เกาะเกร็ด เป็นพื้นที่ที่ชาวมอญส่วนใหญ่อพยพมาอาศัยอยู่ตั้งแต่ต้น โดยใช้เครื่องปั้นดินเผามาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ผสานกับเรื่องราวศิลปะของชาวมอญที่ค่อย ๆ ผสมไปในวิถีชีวิตของคนไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นพื้นที่ที่ชาวมอญอาศัยอยู่ร่วมกับชาวไทยและชาวอิสลามในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีวัฒนธรรมลมหายใจแห่งชีวิต ศิลปะ และประวัติศาสตร์มอญอายุกว่า 200 ปี
การแต่งกาย และภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญ แต่ปัจจุบันการใช้ภาษาชาวมอญเริ่มน้อยลง เนื่องจากผู้สูงเริ่มเสียชีวิตลง แต่การแต่งกายยังคงเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชุมชน ไทย มอญ และมุสลิม ซึ่งการแต่งกายเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร
เดิมชื่อ “วัดปากอ่าว” พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์ มาแต่ทรงพระเยาว์ และพระราชทานวัดว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” และประดิษฐ์ “พระนนทมุนินท์” พระประจำจังหวัดนนทบุรี
วัดฉิมพลี
ชื่อเดิม “วัดป่าฝ้าย” ได้ถูกทิ้งร้างพร้อมกับวัดป่าเลไลย์ที่อยู่ติดกัน รัชกาลที่ ๒ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๘ ได้บูรณะวัดครั้งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อเป็น ”วัดฉิมพลีสุทธาวาส” มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ อุโบสถขนาดเล็ก มีความงดงามเป็นเลิศ มีเจดีย์มุมสิบสอง และเจดีย์องค์เล็ก ๔ องค์ ล้อมเจดีย์องค์ใหญ่ วัดฉิมพลีสุทธาวาส ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำลัดเกร็ด
วัดไผ่ล้อม
วัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย พระอุโบสถสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ โดยพระยาเจ่ง ต้นตระกูลคชเสนีย์ ผู้คุมไพร่พลกองมอญที่เข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารและให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดนนทบุรีขึ้นไปถึงอำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี โบราณสถานที่สำคัญ คือ อุโบสถ วัดไผ่ล้อม เป็นอาคารขนาดทรงโรงขนาด ๕ ชั้น ก่ออิฐถือปูน หน้าบันไดไม้จำหลักลายดอกพุดตานใบเทศปิดทองประดับกระจกทั้งหมด
วัดเสาธงทอง
เดิมชื่อว่า วัดสวนหมาก เพราะมีต้นหมากขึ้นอยู่โดยรอบ (ภายหลังต้นหมากถูกตัดออกจนหมดแล้ว) วัดนี้สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเรียกวัดนี้ว่า เพ๊ยะอาล๊าต ต่อมาวัดนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดเสาธงทอง ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากได้สร้างเสาหงส์หลายต้นปักเรียงรายอยู่หน้าวัด ปัจจุบันไม่มีเสาเหล่านี้ตั้งอยู่แล้ว เพราะชำรุดทรุดโทรมมาก พระอุดมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสจึงให้รื้อถอนออก
หอไทยนิทัศน์ฯ
ตั้งอยู่ภายในวัดปรมัยยิกาวาส โดยมีอาคารสองชั้น ซึ่งแต่เดิมเป็นกุฏิของอดีตเจ้าอาวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารจัดแสดง ชั้นล่าง หรือ หอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเป็นหลัก โดยได้จำลองเตาเผาและหุ่นจำลองของช่างทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ มีมุมฉายวีดิทัศน์เรื่องราวต่าง ๆ อาทิ ขนมไทยที่มีชื่อเสียงของเกาะเกร็ด พื้นที่ส่วนใหญ่ในอาคาร ได้จัดแสดงวิวัฒนาการของเครื่องปั้น ดินเผาที่พบในประเทศไทย และมีตัวอย่างของเครื่องปั้นดินเผาในภาคต่าง ๆ จัดแสดงด้วย
พิพิธภัณฑ์ ร.๕
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ถูกทิ้งร้างหลังจากเสียกรุงครั้งที่ ๒ จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญอพยพมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อเจดีย์ร่างกุ้ง รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ พ.ศ. ๒๔๑๗
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
บ้านดินมอญ
จากศิลปะภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี เครื่องปั้นดินเผา ชาวมอญ เกาะเกร็ด จากรุ่นคุณย่า คุณปู่ มาจนถึง รุ่นหลาน สามารถผสมงานศิลปะไทย ทำให้เครื่องปั้นดินเผา กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า มีความงดงาม และผลิตเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น
บ้านศิลป์สยาม
หัวหนุมาน สำหรับบ้านศิลป์สยามสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา และเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาและอนุรักษ์ไว้ให้คนไทยและชาวต่างชาติได้ชม เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้าง สรรค์ แบ่งปัน งานศิลป์แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ บริเวณใต้ถุนบ้านจำลองเป็นถ้ำ มีมุมนิทรรศการให้เราเรียนรู้เรื่องราวของโขนด้วยตัวเอง ส่วนชั้นบนมีงานศิลปะไทยที่แสดงถึงความปราณีตของงานศิลป์ของไทย เพื่อจะได้ตระหนักถึงคุณค่าที่บรรพบุรุษเราได้สร้างให้พวกเราจนถึงปัจจุบัน รวมถึงจำหน่ายงานศิลปะสวย ๆ ด้วย ส่วนด้านข้างเป็นลานสานศิลป์ สำหรับจัดกิจกรรมงานฝีมือ
ลุงติดินเปอะ
งานปั้นเครื่องปั้นดินเผาที่เคยรุ่งเรืองในอดีต บ่งบอกถึงความเจริญของยุคสมัย มาบัดนี้ความงามและความรุ่งโรจน์ที่เคยมีให้เห็น กำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ทว่าก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้
หมู่บ้านโอ่งอ่าง
บ้านโอ่งอ่างของเกาะเกร็ด เป็นสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องของการปั้นเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเมืองนนท์ หมู่บ้านโอ่งอ่างตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเกร็ด ระหว่างวัดไผ่ล้อมและวัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่ในชุมชนหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๗ ชาวมอญเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “กวานอาม่าน” ที่แปลว่าหมู่บ้านเครื่องปั้นเพราะแต่เดิมคนในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นชาวมอญที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาจากหมู่บ้านกวานอาม่านในเมืองมอญ ได้มาทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นแห่งแรกที่หมู่บ้านนี้ในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งคนไทยในชุมชนจะเรียก ๓ หมู่บ้านในเกาะเกร็ดนี้ว่า “บ้านมอญ”
หัตถกรรมเครื่องปั้นหมู่ ๑
แหล่งข้อมูลสินค้าโอทอปหนึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดินเหนียวท้องนา การทำเครื่องปั้นดินเผาสืบทอดมาจากบรรพบุรุษชนชาติมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
สหกรณ์จักสาน
ก่อตั้งเมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ในความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ได้สนับสนุนให้กลุ่มดำเนินการฝึกหัดทำตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ จากเส้นพลาสติกและทางมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุที่มีในพื้นที่ เพื่อให้สตรีที่เป็นแม่บ้านที่มีเวลาว่างได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสังคมไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น โดยสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ได้เข้ามาสอบถามปัญหาและความต้องการของกลุ่มแม่บ้าน และได้จัดอบรมจักสานพลาสติกให้แก่กลุ่มแม่บ้านให้ไปอบรมจักสานพลาสติกเป็นระยะ เวลา ๑ ปี
ครูอุ้มนาฎศิลป์
นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปะการแสดงประจำชาติ เป็นสมบัติของชาติที่มีคุณค่าสูง เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ และได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สืบทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การแสดงนาฏศิลป์เป็นการแสดงที่ใช้ท่ารำประกอบ เพื่อสื่อให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวของการแสดง ทำให้ได้รับความเพลิดเพลิน มีความสุขที่ได้ชม ได้ฟัง
ลัดดาบาติก
ได้ไปเรียนรู้วิธีการทำ และนำมาเผยแพร่แก่ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้มีการสาธิต การทำผ้าบาติก การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัวและการทำจักสาน ซึ่งเป็นงานฝีมือ ศิลปหัตถกรรมประจำชุมชนเกาะเกร็ด ผ้าบาติกเกาะเกร็ด มีลวดลายที่สวยงาม
บ้านธาตุดิน
มุมเล็ก ๆ ที่ยังคงตั้งใจผลิตผลงานหัตถศิลป์จากดิน ที่สร้างสรรค์ลวดลายได้อย่างวิจิตรงดงาม จนเป็นลายเอกลักษณ์และยากยิ่งที่ใครจะเลียนแบบ เช่น ลายดอกพุดตาน ลายเครือเถาว์ ฯลฯ ที่มีรายละเอียดความตื้น ลึก ชัด สร้างมิติให้กับชิ้นงานได้อย่างงดงามและลงตัว ยังมีผลงานอีกหลายรูปแบบของบ้านธาตุดินที่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่ทำเพื่อเลี้ยงชีพและหล่อเลี้ยงให้งานศิลปะนี้ยั่งยืนอยู่คู่เกาะเกร็ดต่อไป
โรงสีสตูดิโอ
เป็นโรงสีข้าวได้นำมาดัดแปลงเป็นคาเฟ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าของได้ดัดแปลงโรงสีเก่าแก่ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี มาเป็นคาเฟ่เก๋ ๆภายในคาเฟ่แบ่งออกเป็น ๔ โซนด้วยกัน โดยโซนแรกจะเป็นห้องแอร์ ตกแต่งได้สวยงามและคลาสสิค เหมาะสำหรับใครที่ชอบนั่งชิลล์ ซึมซับบรรยากาศเก่า ๆ ท่ามกลางอากาศเย็นสบายตลอดทั้งวัน โซนที่สองจะเป็นโซนเอาท์ดอร์ ที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ ถือเป็นอีกหนึ่งโซนที่สดชื่นโซนที่สาม จะเป็นโซนริมน้ำ ซึ่งโซนนี้ถือเป็นไฮไลท์ ของที่นี่เลยก็ว่าได้ เพราะเราจะได้เห็นวิวโค้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาแบบพาโนรามา ยิ่งถ้าได้มาช่วงแดดร่มลมตก เย็นถึงค่ำ ลมพัดเอื่อย วิวสวย “ฟิน” ปิดท้ายกันที่โซนที่พัก จะเปิดเป็นโฮมสเตย์เล็ก ๆ บรรยากาศอบอุ่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่อยากพักผ่อนริมน้ำแบบ Slow Life
เรือนไทย ๑๐๐ ปี
คาเฟ่เรือนไทยอายุเก่าแก่กว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะสำหรับนั่งชิว ๆ พักผ่อน สัมผัสกับธรรมชาติ และมีมุมถ่ายรูปเก๋ ๆ
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
สวนเกร็ดพุทธ
ตำบล เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี 11120 โทร. 09 3218 8056
สวนเมล่อน
สมุนไพรชารางแดง
สมุนไพรบ้านย่าสา
สวนทุเรียนนายกสมชาย
สวนเกร็ดแก้ว
ศูนย์นวดแผนไทย
กิจกรรมการท่องเที่ยว
ปั้นดิน
บ้านดินมอญ ใช้ดิน ปั้นดินขึ้นรูปทรงต่าง ๆ
ปั้นโอ่งดินเผา
ลุงติดินเปอะ เป็นการปั้นโอ่งหรือกระถาง
เขียนโขน
บ้านศิลป์สยาม ใช้หัวโขนเล็กฝึกหัดเขียนหัวโขน
รดน้ำปิดทอง
บ้านศิลป์สยาม การใช้สีเหลืองเขียนแล้วติดแผ่นทอง
หมักดินเขียนไทย
บ้านศิลป์สยาม การใช้เสื้อผ้าสีขาวมาหมักดิน และเขียนลายไทย
กระดาษเกร็ดชวา
บ้านศิลป์สยาม ให้รู้กระบวนการรีดผักตบชวาเป็นแผ่นกระดาษ
ปั่นจักรยาน
จักรยาน เป็นการเช่าจักรยานเพื่อปั่นรอบเกาะเกร็ด
เขียนบาติก
ลัดดาบาติก เป็นงานเขียนด้วยเทียนลงบนผ้าและลงสี
ปั้นแต่งโอ่ง
บ้านศิลป์สยาม การใช้โอ่งจากชุมชนแล้วนำดินมาปั้นแต่งบนโอ่งตามจินตนาการ
ทำขนมหวาน
ขนมหวานป้าเล็ก ให้รู้เทคนิคการทำขนมไทย
ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม