ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองบัว จังหวัด น่าน

ความงามของวิถีชาวไทลื้อแห่งบ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2365 หรือประมาณ 180 ปี โดยสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อแคว้น สิบสองปันนา ในปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของตนเองไว้อย่างมั่นคง ปัจจุบันบ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ เป็นที่รู้จักของคนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยภาษาพูด ที่เป็นเอกลักษณ์ การดำเนินชีวิตตามวิถีชาวไทลื้อ การแต่งกาย รวมถึงชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการสัมผัสวิถีไทลื้อของคนในชุมชน
หมู่บ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนานสาธารณรัฐประชาชนจีน มีภาษาท้องถิ่นที่ใช้สื่อสารกันในพื้นที่ คือ ภาษา “ไทลื้อ” หมู่บ้านหนองบัวแห่งนี้มีวัดหนองบัว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม วิหารแห่งนี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะและหาดูได้ยากในปัจจุบัน ภายในวัดยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยช่างเขียนได้เขียนออกมาเป็นนิยาย เพื่อเป็นคติสอนใจแก่อนุชนรุ่นหลังโดยตั้งชื่อเรื่องว่า “จันทรคราส” นับว่าเป็นจิตรกรรมที่งดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดหนองบัว
วัดหนองบัว เป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านไทลื้อ มีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมชิ้นเอกของเมืองน่าน วัดหนองบัวเป็นอาคารที่ทรงคุณค่า ในแง่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่สวยงาม และหาชมได้ยาก จากคำบอกเล่า กล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้น ในราว พ.ศ.2405 (สมัยรัชกาลที่ 4) โดยท่านสุนันต๊ะ (ครูบาหลวง)ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์เล่าเรื่องในปัญญาสชาดกซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐาน ว่าเขียนโดย “ทิดบัวผัน”

เฮือนไทลื้อวัดหนองบัว
เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในอดีตที่จัดแสดงการจำลองวิถีชีวิต การทอผ้าไทลื้อ เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทลื้อในอดีตการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อจากสิบสองพันนา การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองบัวการทำไกยี
การพัฒนาพืชธรรมชาติ (สาหร่ายไก) ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม เริ่มจากการสืบทอดวิธีการถนอมอาหารของบรรพบุรุษ โดยนำสาหร่ายไก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายภายในหมู่บ้านมาแปรรูปเป็นไกยีแล้วนำมาขาย และมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาให้ความรู้ในด้านการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีการแปรรูปสาหร่ายไก ให้เป็นสาหร่ายแผ่นกรอบ โดยนำสาหร่ายไกที่ตากแห้งปรุงรสด้วยเกลือ กระเทียม มาทอดให้กรอบ

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนเกษตรผักปลอดสารพิษชุมชนบ้านหนองบัว

กิจกรรมการท่องเที่ยว

วันเดียวแอ่วม่วน ๆ กับไทลื้อ

วันเดียวแอ่วม่วน ๆ กับไทลื้อ
• กราบไหว้พระประธานวิหารวัดหนองบัว
• ชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวจากนักเล่าเรื่องของชุมชนบ้านหนองบัว
• ฟังการเล่าประวัติความเป็นมาของบ้านหนองบัวจากนักเล่าเรื่องของชุมชนบ้านหนองบัว
• ชมการฟ้อนไทลื้อและการเล่นดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มฟ้อนและกลุ่มดนตรีพื้นบ้าน
(สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในการฝึกทางกลุ่มมีการฝึกสอน)
• ศึกษาศูนย์เรียนรู้(เฮือนไทลื้อมะเก่า) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ
• ถ่ายรูปกับ Land mark ของวัดหนองบัว
• เยี่ยมชมและศึกษากรรมวิธีการแปรรูปสาหร่ายไกและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
• เยี่ยมชมการทำไม้กวาดและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
เที่ยว 1 วัน ๓๐๐ บาท/คน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย

ชุมชนบ้านศรีดอนชัย เป็นชาวไทลื้อเป็นส่วนใหญ่ มีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาษาไทลื้อ ที่ใช้สื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อที่ทอเอง มีความประณีตสวยงาม อีกทั้งยังมีการละเล่น ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แตกต่างกับที่อื่น เช่น พิธีกำบ่อ พิธีสืบชะตา เป็นต้น

การแต่งกายของไทลื้อบ้านศรีดอนชัย แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยตัวเสื้อผู้หญิงจะมีลักษณะเป็นเสื้อผ่าอก ป้ายเฉียงด้านหน้า เอวลอย แขนยาว สวมใส่กับผ้าซิ่นที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ ผู้ชายจะสวมเสื้อแขนยาว แล้วสวมทับด้วยเสื้อกั๊กที่ปักลวดลายสวยงาม 

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดท่าข้ามศรีดอนชัย
ภายในวัดท่าข้ามศรีดอนชัย เป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ โดยวัดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม อย่างหลากหลายและมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดท่าข้ามศรีดอนชัย เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทลื้อ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งรวมทุกอย่างเกี่ยวกับชาวไทลื้อไว้ในที่แห่งเดียว ตั้งแต่ความเป็นมา
ของไทลื้อและชีวิตที่น่าศึกษาจนถึงปัจจุบัน

เฮือนคำแพง
เฮือนคำแพง  มีบริการจัดขันโตกและการแสดงวัฒนธรรมไทลื้อ สามารถรองรับแขกได้ประมาณ ๒๐๐ ท่าน มีร้านค้าจำหน่ายผ้าทอไทลื้อจากช่างทอผ้าในชุมชน บ้านโบราณมีนิทรรศการของใช้และอุปกรณ์ทอผ้าโบราณของชุมชนบริเวณชั้นบนของบ้าน

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ

ลักษณะอาคารเป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ ภายในอาคารส่วนชั้นล่างจะมีห้องฉายภาพยนตร์และห้องนิทรรศการประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย ชั้นบนเป็นห้องแสดงนิทรรศการการทอผ้าโบราณมีอายุ ๑๐๐ ปี ของชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย ข่วงวัฒนธรรม เป็นลานกว้างสำหรับจัดแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทลื้อ กาด
และศิลปะการแสดงต่างๆ

บ้านร้อยปีแม่คำเอื้อย
เป็นสถาปัตยกรรมเฮือนไต แห่งลุ่มน้ำโขงสมัยกลาง มีอายุการสร้างกว่า ๑๐๐ ปี

ศูนย์สตรีผ้าทอศรีดอนชัย
ชาวบ้านรวมกลุ่มกันจัดทำผ้าทอไทลื้อแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดึงฝ้าย การย้อมฝ้าย การต่อฝ้าย และการปั่นฝ้าย ที่นี่มีเสื้อผ้าทอมากมาย และมีการสาธิตแสดงการทอผ้า

ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอไทลื้อบ้านแม่ครู ดอกแก้ว ธีระโครต
มีความโดดเด่นโดยการนำฝ้ายมามัดหมี่และย้อมด้วยสีธรรมชาติ เกิดลวดลายที่มีความละเอียดประณีต ผ่านกระบวนการทอมือ สร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ จากนั้นนำมาแปรรูปตัดเย็บตามต้องการ ครูดอกแก้ว ได้รับการเชิดชู จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อสืบสานงานหัตถกรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ และมีกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

ศูนย์เรียนรู้การจักสานงานไม้ไผ่
กลุ่มจักสานผู้สูงอายุชุมชนไทลื้อศรีดอนชัย เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2555 โดยมีแนวคิดว่ากลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนไทลื้อ น่าจะมีการรวมกลุ่มกัน จะได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูง ไม่เหงา และเป็นการหารายได้เสริมยามว่างจากไร่นา จึงได้รวมตัวกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้ง 4 หมู่บ้าน ที่มีความรู้เรื่องการ จักสาน งานช่างไม้ ร่วมจัดตั้ง “กลุ่มจักสานผู้สูงอายุ” ดังกล่าวขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวนกว่า 10 คน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สวนสาธารณะหนองรงค์
หนองรงค์เป็นสวนสาธารณะชุมชนศรีดอนชัย อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ที่นาจัดสรรชุมชนบ้านศรีดอนชัย
การจัดสรรที่ดินทำกินของชุมชนบ้านศรีดอนชัย กว่า 300 ไร่ (ครอบครัวละ 1 ไร่) เพื่อใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น เช่น ส้ม โกโก้ มะละกอ ฝักเชียงดา พริก ข้าวโพด ฯลฯ และเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ฯลฯ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

งานมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อศรีดอนชัย
วัดท่าข้ามศรีดอนชัย งานมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ ทั้ง 3 วาระ คือ วาระที่หนึ่ง งานปลูกต้นฝ่ายจัยยะมงคล
จัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม วาระที่สอง งานกล่อมฝ้ายจัยยะมงคล จัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม
วาระที่สาม งานทอผ้าทันใจ งานถวายผ้ามหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคม

กิจกรรมการศึกษาเรียนรู้กระบวนการผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย จากเมล็ดฝ้ายสู่ผ้าทอที่วิจิตงดงาม
ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอไทลื้อบ้าน แม่ครูดอกแก้ว ธีระโครต มีความโดดเด่นโดยการนำฝ้ายมามัดหมี่และย้อมด้วยสีธรรมชาติ เกิดลวดลาย ที่มีความละเอียดประณีต ผ่านกระบวนการทอมือ สร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ จากนั้นนำมาแปรรูปตัดเย็บตามต้องการ ครูดอกแก้ว ได้รับการเชิดชูจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อสืบสานงานหัตถกรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ และมีกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

กิจกรรมโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีวัฒนธรรมไทลื้อ

กลุ่มโฮมสเตย์ชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย กิจกรรมประกอบด้วยต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว หรือคณะศึกษาดูงาน พร้อมรับฟังการบรรยาย พักโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีวัฒนธรรมไทลื้อ และเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนและช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อ ของชุมชนได้ตลอดทุกวัน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม