วัดสำโรง จังหวัดนครปฐม

ที่ตั้ง ๒๑ หมู่ ๓ ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ๗๓๑๒๐
๑.วัดสำโรง ปรากฏหลักฐานตามทะเบียนวัดว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๓ และมีบันทึก ท้ายเอกสารประวัติทะเบียนวัดสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม (พ.ศ.๒๕๒๗) โดยผู้มีอายุที่เกิดทันสมัยพระครูอินทรสิริชัย (ทองพูน อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดสำโรง (พ.ศ.๒๔๗๕) ประกอบด้วย นายเป๋ง ศรีทองคำ, นายประสิทธิ์ ลาภลมูล เป็นต้น ได้บันทึกว่าในสมัยก่อนในแถบนี้มีต้นสำโรงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก บรรยากาศร่วมรื่น เงียบสงบ จึงมีพระภิกษุมาปักกลดอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านแถบนี้เห็นว่าสถานที่ตั้งนี้ สมควรเป็นที่ตั้งวัดจึงได้สร้างโรงขึ้นมาสามหลัง (อาคารไม้สร้างแบบง่ายๆ หลังคามุงจากเป็นศาลาดิน โรงกุฏิ โรงอุโบสถ) ปู่ดำ ซึ่งเป็นเจ้าของที่จึงได้ถวายที่ตรงนี้ให้เป็นที่ตั้งวัด และชาวบ้านพร้อมใจกันไปอาราธนา พระภิกษุนุช ซึ่งอยู่วัดตรงกันข้าม คือ วัดลานตากฟ้า มาเป็นเจ้าอาวาส ปู่ดำ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ และได้ช่วยพระภิกษุนุช พัฒนาสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาดิน และอุโบสถหลังเล็กๆ พอจะใช้ในการทำสังฆกรรมได้ ชาวบ้านแถบนี้ ได้ตั้งชื่อเรียกวัดนี้ว่า “วัดสามโรง” เป็นชุมชนรักษาศีล ๕ ดําเนินชีวิตตามแนววิถีไทยที่ประพฤติปฏิบัติตามจารีตประเพณีอันดีงามทางพระพุทธศาสนา โดยมีการทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา ถืออุโบสถศีลเป็นประจำทุกวันพระ และร่วมกันรับศีล ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิตอนค่ำที่วัดสำโรงทุกวัน โดยพระสงฆ์มีบทบาทในการประสานสัมพันธ์ระหว่าง “บ้าน วัด โรงเรียน” เพื่อเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความเข้มแข็งของชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ระดับ “พออยู่ พอกิน” พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ด้วยการต่อยอดทุนทางสังคมด้วยแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยนำมิติทางศาสนา และวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพสุจริต สามารถเลี้ยงตนเองบนวิถีความพอเพียง เป็นชุมชนที่มีความร่มเย็นสงบสุข อย่างยั่งยืน
๒.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม 08 9255 0179
๕.ช่องทางออนไลน์
Facebook : วัดสำโรง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก /ห้องน้ำ/ทางลาด/ที่จอดรถ/จุดบริการนักท่องเที่ยว/ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรง จังหวัดนครปฐม

ชุมชนวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นชื่อเรียกขานตามชื่อของวัดสำโรง  ว่าสมัยก่อนในแถบนี้มีต้นสำโรงขึ้นเป็นจำนวนมาก บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ จึงมีพระภิกษุมาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงเห็นว่าสถานที่นี้สมควรเป็นที่ตั้งวัด

ชุมชนคุณธรรมตำบลวัดสำโรง เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ดำเนินการตามกระบวนการสร้างชุมชนคุณธรรม ๙ ขั้นตอน ๓ มิติ เป็น ๑๐๐ สุดยอดชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ ด้วยเสน่ห์ของ “คนดี สังคมดี อยู่ดี มีสุข”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสำโรง
วัดที่เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนสามารถกราบสักการะพระประธานในอุโบสถและ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมชมหอระฆังโบราณอายุกว่า ๑๕๐ ปี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง
แหล่งรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้โบราณของท้องถิ่นที่อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์ว่าวไทย
เรียนรู้การทำว่าว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ว่าวโบราณ ที่เก็บรักษาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจได้เยี่ยมชม

กลุ่มดินประดิษฐ์ ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรง
ผลิตภัณฑ์จากดินประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ เหมาะแก่การเลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานปลาหน้าวัด
อุทยานปลาวัดสำโรง อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน ในแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาสวาย

โรงเจเปาเก็งเต้ง
สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมชมสถาปัตยกรรมจีนมากมาย ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนเศรษฐกิจพอเพียงวัดสำโรง
ตั้งอยู่บริเวณวัดสำโรง ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี ปลูกขึ้นจากดำริของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสำโรงองค์ปัจจุบัน เพื่อแบ่งปันแก่ชาวบ้านในชุมชนที่ขาดแคลนประกอบด้วย ผัก ผลไม้

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ให้อาหารปลา
อุทยานปลาหน้าวัดสำโรง บริเวณหน้าวัดสำโรง ติดริมน้ำท่าจีน เป็นแหล่งปลาน้ำจืดนานาชนิด
เรียนรู้การทำว่าว
อาคารอเนกประสงค์วัดสำโรงการทำว่าว เกิดจากความคิดที่จะฟื้นฟูการละเล่นสมัยโบราณ ก่อนที่จะถึงฤดูทำนา การเล่นว่าวต้องอาศัยลมที่เรียกว่า ลมว่าว เป็นตัวส่งให้ว่าวสามารถลอยละลิ่วบนท้องฟ้าได้นาน
เรียนรู้การทำดอกไม้ดินประดิษฐ์
อาคารอเนกประสงค์วัดสำโรงดอกบัว บานไม่รู้โรย กุหลาบ หลากหลายชนิดของดอกไม้ที่ถูกประดิษฐ์จากดินที่มีส่วนผสมสำหรับใช้ในงานฝีมือประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่าง ๆ  โดยการรวมตัวของกลุ่มสตรี ตำบล วัดสำโรง 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม