ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่ง จังหวัดมุกดาหาร

บ้านบุ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่พื้นราบท่ามกลางภูเข้าล้อมรอบที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม กลางทุ่งนาเขียวขจีในช่วงฤดูฝนและสีเหลืองทองอร่ามในช่วงฤดูหนาว มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น 

ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ทางกลางหุบเขา มีความเป็นอยู่ตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยอีสานชาวบ้านมีความสุขตามวิถีและมีความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยวิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างกลมกลืนสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาเยือนดุจญาติมิตรโดยความร่วมมือร่วมพลังความสามัคคีช่วยเหลือกันของคนในชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดธรรมรังษี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนระหว่างหมู่ ๔ และหมู่ ๕ เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน โดยมีกุฏิโบราณตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศาลาการเปรียญ เป็นแหล่งข้อมูลทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีความสำคัญและคุณค่าต่อชุมชน

วัดถ้ำต่องแต่ง
ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูผาขามทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กม. เป็นสถานที่สวยงาม ลักษณะเป็นถ้ำลึกเข้าไป ภายในถ้ำจะมีน้ำหยดติ๋ง ๆ อยู่ตลอดปี ตอนที่น้ำหยดลงภายในถ้ำจะเกิดเสียง ต่องแต่ง ๆ ตลอดเวลา
ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี่ว่า “ถ้ำต่องแต่ง” ถ้ำแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ที่เกจิอาจารย์ชื่อดังเคยธุดงค์ผ่านมา แวะเข้ามาบำเพ็ญเพียรภาวนา เป็นต้นว่า “หลวงปู่สมชาย” แห่งวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิววัดถ้ำต่องแต่ง
ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูผาขามทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กม. 

เส้นทางเดินป่าชุมชนบ้านบุ่ง
ถัดจากวัดถ้ำต่องแต่งไปจะเป็นเส้นทางเดินป่า เพื่อศึกษาธรรมชาติของชุมชน โดยเป็นป่าสมุนไพรที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยจะมีไกด์ชุมชนเป็นผู้นำทาง ซึ่งระหว่างทางเดินจะได้เจอกับความอุดมสมบูรณ์ของป่า พรรณไม้ต่าง ๆ ที่สวยงามและมีสรรคุณทางการรักษามากมาย

กิจกรรมล่องแพลำห้วยแม่น้ำบังอี่
บ้านบุ่งเป็นชุมชนที่มีลักษณะยาวไปตามลำห้วยบังอี่ เป็นแหล่งน้ำที่มาจากภูเขาของชุมชน จึงมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำมาหากินของคนในชุมชน ชาวบ้านจึงได้จัดทำแพเพื่อไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ชมวิถีธรรมชาติและวิถีของชาวบ้านตามลำน้ำห้วยบังอี่

กิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน
เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามวิถีของชุมชนหรือตามฤดูกาล อาทิ การดำนา การเกี่ยวข้าว การปลูกพืชผักหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือวิถีการทำมาหากินของชุมชน เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนลงพื้นที่ ซึ่งจะได้สัมผัสวิถีของชุมชนอย่างแท้จริง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนดินน์มูน
เป็นสวนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของชุมชน โดยนางดาลินน์   ผาลิวงค์ ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางหลวงชนบท 3002 มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิธีการดำเนินการในวิถีเกษตรได้

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  บ้านบุ่ง เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงบ้านบุ่ง ชาวบ้านจะมีการต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนตามอัธยาศัย ดื่มน้ำสมุนไพรเย็น ๆ หลังจากนั้น ก็ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม รำต้อนรับโดยกลุ่มเด็กเยาวชนของชุมชน และเข้าสู่การบรรยายข้อมูลและโปรแกรมการท่องเที่ยวต่อไป

กิจกรรมปั่นจักรยานรอบ ๆ ชุมชน
รอบ ๆ บ้านบุ่ง นั่งท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชาวบ้านบุ่งชมวิวพร้อมเช็คอินสะพานอุปคุต ชมเขื่อนกั้นน้ำลำห้วยบังอี่

นั่งรถอีแต๋นชมวิว
รอบๆบ้านบุ่ง นั่งรถอีแต๋นชมวิว เป็นกิจกรรมที่จะนำพานักท่องเที่ยวชมถนนที่สวยที่สุดในมุกดาหาร เพราะเป็นถนนที่มีภูเขาล้อมรอบ 360 องศา และรายล้อมไปด้วยทุ่งนาอันเขียวขจีในฤดูฝนและสีเหลืองอร่ามเป็นทุ่งรวงทองในฤดูหนาว

กิจกรรมเดินป่าและสำรวจป่าสมุนไพร
พื้นที่ภูเขาภูผากูดและภูผาขาม ด้วยบ้านบุ่งเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยทรัพยากรด้วยธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่มีสมุนไพรที่มีความหลากหลายเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ กิจกรรมเดินป่าและสำรวจป่าสมุนไพรจึงเป็นการท่องเที่ยว  เชิงอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนที่ต้องห้ามพลาด

กิจกรรมประกอบอาหารพื้นถิ่น
ศูนย์การเรียนรู้โฮมสเตย์บ้านภู เป็นการให้นักท่องเที่ยวร่วมประกอบอาหารกับชุมชน โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาหารพื้นถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจากพืชผักสวนครัว  การประกอบอาหารและร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน

กิจกรรมพาแลง
ศูนย์การเรียนรู้โฮมสเตย์บ้านภู กิจกรรมพาแลง จะประกอบไปด้วย การชมแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน กิจกรรมการบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวโดยมีการทำพิธีตามฉบับของชาวอีสาน การผูกข้อมืออวยพร  ซึ่งกันและกันและการรับประทานอาหารพื้นบ้านที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวบ้านบุ่ง  

กิจกรรมศึกษาเรียนรู้การทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าบ้านบุ่ง นักท่องเที่ยวจะได้ศึกษาวิธีการย้อมสีผ้าจากสีเปลือกไม้ธรรมชาติ   โดยสามารถลงมือทำเองและมีผลิตภัณฑ์ที่ติดมือกลับบ้านด้วยเป็นการเก็บความประทับใจในการที่ได้  ลงมือทำเอง รวมถึงได้เรียนรู้วิธีการทอผ้าของชาวอีสานให้ออกมาเป็นผืนผ้าที่มีความประณีตสวยงาม

กิจกรรมเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้าน
กลุ่มยาสมุนไพร นักท่องเที่ยวจะได้ศึกษาตัวยาสมุนไพรและวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ แบบพื้นบ้านจากปราชญ์ด้านสมุนไพรของชุมชน และได้ชมและชิมรสชาติของยาสมุนไพร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่ง จังหวัด พิษณุโลก

บ้านบุ่ง เป็นชุมชนขนาดกลาง ก่อตั้งเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2486 ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นบุ่ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ที่เป็นแอ่งหรือมีน้ำล้อมรอบ จึงเป็นที่มาใช้เรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน ชุมชนดั้งเดิมหมู่บ้านส่วนใหญ่ มีเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ปัจจุบันภายในชุมชนมีชาวบ้านจากชุมชนอื่น ๆ  เข้ามาอยู่อาศัยเป็นบางส่วน  ชาวบ้านส่วนใหญ่สื่อสารกันโดยใช้ภาษาพื้นเมืองมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย

เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการหมู่บ้านที่ดี โดยเน้นความสะอาดในหมู่บ้านเป็นหลัก “หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่าดู”อยู่กันแบบพี่แบบน้อง คนในหมู่บ้านความรักความสามัคคี พึ่งพาอาศัยกัน  “เราล้อมรั้วด้วยหัวใจ ครอบครัวสดใสเพราะปลอดยา บ้านเอี่ยมสะอาดตา ทุกหลังคาไร้โรคภัย”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดผ่องนพาราม
วัดผ่องนภาราม ตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เดิมชื่อวัดผ่องศรีนพรัตน์ อยู่ริมน้ำน่าน ซึ่งตาผ่อง ยายนพ เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด นำโดยหลวงปู่หลง พุทธญาโณ ท่านเป็นเป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดขึ้นใกล้แม่น้ำ ต่อมาเกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งข้างวัด เสียหายมาก จึงย้ายวัดมาสร้างฝั่งตรงข้ามถนน โดยมีนายพรหม ใหญ่โต ถวายที่ดินสร้างจนถึงปัจจุบัน

บ้าน 100 ปี

บ้านเลขที่37 หมู่ที่5 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีเสาเรือนทั้งสิ้น 57 ต้น ปัจจุบันเป็นบ้านของ นางทองชุบ มาจันทร์ อายุ 77 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3
ของบ้านหลังนี้ อาศัยอยู่เพียงลำพัง และดูแลรักษาคงรูปแบบเดิมไว้ให้ลูกหลานได้ดูและศึกษา

ศาลเจ้าพ่อ ร่มขาว
เป็นศูนย์รวมใจเคารพกราบไหว้ ของคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านชุมชนให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ และบันดาลสิ่งที่พึงปรารถนาให้แก่ คนในชุมชน ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงเจ้าพ่อร่มขาว ในช่วงเดือน 6 หรือวัน พืชมงคลของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มเพาะปลูก มีความเชื่อว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกไปนั้น จะอุดมสมบูรณ์

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวแม่น้ำน่าน
เป็นจุดชมวิวแม่น้ำน่านหน้าวัดผ่องนภาราม จะมีหอสูงสำหรับชมวิว จะมองเห็นบรรยากาศของสวนน้ำ รีสอร์ท คุ้งน้ำ และสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณนี้ได้อีกด้วย

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านบุ่ง
ปีพ.ศ. 2554 อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้คัดเลือกให้บ้านบุ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีภิรมย์ เป็นหมู่บ้านเป้าหมาย ในการพัฒนา ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์ ซึ่งอยู่ในที่ทำการกำนันณรงค์ จันทร์ชื่น เป็นสถานที่ประชุมของหมู่บ้าน และได้ร่วมกันคัดเลือกครอบครัวพัฒนาขึ้นมา 30 ครัวเรือน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้อาคารเอนกประสงค์แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ และได้มีพัฒนากร ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนจากอำเภอพรหมพิราม มาอบรมให้ความรู้ หลังจากนั้นได้นำ 30 ครัวเรือนพัฒนาไปศึกษาดูงานที่ หมู่ 9 คลองมะแพลบ บ้านทุ่งน้ำใส  หมู่ 11 ตำบลดงประคำนครสวรรค์ สุโขทัย ฯลฯ 

วิถีชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล
เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูวิถีชีวิตชุมชนกับอาชีพเกษตรตามฤดูกาล 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมสังสรรค์ภาคกลางคืนกับกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค ชิมอาหารพื้นถิ่น
ลานสวนสัก หน้าวัด ผ่องนภาราม เป็นกิจกรรมบรรยากาศย้อนยุค คือทั้งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
และคณะต้อนรับจะแต่งกายชุดลายดอกมีดนตรีย้อนยุค นั่งทานอาหารพื้นถิ่น ที่เราจัดเป็นซุ้ม ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทาน

กิจกรรมใส่บาตรพระสงฆ์
หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ หรือบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ เจ้าของบ้านโฮมสเตย์จะเตรียมของสำหรับใส่บาตรไว้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อที่จะรอพระมาบิณฑบาตในตอนเช้าเพื่อเสริมสิริมงคล

กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ
บริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ มีการบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะเชิญผู้สูงอายุ
ปราชญ์ชาวบ้านในหมู่บ้านมาเป็นคนผูกและให้พร พร้อมทั้งมีหมอขวัญ มาทำพิธีเชิญเหล่าเทพยดามาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในงาน

กิจกรรมท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตชุมชน
ภายในหมู่บ้าน และชุมชนใกล้เคียง ให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถอีแต๋น  (รถทางการเกษตร) แล้วเดินทางไปยังฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้ สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิตชุมชน และยังสามารถเดินทางไปยังชุมชนใกล้เคียง ถ้าหากนักท่องเที่ยวสนใจ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม