วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

ที่ตั้ง ถนนพงษ์สุริยา ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
๑.วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร เป็นวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ศิลปกรรมภายในวัดมีความสำคัญ และสวยงาม ได้แก่ พระอุโบสถเป็นศิลปะอยุธยา มีภาพทวารบาล จิตรกรรมภาพเทพชุมนุมเรียงรายกัน 5 ชั้น จุดเด่นคือภาพยักษ์และอมนุษย์ทั้งหลายเป็นหน้าเนื้อ ไม่ใช่การวาดเหมือนสวมหัวโขนโดยทั่วไป พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีรูปหล่อ พระสังฆราชแตงโม นอกจากนี้หน้าบันเป็นงานรูปปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งามพลิ้วราวมีชีวิต , ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง พระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโมโดยมีบานประตูแกะสลักที่งดงามและมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ และที่บานประตู มีรอยแผลบนประตู เรียกรอยพม่าฟัน หอเก็บพระไตรปิฏก เป็นอาคารไม้ผนังฝาปะกน รองรับด้วยเสาไม้ 3 เสา ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นต้น
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม โทร. 0 3241 2714
๕.ช่องทางออนไลน์ –
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/จุดบริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

ที่ตั้ง ถนนพุทธบูชาริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก
๑.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “วัดใหญ่” เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัยและเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.00 น
3. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่างๆ –
4. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
0 5525 1649 ,0 5525 8966
๕.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดวังกลม จ.พิจิตร

ที่ตั้ง 422 ถนนเทศบาล 1 ตำบล บ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร จ.พิจิตร
1.วัดวังกลม เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ และตลาดวังกรดประมาณ 500 เมตร สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2461 พระประธานในอุโบสถวัดวังกลมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีว่า หลวงพ่อลือ วัดวังกลมเป็นจุดศูนย์กลางของชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่แถบนี้ หลวงพ่อลือ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม สร้างราวปี พ.ศ.2461 โดยหลวงพ่อบุญลือ เจ้าอาวาสวัดสามประทุม อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งธุดงค์ผ่านมาพักที่วัดวังกลม เห็นว่าในโบสถ์ยังไม่มีพระประธาน จึงรับอาสาสร้างให้เนื่องจากเป็นผู้มีฝีมือในการปั้น โดยให้เรียกนามพระประธานว่า หลวงพ่อลือ อันหมายถึงชื่อที่ลือกระฉ่อนขจรไกล
2.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน เวลา 06.00–08:00 น.
3.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
4.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
08 7317 9300
5.ช่องทางออนไลน์
http://www.m-culture.in.th/album/136747/js/
6.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร

ที่ตั้ง ตำบล โพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง พิจิตร

๑.เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๒ โดยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชาติภูมิของพระองค์ วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านเก่า) ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิจิตร-วังจิก ก่อนถึงวังจิก ๒ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่อำเภอโพธิ์ประทับช้างก่อนถึงอำเภอจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก ๔ กิโลเมตร ถึงหน้าวัดโพธิ์ประทับช้าง หน้าวัดมีต้นตะเคียน ซึ่งกล่าวกันว่ามีอายุกว่า ๒๖๐ ปี วัดโดยรอบได้ ๗ เมตร ๖๐ เซนติเมตร หรือ ๗ คนโอบ วัดนี้มีพระวิหาร สูงใหญ่ มีกำแพงศิลปะแบบอยุธยาล้อมรอบ ๒ ชั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชม นอกจากนี้ชาวอำเภอโพธิ์ประทับช้างยังได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือไว้เป็นที่ระลึก ณ ข้างที่ว่าการอำเภออีกด้วย
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ทุกวัน เวลา ๐6:๐๐–๑8:๐๐ น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ – ๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๘ ๗๑๙๘ ๘๖๙๙ หรือ ๐ ๕๖๐๓ ๙๘๖๙
๕.ช่องทางออนไลน์
www.bandonghochiminhmuseum.com
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ /ที่จอดรถ /ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดสุวรรณคูหา จังหวัดพังงา

ที่ตั้ง ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
๑.วัดสุวรรณคูหา ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นวัดที่มีความน่าสนใจและเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพังงา บริเวณที่ตั้งของวัดเป็นภูเขา ซึ่งมีถ้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็กจำนวนมาก วัดสุวรรณคูหามีถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่หลายองค์ องค์สำคัญที่สุดคือ พระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาว 7 วา 2 ศอก ที่มีความสวยงามสมบูรณ์แบบ ลึกเข้าไปจากถ้ำใหญ่จะเป็นถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว ซึ่งจะได้พบความงดงามของหินงอกหินย้อย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมความมหัศจรรย์จากธรรมชาตินี้ได้
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
จันทร์ – อาทิตย์ 08:00 – 17:00 น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
0 7645 0333
๕.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้ง ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑. ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 ( พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 ( พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สิ่งที่น่าชมภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีบริการเครื่องโสตทัศนาจร สามารถฟังข้อมูลการบรรยายวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนาราม และวัดมหาธาตุ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดพระงาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้ง ๒๔ หมู่ ๔ ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
1. วัดพระงาม แห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้างหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ทางด้านทิศเหนือ ตัววัดหันไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าเป็นอุโบสถ มีกำแพงแก้วและคูน้ำล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง
จุดเด่นของที่นี่ ก็คือ ซุ้มประตู ที่ถูกรากของต้นโพธิ์ปกคลุมมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ได้รับการขนานว่า ‘ประตูแห่งกาลเวลา’ ถือเป็น Unseen Thailand ที่ดูลึกลับน่าค้นหา สวยงามและแฝงด้วยมนต์เสน่ห์อย่างหาคำอธิบายไม่ได้ ช่วงเวลาของการถ่ายภาพซุ้มประตู แนะนำให้ไปตอน พระอาทิตย์ตกดิน ประมาณ 18.00 น. ดวงอาทิตย์จะตกและสาดแสงสีส้มทองผ่านซุ้มประตู อีกเวลาหนึ่งคือตอนเช้า 06.00 น. แสงอาทิตย์จะส่องผ่านซุ้มประตูเข้ามาภายในพระอุโบสถ ถึงเจดีย์แปดเหลี่ยม ถ้าอยากได้ภาพที่สวยกว่านั้น ต้องไปช่วงระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เพราะเป็นปลายฝนต้นหนาว ได้แสงสวยไม่พอ ได้ภาพที่มีหมอกคลุมไปทั่วบริเวณด้วย
2. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน 07:00 – 17:00 น.
3. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
4. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร. –
5. ช่องทางออนไลน์

6. สิ่งอำนวยความสะดวก (ที่จอดรถ)

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้ง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑. วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดประจำพระราชวังหลวงและเป็นวัดซึ่งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา มีเฉพาะเขตพุทธาวาสเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ตามหลักฐานประวัติศาสตร์อ้างอิงว่าสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงใช้พื้นที่บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์สร้างพระราชวังและใช้เป็นที่ประทับ กระทั่งถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วโปรดยกให้บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นเขตพุทธาวาส ใช้ประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมืองจุดเด่นของวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาสามองค์ ซึ่งทั้งสามองค์ได้รับการสร้างขึ้นต่างวาระกัน เจดีย์องค์ตะวันออกสร้างขึ้นสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๐๓๕ เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จากนั้นทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์ (องค์กลาง) เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ผู้เป็นพระบรมเชษฐา ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ จึงทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์ที่สาม เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผู้เป็นพระราชบิดา
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้ง ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑. วัดใหญ่ชัยมงคลสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดป่าแก้ว ก่อนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเจดีย์ใหญ่ก็สร้างขึ้นใน คราวนั้น พงศาวดารระบุว่าคราวทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดี สมเด็จ พระนเรศวรทรงพระพิโรธต่อนายกองแม่ทัพของพระองค์ที่ล่าช้าเดินทัพตามไม่ทัน ซึ่งตามกฎแล้วมีโทษถึงประหารชีวิต ทว่าได้รับการทูลขอพระราชทานชีวิตจากสมเด็จพระพันรัตน (พระสังฆราช) เปลี่ยนเป็นการสร้างพระเจดีย์ใหญ่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เชื่อกันว่าเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อวัดป่าแก้วเป็นวัดใหญ่ชัยมงคล นอกจากเจดีย์ใหญ่ชัยมงคลซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของวัดแล้ว ยังมีพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งเพราะพระวิหารพังทลายลง หลังจากสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยา วัดใหญ่ชัยมงคลก็กลายเป็นวัดร้าง กระทั่งได้รับการบูรณะเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และยกฐานะจากวัดร้างมาเป็นวัดราษฎร์มีพระภิกษุจำพรรษา และจากนั้นก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน ๐๗.๐๐ – ๑๘.๐๐ น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
โทร. 0 3524 2640
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook: วัดใหญ่ชัยมงคล
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ร้านอาหาร 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดชลธาราสิงเห จังหวัดนราธิวาส

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๓ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
 ๑.เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายวัดตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบและพรุบางน้อย สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้ขอที่ดินจากพระยาเดชานุชิตที่ทางกรุงเทพแต่งตั้งมาปกครองรัฐกลันตัน แต่เดิมเรียกวัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเหตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเห ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยขุนสมานธาตุวฤทธิ์ หรือ เปลี่ยน กาญจนรัตน์ นายอำเภอตากใบคนแรกเป็น “วัดชลธาราสิงเห” ที่มีความหมายว่าเป็นวัดริมน้ำที่สร้างด้วยพระภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ (พระครูโอภาสพุทธคุณ) ชาวสงขลาช่วยกันเขียนภาพในพระอุโบสถ ในกุฏิ สร้างพระประธานในพระอุโบสถและกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จ จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ความสำคัญของวัดชลธาราสิงเห นอกจากมีศิลปกรรมท้องถิ่น ที่งดงามแล้ว ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการปักปันเขตแดนกับอังกฤษ อังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห ๒๕ กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัวจึงทำการแย้ง โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญเป็นมรดกทางพุทธศาสนา ฝ่ายอังกฤษยอมรับและเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำโกลก ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอแว้งและอำเภอสุไหงโกลก อยู่ในการปกครองของไทยจนถึงปัจจุบัน วัดชลธาราสิงเหจึงได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
วันจันทร์ – วันศุกร์
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
นายประจักษ์ เทพคุณ
เบอร์โทรศัพท์ 08 5056 9963
๕. ช่องทางออนไลน์
facebook.com : ชุมชนท่องเที่ยวเจ๊ะเห
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ ทางลาด ที่จอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม