ชุมชนคุณธรรมบ้านหอคำ จังหวัดบึงกาฬ

บ้านหอคำเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายหมู่บ้าน มีหนองน้ำธรรมชาติสำคัญเหมาะแก่การเกษตร ลักษณะหมู่บ้านตั้งอยู่เป็นแนวยาวตามถนนทางหลวง หมายเลข 212 และแนวยาวตามลำแม่น้ำโขง ชาติพันธุ์ในชุมชน ได้แก่ ลาวเวียง อพยพมาจากฝั่ง ส.ป.ป. ลาว และที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นหลายที่ มีทั้งศาสนสถานและจุดชมวิว “ เหนือที่สุดแดนอีสาน” เป็นจุดที่อยู่เหนือที่สุดของภาคอีสาน

“ทิวทัศน์งามยามเช้าค่ำ อีกหอคำอันศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์เจ้าพ่อกุดเป่ง ฝีพายเก่งเทพบุตรหอคำ
สินค้านำลูกหยียักษ์ สนุกยิ่งนักแข่งเรือยาวชาวหอคำ”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสุวรรณราชดาราม
วัดสุวรรณราชดาราม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ วัดหอคำ เนื่องมาจากการค้นพบก้อนหินขนาดใหญ่ในวัด ซึ่งพบในภายหลังว่าเป็นทองคำ วัดหอคำจึงเป็นศูนย์กลางระหว่าง 2 หมู่บ้าน ระหว่างบ้านหอคำและบ้านหอคำเหนือ

วัดป่าเทพวิมุต
วัดป่าเทพวิมุต วัดป่าเทพวิมุต เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธศากยมุนีศรีรัตนากร เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ที่ความสูงที่สุดในบึงกาฬ 21.99 เมตร หากใครได้มาเยือนหอคำ ต้องไม่พลาดแวะมาสักการะที่วัดแห่งนี้

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวริมแม่น้ำโขง
จุดชมวิวริมแม่น้ำโขง สามารถมองเห็นเทือกเขาฝั่ง สปป.ลาวที่มีความสวยงาม เหมาะแก่การถ่ายภาพสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

หาดหอคำ
ในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงจะลดจนเห็นทรายที่มีลวดลาย ที่เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ทำให้เกิดเป็นหาดทรายที่สวยงาม สามารถลงเล่นน้ำคลายร้อนได้ อยู่บริเวณหาดบ้านหอคำ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนลูกหยีแม่ประเนียร
“ลูกหยียักษ์” ลูกหยีเป็นผลไม้ป่าที่มีรสเปรี้ยวจี๊ด หวานน้อย ๆ ไม่คงที่ในแต่ละลูก ถ้าลูกไหนหวาน ชาวบ้านมักจะเอาไปทานกับข้าวเหนียว แต่สำหรับลูกเปรี้ยวที่เป็นส่วนใหญ่จะถูกทิ้งขว้างเป็นของกินเล่นของลิง ของนกไป ปัจจุบัน ลูกหยียักษ์ “แม่ประเนียร” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรหอคำได้รับความสนใจจากทั่วประเทศ โดยมีการเปิดขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทั้งยังรับสั่งสินค้าตามออร์เดอร์ ไปกรุงเทพฯ สงขลา ปัตตานี จนถึงประเทศลาว

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การแสดงบาสโลบ รำสาวลาวเวียงนครหอคำ และรำวงย้อนยุค
บริเวณวัดสุวรรณราชดารามในชุมชนมีการแสดงบาสโลบ รำสาวลาวเวียงนครหอคำ และรำวงย้อนยุคเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

บายศรีสู่ขวัญ
ภายในชุมชนบายศรีสู่ขวัญ ให้กับคณะนักท่องเที่ยวที่มา ท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อเป็นการชื่นชมยินดี ช่วยให้เกิดสิริมงคลต่อผู้ที่เข้าร่วมพิธี

ล่องเรือหาปลา
แม่น้ำโขง มีบริการนั่งเรือหาปลา เพื่อทดลองหาปลาในแม่น้ำโขง โดยใช้อุปกรณ์หาปลาแบบโบราณ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านห้วยเล็บมือ (ชุมชนโบสถ์แม่พระถวายพระกุมารในพระวิหาร) จังหวัดบึงกาฬ

ชาวบ้านห้วยเล็บมือ เดิมอพยพมาจากหมู่บ้านพงวิน แขวงคำม้วน ตอนใต้ประเทศลาว เป็นชาติพันธุ์ไทยเทิง หรือข่า ล่องแพมาตามลำน้ำหินปูน พักอยู่ที่ปากแม่น้ำหินปูนระยะหนึ่ง แล้วล่องแพทวนน้ำโขงขึ้นมาจนถึงบ้านห้วยเซือม เห็นว่าไม่เหมาะจึงย้ายลงมาอยู่ที่ท่าศาลา และย้ายขึ้นมาอยู่ที่หมู่บ้านภูทอก ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านห้วยเล็บมือ อาชีพเกษตรกร เป็นส่วนใหญ่ หมู่บ้านห้วยเล็บมือ เป็นหมู่บ้านคาทอลิกมาตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงปัจจุบัน

“น้ำโขงไหลผ่าน นมัสการพระเยซู ฟื้นฟูวัฒนธรรม ภูโขงงาม ธรรมชาติสองฝั่งโขง” หมู่บ้าน “ห้วยเล็บมือ” เล่าว่ามีชาวบ้านไปหาปลาที่ลำห้วย ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านและพบวัตถุ ที่มีลักษณะคล้ายเล็บมือผู้หญิง จึงตั้งชื่อลำห้วยนั้นว่าห้วยเล็บมือ และกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้าน ทางหมู่บ้านจึงสร้างสัญลักษณ์เป็นรูปมือไว้ริมน้ำโขงบริเวณลานด้านหน้าโบสถ์

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

โบสถ์แม่พระถวายพระกุมารในพระวิหาร
หมู่บ้านห้วยเล็บมือเป็นหมู่บ้านคาทอลิกมาตั้งแต่เริ่มแรก ตั้งแต่คุณพ่อเดอลาเล็กซ์ได้ไถ่พวกเขาให้เป็นอิสระ และปลูกฝังความเชื่อให้แก่ผู้สนใจนับถือศาสนา และในจำนวนนี้กลุ่มหนึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานหากินจนมาหยุดอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งความเชื่อถือในอดีตได้ถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบันคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และความเจริญทางศาสนา ได้เข้ามาโดยทางพระสงฆ์ผู้แพร่ธรรม

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่นน้ำตกถ้ำฝุ่น
น้ำตกถ้ำฝุ่น อยู่ในบริเวณท้องที่บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า ห่างจากจังหวัด 33 กม. ธรรมชาติโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งที่มีทิวทัศน์สวยงามหลายแห่งอยู่ทางตอนเหนือของภู และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีถ้ำฝุ่น ซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติร่มเย็นอีกแห่งหนึ่ง
ลักษณะเด่น
-มีเพิงผาหินเป็นแนวยาว
-ทางเดินไปน้ำตกผ่านลานหินทรายกว้างขวาง
-น้ำตกไหลมาจากหน้าผาหินทรายที่มีลักษณะร่องแคบ
-มองเห็นสายน้ำตกเป็นทางยาว

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ไร่มารีย์พิมาน
ไร่มารีย์พิมาน เจ้าของคือ คุณโชคดี คุณโดน ผู้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับพืชพรรณท้องถิ่นของชุมชน เกิดเป็นสวนผัก ผลไม้ และสมุนไพรปลอดสาร ที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าสร้างชื่อให้บ้านห้วยเล็บมือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากสับปะรด อย่างสบู่ น้ำยาล้างจาน
น้ำยาซักผ้า ซึ่งล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณภาพดี และราคาย่อมเยามาก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

บายศรีสู่ขวัญ
คักแท๊ะแสนพันโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนหรือมาพัก ที่คักแท๊ะแสนพันโฮมสเตย์ ก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการอวยพรให้นักท่องเที่ยว ซึ่งมีจุดเด่นคือ
จะมีการอวยพรหรือมีบทสวดขอพรแบบศาสนาคริสต์ด้วย

ปั่นจักรยาน
ถนน(ทางจักรยาน) ริมแม่น้ำโขงนักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานเที่ยวชม และถ่ายภาพบรรยากาศริมแม่น้ำโขง ได้ตามทางจักรยานเรียบแม่น้ำโขงในชุมชน

ถ่ายภาพจุดชมวิวภูทอกน้อย
ภูทอกน้อย จุดชมวิวภูทอกน้อย ตั้งอยู่บริเวณเขตรอยต่อ บ้านภูสวาท และบ้านห้วยเล็บมือ ซึ่งเป็นป่าชุมชนและเป็นภูเขาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง และมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านนับถือและเคารพศรัทธา ภูทอกน้อย ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าว่า ทอก คือ การที่อยู่โดดเดี่ยว และมีสิ่งเดียว เหมือนดั่ง เช่น ภูทอก วัดเจติยาวิหาร ในอำเภอศรีวิไล ดังนั้น คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจึงเรียกว่า ภูทอกน้อย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านท่าเชียงเครือ จังหวัดบึงกาฬ

ชุมชนบ้านท่าเชียงเครือชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ภูไท ที่อพยพมาจาก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษกว่า 60 ปีมาแล้ว อดีตกาลเมื่อหมู่บ้านหรือชุมชมใดเกิดการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เป็นเหตุผลที่ผลักดันให้ชาวบ้านเกิดการอพยพหาที่อยู่อาศัย และที่ทำมาหากินที่มีความอุดมสมบูรณ์

กลุ่มทอผ้าบ้านท่าเชียงเครือ ได้นำเอาวัฒนธรรมการทอผ้าแบบภูไท มาผสมผสานกับวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของตน ที่มีความสัมพันธ์กับลำน้ำฮี้ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลาจึงได้ออกแบบลวดลายลงบนพื้นผ้าทออย่างสวยงาม ที่เรียกว่า “ผ้ามัดหมี่ลายสาวภูไทล่องน้ำฮี้” เป็นการแสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวีถีชีวิต ที่แท้จริงของชาวภูไท บ้านท่าเชียงเครือ ตามคำที่ว่า “ท่าเชียงเครือคือบ้าน ถิ่นฐานแห่งภูไท นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ลมหายใจแห่งน้ำฮี้ ประเพณีเซิ้งกระโด้ โอ้งามตาผ้าทอมือ”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดศิริมงคลวนาราม
เมื่อปี พ.ศ. 2503 มีหลวงพ่ออ่อนเป็นผู้ก่อตั้งวัดเป็นรูปแรก และเป็นโรงเรียนของชาวบ้านได้ศึกษาวิชาเรียนถึง ป.4 แต่ไม่มีศาลายังอาศัยเพิงหญ้าป็นที่หลบแดดฝน ต่อมาหลวงปู่ประเสริฐ ปัญญาธโร ร่วมสร้างหลวงพ่อพระใหญ่ศรีศากยมุนีขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2556 สร้างแล้วเสร็จในปีเดียว เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน

วัดป่าเนินแสงทอง
วัดป่าเนินแสงทองเดิมที่เป็นป่าก่อเพราะมีต้นก่ออยู่มากมาย บริเวณในป่ามีหินแข็งอยู่มาก หน้าฝนหน้าแล้งไม่ค่อยอับชื้น ในป่ามักมีพระธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่บ่อย ๆ เพราะในป่าน่าอยู่มากเพราะเหตุนี้หลวงปู่ธรรมาจึงบวช และย้ายศาลาเก่าจากวัดศิริมงคล ไปสร้างเป็นที่พักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2518 และท่านได้มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. 2538 จึงมีพระอาจารย์พวน ชุตินธโร หรือท่านพระครูประโชติธรรมคุณ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐท่านได้มาสร้างต่อจากหลงปู่ธรรมา

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แม่น้ำฮี้
แม่น้ำฮี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของชาวบ้าน ท่าเชียงเครือ นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรืชมวิถีชาวบ้าน ชมธรรมชาติลำน้ำ โดยเรือของชาวบ้าน ระหว่างทางมีจอดให้ขึ้นไปชมและชิมกาแฟที่ปลูกโดยชาวบ้าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนดอกไม้ตาวัง
จำหน่ายพันธุ์ดอกไม้ เมล็ด ท่องเที่ยว ถ่ายภาพ มีเต็นท์ให้เช่าพักแรม ที่ตั้ง บ้านท่าเชียงเครือ ม.2 ต.ป่งไฮ อ.เซกา จ.บึงกาฬ หมายเลขโทรศัพท์ 06 1464 0500

ไร่กาแฟอุ่นวิเศษ
นายบุญหนา อุ่นวิเศษ เจ้าของสวนยางพาราที่ปลูกกาแฟ ที่อยู่ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำฮี้ บ้านท่าเชียงเครือ หมู่ที่ 2 ตำบลป่งไฮ อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่าเริ่มปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นสายพันธุ์อาราบิก้า และสายพันธุ์โรบัสต้า โดยทยอยปลูกเพิ่มเรื่อยๆ โดยการทดลองปลูกแซมในสวนยางพารา เป็นแปลงแรก เมื่อได้ผลจึงขยับขยายมาปลูกในสวนผสมผสาน เพื่อต้องการหารายได้เสริมนอกเหนือจากการทำสวนยาง Youtube ช่อง อุ่นวิเศษ ต้นตํารับกาแฟบึงกาฬ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่_08 7145 5373,
08 2111 6739
ID LINE:09 8118 0341

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

บายศรีสู่ขวัญ
โฮมสเตย์/ศาลาประชาคมหมู่บ้าน บายศรีสู่ขวัญเอเป็นขวัญ กำลังใจและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนชุมชน

ชมการสาธิตและทดลองฝึกงานฝีมือ เช่น การถักทอจักสาน ทอเสื่อกก การทำผ้ามัดย้อม
กลุ่มอาชีพต่างๆ ฝึกประลองฝีมือด้านการถักทอจักสาน ทำของเล่น เครื่องประดับ

นั่งเรือล่องแม่น้ำฮี้
แม่น้ำฮี้ ล่องลำน้ำฮี้ ชมทัศนียภาพธรรมชาติอันสวยงาม

การแสดงเซิ้งกระโด้
ภายในชุมชน เป็นการแสดงที่นำเอาวิถีชีวิต การทำมาหากิน มาประยุกต์เป็นท่ารำ เช่น การหาปลา สัตว์น้ำต่างๆ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่ง จังหวัด พิษณุโลก

บ้านบุ่ง เป็นชุมชนขนาดกลาง ก่อตั้งเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2486 ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นบุ่ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ที่เป็นแอ่งหรือมีน้ำล้อมรอบ จึงเป็นที่มาใช้เรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน ชุมชนดั้งเดิมหมู่บ้านส่วนใหญ่ มีเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ปัจจุบันภายในชุมชนมีชาวบ้านจากชุมชนอื่น ๆ  เข้ามาอยู่อาศัยเป็นบางส่วน  ชาวบ้านส่วนใหญ่สื่อสารกันโดยใช้ภาษาพื้นเมืองมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย

เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการหมู่บ้านที่ดี โดยเน้นความสะอาดในหมู่บ้านเป็นหลัก “หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่าดู”อยู่กันแบบพี่แบบน้อง คนในหมู่บ้านความรักความสามัคคี พึ่งพาอาศัยกัน  “เราล้อมรั้วด้วยหัวใจ ครอบครัวสดใสเพราะปลอดยา บ้านเอี่ยมสะอาดตา ทุกหลังคาไร้โรคภัย”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผ่องนพาราม
วัดผ่องนภาราม ตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เดิมชื่อวัดผ่องศรีนพรัตน์ อยู่ริมน้ำน่าน ซึ่งตาผ่อง ยายนพ เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด นำโดยหลวงปู่หลง พุทธญาโณ ท่านเป็นเป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดขึ้นใกล้แม่น้ำ ต่อมาเกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งข้างวัด เสียหายมาก จึงย้ายวัดมาสร้างฝั่งตรงข้ามถนน โดยมีนายพรหม ใหญ่โต ถวายที่ดินสร้างจนถึงปัจจุบัน

บ้าน 100 ปี

บ้านเลขที่37 หมู่ที่5 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีเสาเรือนทั้งสิ้น 57 ต้น ปัจจุบันเป็นบ้านของ นางทองชุบ มาจันทร์ อายุ 77 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3
ของบ้านหลังนี้ อาศัยอยู่เพียงลำพัง และดูแลรักษาคงรูปแบบเดิมไว้ให้ลูกหลานได้ดูและศึกษา

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว
เป็นศูนย์รวมใจเคารพกราบไหว้ ของคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านชุมชนให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในชุมชน ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงเจ้าพ่อร่มขาว ในช่วงเดือน 6 หรือวัน พืชมงคลของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มเพาะปลูก มีความเชื่อว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกไปนั้น จะอุดมสมบูรณ์

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวแม่น้ำน่าน
เป็นจุดชมวิวแม่น้ำน่านหน้าวัดผ่องนภาราม จะมีหอสูงสำหรับชมวิว จะมองเห็นบรรยากาศของสวนน้ำ รีสอร์ท คุ้งน้ำ และสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณนี้ได้อีกด้วย

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านบุ่ง
ปีพ.ศ. 2554 อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้คัดเลือกให้บ้านบุ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีภิรมย์ เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย ในการพัฒนา ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์ ซึ่งอยู่ในที่ทำการกำนันณรงค์ จันทร์ชื่น เป็นสถานที่ประชุมของหมู่บ้าน และได้ร่วมกันคัดเลือกครอบครัวพัฒนาขึ้นมา 30 ครัวเรือน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ และได้มีพัฒนากร ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนจากอำเภอพรหมพิราม มาอบรมให้ความรู้ หลังจากนั้นได้นำ 30 ครัวเรือนพัฒนาไปศึกษาดูงานที่ หมู่ 9 คลองมะแพลบ บ้านทุ่งน้ำใส  หมู่ 11 ตำบลดงประคำนครสวรรค์ สุโขทัย ฯลฯ 

วิถีชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล
เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูวิถีชีวิตชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมสังสรรค์ภาคกลางคืนกับกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค ชิมอาหารพื้นถิ่น
ลานสวนสัก หน้าวัด ผ่องนภาราม เป็นกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค คือทั้งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
และคณะต้อนรับจะแต่งกายชุดลายดอกมีดนตรีย้อนยุค นั่งทานอาหารพื้นถิ่น ที่เราจัดเป็นซุ้ม ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทาน

กิจกรรมใส่บาตรพระสงฆ์
หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ หรือบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ เจ้าของบ้านโฮมสเตย์จะเตรียมของสำหรับใส่บาตรไว้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อที่จะรอพระมาบิณฑบาตในตอนเช้าเพื่อเสริมสิริมงคล

กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ
บริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ มีการบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะเชิญผู้สูงอายุ
ปราชญ์ชาวบ้านในหมู่บ้านมาเป็นคนผูกและให้พร พร้อมทั้งมีหมอขวัญ มาทำพิธีเชิญเหล่าเทพยดามาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในงาน

กิจกรรมท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตชุมชน
ภายในหมู่บ้าน และชุมชนใกล้เคียง ให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถอีแต๋น  (รถทางการเกษตร) แล้วเดินทางไปยังฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้ สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิตชุมชน และยังสามารถเดินทางไปยังชุมชนใกล้เคียง ถ้าหากนักท่องเที่ยวสนใจ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดเนินขาม จังหวัดชัยนาท

ลาวเวียงบ้านเนินขาม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาวเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 ประชากรส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มในระบบเครือญาติ อยู่รวมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทอผ้า จักสานไม้ไผ่ ทำนา ทำไร่อ้อย ทำไร่มัน และรับจ้างทั่วไป

ชุมชนลาวเวียงบ้านเนินขาม มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เช่น ประเพณีสงกรานต์  การบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนการแต่งกายมีอัตลักษณ์ เพราะได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองมาจากบรรพบุรุษเชื้อสายลาว ทั้งผ้าทอพื้นเมืองลายโบราณ ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวม้า 5 สี พูดภาษาถิ่น  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียง บ้านเนินขาม (ตั้งอยู่ ณ วัดเนินขาม ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม)

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียงบ้านเนินขามได้จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์ศึกษา เรียนรู้
และส่งเสริมการทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียง บ้านเนินขาม ซึ่งเป็นการ สืบทอดมรดกภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ
เช่น การทำเสื้อ จุกหม้อ ผ้าซิ่นตีนจก และผ้าขาวม้า 5 สี

กลุ่มทอผ้าโบราณ หมู่ 1 ตำบลเนินขาม

การรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณ หมู่ 1 ตำบลเนินขามตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 1 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท โดยมี นางอุษา บุญสาพิพัฒน์ เป็นประธานกลุ่ม

กลุ่มทอผ้าบ้านทุ่ง รังกระโดน หมู่ 14 ตำบลเนินขาม

การรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งรังกระโดน หมู่ 14 ตำบลเนินขาม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 14 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท โดยมี นางฉวี ศรีเดช ประธานกลุ่ม

บ้านไม้โบราณ 100 ปี

เป็นบ้านไม้โบราณของชาว   เนินขาม และยังเป็นบ้านเพียงหลังเดียวภายในชุมชนบ้าน  เนินขามที่ยังคงเสน่ห์ของความดั้งเดิม ภายในบ้านประกอบไปด้วยห้องโถงขนาดใหญ่ มีการจำลองวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวเนินขามไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สปามือ สปาเท้า กลุ่มหมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่ 9 บ้านทุ่ง ตำบลเนินขาม

เป็นสถานที่ไว้บริการสปามือ สปาเท้าให้แก่นักท่องเที่ยว

โรงเรียนชาวนา หมู่ที่ 6 ตำบลเนินขาม

แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชาวนาและศูนย์ข้าวชุมชนโดยกิจกรรมประกอบ    ไปด้วย การสอนทำนา การเลี้ยงปลา การปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง การแปรรูปสัตว์น้ำ การสีข้าว และการทอผ้าไหมเนินขาม

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชน บ้านเขาราวเทียนทอง

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาราวเทียนทอง อำเภอเนินขาม และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท มีพื้นที่มากกว่า 22,000 ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณที่มีไผ่รวกเป็นพืชเด่นมีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจาย
และหนาแน่นบางบริเวณ ส่วนไม้พื้นล่าง มีหนาแน่น เช่น กระเจียว ข่า และเหล่าสมุนไพรนานาชนิด เหมาะกับกิจกรรมการเดินป่าศึกษาธรรมชาติและการปลูกป่า

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

โรงเรียนชาวนา หมู่ที่ 6 ตำบลเนินขาม

แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชาวนาและศูนย์เรียนรู้ชุมชนโดยกิจกรรมประกอบไปด้วยการสอนทำนา การเลี้ยงปลา การปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง การแปรรูปสัตว์น้ำ การสีข้าว และการทอผ้าไหม  เนินขาม

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การบายศรีสู่ขวัญและผูกแขนเอิ้นขวัญ ศูนย์การเรียนผ้าทอพื้นเมืองลาวเวียงบ้านเนินขาม บายศรีสู่ขวัญต้อนรับผู้มาเยือน

การสปามือและเท้าด้วยสมุนไพร กลุ่มหมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่ 9 บ้านทุ่ง ตำบลเนินขามมีบริการสปามือและเท้าด้วยสมุนไพร ไว้บริการนักท่องเที่ยว และมีบริการสินค้าของชุมชน