วัดไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้ง ไทรน้อย ซอย 3 ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑. วัดไทรน้อยเป็นวัดเก่าแก่ประจําชุมชน ก่อตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง “โบสถ์มหาอุตม์ ” เป็นโบสถ์แบบโบราณ มีทางเข้าและทางออกทาง เดียวซึ่งไม่คอยพบเห็นกันมากแล้วในปัจจุบันโดยตําราการสร้างโบสถ์ลักษณะนี้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ถ่ายทอด หรือกระทําการด้านเวทย์มนต์คาถา เหมาะที่จะปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เชื่อกันว่าจะมีอานุภาพเพิ่มขึ้นในโบสถ์ ประดิษฐาน“หลวงพ่อใหญ่”พระพุทธรูปสักสิทธิของอําเภอบางบาล เสาอุโบสถทำจากไม้ตะเคียน(เชื่อกันว่ามีนางตะเคียนอยู่อาศัย) จํานวน ๑๐ ต้น และบริเวณโดยรอบจะมีเจดีย์ลังกาองค์ใหญ่ ซึ่งถือว่าสวยงามมากๆ จะมีชาวบ้านและคนนอกพื้นที่ที่ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้บูชา ขอโชคลาภ และบนสิ่งตางๆ เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงหวยออกจะได้ยินเสียงกลองยาวของคนที่มาแก้บนทุกเดือน
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30
๓.ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ (ไม่มี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม โทร. –
๕. ช่องทางออนไลน์
www.bangban.go.th
facebook : เทศบาลตําบลบางบาล พระนครศรีอยธยา
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก/ห้องน้ำ/ที่จอด

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดจำปา (บ้านหัวนา) จังหวัดศรีสะเกษ

เป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ทำการประมงเป็นหลักแต่เดิมชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เรียกว่า “วังขามเฒ่า” ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับทุ่งนา จึงเรียกว่า “บ้านหัวนา” และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น เรียกว่า “วัดจำปา”    

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดจำปา (บ้านหัวนา) เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชนเผ่าลาว เสน่ห์ชุมชนที่มีวิถีชีวิตติดฝั่งแม่น้ำมูล – แม่น้ำชี มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งการแต่งกายและภาษาพูดที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร มีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นคือประเพณีโฮมบุญข้าวใหม่ปลามัน ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี มีศิลปะการแสดง ฟ้อนกลองตุ้มและการฟ้อนชนเผ่าลาวหัวนาซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลาวและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดจำปา
เดิมชื่อ วัดบ้านหัวนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดจำปาในภายหลัง เนื่องจากวัดมีต้นจำปาเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีเป็นวัดที่เก่าแก่ เคยเป็นสำนักเรียนหนังสือ       “พระมูลกัจจายนสูตร” สมัยนั้นเป็นวัดที่ไม่เคยขาดพระสงฆ์ดูแล และเป็นที่พักพิงของพวกพ่อค้าชาวเรือกระแซงที่สัญจรทางน้ำ  ปัจจุบันมีพระครูบวรสังฆรัตน์ (มอน อนุตฺตโร เครือบุตร)       เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ภายในวัด มีสิ่งเคารพสักการะ คือ หลวงพ่อใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทราย ปางมารวิชัย จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่ามีอายุราว ๑,๔๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์การเรียนรู้วัดจำปา
จัดแสดง ณ ศาลาเจ้าคุณปู่พระศรีจันทรคุณ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องทอ อุปกรณ์การเกษตร เครื่องดักสัตว์ เครื่องจักสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและมรดกอันเก่าแก่ในแถบลุ่มแม่น้ำมูล – ชี

พระธาตุกตัญญู
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2551 ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ขนาดกว้าง 6×6 เมตร สูง 31 เมตร ภายในประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประทานจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร องค์พระธาตุมีจิตรกรรมภาพหินทราย แสดงเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกเพื่อแสดงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และวิถีชีวิตของชนบทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่ายางนาเก่าแก่ชุมชนบ้านหัวนา
เป็นป่าชุมชนที่มีต้นยางนาขนาด ๓ – ๕ คนโอบ ซึ่งมีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี จำนวนกว่า ๓๐๐ ต้น เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า ๒๒ ไร่ ที่ถูกส่งต่อเป็นมรดกให้ดูแลรักษาต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และภายในป่าชุมชนยังมีศาลปู่ตา ซึ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนในชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นศูนย์อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติฯ ในทุก ๆ ปี

เขื่อนหัวนา
เขื่อนหัวนา ห่างจากชุมชน ๕ กิโลเมตร เป็นโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น ให้ สร้างฝายยางกั้น แม่น้ำมูล บริเวณ หัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และเก็บกักน้ำไว้เพียงตลิ่งแม่น้ำมูล แต่เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ตัวเขื่อนมีความกว้าง ๒๐๗.๓ เมตร มี ๑๔ บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล กั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยโครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ปัจจุบันมีการสร้างสวนสาธารณะ ขึ้นบริเวณเขื่อน เพื่อให้คนในชุมชนรอบ ๆ ใช้ในการออกกำลังกาย รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมาด้วยเช่นกัน

สามแยกรัตนะ (แม่น้ำมูลแม่น้ำชีบรรจบกัน)
ชุมชนบ้านหัวนา เป็นชุมชนลุ่มน้ำมูลชี อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิต แม่น้ำมูลเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติซึ่งสามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฟากฝั่งมูลอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ล่องเรือไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งเรียกว่า สามแยกรัตนะ เป็นจุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกันเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำชี เมื่อสองสายน้ำมารวมกันไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม เรียกว่า โขงชีมูล เกิดเป็นแม่น้ำสองสีของจังหวัดอุบลราชธานี ที่สามแยกรัตนะยังมีหาดทรายขาวที่มีความงดงามเหมาะแก่การเล่นน้ำพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

อุทยานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดจำปา ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยการประกาศเขตอภัยทานเฉลิม   พระเกียรติฯ ในพื้นที่ป่าชุมชนดงปู่ตา และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่าถาวรมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ต้น มีการจัดแสดงแปลงสาธิตในการเกษตร ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ กล้วยหนึ่งหน่อไผ่หนึ่งกอ มะละกอหนึ่งต้น แหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพ การเลี้ยงกบ หอยนา ปลาดุก ปลาหมอเทศ และฟาร์มปูนาศรีสะเกษ

นาบัวเงินล้าน
ชุมชนบ้านหัวนามีอาชีพหลักคือ การทำนาและเลี้ยงปลาในกระชัง เมื่อหมดฤดูการทำนาข้าวได้ใช้พื้นที่ไร่นาให้เกิดประโยชน์หรือแบ่งที่นาบางส่วนมาทำนาบัวเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชน ชุมชนบ้านหัวนาได้ประสบผลสำเร็จในการทำนาบัวซึ่งมีรายได้จากการทำนาบัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดกระแสในการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับการถ่ายภาพบริเวณนาบัว และเดินทางมาท่องเที่ยวภายในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กราบหลวงพ่อใหญ่และสักการะพระธาตุกตัญญู
กราบสักการะหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปเก่าแก่ อายุราว ๑,๔๐๐ ปี   เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชน และบูชาขันหมากเบ็ง นำไปนมัสการพระธาตุกตัญญู

ล่องเรือแม่น้ำมูล
เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทางน้ำ ของชุมชนวัดจำปา (บ้านหัวนา) โดยทางชุมชนจะมีท่าน้ำอยู่ท้ายวัด สามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำมูลชี กั้นระหว่างศรีสะเกษกับอุบลราชธานี ชมแม่น้ำสองสี แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ห่างจากวัดจำปา ประมาณ 4 กิโลเมตร   และมีกิจกรรมประกอบอาหารพื้นบ้านและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม