ชุมชนคุณธรรมบ้านก๋ง จังหวัด น่าน

บ้านก๋ง ในอดีตเรียกว่าชาวเมืองยมชาวเมืองยมนี้  เป็นชาวเชื้อสายไทลื้อ ชาวยอง ชาวไทยวน อพยพมาจากทางเหนือ และกระจัดกระจายไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีเจ้าหลวงปกครองเมืองตลอดมา ในสมัยพญามังคาวนั้น มีวัวดุร้ายตัวหนึ่งเที่ยวไล่ขวิดผู้คน จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต วัวนั้นจะดูดกินเลือดของผู้ตาย จนเป็นที่น่าหวาดกลัวของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหลวงพญามังคาว คิดหาวิธีป้องกันไม่ให้วัวโพงเข้ามาทำร้าย ชาวบ้าน โดยให้ขุดคือเมืองล้อมรอบหมู่บ้านและคิดทำก๋งธนู ทำด้วยเหล็กอย่างดี จากเมืองอวนลูกดอกอาบยาพิษร้ายแรง เจ้าหลวงใช้ก๋งธนูยิงวัวโพง ตัวนั้นจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหนี ในที่สุดก็พบวัวโพงนอนตายในป่าใกล้กับหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่ เจ้าหลวงพญามังคาว จึงเอาก๋งธนูไปฝังไว้ ในบริเวณบ้านของท่าน หมู่บ้านแห่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านก๋ง สืบมาจนถึงปัจจุบัน  

ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านก๋งเป็นชุมชนที่มีความรัก ความสามัคคี ชุมชนมีความเอื้ออาทร มีการรักษาศิลปวัฒนธรรม มีพิพิธภัณฑ์ในหมู่บ้าน มีวัดศรีมงคลที่สร้างด้วยไม้สักเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีจิตรกรรมฝาผนัง
ที่สวยงาม มีผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนให้ความเคารพนับถือผู้นำ ปราชญ์ชุมชน และมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น รดน้ำดำหัว ผู้สูงอายุ ,ประเพณีวันสงกรานต์, ทานสลากภัตร ตานธรรมหลวง เข้ากรรม   รุกขมูล  หมอพื้นบ้านและอื่น ๆ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดศรีมงคล ( ก๋ง )
วัดศรีมงคล (ก๋ง) ตั้งอยู่ที่ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน  เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395 ด้านหลังวัด มีลานชมวิว ซึ่งมีทัศนียภาพที่งดงาม มองเห็นทุ่งนาเขียวขจี และทิวเขาของดอยภูคา เรียงรายสลับซับซ้อน บริเวณนาข้าวมีที่พัก และร้านกาแฟฮักนาน่าน มีสะพานไม้ไผ่เชื่อมจากตัววัดสามารถลงไป เดินเล่นถ่ายภาพได้ 

พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี วัดศรีมงคล(ก๋ง )
พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี วัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของท่านพระครูรังสีธรรมานันท์ เจ้าอาวาสวัดศรีมงคล(ก๋ง) แต่เดิมเป็นกุฏิเก่าของหลวงปู่ครูบาบ้านก๋ง พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังเป็นแบบเรือนไม้ศิลปะล้านนา 2 ชั้น เป็นที่เก็บรวมรวมวัตถุโบราณต่าง ๆ และของเก่าแก่หายาก 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำชุมชนบ้านก๋ง
อ่างเก็บน้ำชุมชนบ้านก๋งเป็นอ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านก๋งในการเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตรของชุมชน หมู่บ้าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวัดศรีมงคล (ก๋ง )
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวัดศรีมงคล ( ก๋ง ) เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทางวัดได้ดำเนินการเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยพืช เป็นต้นแบบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวผักปลอดสารพิษในชุมชนบ้านก๋ง

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวชุมชนบ้านก๋ง วัดศรีมงคล
ชุมชนบ้านก๋งวัดศรีมงคล เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านก๋งที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามของธรรมชาติ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาในชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ สวนเกษตร
แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ชุมชนบ้านก๋ง

กิจกรรมแอนข้าวแคบ
ชุมชนบ้านก๋งวัดศรีมงคลกิจกรรมแอนข้าวแคบเป็นกิจกรรมที่ทางชุมชนจัดทำขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยว
ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสาธิตการแอนข้าวแคบเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน

กลุ่มคนเฒ่าเฝ้าวัด
ชุมชนบ้านก๋งวัดศรีมงคล กลุ่มคนเฒ่าเฝ้าวัดเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชน ได้จัดแสดงการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การทำตุง ทำโคม สาธิตการทำขนม อาหารพื้นบ้านจัดแสดงให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนบ้านก๋งได้ชื่นชม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว จังหวัด น่าน

ความงามของวิถีชาวไทลื้อแห่งบ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2365 หรือประมาณ 180 ปี โดยสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อแคว้น สิบสองปันนา ในปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของตนเองไว้อย่างมั่นคง ปัจจุบันบ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ เป็นที่รู้จักของคนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยภาษาพูด ที่เป็นเอกลักษณ์ การดำเนินชีวิตตามวิถีชาวไทลื้อ การแต่งกาย รวมถึงชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการสัมผัสวิถีไทลื้อของคนในชุมชน
หมู่บ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนานสาธารณรัฐประชาชนจีน มีภาษาท้องถิ่นที่ใช้สื่อสารกันในพื้นที่ คือ ภาษา “ไทลื้อ” หมู่บ้านหนองบัวแห่งนี้มีวัดหนองบัว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม วิหารแห่งนี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะและหาดูได้ยากในปัจจุบัน ภายในวัดยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยช่างเขียนได้เขียนออกมาเป็นนิยาย เพื่อเป็นคติสอนใจแก่อนุชนรุ่นหลังโดยตั้งชื่อเรื่องว่า “จันทรคราส” นับว่าเป็นจิตรกรรมที่งดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดหนองบัว
วัดหนองบัว เป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านไทลื้อ มีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมชิ้นเอกของเมืองน่าน วัดหนองบัวเป็นอาคารที่ทรงคุณค่า ในแง่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่สวยงาม และหาชมได้ยาก จากคำบอกเล่า กล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้น ในราว พ.ศ.2405 (สมัยรัชกาลที่ 4) โดยท่านสุนันต๊ะ (ครูบาหลวง)ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์เล่าเรื่องในปัญญาสชาดกซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐาน ว่าเขียนโดย “ทิดบัวผัน”

เฮือนไทลื้อวัดหนองบัว
เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในอดีตที่จัดแสดงการจำลองวิถีชีวิต การทอผ้าไทลื้อ เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทลื้อในอดีตการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อจากสิบสองพันนา การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองบัวการทำไกยี
การพัฒนาพืชธรรมชาติ (สาหร่ายไก) ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม เริ่มจากการสืบทอดวิธีการถนอมอาหารของบรรพบุรุษ โดยนำสาหร่ายไก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายภายในหมู่บ้านมาแปรรูปเป็นไกยีแล้วนำมาขาย และมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาให้ความรู้ในด้านการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีการแปรรูปสาหร่ายไก ให้เป็นสาหร่ายแผ่นกรอบ โดยนำสาหร่ายไกที่ตากแห้งปรุงรสด้วยเกลือ กระเทียม มาทอดให้กรอบ

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนเกษตรผักปลอดสารพิษชุมชนบ้านหนองบัว

กิจกรรมการท่องเที่ยว

วันเดียวแอ่วม่วน ๆ กับไทลื้อ

วันเดียวแอ่วม่วน ๆ กับไทลื้อ
• กราบไหว้พระประธานวิหารวัดหนองบัว
• ชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวจากนักเล่าเรื่องของชุมชนบ้านหนองบัว
• ฟังการเล่าประวัติความเป็นมาของบ้านหนองบัวจากนักเล่าเรื่องของชุมชนบ้านหนองบัว
• ชมการฟ้อนไทลื้อและการเล่นดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มฟ้อนและกลุ่มดนตรีพื้นบ้าน
(สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในการฝึกทางกลุ่มมีการฝึกสอน)
• ศึกษาศูนย์เรียนรู้(เฮือนไทลื้อมะเก่า) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ
• ถ่ายรูปกับ Land mark ของวัดหนองบัว
• เยี่ยมชมและศึกษากรรมวิธีการแปรรูปสาหร่ายไกและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
• เยี่ยมชมการทำไม้กวาดและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
เที่ยว 1 วัน ๓๐๐ บาท/คน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม