข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้อาชีพเกษตรกร เช่น ทำนา จับปลา จับกุ้ง ฝึกการทำไข่เค็มกลิ่นใบเตย การพับดอกบัว พายเรือเก็บดอกบัวในบึง ชมบ่อเลี้ยงกบ ปลา เป็ด และแปลงผักสวนครัวและรับประทานอาหารพื้นบ้าน

การจัดทำผลิตภัณฑ์ จักสานบ้านทองเอน
กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานงอบไทย-ลาวแง้วทองเอน หมู่ที่ 1 ตำบลทองเอน นักท่องเที่ยวจะได้ชมการสาธิต พร้อมทั้งฝึกหัดวิธีการจักสานงอบใบลาน และการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จักสานของชมรมไทย-ลาวเง้วทองเอน
การทำขนมหวานและแปรรูปอาหารจากผลไม้
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมหวานบ้านทองเอน หมู่ที่ 1 ตำบลทองเอน นักท่องเที่ยวจะได้ชมการผลิตอาหารแปรรูปจากผลไม้ ชมการสาธิต และทดลองแปรรูปอาหารจากผลไม้ พร้อมทั้งซื้อสินค้าขนมหวานบ้านทองเอนกลับไปรับประทานและเป็นของฝาก