วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ที่ตั้ง 249 ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
๑. วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ สร้างขึ้นในระหว่างช่วงสมัยอู่ทอง และอาจเก่าจนเลยถึงสมัยลพบุรี โดยไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางศิลปะ และจารึกในพงศาวดาร ทำให้เชื่อได้ว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 1200 ปี จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ. 2478 โดยวัดป่าเลไลยมีโบราณสถาน สำคัญคือ วิหารหลวงพ่อโต เป็นองค์ประธานของวัด ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต บริเวณระเบียงคต ยังมีจิตรกรรมฝาผนัง วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ให้ได้ชมกันอีกด้วย นอกจากนี้ ด้านทิศใต้ของวัดป่าเลไลยก์ ยังมีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี เป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรพอเพียง อนุรักษ์พันธุ์กล้วยหายากในประเทศไทย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุพรรณบุรีอีกด้วย
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
 09 2590 9595
๕. ช่องทางออนไลน์
https://www.facebook.com/Watpalalaiworawihan/
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก
 ห้องน้ำ / ทางลาด / ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว / ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี

ชุมชนคุณธรรมวัดแค ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนกึ่งเมือง มีอาณาเขตติดกับเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ที่มีวัดแคเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมของชุมชน โดยมีท่านพระครูไพศาลธรรมวงศ์เป็นเจ้าอาวาสวัดแคเป็นผู้นำพลังบวรที่เข้มแข็ง

ชุมชนคุณธรรมวัดแคเป็นชุมชนที่โดดเด่นด้านศาสนา ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี มีแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา โดยมีวัดแคซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดแคเป็นวัด   ในตำนาน หรือนิทานเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผนมีรูปปั้นพระอาจารย์คงนั่งอยู่บนหลังพญาต่อยักษ์ รั้วติดกับวัดแคมีคุ้มขุนแผนซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมีเรือนไทย และต้นมะขามยักษ์ซึ่งเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ตลาดชุมชนบ้านค่ายเก่าวัดแค
ตั้งอยู่ภายในวัดแคบริเวณริมแม่น้ำท่าจีนมีการจำหน่ายขนมพื้นบ้านอาหารพื้นถิ่นของชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ตลาดชุมชนบ้านค่ายเก่าวัดแค เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

คุ้มขุนแผน
เป็นบ้านเรือนไทย ที่ปลูกขึ้นตามแบบเรือนไทยในสมัยก่อน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ชมได้ศึกษารูปแบบของเรือนไทยที่สวยงามและทรงคุณค่า รูปแบบเรือนคุ้มขุนแผน มีลักษณะเป็นมุกยื่นออกมาด้านหน้า บันไดทางขึ้นกว้างเท่ากับมุกด้านหน้า ส่วนตรงกลางเป็นโถงกว้าง ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นเรือนลูกเชื่อมต่อออกไป ด้านหลังมีเรือนครัวซึ่งจำลองห้องครัวในอดีต

รูปปั้นพระอาจารย์คงนั่งพญาต่อยักษ์
ตามตำนานเล่าว่าขุนแผนได้เสกใบมะขามจากต้นมะขามบริเวณวัดแค ให้เป็นตัวต่อเพื่อโจมตีข้าศึก ตัวต่อจึงกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัดแค ทางวัดจึงได้สร้างรูปปั้นพระอาจารย์คงนั่งพญาต่อยักษ์ โดยมีคติความเชื่อว่าถ้ามาลอดจะเป็นสิริมงคล ต่อเงินต่อทอง ต่อโชคต่อลาภ รวมทั้งต่ออายุ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี
ต้นมะขามยักษ์ วัดแค ขนาด ๗ คนโอบ เส้นรอบวง ๑๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร เชื่อกันว่ามีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปีแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นงดงาม เรียกกันว่า ต้นมะขามคู่บุญขุนแผน กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ต้นมะขามยักษ์วัดแค เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าของชาติ “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐

จุดให้อาหารปลา หน้าวัดแค
จุดให้อาหารปลาริมแม่น้ำท่าจีนอยู่ภายในบริเวณวัดแค ใกล้กับคุ้มขุนแผน โดยจะมีอาหารปลาทั้งแบบเม็ดและขนมปัง ให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี
เป็นสถานที่พัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วยหายากในประเทศไทย เป็นแหล่งให้อบรมให้ความรู้ด้านการทำสวนกล้วยตลอดจนถึง ดำเนินการศึกษาวิจัย/เพาะพันธุ์/จัดตั้งโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติเพื่อเปิดให้บุคคลผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าเพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์เพื่อพัฒนารูปแบบการทำสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้สัมผัสบรรยากาศบริสุทธิ์แบบธรรมชาติ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ตลาดชุมชนบ้านค่ายเก่าวัดแค ตลาดชุมชนบ้านค่ายเก่าวัดแค เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของชุมชนคุณธรรมวัดแค ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม สำหรับประชาชนและเยาวชนได้แสดงออกในความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ศิลปการแสดง ดนตรี และการแสดงอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม