ศูนย์เรียนรู้ทำข้าวแคบ

๑. ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มทำ “ข้าวแคบ” ชุมชนยางกะไดใต้
๒. ชื่อผู้ประกอบการ
นางสาวกัญญาวีร์ วันสุข
๓. ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ ข้าวแคบ
เป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป็นแผ่นแป้งบางๆ ที่ได้จากการไล้น้ำแป้งที่ผสมงาดำ เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ลงบนผ้าที่วางบนปากหม้อดินขณะที่มีไอน้ำเดือดเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อ โดยแผ่นแป้งที่ได้มีลักษณะเป็นวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 นิ้ว ถึง 8 นิ้ว เมื่อแผ่นแป้งสุกแล้วนำแผ่นแป้งไปตากให้แห้งจะได้ “ข้าวแคบแห้ง” มีทั้งแบบธรรมดาและปรุงรส สามารถฉีกรับประทานได้ทันทีเป็นอาหารว่าง หรือนำไปห่อกับเส้นหมี่คลุกกับเครื่องปรุงรสตามใจชอบ หรือที่ชาวลับแลเรียกว่า “หมี่พัน ”
๓.๒ ชื่อผลิตภัณฑ์ ขนมจีนตากแห้ง
รายละเอียดความโดดเด่นสั้นๆ เป็นการแปรรูปจากขนมจีนสดให้เป็นขนมจีนแห้งโดยการนำขนมจีนสดหรือหมักมาผึ่งแดด โดยตากกับหญ้าคาเก็บไว้รับประทานเป็นเวลานานได้ ชาวลับแลนิยมนำขนมจีนตากแห้งมาประกอบอาหาร เช่น ใส่ยำ (ซ่า) ใบมะม่วง ซ่าผักกาด ใส่แกงผักต่างๆ ราดหน้า และอื่นๆ อีกหลากหลายเมนู ปัจจุบันยังได้นำขนมจีนตากแห้งมาทอดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมได้อย่างดี
๔. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เวลา 09.00 น. – เวลา 17.00 น.
๕. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
08 3956 1974
๖. ช่องทางออนไลน์
Facebook งานประชาสัมพันธ์เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ – เมืองลับแล

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมา จังหวัดพะเยา

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมา เป็นชุมชนไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองมาง ในสิบสองปันนา ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้ สิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้ชาวไทลื้อปฏิบัติตามจารีตเดิม คือการนับถือผีควบคู่กับพระพุทธศาสนามีการดำรงชีวิตอยู่กันอย่างสงบ เรียบง่าย และร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวิถีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาวไทลื้อเมืองมางให้คงอยู่  อาทิ การแต่งกายภาษา เป็นต้น 

ชุมชนคุณธรรมวัดแสนเมืองมาเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นชุมชนไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองมาง ในสิบสองปันนาที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ ใช้ภาษาไทลื้อเป็นภาษาสื่อสารในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ “แอ่วเฮือนลื้อ แต่งกายชุดลื้อ กินอาหารลื้อ และพูดภาษาลื้อ” ชุมชนมีนักเล่าเรื่องของชุมชนคอยต้อนรับให้ข้อมูลและบริการนำเที่ยวในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง โดยทุกวันพุธแรกของเดือนมีตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” ชิมอาหารไทลื้อ อาทิ จิ้นซ่ำพริก ปลาปิ้งอบ แอ่งแถะ ถั่วโอ่ (ถั่วเน่า) ชมการแสดงพื้นบ้าน การฟ้อนไทลื้อ การบรรเลงดนตรี “บ้านมางบันเทิงศิลป์” และมีของฝากจากชุมชน อาทิ ข้าวแคบ ข้าวแต๋นซี่ กะละแม ผ้าทอไทลื้อ และที่พักโฮมสเตย์ ในชุมชนไทลื้อใกล้เคียง เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วิหารไทลื้อวัดแสนเมืองมา
สร้างตามแบบศิลปะไทลื้อผสมล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงาม หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม บนพื้นสลักลายสวยงาม บันไดทางเข้าเป็นรูปพญานาค ซึ่งมีเขากวางประดับด้วย ประตูด้านข้างทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตูภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้านบอกเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดแสนเมืองมา
เป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในอดีตเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น รวมทั้งอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด สร้างสรรค์ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงเนื้อหา
แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1. จัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดพะเยา
2.จัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
3.เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสนเทศ สืบสาน ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง”
ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” เป็นตลาดที่ให้คนในชุมชนนำพืชผักสวนครัว ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และมีการแสดงดนตรี ศิลปะการแสดงไทลื้อ ทุกวันพุธแรกของเดือน 

เฮือนไทลื้อเมืองมาง
เป็นอาคารเรือนไทลื้อจำลองของชาวไทลื้อเมืองมาง ในอดีตที่แสดงลักษณะและองค์ประกอบของการสร้างเรือนไทลื้อเมืองมางในสิบสองปันนา เพื่ออนุรักษ์ มรดกภูมิปัญญาการสร้างเรือนไทลื้อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปศึกษา  

หอเทวดาหลวงเมืองมาง
ชาวไทลื้อเมืองมางนับถือเทวดาหลวงเมืองมาง คือเจ้าเมืองที่ปกครอง เมืองมางใน อดีตซึ่งชาวเมืองมาง ให้ความเคารพยกย่อง และนับถือวิญญาณของเจ้าเมืองเหล่านั้นให้เป็นเทวดาผู้ดูแลความสงบร่มเย็น และถือเป็นต้นตระกูลของชาวเมืองมางทั้งหมด จะทำพิธีเลี้ยงเทวดาหลวงเมืองมาง ปีละ ๑ ครั้ง เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีของคนในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ฐานการเรียนรู้ภายในวัดแสนเมืองมา
กิจกรรมสาธิตและถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำข้าวแคบ ข้าวแต๋นซี่ และกะละแม การตัดตุงไส้หมู ทำของฝากของที่ระลึก พวงกุญแจแม่เหล็กติดตู้เย็น โดยกลุ่มภูมิปัญญาพื้นบ้าน 

นั่งรถราง เพื่อไปเรียนรู้ฐานกิจกรรมในชุมชน

  • ฐานการเรียนรู้ถั่วงอก
  • ฐานการเรียนรู้ภาพวาดวิถีไทลื้อ
  • ฐานการเรียนรู้ถั่วโอ่
  • ฐานการเรียนรู้หอเทวดาหลวงเมืองมาง
    นั่งรถราง ชมความงดงามของชุมชนวัดแสนเมืองมา และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สวนสุขภาพ 100 ปี จากนั้นร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ภายในชุมชน อาทิ
    -การเพาะถั่วงอก
  • ภาพวาดวิถีไทลื้อ
  • การทำถั่วโอ่ และหอเทวดาหลวงเมืองมางเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของชุมชน


ชมการศิลปะแสดง และชมตลาดชุมชน ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง

ถนนสายวัฒนธรรมไทลื้อ “กาดเมิงมาง” ภายในวัดแสนเมืองมาเป็นพื้นที่ ที่คนในชุมชนนำพืชผักสวนครัว ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมาจำหน่าย มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม มีขันโตกแคร่ไม้ไผ่ไว้บริการนักท่องเที่ยว ทุกวันพุธแรกของเดือน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมต้าตงกอกซอย จังหวัดตาก

“ชุมชนต้าตงกอกซอย” เป็นชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่น ตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นท่าน้ำ มีสะพานไม้ไผ่ยื่นตรงลงไปในแม่น้ำปิง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการค้าขายมานานกว่า ๘๐ ปี ศูนย์กลางตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าขนาดใหญ่ของอำเภอบ้านตาก ในอดีตเป็นทั้งท่าเรือและท่ารถโดยสารที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คน ใช้สัญจรข้ามฟากระหว่างแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก

วิถีชีวิตเรียบง่ายผูกพันกับสายน้ำ บ้านเรือนสร้างด้วยไม้สักโบราณ มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเองและเป็นต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทงสายของจังหวัดตาก ด้วยความโดดเด่นดังกล่าวทำให้ชุมชนต้าตงกอกซอย มีการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา เรียกว่า “กาดต้าตง” เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนได้ทุกมิติ

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก
วัดพระบรมธาตุ บ้านตาก บรรจุพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า  (พระธาตุประจำปีมะเมีย) ความศักดิ์สิทธิ์ ขององค์หลวงพ่อทันใจทำให้ประชาชนทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามานมัสการและกราบไหว้พระบรมธาตุอย่างไม่ขาดสาย

วัดพระบาท ดอยโล้น
วัดพระพุทธบาทดอยโล้น มีสมเด็จมหาสากยะมุณีศรีสรรเพชร พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่มีพุทธลักษณะงดงาม หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร สูง ๓๘ เมตร ประดิษฐานอยู่บนเนินเขามองเห็นแต่ไกล รอยพระพุทธบาทที่อยู่บนเขาสูงชันโดยมีมณฑปสร้างครอบไว้ และในบริเวณเดียวกันยังมีบ่อน้ำธรรมชาติ เป็นหลุมลึกลงไปภายในหินผา อย่างน่าประหลาด มีน้ำซึมอยู่ภายใน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งมีผู้ไปสวดมนต์หรืออธิษฐานจิตบริเวณบ่อน้ำทิพย์ ปรากฏน้ำผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างน่าอัศจรรย์ ตามตำนานกล่าวว่าหากมีผู้หญิงไปตักน้ำในบ่อแห่งนี้น้ำจะแห้ง แต่ถ้าเป็นผู้ชายตักน้ำในบ่อจะไม่มีวันแห้ง

บ้านวัฒนธรรม “ถนนสายวัฒนธรรม ต้าตงกอกซอย”
เป็นสถานที่รวบรวมความรู้ทางประวัติความเป็นมาของชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ฐานเรียนรู้วาดภาพศิลปะ การทำโคมล้านนา การประดิษฐ์กระทงกะลา การทำข้าวแคบ การทำอาหารพื้นถิ่น แกงมะแฮะ แกงหัวตาล

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน
อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีซากดึกดำบรรพ์ (fossil)     ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood) อายุประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ปี คาดว่ามีความยาวที่สุดในโลก โดยมีความยาวประมาณ ๗๒.๒๒ เมตร ซึ่งซากฟอสซิลดังกล่าวไม่สามารถประเมินค่าได้ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความโดดเด่น ซึ่งจะต้องได้รับการคุ้มครองและพัฒนา โดยคำนึงถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน ได้ดำเนินการขุดเปิดไม้กลายเป็นหินให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ทั้งหมด ๗ ต้น ซึ่งแต่ละต้นมีความแตกต่าง ในส่วนของโครงสร้างและความสมบูรณ์ของซากไม้กลายเป็นหิน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้บ้านปากร้องห้วยจี้
บ้านปากร้องห้วยจี้ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ที่นี่มีวิถีชุมชนของคนพื้นถิ่นแท้ ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัส บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานและต้นตาล ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับต้นไม้สองชนิดนี้โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการ (ปีน) ขึ้นตาลขึ้นลาน เป็นความสามารถพิเศษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนของใบลานนำมาพัฒนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ นั่นคือ หมวกใบลานและหมวกใบตาล หมวกของที่นี่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด ไม่ได้ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วยแต่อย่างใด อาศัยความเชี่ยวชาญและฝีมือของชาวบ้านล้วน ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตรเช้า
บริเวณถนน ในชุมชนต้าตงกอกซอยเป็นกิจกรรมที่ชาวชุมชนคุณธรรมฯ ต้าตงกอกซอย จัดให้กับผู้มาพักโฮมสเตย์ที่ต้องการตักบาตรพระสงฆ์ในช่วงเช้า โดยจะจัดเป็นตะกร้า โดยในตะกร้าจะประกอบด้วยข้าวสุกห่อใบตองและอาหารคาวหวาน ชุดธูปเทียนและข้าวตอก เพื่อถวายพระ

ล่องเรือชมปิง
บริเวณท่าน้ำ ต้าตง ล่องเรือชมทัศนียภาพแม่น้ำปิง ค่าโดยสารคนละ ๓๐ บาท

พิธีบายศรีสู่ขวัญและรับชมชุดการแสดงท้องถิ่น
บริเวณท่าน้ำต้าตง

การทำโคมต้าตง
ณ บ้านเลขที่๒๓๗ หมู่ที่ ๖ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โคมลอยต้าตงเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เกิดจากฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรจงประดิษฐ์ให้มีรูปแบบที่สวยงามตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่น การปล่อยโคมลอยเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่มีมาแต่โบราณ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ให้หมดจากทุกข์โศกและโรคภัยต่าง ๆ

การทำข้าวแคบและการยำข้าวแคบ
ณ บ้านเลขที่๒๓๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ข้าวแคบหรือข้าวเกรียบงาดำ เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวอำเภอบ้านตากที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น เป็นได้ทั้งอาหารคาวและอาหารว่างการทำข้าวแคบ เป็นการนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดดให้แห้ง ทำให้สุกโดยปิ้งหรือทอด ปัจจุบันนิยมทานแบบสดโดยไม่ต้องนำไปตากแดดให้แห้ง

การทำกระทงกะลา
ณ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม “กาดต้าตง”ต้นกำเนิดประเพณีกระทงสาย  มาจากภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น การนำเอามะพร้าวมาแปรรูปเป็นอาหารว่าง เรียกว่า “ไส้เมี่ยง” ส่วนของกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านโดยไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงสร้างสรรค์นำกะลามะพร้าวมาลอยกระทง ภายในกะลามีด้ายดิบฟั่นเป็นรูปตีนกาหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งสำหรับจุดไฟ ก่อนที่จะปล่อยลงลอยไปตามลำน้ำปิงแบบไม่ขาด

สาธิตการสานหมวกใบลาน
บ้านปากร้องห้วยจี้ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก หมู่บ้านท่องเที่ยว เชิงหัตถกรรม ที่นี่มีวิถีชุมชนของคนพื้นถิ่นแท้ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัสบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานและต้นตาล ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับต้นไม้สองชนิดนี้โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการ (ปีน) ขึ้นตาลขึ้นลาน เป็นความสามารถพิเศษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนของใบลานนำมาพัฒนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ นั่นคือ หมวกใบลานและหมวกใบตาล หมวกของที่นี่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมดไม่ได้ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วยแต่อย่างใดอาศัยความเชี่ยวชาญและฝีมือของชาวบ้านล้วน ๆ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม