ชุมชนคุณธรรมต้นแบบฯ วัดอัมพวัน ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก มีสภาพสังคม แบบชนบททั่วไป ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง และลำห้วยแม่ท้อมีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน และวัฒนธรรมอันดีงาม ตามแนววิถีชาวพุทธ ดำรงมั่นในพระพุทธศาสนา และสืบทอดวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมาโดยตลอด และชาวบ้านอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดำรงชีวิตด้วยความสามัคคี เป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต มีคุณธรรม ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน มีน้ำใจและอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกเสมอมาในทุก ๆ วันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านและนักเรียนในบริเวณใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมที่วัดอัมพวันอยู่สม่ำเสมอ
เป็นชุมชนที่ยังคงดำรงมั่นในพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงาม ตามแนววิถีชาวพุทธ ที่สำคัญยังคงสืบทอดวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม มีวัดอัมพวันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และมีผู้นำหมู่บ้านที่เข้มแข็ง
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดอัมพวัน
วัดอัมพวัน เป็นวัดเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของคนในชุมชน ภายในวัดมี พระอุโบสถเก่าแก่ ประดิษฐานพระประธานที่มีอายุราวสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือประมาณ ๑๒๙ ปี โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔โดยมีพระมหาสมบัติ ภทฺทปัญโญ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองตาก เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชนบ้านป่ามะม่วง
ศาลหลัก เมืองเก่า
ศาลหลักเมืองตาก ตั้งอยู่ที่บ้านปากร้อง หมู่ที่ ๖ ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก สันนิษฐานว่า
สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สร้างเสาหลักเมืองไว้เสาหลักเมืองมีลักษณะของเป็นเสายืนต้น ด้านบนเหลาหรือกลึงแหลมมน คล้าย ๆ แบบรูปศิวลึงค์ในแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงจังหวัดตาก ต้องแวะสักการะขอพร
ศาลหลักเมือง สี่มหาราช
ติดถนนพหลโยธินด้านขวา เชิงสะพานกิตติขจรก่อนเข้าเมืองตาก ในปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพานกิตติขจร เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของอดีตมหาราช ทั้งสี่พระองค์ จึงได้มีการจัดสร้างศาลหลักเมืองแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วัดดอยข่อย เขาแก้ว
วัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพระเจ้าตากสิน” เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติในการทำศึกสงคราม โดยครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ตั้งทัพหลวงในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยมีทำเลที่เหมาะแก่การตั้งทัพ
วัดกลางสวนดอกไม้
วัดกลางสวนดอกไม้ ปูชนียสถาน ที่สำคัญประจำวัดคือเจดีย์ เดิมทีเป็นที่ประดิษฐานลูกแก้วเสี่ยงทายพระบารมี ที่องค์พระเจ้าตากสินได้เสี่ยงที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว มีลูกแก้วอยู่ ๒ ลูกด้วยกัน ลูกหนึ่งอยู่ที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว ส่วนอีกลูกหนึ่งขอนำมาประดิษฐาน ณ วัดกลางสวนดอกไม้แห่งนี้ที่ยอดเจดีย์ แต่เมื่อเจดีย์ผุพังลง ลูกแก้วก็หายไป พอเดินผ่าน ร่มไม้มาตามทางจะทะลุมาถึงหอระฆัง และอุโบสถวัดกลางสวนดอกไม้ ตกแต่งด้วยกระจกสีด้านนอกสวยงามตระการตา
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สะพาน สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่เรียกว่า “สะพานแขวน” สร้างเมื่อ พุทธศักราช 2525 โดยองค์การ บริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ขนาดกว้าง 2.50 ม. ยาว 700 ม. ฐานรากและเสาเป็นคอนกรีต จำนวน 5 จุด พื้นทำด้วยไม้โยงยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตสามารถใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์สัญจรไปมาได้ แต่ปัจจุบันเป็นสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำปิง
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
แปลงผักสวนครัวเศรษฐกิจพอเพียง
แปลงผักสวนครัวเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๒ ตำบลป่ามะม่วง เป็นโรงเรียนในชุมชนคุณธรรมฯ วัดอัมพวัน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม โดยมีผู้บริหารที่มีมุมมองในการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาควบคู่ไปกับคุณธรรม โดยยึดหลัก วินัย พอเพียง สุจริต จิตอาสา ใช้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้นักเรียนได้เรียนรู้การปลูกผัก นำไปแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนและสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
กิจกรรมการท่องเที่ยว
กราบพระพุทธรูปในอุโบสถวัดอัมพวัน
วัดอัมพวันมีพระอุโบสถเก่าแก่ ประดิษฐานพระประธาน ที่มีอายุราวสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยได้รับพระราชทานวิสุคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔
กราบสักการะศาลหลักเมืองตาก
ศาลหลักเมืองตาก (ศาลเก่า) ตั้งอยู่ที่บ้านปากร้อง หมู่ที่ 6 ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตอนนั้นเกาะตะเภายังเป็นเมืองหน้าด่านอยู่ ป่ามะม่วง ระหว่างที่พักได้พิจารณาเห็นสมควรตั้งบ้านป่ามะม่วงเป็นเมืองหน้าด่าน เพราะจะทำให้ได้เปรียบข้าศึก เหมาะสำหรับทั้งรุกและรับ ประกอบกับมีทางหนีทีไล่ที่ดีจึงมีรับสั่งให้ฝังหลักเมืองทันทีตั้งแต่บัดนั้น และยังปรากฏให้เห็นอยู่ในขณะนี้
ชมโบราณสถานวัดดอยข่อยเขาแก้ว
วัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพระเจ้าตากสิน” เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติในการทำศึกสงคราม โดยครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ตั้งทัพหลวงในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยมีทำเลชัยภูมิที่เหมาะแก่การตั้งทัพ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคาร ก่ออิฐถือปูนแบบ ศิลปะอยุธยา ตอนกลางถึงตอนปลายมีลานประทักษิณ และกำแพงแก้วล้อมรอบ ฐานก่ออิฐของวิหารพลับพลาที่ประทับ พลับพลาสำหรับข้าราชการตามเสด็จ พระเจดีย์ราย ๓ องค์ ศาลเสด็จแม่นกเอี้ยง และศาลเสด็จพ่อไหฮอง เป็นศาลที่ตั้งขึ้น เพื่อบูชาพระราชมารดา และพระราชบิดา ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช บ่อหมักปูนโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้หมักปูน เพื่อทำปูนปั้นประดับพระอุโบสถและวิหาร วัดดอยข่อยเขาแก้ว ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘
สักการะศาลหลักเมือง 4 มหาราช
ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ติดถนนพหลโยธินด้านขวา เชิงสะพานกิตติขจรก่อนเข้าเมืองตาก เป็นสถานที่ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของทำเลที่ตั้งจังหวัดตาก ที่มีความเหมาะสมในการวางแผนเตรียมการรบมาหลายยุคสมัยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยาและธนบุรี ศาลหลักเมือง ๔ มหาราช จึงเป็นสถานที่ที่จะพาเราย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรือง แห่งตำนานมหาราชทั้งสี่ของดินแดนไทย อันสืบเนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองตากเป็นเมืองที่มีพระมหาราชเข้าในอดีต เสด็จมาชุมนุมกองทัพถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดกลางสวนดอกไม้
วัดกลางสวนดอกไม้ มีสภาพแวดล้อมโดยรอบวัดเป็นหมู่บ้าน และภูเขา สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2459 บางครั้งเรียกกันว่า วัดกลางสวนดอก หรือ วัดสวนดอกไม้ วัดนี้มีเจดีย์เก่าเรียกกันว่าเจดีย์เสี่ยงทาย จากการกล่าวขานกันว่าพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งที่ได้มาเป็นเจ้าเมืองตาก ได้สร้างขึ้นไว้ก่อนแล้วต่อมาชำรุด และได้มีการบูรณะครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2490 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2522 หอสวดมนต์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2517 กุฎีสงฆ์เป็นอาคารไม้ จำนวน 1 หลัง หอฉัน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2514 และมีหอระฆัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520
ชมการสาธิตการทำเมี่ยงโบราณ
เนื่องจากจังหวัดตากของเรามีประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1000 ดวง ซึ่งทำให้ในแต่ละปีมีการใช้กะลามะพร้าวเป็นจำนวนมาก ในการทำกระทง จึงได้มีการนำเนื้อมะพร้าวมาทำเป็นไส้เมี่ยง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง ที่โด่งดังของจังหวัดตาก จึงเป็นอาหารทานเล่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวจังหวัดตาก ทำมาจากมะพร้าวแก่ ถั่วลิสง น้ำตาลทราย เกลือ กระเทียมขิงแก่ ใบมะกรูด และงาขาว มาขูดเป็นเส้นตั้งบนกระทะ ใส่น้ำมันมะพร้าว ใช้ความร้อนปานกลางเคี่ยวให้เป็นสีเหลืองแล้วจึงใส่น้ำตาลทราย เกลือ รอจนน้ำตาลทรายละลายจากนั้นใส่ส่วนผสมกระเทียม ถั่วลิสง ขิงแก่ และใบมะกรูดเคี่ยวไปจนมะพร้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
ชิมก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นป้าคำบ้านป่ามะม่วง
เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นโบราณสูตรเด็ด หมักด้วยสมุนไพร และเครื่องเทศ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ รสชาติกลมกล่อมมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศและสมุนไพร ในราคาย่อมเยา มีปริมาณที่คุ้มค่าเกินราคา
ชมสะพานแขวนสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี
เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก อาจกล่าวได้ว่าจุดชมวิวแม่น้ำปิงที่ดีที่สุดของจังหวัดตากคือมุมมองจากบนสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่ใคร ๆ พากันเรียกว่า “สะพานแขวน” แห่งนี้ ที่นี่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2525 ตัวสะพานมีขนาด กว้าง 2.50 ม. ยาว 700 ม. ฐานรากและเสาเป็นคอนกรีต จำนวน 5 จุด พื้นทำด้วยไม้โยง และยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ บนสะพานมีระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร ในตอนกลางคืนนั้นจะมีการประดับไฟสวยงาม ทำให้ตัวสะพานแลดูสว่างไสวโดดเด่นเหนือผืนน้ำสีเข้ม นอกจากนี้บริเวณโดยรอบสะพานยังมีสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์สวยงาม และเป็นสถานที่ที่จังหวัดตากใช้จัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง
ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม