ชุมชนคุณธรรมวัดไทยวัฒนาราม จังหวัดตาก

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดไทยวัฒนาราม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม อาทิ ชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชาติพันธุ์ไทยท้องถิ่น ชาติพันธุ์เมียนมา ชาติพันธุ์ลาวเวียง ชาติพันธุ์ปะโอ่ หรือ “ชาวต้องสู้” ชาติพันธุ์ยะไข่ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาติพันธุ์ปะหล่อง ชาติพันธุ์คะฉิ่น ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ริมห้วยเล็ก ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสาหร่ายทะเล จึงได้ให้ชื่อว่า “แม่ตาว” อันหมายถึงคลองที่เต็มไปด้วย สาหร่ายทะเล ดังที่ปรากฏในจารึกประวัติหมู่บ้านแม่ตาว ณ วัดไทยวัฒนาราม เมื่อได้พบเห็นความอุดมสมบูรณ์และความสงบร่มเย็น จึงได้ตัดสินใจหักร้างถางพงจับจองตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้ และตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านแม่ตาว”  ตามชื่อลำห้วย ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวไทใหญ่ 

คนในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ มีภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ มีภาษา วิถีชีวิต ศาสนาความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม การละเล่น ที่มีการประสมประสานระหว่างไทยกับเมียนมา ทำให้การดำรงชีวิต การค้าขาย การประกอบอาชีพ และการดำเนินกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นไปอย่างสะดวก เป็นชุมชนชาติพันธุ์แบบอย่างท่ามกลางสภาวการณ์ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคม

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดไทยวัฒนาราม
เป็นวัดที่รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากเมียนมา และมีประดิษฐาน และสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม ประกอบด้วย
พระพุทธมหามุนีพระหินอ่อนหยกขาว พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ด่านท่าข้าม ทางเรือ แยกระหว่างไทย-เมียนมา
เป็นด่านท่าข้ามธรรมชาติ ที่สร้างขึ้นจากร่องรอยการเดินข้ามยามน้ำลดในอดีตของคนไทย และเมียนมาที่ไปมาหาสู่กัน และเมื่อน้ำหลาก จะใช้เรือเล็กสำหรับพายข้ามฝั่งได้ ปัจจุบันได้มีการสร้างให้มีทางเดินลง และข้ามฝั่งโดยมีท่าเรือที่แข็งแรงมีเรือยนต์สำหรับโดยสารข้ามไป-มา ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งท่าดังกล่าวสร้างขึ้นและบริการเรือรับส่งโดยนายทุน เอกชนที่เข้ามาดำเนินการในฝั่งเมียนมา ปัจจุบันมีท่าข้ามจำนวน ๓ จุดใหญ่ ๆ การเดินทางจากวัดไทยวัฒนาราม ไปยังท่าข้ามธรรมชาติ ประมาณ ๑ / ๒/ ๓ กิโลเมตร

ตลาดริมเมย
ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทย และสหภาพพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง ปลาแห้งปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีที่มาจากสหภาพเมียนมาระยะทางจากวัดไทยวัฒนารามไปตลาดริมเมยประมาณ ๒ กิโลเมตร

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ไร่มณีทิพย์
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เป็นแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีชีวิตชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และภูมิปัญญาต่างๆ 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สักการะพระพุทธมหามุนี
วัดไทยวัฒนาราม พระพุทธมหามุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านเมืองของบ้านแม่ตาวที่จำลองมาจากพระมหามัยมุนี หนึ่งในห้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวมัณฑะเลย์ สหภาพเมียนมา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวจังหวัดตากศรัทธาเลื่อมใสไม่เฉพาะแต่ชาวไทใหญ่และชาติพันธุ์ท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าผู้ใดมีโอกาสกราบไหว้สักการบูชาอธิฐานขอพร ผู้นั้นจะมีแต่ความสุขความเจริญ การกราบไหว้ขอพรจะต้องนำกิ่งใบของต้นชนะภัย พนมมือ เดินวนซ้ายมือพร้อมกับบทสวดอิติปิโส จำนวน ๓ รอบ 

สักการะพระหินอ่อนหยกขาว
วัดไทยวัฒนาราม พระหินอ่อนหยกขาว พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาว ๙๓ ศอก ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและไทใหญ่

สักการะพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์
วัดไทยวัฒนาราม พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ เจดีย์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ซึ่งล้วนเป็นศิลปะแบบเมียนมาและไทใหญ่ทั้งสิ้น ที่มีความวิจิตรสวยงาม ระวิบระวับ และสะท้อนกับแสงได้สวยงามมาก

เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของชาติพันธุ์ เครื่องประดับ ของฝาก ของที่ระลึก
วัดไทยวัฒนาราม ร้านค้าประชารัฐภายในวัด จำนวน ๓ ร้าน ร้านจำหน่ายของกลุ่มสตรีของหมู่บ้านจำนวน ๓ กลุ่ม ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภท เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของชาติพันธุ์ เครื่องประดับ ของฝาก ของที่ระลึก

เลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองที่ตลาดริมเมย
ตลาดริมเมย ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทย และสหภาพพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสี ที่มาจากสหภาพเมียนมา ระยะทางจากวัดไทยวัฒนารามไปตลาดริมเมย ประมาณ ๒ กิโลเมตร

เยี่ยมชมโบราณสถานคอกช้างเผือก
โบราณสถานคอกช้างเผือก เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นสำคัญในสมัยกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชลักษณะทั่วไปคอกช้างเผือกนี้เป็นกำแพง ก่ออิฐโบกปูน รูปสี่เหลี่ยม ปากคอกกว้าง ๑๕ เมตร เป็นรูปสอบเล็ก ๆ ขนานกันไปทั้งสองด้าน ยาวประมาณ ๕๐ เมตร ตั้งอยู่เขตบ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวดตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ (ตาก-แม่สอด) ก่อนถึงตลาดริมเมย ประมาณ ๑ กิโลเมตร เลี้ยวขวาผ่านหน้าวัดไทยวัฒนารามตามทางลาดยาง ประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโราณสถาน

สักการะพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่
พระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ วัดพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ในสถูปเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่า “พญาล่อง” ตั้งอยู่บนภูเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญขนาดเล็กสร้างไว้บนก้อนหินด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ ลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนชะง่อนผากิ่วคอดเหมือนจะขาดออกจากกัน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม