พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุง สุชาติ จ.นครศรีธรรมราช

ที่ตั้ง เลขที่ 10/18 ถนนศรีธรรมโศก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
 ๑. นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปินหนังตะลุงและช่างทำ รูปหนังตะลุงฝีมือดีเยี่ยมของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ริเริ่มและสืบทอดวัฒนธรรมการทำตัวหนังตะลุง รวมไปถึงการเชิดหนังตะลุงจน ที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งยังทำนุบำรุงความเป็นไทย โดยการใช้เครื่องดนตรีไทยที่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติไทย โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ไทยแลนด์ทัวริสซึ่มอวอร์ด) ประจำปี 2539 รางวัลดีเด่นประเภท วัฒนธรรมและโบราณสถาน บ้านหนังตะลุงสุชาติเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายตัวหนังตะลุงและ หนังใหญ่ อีกทั้งยัง มีการแสดงในลักษณะสาธิตในบริเวณบ้านหนังตะลุง นอกจากนี้ยังได้แบ่งพื้นที่เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดง เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน และพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงนานาชาติ
คุณลุงสุชาติ ทรัพย์สิน เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2481 ที่บ้านสระแก้ว เลขที่ 134 หมู่ที่ 5 ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสระแก้ว และได้เรียนวิธีการแกะหนังตะลุง จากนายทอง หนูขาว ซึ่งเป็นช่างแกะหนังตะลุงฝีมือดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช จนมีความ สามารถในการแกะหนังตะลุงและ หนังใหญ่ได้เป็นอย่างดีและได้เล่นหนังตะลุงด้วยสุชาติ ทรัพย์สิน มีความสามารถในการเขียนรูปและแกะตัวหนังตะลุง โดยสามารถออก แบบตัวหนังตะลุง และ หนังใหญ่ ได้ตามแบบ โบราณและแบบประยุกต์ได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้สุชาติ ทรัพย์สินยังมีความสามารถ ในการเขียน กาพย์กลอนและบทหนังตะลุง ที่บ้านของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน จะมีการสาธิตการทำตัวหนังตะลุง และมีการสาธิต การเล่นหนังตะลุงให้กับผู้ที่สนใจด้วย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีนักท่องเที่ยวทั่งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ นิยม มาดูศิลปะการแกะหนังตะลุงและการแสดงหนังตะลุงเป็นอันมากและสินค้าการแกะหนังตะลุงและหนังใหญ่ของ หนังสุชาติสามารถส่งขาย ได้เป็นสินค้าออกยังต่างประเทศที่สำคัญเพราะตัวหนังตะลุงมีคุณภาพสูงบ้านของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินนักแกะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองนคร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์เมือง เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก

ที่ตั้ง ถนนตากสิน ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
๑.จังหวัดตากได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองจังหวัดตาก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา โดยปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก(หลังเก่า) มาเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากอดีตสถานที่ดังกล่าวเคยเป็น “เรือนประทับ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเมืองตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ พิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตากที่มีอยู่จำนวนมากและเก็บรักษาไว้กระจัดกระจายในสถานที่ต่างๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน เนื้อหาการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นบนจัดเป็นห้องแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นภาพถ่ายและโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่างๆ อาทิ ถ้วยชามกระเบื้อง พระพุทธรูป เป็นต้น ชั้นล่างจัดเป็นห้องแสดงสิ่งของมีค่าของจังหวัดตาก
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐ ๕๕๕๐ ๘๗๓๓
๕.ช่องทางออนไลน์
Facebook : พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

วัดสลักเพชร และพิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชร จังหวัดตราด

ที่ตั้ง ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด 23170
๑.วัดสลักเพชร เกาะช้าง เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งบนเกาะช้าง ที่นี่มีอุโบสถไม่เหมือนวัดอื่นๆ ค่ะ เพราะที่นี่เต็มไปด้วย รูปปั้นของเทพ และสัตว์เทพในป่าหิมพานต์ รายล้อมอยู่รอบบริเวณเลยทีเดียว ให้ความรู้สึกแปลกตาออกไป แต่ก็สวยงามดี นอกจากนี้ยังมีป้ายประกอบเล่าให้รู้ถึงประวัติของรูปปั้นต่างๆ และมีรูปปั้นพญานาคล้อมอยู่ที่รอบๆ อุโบสถภายในอุโบสถใหม่ ประดิษฐาน พระพุทธชินราช เป็นองค์พระประธาน ให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านมาไหว้พระ ขอพร อีกทั้งยังมีลวดลายจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่พุทธศาสนิกชน ให้ความเคารพบูชาภายในวัดก็คือ หลวงพ่อเพชร และ งาช้าง ที่เป็นตราตั้งประจำตำแหน่งของ หลวงสลักเพชรพัฒนกิจ ซึ่งได้พระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งสร้างขึ้นจากโลหะสำริด เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทรงจีวรดอกที่มีลวดลายเป็นดอกพิกุลซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระแก้วมรกตในเครื่องทรงชุดประจำฤดูฝน ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า มีความเชื่อว่า หลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องฝนฟ้าอากาศ ช่วยขจัดปัดเป่าพายุลมฝนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน นั่นเอง

ถัดจากอุโบสถคือ พิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชร ภายในรวบรวมเครื่องใช้เก่าแก่รัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะไม้เท้าและตราตั้งประจำตำแหน่งของหลวงสลักเพชรพัฒนกิจ ซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 อีกทั้งยังมีภาพฝาผนังเป็นเรื่องราวการเสด็จประพาสต้นของ ร.5 มาที่เกาะช้างอีกด้วย
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. 
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม 08 3905 2975
๕.ช่องทางออนไลน์ – 
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/จุดบริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ จังหวัดเชียงราย

ที่ตั้ง 47/1 ม.14 ถนนเชียงราย-เชียงของ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

1.ลักษณะอาคารเป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ ภายในอาคารส่วนชั้นล่างจะมี ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องนิทรรศการประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย
ชั้นบนเป็นห้องแสดงนิทรรศการการทอผ้าโบราณมีอายุ ๑๐๐ ปี ของชาวไทลื้อบ้านศรีดอนชัยข่วงวัฒนธรรม เป็นลานกว้างสำหรับจัดแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทลื้อ กาด และศิลปะการแสดงต่าง ๆ
2.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
3.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
4.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
นายสุริยา วงศ์ชัย
เบอร์โทรศัพท์ 08 9838 5724
5.ช่องทางออนไลน์
Facebook: พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม ผ้าทอไทลื้อ – ลื้อลายคำ
6.สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์พระเจ้าเข้ากาด จังหวัดเชียงราย

ที่ตั้ง วัดหลวง ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

๑.พิพิธภัณฑ์พระเจ้าเข้ากาด รูปแบบสถาปัตยกรรมระฆังวัดหลวง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดหลวง นับเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาอีกแห่งที่สำคัญในอำเภอเชียงของ เป็นสถานที่จัดเก็บและแสดงโบราณวัตถุ รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ ตามที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว จำนวน 16 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หลายขนาด อาทิ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว จำนวน 10 องค์ พระพุทธรูปองค์เล็ก ปางต่างๆ ขนาดหน้าตักกว้าง 16 นิ้ว สูง 24 นิ้ว จำนวน 6 องค์ เช่น พระเชียงแสนแช่ พระสิงห์ พระสำเภา เป็นโบราณวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ มีการขุดพบที่ดอยพระเจ้าเข้ากาด ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหลวงประมาณ ๑ กม. สันนิฐานว่าในอดีตอาจเป็นแหล่งสร้างพระที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา เมื่อประมาณ 700 – 1,000 ปีที่ผ่านมา
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดบริการทุกวัน
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ ไม่มี
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
08 2199 3984
๕.ช่องทางออนไลน์
– Facebook : วัดพระเจ้าเข้ากาด วัดหลวง

๖.สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ / ทางลาด /ที่จอดรถ /ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวี จังหวัดชุมพร

ที่ตั้ง หมู่ที่ 15 ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
 ๑. พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุสวี เป็นสถานที่จัดแสดงพระบรมธาตุสวีมีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมเลียนแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2539 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบโอคว่ำ เหนือขึ้นไปเป็นเสาหารก้านฉัตรบัวเถาปล้องไฉน 7 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นปลียอด และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์หรือสถูป มีความหมายถึงสถาปัตยกรรมสำหรับบรรจุอัฐิหรือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีต้นกำเนิดมาจากเนินดินฝังศพในประเทศอินเดีย ก่อนจะพัฒนากลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนถึงพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา แต่ละภูมิภาคที่นับถือพุทธศาสนาล้วนมีศิลปกรรมของสร้างสรรค์เจดีย์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย มีอาคารพิพิธภัณฑ์โดยมีการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระธาตุถูกนำมาเก็บไว้ยังอาคารแห่งนี้ ภายในจะเป็นห้องอาคารชั้นเดียว
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
08 1087 6539 พระครูจันทปัญโญภาส
๕. ช่องทางออนไลน์
sawi-mc.org
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก ( ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร )

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

เมืองโบราณโนนเมือง จังหวัดขอนแก่น

ที่ตั้ง : บ้านโนนเมือง หมู่ ๔ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

๑. เมืองโบราณโนนเมือง เล่าสืบต่อกันมาว่าที่เนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองโบราณ ลักษณะเป็นเนินดินรูปไข่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๐ ไร่ ล้อมรอบด้วยคูเมือง ๒ ชั้น เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสํารวจพบใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดีปักอยู่ในเมือง และพื้นที่โดยรอบมีเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดงชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบในชั้นดินสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) ไม่พบหลักฐานของการฝังศพ สันนิษฐานว่าเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาสู่โนนเมือง ประเพณีการฝังศพจึงเปลี่ยนไป ยิ่งขุดชั้นดินลึกลงไปยิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เมืองโบราณแห่งนี้เคยมีชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตอนปลาย) พบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว ๒,๕๐๐ ปี ผู้คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผา มีทั้งลายเขียนสีลายขูดขีดและลายเชือกทาบ รวมทั้งกําไลสัมฤทธิ์ กําไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภทจอบ เคียวและกระดูกของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทําให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดํารงชีวิตด้วยการทําเกษตรกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗) และทิ้งร้างไปในที่สุด ปัจจุบันเมืองโบราณโนนเมืองได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาถึงร่องรอยโบราณคดีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยมีอาคารศูนย์ข้อมูลที่รวบรวมและจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณโนนเมือง
สิ่งที่น่าสนใจ : ใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดี ,โครงกระดูกมนุษย์ อายุราว ๒,๕๐๐ ปี
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๓๐ น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม ๐ ๔๓๓๑ ๓๔๔๖
๕. ช่องทางออนไลน์ Facebook : สำนักศิลปากรที่ ๘.
๖ .สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้า / ทางลาด / ที่จอดรถ / ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านวัดพระบรมธาตุสวี (บ้านสวี) จังหวัดชุมพร

ชุมชนคุณธรรมบ้านวัดพระบรมธาตุสวี (บ้านสวี) มีแหล่งศึกษา เรียนรู้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์คือพระบรมธาตุสวี ที่มีอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี มีศาลพระเสื้อเมือง และยังมีพิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวีมีเด็กเยาวชนและประชาชนทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาศึกษาเรียนรู้และเยี่ยมชมตลอดทั้งปี

ชุมชนมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ยังคงยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ และเครือข่ายวัฒนธรรมทำให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักษาประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเหนียวแน่น

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดพระบรมธาตุสวี วัดพระบรมธาตุสวีซึ่งเป็นวัด เก่าแก่ตั้งอยู่ในอำเภอสวีจังหวัดชุมพรติดกับแม่น้ำสวีห่างจากตัวอำเภอสวีประมาณ ๓ กิโลเมตรนักท่องเที่ยวมาสักการะพระบรมธาตุสวีซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นหนึ่งในจตุธรรมธาตุของทางภาคใต้ มีอายุเก่าแก่กว่า ๗๐๐ ปีไหว้ศาลพระเสื้อเมืองและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวี

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองสวี คลองที่อยู่บริเวณด้านหลังของพระบรมธาตุสวี ร่มรื่นไปด้วยไม้นานาพันธุ์

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เที่ยวชมพระบรมธาตุสวี และพิพิธภัณฑ์ พระบรมธาตุสวี นมัสการพระบรมธาตุสวีและเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของพระบรมธาตุสวีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นหนึ่งในจตุธรรมธาตุของทางภาคใต้ มีอายุเก่าแก่กว่า ๗๐๐ ปีและไหว้ศาลพระเสื้อเมือง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา

ชุมชนคุณธรรมวัดด่านเกวียน เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล เป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า ด่านกระโทก และเคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างโคราช-เขมร จึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้มีชื่อเรียกขานกันมาว่า “ด่านเกวียน”

“สืบสานตำนานดิน อนุรักษ์ถิ่นวัฒนธรรม เลิศล้ำหัตถศิลป์ คู่ดินด่านเกวียน” จุดเด่นที่สำคัญของชุมชนได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านด่านเกวียนที่มีความโดดเด่น และเป็นที่รู้จักกันดี เป็นงานฝีมือของชาวบ้านที่สามารถปั้นดินให้เป็นเงินได้ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน                         

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดด่านเกวียน
เป็นวัดที่อยู่คู่กับตำบลด่านเกวียนมาอย่างยาวนาน โดยคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยราชการที่ 4 เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวตำบลด่านเกวียน ที่ได้รับทั้งความศรัทธาและเลื่อมใสมาโดยตลอด

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ในพระอุโบสถวัดด่านเกวียน
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ในพระอุโบสถวัดด่านเกวียน ที่ประชาชนกราบสักการะบูชา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา ณ บ้านผู้ใหญ่เมี้ยน สิงห์ทะเล
เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านด่านเกวียนที่มีความโดดเด่น และเป็นที่รู้จักกันดีในด้านเครื่องปั้นดินเผาเป็นงานฝีมือของชาวบ้านที่สามารถปั้นดินให้เป็นเงินได้ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สะพานไม้ ๑๐๐ ปี
เป็นสะพานไม้ที่ตั้งอยู่ภายในวัดด่านเกวียน สร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำมูล โดยในอดีตนั้น ชาวด่านเกวียนได้ใช้สะพานแห่งนี้ในการเดินทางเพื่อเข้ามายังวัดด่านเกวียน และใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางภายในตำบลด่านเกวียน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมพิพิธภัณฑ์ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้น ดินเผาด่านเกวียน ชมพิพิธภัณฑ์ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

กราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ในพระอุโบสถวัดด่านเกวียน ถ่ายรูป ณ จุดเช็คอินหน้าอุโบสถ และเดินชมสะพานไม้โบราณ ข้ามแม่น้ำมูล ไปยังสวนเกษตรพอเพียง ที่อยู่บริเวณทุ่งนาของวัดและถ่ายภาพประทับใจ

เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
บ้านผู้ใหญ่เมี้ยน สิงห์ทะเล และเครือข่ายภูมิปัญญา เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ของชุมชนซึ่งจะทำให้เห็นถึงบรรยากาศการสร้างสรรค์ศิลปะงานปั้นจากภูมิปัญญาที่พร้อมให้ความรู้ได้โดยตรง ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ได้รับความรู้เท่านั้นนักท่องเที่ยวสามารถลงมือประดิษฐ์ครื่องปั้นดินเผาได้ด้วยตนเอง

ชมและช้อป
แหล่งจำหน่ายสินค้าของคนภายในพื้นที่ เช่น ร้านมดแดง โค้งพันล้านด่านเกวียน สมานเครื่องปั้น มดแดงดินเผา ลานจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

รับประทานอาหารพื้นบ้าน

ร้านโชว์ลาย , ครัวเครื่องปั้น, ตำถาดดานเกวียนส้มตำ ไก่ทอด by ป้าปุ, เจ๊แหวดก๋วยเตี๋ยวเป็ดยกซดก๋วยเตี๋ยวเป็ด สูตรโบราณ, ก๋วยเตี๋ยวกลางไร่, ขนมจีนแม่ทองดี, ข้าวกะเตี๋ยวอิ่มบุญตามสั่งร้านอาหารเหล่านี้มีจุดเด่นที่ส่วนประกอบในการประกอบอาหารมักเป็นไปตามฤดูกาล

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

เป็นชาวญวณและชาวไทญ้อนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ตั้งรกรากชายฝั่งอีกแห่งหนึ่งของหนองหารพื้นดินส่วนใหญ่เต็มไปด้วยลูกรังที่เรียกว่า”หินแห่” จึงพากันตั้งชุมชนใหม่ขึ้นเรียกว่า”ท่าแฮ่” และมาใช้เป็น”ท่าแร่” ในปัจจุบันชาวท่าแร่ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนา และเป็นกลุ่มชาวคริสต์โรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีประเพณีแห่ดาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีความเชื่อในเทวดามีคาแอล และพระแม่มารี

ภูมิทัศน์เพลิดเพลินตา เสน่หาธรรมชาติหนองหาร โบราณสถานบ้านร้อยปี สืบสานงานประเพณีแห่ดาวและจุดเทียน ศูนย์การเรียนคริสต์ศาสนางามล้ำค่าสถาปัตยกรรม สวยเลิศล้ำผังเมืองดี (ผังเมืองฝรั่งเศสโบราณ) สามัคคีเป็นศักดิ์ศรีของชุมชน ด้วยชุมชนบ้านท่าแร่ตั้งอยู่ริมฝั่งหนองหาร ทำให้อากาศที่นี่มีความบริสุทธิ์    เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมู่บ้าน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
วัดอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ที่มีชุมชนคริสตชนท่าแร่ หรือ ท่าแฮ่ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านคาทอลิกที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย และตัวโบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ยังเป็นโบสถ์รูปทรงเรือสวยงาม 

บ้านโบราณ ๑๐๐ กว่าปี บ้านโบราณของ องเลื่อง โสรินทร์
 อาคารโบราณหลังนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 269 หมู่ 6 ถนนราษฎร์เจริญ บ้านท่าแร่ เป็นของนายเลื่อง โสรินทร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) โดยช่างชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครพนมและบ้านท่าแร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) ผสมเวียดนาม ช่างก่อสร้างได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ในการก่อสร้าง แบบก่ออิฐถือปูน ไม่มีปูนซีเมนต์ ไม่มีเหล็ก แต่ช่างได้ใช้วัสดุพื้นบ้าน โดยการนำปูนขาวผสมกับทราย ยางพืชพื้นเมือง คือยางบงและน้ำอ้อยแทนปูนซีเมนต์ โครงสร้างชั้นบนส่วนมากเป็นไม้ อุปกรณ์บางอย่าง นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส 

ตึกหินโบราณ ๑๐๐ปี
บ้านโบราณหลังนี้ มีอายุประมาณ 90-100 ปี เป็นบ้านของ นายหนู ศรีวรกุล (เฮียน เรียนดึงดึง) และนางหนูนา อุปพงษ์ ซึ่งเป็นบุตรของ พระยาประจันตประเทศธานี  เจ้าเมืองสกลนครเวลานั้น  เดิมสร้างเป็นที่อยู่อาศัย  ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการสั่งปิดโบสถ์ ไม่ให้ใช้ทำพิธีใด ๆ ในทางศาสนา ชาวคริสต์จึงต้องหาสถานที่แห่งใหม่ เพื่อใช้ทำพิธีต่าง ๆ 

บ้านโบราณ ๑๐๐ กว่าปี คฤหาสน์ อุดมเดชวัฒน์

อาคารโบราณหลังนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 268 หมู่ที่ 6 ถนนราษฎร์เจริญ บ้านท่าแร่ เป็นของนายคำสิงห์ อุดมเดช หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ องเด สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French ColonialArchitecture Style) ในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) โดยช่างชาวเวียดนาม ที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครพนมและบ้านท่าแร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ปลูกอาคารแต่เดิมเป็นดินโคลนปลักควาย จึงมีการถมให้แน่น ชั้นล่างทำเป็นร้านค้า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด สิ่งจำเป็นในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งตาชั่งจีน ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัย มี  2 ห้องนอน อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีแท่นพระที่สวยงามตั้งอยู่ตรงกลางห้องโถง สำหรับตั้งกางเขน พระรูปพระเยซู รูปพระแม่มารีย์และนักบุญต่าง ๆ ไว้ให้สมาชิกในครอบครัวได้เคารพบูชาและสวดภาวนา พร้อมที่จะใช้ประกอบพิธีทางศาสนา สภาพของอาคารในปัจจุบัน 

บ้านโบราณ ฟรานซิสโก
เป็นบ้านโบราณที่ขายข้าวเปียกเส้น และกาแฟโบราณ (กาแฟเวียดนามสายพันธุ์โรบัสต้าแท้ 100%) บ้านเลขที่ 280 หมู่ที่ 6 บ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เก็บประวัติหมู่บ้าน เครื่องใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้าน เครื่องใช้ของสอยของชาวบ้านตั้งแต่ตั้งหมู่บ้าน เช่น หีบเพลงเก่า แท่นศิลป์เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวหนองหาร
เป็นจุดชมวิวริมฝั่งหนองหารมีถนนยาวรอบ ๆสามารถออกกำลังกายและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

สวนสาธารณะดอนเกิน
เป็นสวนสาธารณะประจำของชาวบ้านท่าแร่ ชื่อว่าดอนเกิน สามารถมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจโดยมีวิวทิวทัศน์ริมหนองหารที่สวยงาม มีท่าจอดเรือหาปลาให้ชมบรรยากาศวิถีชีวิตชุมชน

สะพานชมวิว
เป็นจุดชมวิวของชาวบ้านท่าแร่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตสกลนคร มีจุดพักรถจอดรถและร้านอาหารสามารถเดินชมวิวริมหนองหารได้อย่างสวยงาม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

อุทยานบัว เฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
อุทยานบัว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่าง ๆ และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติปี พ.ศ.2553 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย

เกษตรศาสตร์ วิทยาเขต เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสกลนคร

ริมหนองหาร กลุ่มเรือประมงหาปลา
เป็นจุดท่องเที่ยวริมฝั่งหนองหาร มีเรือหาปลาจอดอยู่ รวมถึงการหาซื้อปลาบริเวณนี้ด้วย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมทำดาว
บริเวณศาลามาร์ติโน่ และถนนดาว เป็นกิจกรรมที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหากมีความสนใจและเวลาในการทำกิจกรรมและเป็นกิจกรรมที่มีในช่วงงานประเพณีเทศกาลแห่ดาวของทุกปี เป็นงานฝีมือมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านท่าแร่และเป็นอาชีพหนึ่งของชาวท่าแร่ด้วย

ล่องเรือ เกาะดอนสวรรค์

หนองหารและเกาะดอนสวรรค์กิจกรรมล่องเรือรอบหนองหารและเที่ยวเกาะดอนสวรรค์สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และชมบรรยากาศรอบ ๆ หนองหาร

ท่องเที่ยวชมความงามของเมืองรอบ ๆ บ้านท่าแร่
ชุมชนบ้านท่าแร่ กิจกรรมชุมอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ พิพิธภัณ์ บ้านโบราณ ตึกหิน ชมวิว ถ่ายรูปจุดเช็คอิน และชิมกาแฟคั่วสด ๆ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม