ชุมชนคุณธรรมบ้านสะนำ จังหวัดอุทัยธานี

บ้านสะนำเป็นหมู่บ้าน ซึ่งบรรพบุรุษของชาวสะนำ อพยพหนีภัยสงคราม ประมาณ พ.ศ. 2370     เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินและปลูกสร้างเรือนอยู่ ภาษาพูดของชาวสะนำเป็นภาษาลาวสำเนียงคล้ายคนลาวในนครเวียงจันทน์ บรรพบุรุษของคนบ้านสะนำ คือ นางสา  ซึ่งเป็นคนบ้านทัพคล้าย มีสามีชื่อ นายนำ มาอยู่ที่บ้านสะนำก่อน จึงนำมาเป็นชื่อบ้านว่า บ้านสานำ และเพี้ยนมาเป็น บ้านสะนำ ในเวลาต่อมา และเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของชุมชนลาวครั่งที่ใหญ่ 

ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรบ้านสะนำ ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อสาย ลาวเวียง มีวัฒนธรรมติดตามมา คือ วัฒนธรรมการแต่งกาย  วัฒนธรรมการกิน  ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ และความเชื่อความศรัทธา  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ตลาดซาวไฮ่
ตลาดซาวไฮ่ ตลาดเล็ก ๆ ที่น่ารักในอำเภอบ้านไร่ ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าทางการเกษตรของชาวบ้านที่รวมตัวกันนำสินค้าทางการเกษตรมาขาย และที่สำคัญเป็นการเกษตรแบบอินทรีย์ด้วย นอกจากนี้ยังมีงานคราฟต์ฝีมือของชาวอุทัยธานี ทั้งเสื้อผ้าย้อมคราม ผ้าไหม และเครื่องจักสานต่าง ๆ รวมไปถึงมีของกินพื้นบ้านอุทัยธานีที่หาทานได้ยากให้เราได้เลือกทานมากมาย เป็นตลาดเล็ก ๆ ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ และเต็มไปด้วยรอยยิ้มของชาวบ้านที่รอคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ต้นไม้ยักษ์สะนำ (ต้นเชียง)
ต้นไม้ยักษ์ (ต้นเซียง) เป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 60 คนโอบ มีอายุประมาณ 400 – 500 ปี เป็นต้นไม้ใหญ่ยืนต้นท่ามกลางป่าหมาก (ชาวบ้านเรียกว่า ป่าหมากล้านต้น) และอยู่ทามกลางป่าสมุนไพรของชุมชน    ในอดีตถือเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชุมชน ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ป่าหมาก
ป่าหมากล้านต้น ถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล มีหลายคน  เป็นเจ้าของแปลงป่าหมาก  เจ้าของหนึ่งคนถือครองคนละไร่ สองไร่ รวม ๆ ทั้งผืนแล้วมีขนาดประมาณกว่า 50 ไร่ ป่าหมากผืนนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของชุมชนเป็นอย่างมาก ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำผืนสุดท้ายของชุมชนอีกด้วย  ถูกล้อมรอบด้วยลำน้ำจาก  คลองกระเวน ซึ่งเป็นคลองที่เป็นต้นน้ำของลำน้ำกระเสียวไหลผ่าน และมีลำธารน้อย ไหลมาจากเขาปลายฌาน ไหลมาบรรจบล้อมรอบป่าหมากไว้ ถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ มีคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิต ทั้งมนุษย์ พืช และสัตว์  ทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคม ของชุมชน ผืนป่าหมากแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้สมุนไพรหายากหลายชนิด ที่เด่นชัดก็จะเป็น ต้นค้างคาวดำ  ฯลฯ หากใครเข้ามาในป่าหมากแห่งนี้จะได้รับความเย็นสบายทุกครั้ง เพราะความชุ่มชื้นของต้นหมากที่โอบอุ้มความเย็นไว้ให้    กับแผ่นดิน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ประเพณีแห่ค้างดอกไม้
ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านไร่ และวัดบ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี การแห่ค้างดอกไม้ในช่วงวันสงกรานต์ ก็เพื่อสอนลูกหลานให้รู้จักการมีสัมมาคารวะ รู้จักการขอขมาและการให้อภัยซึ่งกันและกัน จะเรียกกันว่า “เป็นการอนุญาตบาปกรรม” กล่าวคือ การเล่นสงกรานต์มักจะมีการล่วงเกินพระสงฆ์ ล่วงเกินคนเฒ่าคนแก่ และล่วงเกินซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดการเล่นสงกรานต์ในแต่ละวัน คนหนุ่มสาว ลูกเด็กเล็กแดง จะพากันไปเก็บดอกไม้ตามบ้านมาผูกให้เป็นพุ่มผูกติดกับคานหาบทรงคล้ายเจดีย์ และหามไปตามหมู่บ้าน เพื่อขออนุญาตบาปกรรมจากคนเฒ่าคนแก่หรือจากทุกคน และคนเฒ่าคนแก่หรือคนทั่วไป ก็จะอนุญาตบาปด้วยการหยาดน้ำไปที่ดอกไม้และก็จะนำดอกไม้ฝากไปด้วย จึงเรียกว่า “ค้างดอกไม้” เมื่อนำไปถึงวัดพระก็จะให้อนุญาตบาปกรรมแก่ญาติโยมด้วยการหยาดน้ำอีกครั้ง 

ปิดบ้าน
ศาลเจ้าบ้าน ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ตำบลบ้านไร่นั้นทุกหมู่บ้านที่คนในชุมชนเป็นกลุ่ม “ลาวครั่ง” จะต้องทำพิธีปิดบ้านกันในช่วงขึ้น 15 ค่ำเดือนหก จนถึงแรม 5 ค่ำของทุกปี แต่จะไล่เรียงกันเลี้ยงปิดบ้าน ตามแต่ผู้ทำพิธีกรรมจะกำหนดวันของหมู่บ้านนั้น ๆ  มากน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมเพรียงของคนในชุมชน แต่ทั้งนี้ จะมีเพียงกลุ่มหมู่บ้านเดียวเท่านั้นที่ยังคงรักษารากเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชมและยังคงความงดงามไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบสานต่อได้จนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ “หมู่บ้านสะนำ” 

การแสดงรำ ผีนางด้ง
บ้านสะนำหมู่ที่ ๒ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี การเล่นผีนางด้งการเล่นผีนางด้งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของขนเผ่าลาวเวียงมาแต่โบราณจัดขึ้นระหว่างกลางเดือน ๖ ของทุก ๆ ปีผีนางด้งเป็นการเล่นเกี่ยวกับจิตวิญญาณและพืชพันธุ์ธัญญาหารโดยมีการเชิญวิญญาณผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าสิงเพื่อเล่น รำอย่างสนุกสนานเป็นการแสดงความกตัญญูต่อแม่โพสพ เคารพต่อเจ้าบ้าน และสิ่งศักดิ์ทั้งหลายมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ความสามัคคีมีความร่มเย็นเป็นสุขเจริญก้าวหน้า และประสบผลสำเร็จตลอดจนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่าง ๆ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม