ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ เกิดเหตุน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน มีการถากถางเพื่อตั้งบ้านเรือน เรียกว่า “บ้านนาอัศดร”ต่อมามีสัตว์ป่ามาทำลายต้นข้าวในนาของชาวบ้าน จึงได้ทำการป่าวประกาศหาหมออาคม หมอคนสุดท้ายมีพาหนะเป็นม้า พร้อมหอก ดาบและธนู มาทำพิธีทางไสยศาสตร์ ได้ใช้หอก ดาบ ไล่ฟันแทงสัตว์ป่าจนมาตายที่ทุ่งนาริมห้วย ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อห้วยว่า “ห้วยนาหมอม้า” ซึ่งคำว่า “นา” ได้มาจากทุ่งนาที่สัตว์ป่าจบชีวิตลง และคำว่า “หมอม้า” ก็ได้มาจากหมอที่ขี่ม้ามาปราบสัตว์ป่า พร้อมทั้งขนานนามหมู่บ้านว่า “บ้านนาหมอม้า”
เป็นชุมชนที่มีการดำเนินกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ด้านการแต่งกาย ด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และแสดง อัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน มีอาคารโบราณสถานพันปี แหล่งโบราณสถานลานเสมาดงเฒ่าเก่า รวมถึงวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ชุมชนมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การบริการ เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดดงเฒ่าเก่า
วัดดงเฒ่าเก่าเป็นแหล่งโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ใบเสมาพันปี พระนารายณ์หินที่เหมือนไม้ หินแกะสลักภาพโบราณ เช่น ฮาบช้างซาแมว ตีนช้างเหมือนเหยียบปากนก มีต้นไม้ใหญ่มากมาย มีความสงบร่มเย็นเป็นธรรมชาติ ปัจจุบันวัดดงเฒ่าเก่าได้พัฒนามาเป็นแหล่งเรียนรู้โบราณวัตถุ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน
วัดบูรพา บริเวณลานศาลาไม้ ๑๐๐ ปี สำหรับจัดประชุม จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ดอนปู่ตา
ชุมชนบ้านนาหมอม้า มีความเชื่อเรื่องปู่ตา หากจะกระทำใด ๆ ก็จะมีการบอกกล่าว
ถ้าได้ผลสำเร็จตามที่ตนขอ ก็จะนำหัวหมูหรือเหล้าขาวมาถวาย จะเป็นการไหว้ประจำทุกปีจะไหว้ก่อนฤดูทำนาเพื่อจะได้บอกกล่าวปู่ตาและถามไถ่เรื่องฝนเรื่องน้ำของปีนั้นผ่านพ่อจ้ำหรือร่างทรงนั่นเอง
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ภูจำปา
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวทุกวันที่ ๑๗ เมษายน ของทุกปีชาวบ้านนาหมอม้าและตำบลใกล้เคียงได้ร่วมกันจัดงาน “สรงน้ำพระถ้ำภูจำปา”เป็นประจำทุกปี ภูจำปายังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่นหินสามก้อน พระพุทธรูปไม้แกะสลัก ต้นจำปาที่เกิดบริเวณหินดาน
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ศูนย์เรียนรู้ นาภูคำ
เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับบรรยากาศท้องนาที่แท้จริง
แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม
แหล่งเรียนรู้การทอเสื่อกก นางสว่าง หอมสิน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลนาหมอม้า
ข้ามขัวหมอม้าเบิ่งเสมาพันปี
ขัวหมอม้า เป็น สะพานขนาดกว้า ๒ เมตร ยาว ๓๘๐ เมตร เป็นสะพานเตี้ย ๆ ที่ก่อสร้างโดยแรงศรัทธาของชาวบ้าน นาหมอม้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา วัดดงเฒ่าเก่า ก่อสร้างจากบ้านนาหมอม้าลัดทุ่งนาไปจนถึงวัดดงเฒ่าเก่า ทุกเช้าพระสงฆ์จากวัดดงเฒ่าเก่าจะเดินมาบิณฑบาตโดยใช้ เส้นทางนี้ ตลอดสองข้างทางจะอุดมไปด้วยความเขียวชอุ่มของต้นข้าวที่กำลังงอกงาม หากมาเที่ยวในฤดูหนาวก็ได้สูดดมกลิ่นอายของรวงข้าวเหลืองอร่าม เป็นจุดแลนด์มาร์คที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
กิจกรรมการท่องเที่ยว
รำวงฝูงปลาบ้านนาหมอม้า
ณ บริเวณโฮมสเตย์บ้านหมอม้ารำวงฝูงปลาบ้านนาหมอม้า ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์ศิลปะการแสดงที่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะรำวงฝูงปลา ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันก่อตั้งเป็นคณะรำวง มีการจับคู่กันฟ้อนรำ โดยการแสดงจะแสดงในโอกาสต่าง ๆ เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะไม่มีเวทีในการแสดงไม่มีเครื่องขยายเสียงมากมาย นอกจากนี้บ้านนาหมอม้า ยังมีเพลงประจำหมู่บ้านเช่น เพลงฝูงปลา เพลงกระต่ายน้อย เพลงน้ำตกไทรโยค ซึ่งในอดีตมีการเป่าแคนเดินรอบหมู่บ้านและร้องเพลงประจำหมู่บ้าน
ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม