เฮือนฝ้าย ด้ายงาม จ.เชียงใหม่

ที่ตั้ง 145/2 หมู่3 ถนน เชียงใหม่-สันกำแพง สันกลาง สันกำแพง เชียงใหม่ 50130
๑.ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์ เฮือนฝ้ายด้ายงาม
๒.ชื่อผู้ประกอบการคุณกุณฑลี ระพิพงษ์
๓.ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าฝ้ายทอมือ
รายละเอียดความโดดเด่น

ผ้าทอด้วยมือมีความผูกพัน เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตคนไทยมานานนับศตวรรษ ความเป็นมาในอดีต ได้ถูกบันทึกผ่านตั้งแต่การเตรียมเส้นใย การย้อมสี การออกลายผ้า ไปจนถึงการทอผ้า ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาวล้านนา
การทอผ้า เป็นศิลปะที่สร้างสรรค์จากมือ ผ่านการลองผิดลองถูก และฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ผ้าทอมือจึงทรงคุณค่า มีเอกลักษณ์ และความสวยงามตราบจนทุกวันนี้
“เฮือนฝ้ายด้ายงาม” เลือกเส้นใยคุณภาพ กวัก ปั่น ย้อมสี ถักทอเป็นผืนผ้าที่มีคุณภาพ นำมาตัดเย็บโดยช่างฝีมือที่มีความประณีต ผสานกับการออกแบบในแนว ‘ล้านนาร่วมสมัย’
๔.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
วันจันทร์-เสาร์ 08.30 – 17.30 น.
๕.เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
053-960314
095-2924247
๖.ช่องทางออนไลน์
http://www.huanfai-daingam.com/
https://www.facebook.com/HuanfaiDaingame/

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี

บ้านโนนกอก เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เกษตรกร มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ที่อนุรักษ์การทอผ้าขิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย นำโดยนายอภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้าน พัฒนาให้ปราชญ์ชาวบ้านโนนกอก ได้นำภูมิปัญญา การทอผ้าแบบดั้งเดิมของคนในตำบลหนองนาคำ มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก นำเอาภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิม ที่ยังใช้กี่ทอผ้า (หูก)ในการทอผ้า ประยุกต์ลวดลายผ้า จากลายหมอนขิดอีสาน ขิดลายนาค ลายกนกประตูโบสถ์วัดบ้านหนองนาคำ ลายขอเล็บแมว และลายขอขิดเกียง นำสายบัวแดง ดอกบัวแดง และเกสรบัวแดง มาย้อมเส้นไหมที่ใช้ทอ ซึ่งดอกบัวแดงที่นำมาย้อมเกิดขึ้นในลำห้วยเชียงรวง ที่ไหลผ่านในหมู่บ้านโนนกอก มาผสมผสานแนวคิด เทคนิคสร้างสรรค์ เกิดผืนผ้าขิดที่มีความประณีต และความงดงาม 

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระธาตุโพนทอง
เป็นที่สักการะบูชาของชาวขอมในสมัยนั้น ถือเป็น “วัด” ที่มีความสำคัญเนื่องจากมีพระพุทธรูปที่โดดเด่นและสวยงามอยู่หลายองค์ พระธาตุโพนทอง มีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานกว้าง ๘ เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดสูง ๑๐ เมตร เดิมเป็นที่บรรจุอัฐิพระอรหันต์พร้อมมีการบรรจุพระพุทธรูปทองคำไว้ข้างใน

ศูนย์การเรียนรู้ ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก
– สาธิตการย้อมสีดอกบัวแดง,การทอผ้า
– ผ้าไหมลายสายธารนาคเชียงรวง (CPOT)
– ผ้าคลุมไหล่แม่แบบขิดเกียง (CPOT)
– กระเป๋าถือจากผ้าขิดบ้านโนนกอก
อาหารพื้นถิ่น : ส้มตำไทยสายบัว
ขนม : ข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัว น้ำชาบัวแดง
นายอภิชาติ  พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้าน
โทรศัพท์ 09 3547 8285

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หนองหานทะเลบัวแดง (แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใกล้เคียง)
เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ 22,500 ไร่ ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอกู่แก้ว เชื่อมกับลำน้ำปาว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาจำนวนมาก เป็นแหล่งดูนกหลายสายพันธุ์มากกว่า 74 ชนิด และพืชน้ำอีกอย่างน้อย 15 ชนิด พันธุ์พืชน้ำที่เป็นไฮไลต์ ก็คือ “บัวแดง” สีชมพูสีแดงบานสะพรั่งบนผืนน้ำในช่วงเช้าตรู่ ในฤดูหนาวของทุกปี  

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนตาลคู่ แหล่งเรียนรู้ เชิงเกษตร
เป็นศูนย์เรียนรู้อินทผลัม เที่ยว ให้คำปรึกษาการปลูก จำหน่ายต้นกล้า ผลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปอินทผลัม
นายอำนาจ ผการัตน์  09 2956 6159
คุณอ๊อด ผู้จัดการสวน  08 3956 4644

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมนิทรรศการผ้าโบราณ บ้านโนนกอก และหมอนขิดอีสานโบราณ
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอ แหล่งรวบรวมลายผ้าทอโบราณและหมอนขิดเก่าแก่ เช่น ลายขิดเกียง  ซึ่งเป็นลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณ รวมถึงผ้าทอโบราณอื่น ๆ ที่หาดูได้ยาก

ชมการสาธิต ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ การมัดย้อม/การย้อมผ้าจากดอกบัวแดงและสายบัวแดง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก กิจกรรมการมัดย้อมผ้า ตามจินตนาการของนักท่องเที่ยวและฐานการสาธิตการย้อมสีจากดอกบัวแดงและสายบัวแดง การย้อมสีผ้าด้วยกลีบดอกบัว ดอกบัวแดงย้อมได้ถึง 3 สี จากสีธรรมชาติ ไม่ต้องใช้สารเคมี ที่จะให้สีแตกต่างกันไป เช่น สีทองได้จากการย้อมจากดอกบัวตากแห้ง  สีเงิน ได้จากการย้อมจากสายบัวตากแห้ง ส่วนสีชมพูสดได้จากการย้อมจากน้ำกลีบบัวแดงสดผสมน้ำมะนาวในอัตราส่วนที่เหมาะสม

การทอผ้า ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนมีการสาธิต การทอผ้าแบบโบราณ โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักร เป็นการทอด้วยหูกแบบโบราณและมีเทคนิค

การทำเส้นขนมจีนสด ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก การบีบข้าวปุ้น (ขนมจีน) จากแป้งข้าวจ้าว หมักแบบโบราณเป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นมาบีบลงหม้อน้ำที่ต้มเดือด นักท่องเที่ยว สามารถร่วมฝึกบีบข้าวปุ้นกับชุมชนได้ และสามารถนำไปรับประทานได้กับส้มตำ น้ำยาขนมจีนต่าง ๆ หรือแกงเขียวหวานได้

การทำข้าวเขียบ
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก เขียบ (ข้าวโป่ง) ทำจากข้าวเหนียวนึ่ง นำไปตำด้วยครกมองโบราณ ผสมข้าวเหนียวนึ่ง คลุกเคล้าแบบอีสาน เม็ดงา และน้ำสมุนไพร คือ น้ำจากใบตดหมา โดยนำใบตดหมามาขยี้กับน้ำแล้วนำใส่กับส่วนผสมทั้งหมด ร่วมแรงทำข้าวเขียบ ในครกคลุกเคล้าให้เข้ากันจนเหนียวพอดีปั้นแล้วทุบเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปตากให้แห้งแล้วนำมาจี่ (ย่าง) ไฟ ให้กรอบ รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งใบตดหมาจะเป็นยาสมุนไพรขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน  

งานประดิษฐ์ ใบตอง ใบเตย ขันหมากเบ็ง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนจะนำใบตองในพื้นที่มาทำ ขันหมากเบ็ง เพื่อบูชาพระในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน  โดยการทำจะเน้นความเรียบง่ายใช้วัสดุ และดอกไม้ที่มีอยู่ในชุมชน

การเรียนรู้ การห่อขนมข้าวต้มมัดธัญพืชกลีบบัวแดง
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก สาธิตการทำ “ข้าวต้มกลีบบัวแดง”ขนาดพอดีคำ เป็นอาหารว่างสำหรับนักท่องเที่ยว มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนผสม เช่น เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งนำไปนึ่งสุกแล้ว มาห่อด้วยใบตอง เช่น ข้าวเหนียว, ถั่วดำ, เผือก ,กล้วย และกลีบบัวแดง ห่อด้วยใบตอง แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง ซึ่งจะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม นักท่องเที่ยวสามารถร่วมการห่อข้าวต้มบัวแดงได้

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดโพธาราม จังหวัดยโสธร

ชุมชนคุณธรรม วัดโพธาราม บ้านห้องแซง เป็นชุมชนชาวพุทธ วิถีผู้ไทที่มีความสุข ความดีงามมีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ แบ่งปันความสุข สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวดุจญาติมิตร 

ชุมชนคุณธรรม วัดโพธาราม บ้านห้องแซง มีการอนุรักษ์สืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ และประเพณีปฏิบัติตามหลักศาสนา มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือภาษาผู้ไท อาหารพื้นถิ่น การทอผ้ามัดหมี่ภูไท คนในชุมชนแต่งกายด้วยผ้ามัดหมี่ภูไทที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโพธาราม
เป็นแหล่งเรียนรู้ประจำชุมชน เป็นศูนย์กลาง ในการประกอบพิธีการทางศาสนา และกิจกรรมของชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้ วิถีวัฒนธรรมภูไทห้องแซง วัดป่าจันทรวนาราม

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลห้องแซง

ตลาดวัฒนธรรมวิถีถิ่น วิถีผู้ไท ตลาดต้องชม

ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ

กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ผ้ามัดหมี่บ้านห้องแซง (แม่พลอยฝ้ายภูไท)

เสากลางบ้าน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน

ภูถ้ำพระ

ภูร่มเย็นมโนธรรม (ภูตากแดด) หินสามก้อน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

การทำบุญตักบาตร
หน้าบ้านพัก โฮมสเตย์ วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้มี ส่วนร่วมในการทำบุญตักบาตรตอนเช้า ณ บริเวณหน้าบ้านพักโฮมสเตย์ และบริเวณชุมชนฯ

การบายศรีสู่ขวัญ
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม การบายศรีสู่ขวัญ  กิจกรรมพาแลง

ฐานเรียนรู้ การทำขันหมากเบ็ง
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม การทำขันหมากเบ็ง บายศรี ดอกไม้ใบตอง ใบเตย

ฐานเรียนรู้ สมุนไพรพื้นบ้าน
วัดโพธาราม/วัดป่าจันทวนาราม เรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้าน อาทิเช่น
-การทำลูกประคบ
-ยาต้มสมุนไพรโบราณ เป็นต้น

ฐานเรียนรู้ หมอลำ หมอแคน
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม ชมและร่วมสนุกกับการแสดงของศิลปินผู้ไท (หมอลำ หมอแคน)

ฐานเรียนรู้ การจักสาน
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม

ฐานเรียนรู้การละเล่นพื้นบ้าน
วัดโพธาราม/วัดป่าจันทวนาราม การละเล่นพื้นบ้าน อาทิเช่น
-ม้าโยกเยก
-ดีดบักแต้ เป็นต้น

ฐานเรียนรู้การทอผ้า
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม

ฐานเรียนรู้ลงโข่ง หรือ การลงข่วง
วัดโพธาราม/ วัดป่าจันทวนาราม การลงโข่ง หรือ การลงข่วง  เป็นบริเวณที่หนุ่มสาว มาพบปะพูดคุยกัน โดย  ฝ่ายหญิงปั่นฝ้าย ฝ่ายชายเป่าแคน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านละอูบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บ้านละอูบเป็นชุมชนชาติพันธุ์ละว้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากตั้งอยู่บนภูเขาสูงในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย มีวัฒนธรรมที่สืบทอดยาวนานมากว่า ๑๓๐ ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและนิยมการทำนาแบบขั้นบันได

บ้านละอูบเป็นชุมชนละว้าที่ยังคงดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียง ภูมิทัศน์โดยรอบที่งดงาม มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ เที่ยวชมวิถีวัฒนธรรมละว้า การทอผ้ากี่เอว การตีมีด สักการะพระองค์ใหญ่ ชมภูมิทัศน์ ๓๖๐ องศา

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ศาลหลักเมือง
บ้านละอูบมีศาลหลักเมือง เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ เป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ๓ หลังด้วยกันโดยแต่ละหลังจะมีฮญู่ หรือเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองตั้งอยู่ด้านหน้า และด้านหลังละ ๑ ต้น

พระองค์ใหญ่
“องค์พระใหญ่” (พระพุทธนิโรคันตรายนริศรจตุรุทิศประชานาถ
– พระพุทธรูปที่ป้องกันภยันตรายนานา เป็นที่พึ่งพาแก่ประชาชนผู้มากราบไว้บูชาจากทิศทั้งสี่) ประดิษฐานอยู่บนเนินจุดชมทิวทัศน์ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของหมู่บ้าน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ดอยขุมคำ
จุดชมทิวทัศน์ที่สามารถชมพื้นที่ปลูกพืชของชาวแม่ลาน้อย มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ไร่กาแฟบ้านละอูบ
ไร่กาแฟสายพันธุ์อาราบิกา ของชุมชนบ้านละอูบ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของชุมชน

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมการสาธิตการตีเครื่องเงิน
โรงตีเงิน เป็นแหล่งเรียนรู้การตีเครื่องเงินบ้านละอูบ โดยบ้านละอูบได้มีการทำเครื่องเงินใช้มานานกว่า ๑๒๐ ปี ซึ่งเครื่องเงินมีความสำคัญในวิถีชีวิตชาวเลอเวือะ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ชมการสาธิตการตีเหล็ก
โรงตีเหล็ก เป็นแหล่งเรียนรู้ จำหน่ายและสั่งทำมีด รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ตีจากเหล็กหรือโลหะ

ชมการสาธิตการทอผ้า
กลุ่มทอผ้าศิลปาชีพ ผ้าทอละว้าบ้านละอูบ อีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวบ้านละอูบที่ยังคงวิถีดั้งเดิมในการทอผ้าเพื่อใช้สอย

ชมพระอาทิตย์ตกดินและสักการะพระองค์ใหญ่
จุดชมทิวทัศน์ ๓๖๐ องศา  อยู่บนจุดที่สูงสุดของหมู่บ้าน จุดชมวิวแห่งนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบของหมู่บ้านที่สวยงามในมุม ๓๖๐ องศา

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม