ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่ง จังหวัด พิษณุโลก

บ้านบุ่ง เป็นชุมชนขนาดกลาง ก่อตั้งเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2486 ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นบุ่ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ที่เป็นแอ่งหรือมีน้ำล้อมรอบ จึงเป็นที่มาใช้เรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน ชุมชนดั้งเดิมหมู่บ้านส่วนใหญ่ มีเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ปัจจุบันภายในชุมชนมีชาวบ้านจากชุมชนอื่น ๆ  เข้ามาอยู่อาศัยเป็นบางส่วน  ชาวบ้านส่วนใหญ่สื่อสารกันโดยใช้ภาษาพื้นเมืองมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย

เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการหมู่บ้านที่ดี โดยเน้นความสะอาดในหมู่บ้านเป็นหลัก “หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่าดู”อยู่กันแบบพี่แบบน้อง คนในหมู่บ้านความรักความสามัคคี พึ่งพาอาศัยกัน  “เราล้อมรั้วด้วยหัวใจ ครอบครัวสดใสเพราะปลอดยา บ้านเอี่ยมสะอาดตา ทุกหลังคาไร้โรคภัย”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผ่องนพาราม
วัดผ่องนภาราม ตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เดิมชื่อวัดผ่องศรีนพรัตน์ อยู่ริมน้ำน่าน ซึ่งตาผ่อง ยายนพ เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด นำโดยหลวงปู่หลง พุทธญาโณ ท่านเป็นเป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดขึ้นใกล้แม่น้ำ ต่อมาเกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งข้างวัด เสียหายมาก จึงย้ายวัดมาสร้างฝั่งตรงข้ามถนน โดยมีนายพรหม ใหญ่โต ถวายที่ดินสร้างจนถึงปัจจุบัน

บ้าน 100 ปี

บ้านเลขที่37 หมู่ที่5 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีเสาเรือนทั้งสิ้น 57 ต้น ปัจจุบันเป็นบ้านของ นางทองชุบ มาจันทร์ อายุ 77 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3
ของบ้านหลังนี้ อาศัยอยู่เพียงลำพัง และดูแลรักษาคงรูปแบบเดิมไว้ให้ลูกหลานได้ดูและศึกษา

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว
เป็นศูนย์รวมใจเคารพกราบไหว้ ของคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านชุมชนให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในชุมชน ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงเจ้าพ่อร่มขาว ในช่วงเดือน 6 หรือวัน พืชมงคลของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มเพาะปลูก มีความเชื่อว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกไปนั้น จะอุดมสมบูรณ์

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวแม่น้ำน่าน
เป็นจุดชมวิวแม่น้ำน่านหน้าวัดผ่องนภาราม จะมีหอสูงสำหรับชมวิว จะมองเห็นบรรยากาศของสวนน้ำ รีสอร์ท คุ้งน้ำ และสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณนี้ได้อีกด้วย

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านบุ่ง
ปีพ.ศ. 2554 อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้คัดเลือกให้บ้านบุ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีภิรมย์ เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย ในการพัฒนา ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์ ซึ่งอยู่ในที่ทำการกำนันณรงค์ จันทร์ชื่น เป็นสถานที่ประชุมของหมู่บ้าน และได้ร่วมกันคัดเลือกครอบครัวพัฒนาขึ้นมา 30 ครัวเรือน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ และได้มีพัฒนากร ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนจากอำเภอพรหมพิราม มาอบรมให้ความรู้ หลังจากนั้นได้นำ 30 ครัวเรือนพัฒนาไปศึกษาดูงานที่ หมู่ 9 คลองมะแพลบ บ้านทุ่งน้ำใส  หมู่ 11 ตำบลดงประคำนครสวรรค์ สุโขทัย ฯลฯ 

วิถีชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล
เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูวิถีชีวิตชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมสังสรรค์ภาคกลางคืนกับกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค ชิมอาหารพื้นถิ่น
ลานสวนสัก หน้าวัด ผ่องนภาราม เป็นกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค คือทั้งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
และคณะต้อนรับจะแต่งกายชุดลายดอกมีดนตรีย้อนยุค นั่งทานอาหารพื้นถิ่น ที่เราจัดเป็นซุ้ม ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทาน

กิจกรรมใส่บาตรพระสงฆ์
หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ หรือบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ เจ้าของบ้านโฮมสเตย์จะเตรียมของสำหรับใส่บาตรไว้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อที่จะรอพระมาบิณฑบาตในตอนเช้าเพื่อเสริมสิริมงคล

กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ
บริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ มีการบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะเชิญผู้สูงอายุ
ปราชญ์ชาวบ้านในหมู่บ้านมาเป็นคนผูกและให้พร พร้อมทั้งมีหมอขวัญ มาทำพิธีเชิญเหล่าเทพยดามาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในงาน

กิจกรรมท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตชุมชน
ภายในหมู่บ้าน และชุมชนใกล้เคียง ให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถอีแต๋น  (รถทางการเกษตร) แล้วเดินทางไปยังฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้ สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิตชุมชน และยังสามารถเดินทางไปยังชุมชนใกล้เคียง ถ้าหากนักท่องเที่ยวสนใจ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านผารังหมี จังหวัดพิษณุโลก

หมู่บ้านผารังหมี เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผาหลังหมี” เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กประชากรส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน ที่อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่เป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรมทำให้มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำเกษตร รายได้ของชุมชนมาจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลักโดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ ข้าว มะม่วง รวมไปถึงรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน ผลิตภัณฑ์งานฝีมือในชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มแปรรูปผ้า แปรรูปเสื่อ กลุ่มมะม่วงกวน และกลุ่มจักสานทำไม้กวาด เป็นต้น 

บ้านผารังหมี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของคนอีสาน หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง คนในหมู่บ้านอาศัยอยู่แบบเรียบง่ายโดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านศิลปวัฒนธรรมของอีสานภายใต้สโลแกน “ชุมชนอารมณ์ดี บ้านผารังหมี”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผารังหมี
วัดผารังหมีวนาราม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านผารังหมี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และงานประเพณี ปัจจุบันมีพระอธิการบุญนำ ตปสีโล เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดมีสถานที่สำคัญดังนี้
๑. หลวงพ่อเพชรมณี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2517 เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านผารังหมี
๒. บันไดสวรรค์ที่ทอดยาวขึ้นไปสู่จุดชมวิวมุมสูงของหมู่บ้านด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อสมเด็จองค์ปฐม
๓. การทำถลกบาตร (ขาบาตร)

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว

เจ้าพ่อร่มขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในหมู่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในหมู่บ้าน มีเรื่องเล่าว่า เวลาชาวบ้าน
มีเรื่องทุกข์ใจ หรือร้อนใจในเรื่องใดก็ตาม จะไปไหว้ขอพรให้เจ้าพ่อร่มขาวช่วยปัดเป่าคลายทุกข์เหล่านั้น ซึ่งก็ได้สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านทุกครั้ง จึงนับได้ว่า “เจ้าพ่อร่มขาว” เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ของชาวบ้านผารังหมีโดยมีประเพณีงานบุญเลี้ยงศาลเจ้าพ่อร่มขาวทุกปีในช่วงขึ้นหกค่ำ เดือนหกตามปฏิทินจันทรคติ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวบน วัดผารังหมี วนาราม
จุดชมวิว ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาภายในบริเวณวัดผารังหมีวนาราม นักท่องเที่ยวต้องเดินขึ้นบันไดสวรรค์ ซึ่งจะทำให้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของหมู่บ้าน และสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบซึ่งเป็นภูเขาหินปูน

ภูเขาผาหลวง
ภูเขาผาหลวง เขาหินปูนที่มีอายุหลายล้านปี ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง หมู่ 3 บ้านผารังหมี และหมู่ 12 บ้านคลองซับรังภายในมีถ้าใหญ่-เล็กอยู่หลายถ้ำ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามอยู่ภายใน เช่น ถ้ำ เพชรพลอย มะนาว และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของค้างคาวหลายล้านตัว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
แปลงเกษตรสาธิตครัวเรือนเกษตรสมบูรณ์ มีกินด้วยเกษตรอินทรีย์ 459 เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีเสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ลดภาระรายจ่าย แม้ไม่มีเงินแต่ต้องมีกิน เพียงเดินจากตัวบ้านสี่ห้าก้าวก็สามารถหาวัตถุดิบ พืชผัก เนื้อสัตว์ มาปรุงอาหารได้แล้ว เป็นการใช้พื้นที่เล็ก ๆ รอบบ้านให้เป็นประโยชน์ และใช้เวลาในการผลิตสั้น ๆ เพียงไม่เกิน 45 วัน ก็ได้มีของกินโดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหาจากตลาด

ลานตากข้าว ของชุมชน
เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านผารังหมี สร้างลานตากข้าวที่สามารถตากข้าวได้ถึง ๓๐๐ ตัน พร้อมมีตราชั่งขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ ชาวบ้านผารังหมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ และมีผลผลิตต่อปีเป็นจำนวนมาก หากมีการขายข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวจะทำให้ข้าวราคาตกต่ำ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันสร้างลานตากข้าว เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ขายข้าวได้ราคาดี อีกทั้งบ้านผารังหมีมีการปลูกข้าวปลอดภัยเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมเย็บบายศรีขันธ์ ๕
ศูนย์เรียนรู้ฯ และศาลเจ้าพ่อร่มขาว เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวร่วมกันเย็บบายศรีขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วย ใบตอง ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อนำไปสักการะเจ้าพ่อร่มขาวบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้านผู้สูงอายุในชุมชนเป็นผู้สอน 

กิจกรรมทำมะม่วงกวน
โรงกวนมะม่วงสวนลุงบุญสม นักท่องเที่ยวจะรับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงกวนมะม่วง เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตมะม่วงกวน และร่วมทำการบรรจุมะม่วงกวนเพื่อเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยว 

กิจกรรมทำขนม/อาหารพื้นบ้าน
ศูนย์เรียนรู้ การทำอาหาร นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมการทำขนม หรือการทำอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านผารังหมี โดยนักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมในการทำ เช่น การทำข้าวต้มแดก ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำ และได้ร่วมห่อขนมจากใบตอง 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม