“บ้านหาดสองแคว” เป็นชุมชนลาวเมืองเวียงจันทน์ที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 “บ้านหาดสองแคว”ตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางออกของลำน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่าน กับคลองตรอน มีลักษณะเป็นลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจึงเรียกกันว่า “สองแคว”
มีประเพณี และวิถีชีวิตด้านการแต่งกาย ภาษา และอาหาร ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของคนลาวเวียงจันทร์ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คนในชุมชนมีความสามัคคี โอบอ้อมอารีย์ มีมิตรไมตรีแก่ผู้มาเยือน มีแม่น้ำน่านซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งแสดงถึงความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ของคนในชุมชน
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
เป็นอาคารกึ่งปูนกึ่งไม้สองชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดหาดสองแคว เป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ ของคนในชุมชน
อุโบสถ์เก่าวัดคลึงคราช ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
โบสถ์เก่าแก่อายุ 109 ปี มีศิลปะแบบลาวเวียงจันทร์ หลวงพระบาง ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 10 เมตร โบสถ์เป็นแบบมหาอุด มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้าน รวม 6 ช่อง มีสิงห์คู่ตั้งอยู่ด้านหน้าบันไดประตูทางเข้า หลังคามุงด้วยสังกะสี
ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง
เป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง โดยกำหนดให้ร้านค้าทุกร้านแต่งกายด้วย ผ้าพื้นเมืองเสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่น สีต่าง ๆ ใส่งอบ ใช้ร่มผ้าสีขาว และแคร่ไม้ไผ่ ในการตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียง ใช้วัสดุทางธรรมชาติเป็นภาชนะใส่อาหารแทนกล่องโฟม สินค้าที่จำหน่ายภายในตลาด เป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์และอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ งานแฮนด์เมด
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ถนนปั่นจักรยานริมน้ำน่าน
ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำหลังวัด หาดสองแคว เหมาะสำหรับ ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม เช่น เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานออกกำลังกายและชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำน่านยามเช้าและเย็น
สะพานชมวิวริมน้ำน่าน
เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์บรรยากาศชุมชนหาดสองแควริมฝั่งแม่น้ำน่าน
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
แหล่งเรียนรู้ สวนไผ่ซางหม่น
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๒ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีนายพงษ์เทพ ไชยอ่อน เป็นเจ้าของและ ผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้การขยายพันธุ์และจำหน่ายไผ่ซางหม่น พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ดี
สวนอินทผาลัม “บ้านสวนดวงดัน”
ตั้งอยู่ที่ บ้านสวนดวงดัน ต.หาดสองแคว อ.ตรอน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
ตักบาตรหาบจังหัน
ชุมชนบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 1-๗ การหาบอาหารคาว-หวาน ไปถวายพระสงฆ์ที่วัดในตอนเช้า กล่าวคือขณะที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตตอนเช้าชาวบ้านจะตักบาตรด้วยข้าวสวยอย่างเดียว ส่วนอาหารคาว-หวาน จะมีนางหาบ/นายหาบ แต่งตัวชุดลาวเวียงวันละ 5-10 คน ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหาบอาหารด้วยสาแหรกเดินตามพระเข้าวัด ซึ่งอาหารคาว-หวานที่หาบไป จะได้จากชาวบ้านนำอาหารไปวางไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลัง โดยนางหาบ/ นายหาบ จะเดินเก็บอาหารตามแป้นเสาหน้าบ้านแต่ละหลังไปตามเส้นทางไปจนถึงวัด จากนั้นจะนำอาหารที่ได้ถวายพระที่วัดในตอนเช้า ถือเป็นการเชื่อมบุญมาสู่คนในชุมชน หลังจากถวายพระแล้ว นางหาบ/นายหาบ จะนำภาชนะใส่อาหารกลับไปวางคืนไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลังตามเดิม ซึ่งจะปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันพระหรือสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะไปตักบาตรที่วัด
ขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน
วัดหาดสองแคว หมู่ที่ ๑เป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญู ต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร ต่อแม่โพสพ แม่คงคา อีกทั้งเป็นการขอบคุณที่นำความอุดมสมบูรณ์มายังคนในชุมชนตำบลหาดสองแคว และอำเภอตรอน รวมถึงเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกิน ต่อผู้มีพระคุณซึ่งในชุมชนได้มีการสืบสานประเพณีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน
ไหลแพไฟ เฉลิมพระเกียรติ
วัดหาดสองแคว หมู่ที่ ๑ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ในอดีตการไหลแพไฟจะเริ่ม ทำพิธีปล่อยแพที่ท่าน้ำวัดวังแดง หมู่ 3 ตำบลวังแดง ล่องตามลำน้ำน่านถึงท่าน้ำวัดสองแคว ตำบลหาดสองแคว ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางจะมีประชาชนเที่ยวชมแพไฟอยู่ตาม จุดชมแพตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และจะมีพิธีถวายพระพรชัยมงคล ตีกลองย่ำฆ้องกลอง จุดพลุ ประดับไฟริมถนนและ ริมแม่น้ำ แต่ในปัจจุบัน ได้จัดให้มีขึ้นทั้งหมด 3 วัน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-5 ธันวาคม ของทุกปี
เรียนรู้การทำสาแหรกจิ๋ว และไม้กวาดทางมะพร้าว
ศูนย์เรียนรู้การทำสาแหรกจิ๋ว และไม้กวาดทางมะพร้าว ตั้งอยู่เลขที่ ๗๒ หมู่ที่ ๒ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีนายสมาน ประดับเพ็ชร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจักสานไม้ไผ่ หวาย และไม้กวาดทางมะพร้าว
เรียนรู้ทำ ผ้ามัดย้อม
ศูนย์เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม ตั้งอยู่เลขที่ 81/2 หมู่ที่ ๓ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม ตัด เย็บ ย้อม ตาก และสามารถนำกลับบ้านได้เลยโดยมีนางมานิตถา เพ็ชรศิลา เป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้
เรียนรู้ทำผ้าด้นมือ
ศูนย์เรียนรู้การทำผ้าด้นมือและการปกกระเป๋าผ้า ๙๗ หมู่ที่ ๓ ต.หาดสองแคว อ.ตรอน
จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การปักผ้าลวดลายเป็นรูปหาบจังหันลงบนผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้ารูปแบบต่าง ๆ โดยมี นางวันเพ็ญ กลมดวงซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นเจ้าของและถ่ายทอดความรู้
เรียนรู้ทำอาหารพื้นบ้าน
ศูนย์เรียนรู้ทำอาหารพื้นบ้าน 16/5 หมู่ที่ 3 ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านคาว-หวาน ของชุมชนหาดสองแควที่ได้รับการ สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพ มาจากลาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีนางอรุณี นันทโชติ และนางบุญส่วน เรืองเดช
เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
เรียนรู้แปรรูปกล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ
ศูนย์เรียนรู้การแปรรูป กล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ ตั้งอยู่เลขที่ 16 หมู่ที่ 2 ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้าน การแปรรูปอาหาร และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร แปรรูป ได้แก่ กล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ ฯลฯ
ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม