ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม จังหวัดปทุมธานี

ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญดั้งเดิมอาศัยอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสายน้ำ อาชีพหลักดั้งเดิมของชุมชน คือ อาชีพทำนา ทำสวนผลไม้

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสืบทอดวัฒนธรรมของชาวมอญผ่านวัดและวิถีประเพณีวัฒนธรรม เป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ในการรักษา สืบทอดประเพณีรามัญไว้อย่างแนบแน่นกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดชินวรารามวรวิหาร
เดิมชื่อ วัดมะขามใต้ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2358 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธชินวร (หลวงพ่อทองคำ) พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และพระตำหนักชินวรสิริวัฒน์

วัดเจตวงศ์ (วัดร้าง)
อยู่ในซอยเดียวกับวัดชิน วรารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น   พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก มีช่องประตูเดียวแบบโบสถ์มหาอุต ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติตั้งแต่ครั้งอดีตที่มีความสวยงาม

พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์
พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์ เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2465 อยู่ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตก ในบริเวณวัดชินวรารามวรวิหาร มีพื้นที่กว้างขวางซึ่งสามารถชมธรรมชาติของสายน้ำ พระอาทิตย์ตก และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และให้อาหารปลาได้ 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านต้นโพธิ์
เรียนรู้การทำยาหม่องสมุนไพร และการฝึกอาชีพต่าง ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ปั่นจักรยาน
เส้นทางปั่นจักรยานถนนปทุมธานีสายใน ผ่านวัดบางหลวง-วัดชินวรารามวรวิหาร

ทำบุญตักบาตร
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตักบาตรริมน้ำเจ้าพระยา พระสงฆ์จะพายเรือมารับบิณฑบาตช่างเช้ามืด
ให้อาหารปลา
วังมัจฉา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดชินวรารามวรวิหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรง จังหวัดนครปฐม

ชุมชนวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นชื่อเรียกขานตามชื่อของวัดสำโรง  ว่าสมัยก่อนในแถบนี้มีต้นสำโรงขึ้นเป็นจำนวนมาก บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ จึงมีพระภิกษุมาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงเห็นว่าสถานที่นี้สมควรเป็นที่ตั้งวัด

ชุมชนคุณธรรมตำบลวัดสำโรง เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ดำเนินการตามกระบวนการสร้างชุมชนคุณธรรม ๙ ขั้นตอน ๓ มิติ เป็น ๑๐๐ สุดยอดชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ ด้วยเสน่ห์ของ “คนดี สังคมดี อยู่ดี มีสุข”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสำโรง
วัดที่เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนสามารถกราบสักการะพระประธานในอุโบสถและ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมชมหอระฆังโบราณอายุกว่า ๑๕๐ ปี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง
แหล่งรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้โบราณของท้องถิ่นที่อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์ว่าวไทย
เรียนรู้การทำว่าว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ว่าวโบราณ ที่เก็บรักษาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจได้เยี่ยมชม

กลุ่มดินประดิษฐ์ ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรง
ผลิตภัณฑ์จากดินประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ เหมาะแก่การเลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานปลาหน้าวัด
อุทยานปลาวัดสำโรง อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน ในแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาสวาย

โรงเจเปาเก็งเต้ง
สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมชมสถาปัตยกรรมจีนมากมาย ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนเศรษฐกิจพอเพียงวัดสำโรง
ตั้งอยู่บริเวณวัดสำโรง ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี ปลูกขึ้นจากดำริของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสำโรงองค์ปัจจุบัน เพื่อแบ่งปันแก่ชาวบ้านในชุมชนที่ขาดแคลนประกอบด้วย ผัก ผลไม้

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ให้อาหารปลา
อุทยานปลาหน้าวัดสำโรง บริเวณหน้าวัดสำโรง ติดริมน้ำท่าจีน เป็นแหล่งปลาน้ำจืดนานาชนิด
เรียนรู้การทำว่าว
อาคารอเนกประสงค์วัดสำโรงการทำว่าว เกิดจากความคิดที่จะฟื้นฟูการละเล่นสมัยโบราณ ก่อนที่จะถึงฤดูทำนา การเล่นว่าวต้องอาศัยลมที่เรียกว่า ลมว่าว เป็นตัวส่งให้ว่าวสามารถลอยละลิ่วบนท้องฟ้าได้นาน
เรียนรู้การทำดอกไม้ดินประดิษฐ์
อาคารอเนกประสงค์วัดสำโรงดอกบัว บานไม่รู้โรย กุหลาบ หลากหลายชนิดของดอกไม้ที่ถูกประดิษฐ์จากดินที่มีส่วนผสมสำหรับใช้ในงานฝีมือประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่าง ๆ  โดยการรวมตัวของกลุ่มสตรี ตำบล วัดสำโรง 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม