ชุมชนคุณธรรมวัดโคกประดู่ จังหวัดนครราชสีมา

ภูมิทัศน์ของชุมชนฯ เป็นพื้นราบบริเวณกว้างอยู่ทางทิศใต้ติดเขตเทศบาลนครราชสีมา มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กตัดผ่านเข้าตำบล พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำนาและปลูกพืชผักสวนครัว เนื่องจากมีคลองบริบูรณ์และคลองชลประทานผ่านหลายสาย    

คำขวัญของชุมชนประจำชุมชนบ้านโพนสูง “โพนสูงล้ำค่า ศาลตาปู่ช้าง ลำน้ำบริบูรณ์ ดินมูลตะกอนสองจุดห้าล้านปี วิถีเกษตรขอบเมือง” จุดเด่นที่สำคัญของชุมชน คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีเกษตรขอบเมือง เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโคกประดู่
ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2526 ที่มาของชื่อ สันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้ต้นประดู่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า โคกประดู่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากชาวบ้านได้ตัดต้นไม้ไปสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย วัดโคกประดู่ เป็นศูนย์รวมจิตใจ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนบ้านโพนสูง

โบสถ์กลางน้ำ ๓๐๐ ปี หมื่นไวย
อุโบสถกลางน้ำ อายุ 300 ปี สร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม มีคูน้ำล้อมรอบ ก่อด้วยอิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปักใบเสมาหิน (อุโบสถน้ำไม่จำเป็นต้องปักเสมา) ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิเยก์ (ปางเลไลยก์) ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ข้างละ 2 ช่อง ด้านหน้าและหลังก่อเป็นมุขลดชั้นยื่นออกมาทั้ง 2 ด้าน มุขด้านหน้า ด้านทิศตะวันออกก่อผนังทึบเจาะช่องประตูทางเข้า 2 ช่อง และช่องหน้าต่างที่ผนังด้านข้างละ 1 ช่อง ผนังกั้นระหว่างมุขหน้ากับห้องโถงกลางเจาะช่องประตูทางเข้า 2 ช่อง และช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ผนังด้านข้างอีกข้างละ 1 ช่อง ที่ผนังกั้นโถงกลางเจาะเป็นช่องประตูเข้าสู่ห้องโถงกลาง 2 ช่องตรงกลางทำซุ้มปราสาทประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก (พระธาตุจุฬามณี) ไว้ภายใน หน้าบันมุขทั้ง 2 ด้าน สลักเป็นลายเครือเถาประดับกระจก ตอนล่างสุดเป็นแนวลายกระจังคั้นระหว่างหน้าบันและขอบผนัง ภายในห้องโถงกลางที่ผนังกั้นมุขตะวันตก ก่อเป็นแท่นชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิเลยก์ (ปางเลไลย์) ปูนปั้นลงรักปิดทอง ฐานอุโบสถ ก่อเป็นแนวโค้ง หย่อนท้องช้าง หรือ หย่อนท้องสำเภา ซุ้มหน้าต่างและซุ้มประตูเป็นซุ้มรูปสามเหลี่ยม ลักษณะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะสืบเนื่องมาในชั้นหลัง บางส่วนผุพังไปตามกาลเวลา ส่วนอิฐที่ใช้ก่อสร้างฐานที่เป็นฐานโค้งสำเภาเรือ และผนังโบสถ์ เป็นอิฐก้อนใหญ่ แบบเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อสร้างกำแพงเมืองเก่าโคราช

ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองนครราชสีมา
บ้านโพนสูง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เดิมเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ในโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจแบบพอเพียง โดยเรียนรู้ผ่านสื่อวีดิทัศน์ และได้รับคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิ ราช ในการบริหารจัดการความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกัน วิถีชีวิต การอยู่โดยปราศจากโรค การหารายได้ ทำเอง กินเอง ใช้เอง เหลือก็นำไปจำหน่าย จึงเกิดความคิดในการ รวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น และหาวิธีแก้ไข เช่น หากพบว่าราคาผลผลิตตกต่ำ  ก็ มาค้นหาสาเหตุ เมื่อทราบสาเหตุว่าราคาตกต่ำเพราะผลผลิตล้นตลาด จึงหาวิธีแก้ไขโดยการแปรรูปผลผลิต เพื่อให้สามารถเก็บได้นานขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และก่อให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น ต่อมาในปี ๒๕๕๘ บ้านโพนสูงได้รับการคัดเลือกจากอำเภอเมืองนครราชสีมา ให้เป็นศูนย์ เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุง สถานที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาดูงานได้จากนั้นได้ดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด และในปี ๒๕๖๓ มีการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายการผลิตให้เพิ่มมากขึ้นและมีความต่อเนื่องเพียงพอต่อ ความต้องการของตลาด และต้องการให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้จากการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถต่อยอดอาชีพให้แก่คนในชุมชนเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพให้เกิดผลสำเร็จและมีความ มั่นคง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

พิพิธภัณฑ์ของเก่าเล่าอดีต
ร่วมรื้อฟื้นความทรงจำ ย้อนอดีตวันวานและประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาของบ้านโพนสูง เป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้าน โดยชุมชนร่วมเก็บรวบรวมสะสมของเก่าโบราณเพื่อศึกษาและย้อนความทรงจำในอดีตที่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นแล้วในปัจจุบัน มีของเก่าของโบราณหลากหลาย วัตถุและความรู้สึกอาจประเมินค่าไม่ได้

ศูนย์เรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนมจีนบ้านประโดก
เรียนรู้การทำเส้นขนมจีนประโดก ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของคนชุมชนประโดกตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านเลือกนำข้าวเจ้าซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่มาทำขนมจีน ปราชญ์ชาวบ้านเรียนรู้การทำเส้นขนมจีนมาจากบรรพบุรุษเดิมชุมชนประโดกทำขนมจีนกันทั้งหมู่บ้าน นิยมหาบขนมจีนไปขายในตัวเมือง และมีน้ำยาขนมจีนที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บ้านต้นไม้
เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายแต่มีความสุข ลองมาเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ใช้เงินให้น้อยที่สุด เน้นการผลิตเพื่อบริโภคเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน อยู่อย่างเรียบง่ายแต่มีคุณค่าเข้าถึงวิถีชีวิตธรรมชาติ ชมการใช้ชีวิตที่บ้านต้นไม้ โดยเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตจริง พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การปลูกพืชสวนครัว การหาปลา การทำกระถางต้นไม้เพื่อเป็นงานศิลปะจากกะลามะพร้าว

สะพานนาบัว
บรรยากาศนาบัวละลานตา มีจุดเช็คอิน จุดถ่ายรูปหลากหลาย อากาศเย็นสบาย นั่งพักดื่มชาเย็นๆ จากเกสรบัวหลวงชั้นเลิศ หรืออร่อยฟินที่ไม่เหมือนใครกับชุดขันโตกเมี่ยงคำ ให้คุณนั่งแคร่ผ่อนคลายชมสะพานนาบัวได้อย่างเพลิดเพลินใจ หรือจะนึกสนุกไปเก็บดอกบัวด้วยตนเอง มีบริการสอนนักท่องเที่ยวพันบัวเป็นดอกกุหลาบที่ง่ายและสวยงาม เพื่อนำไปไหว้พระ หรือ ศาลตายาย สิ่งเคารพประจำหมู่บ้าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนมะพร้าว เจ้ามุ้ย
สวนมะพร้าว เจ้ามุ้ย กับบรรยากาศที่แสนสบาย ร่มรื่นร่มเย็น เหมาะกับการพักผ่อน ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกลูกมะพร้าวจากต้น พร้อมปอกผ่าให้ดื่มน้ำมะพร้าวกันแบบสดถึงใจ นั่งพักให้หายเหนื่อย เพลิดเพลินกับการเรียนพับปลาตะเพียนจากทางมะพร้าว สำหรับให้เป็นของที่ระลึกแบบคลาสสิคด้วยตัวคุณเอง 

สวนฝรั่ง
เป็นสวนฝรั่งที่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาแล้วเช่าพื้นที่เพาะปลูก โดยดินที่แห่งนี้เป็นดินตะกอนน้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้ฝรั่งกิมจูแบบยกร่อง รสชาติดี หวานกรอบไม่แพ้ใคร นักท่องเที่ยวสามารถเรียนการตอนกิ่ง หรือซื้อกิ่งพันธุ์กลับบ้านได้หรือลองทานฝรั่งแบบบุฟเฟ่ต์ ๑ อิ่มแบบไม่อั้น หรือซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน มีศูนย์เรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษารูปแบบโคก หนอง นา โมเดล

อุโมงค์หม่อน (มัลเบอร์รี่)
เป็นอโมงค์หม่อนมัลเบอร์รี่ที่มีการดัดต้นหม่อนมัลเบอร์รี่ ให้เป็นรูปโค้งรับเข้าหากัน เป็นอุโมงค์ที่มีความสูงพอดีสวยงามเป็นร่มเงาที่แปลกตา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปเก็บลูกหม่อนมัลเบอร์รี่ได้สะดวก สามารถเก็บลูกหม่อนและซื้อกลับบ้านได้ ถ่ายภาพกดชัตเตอร์กันได้สนุกมือ พร้อมได้เรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูปน้ำหม่อนมัลเบอร์รี่ และชิมน้ำหม่อนมัลเบอร์รี่รสชาติเปรี้ยวหวานที่มีคุณค่าทางอาหาร

ฟาร์มจิ้งหรีด
เป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดแบบครบวงจร ศึกษาได้ตั้งแต่การขยายพันธุ์จนถึงการแปรรูปพร้อมศึกษาธุรกิจการเลี้ยงจิ้งหรีดที่แสนน่าทึ่ง นักท่องเที่ยวจะได้ประสบการณ์ใหม่ ที่ได้เห็นตั้งแต่การฟักไข่ การเจริญเติบโตจากตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัย ในบรรยากาศเสียงร้องของจิ้งหรีดที่เกิดจากตัวผู้ถูปีกจนทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากจิ้งหรีดตัวเมีย หรือลองชิมเมนูใหม่ “จิ้งหรีดทอดโรยเกลือ” อร่อยง่าย ๆ กับข้าวสวยร้อ ๆ ที่คุณจะติดใจอย่างแน่นอน

โรงเพาะเห็ดปลอดสาร
ชมโรงเรือนเพาะเห็ดปลอดสารพิษ อาหารเกษตรเมนูยอดฮิตสำหรับผู้รักสุขภาพ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวแบบเชิงเกษตรเก็บเด็ดเห็ดที่บานขาวสะพรั่งละลานตา เลือกซื้อนำกลับบ้านได้ด้วยตนเอง พร้อมเรียนรู้การเพาะเห็ด การทำโรงเรือนเห็ดแบบง่าย ๆ ไปถึงการนำไปแปรรูปสินค้า ที่อาจต่อยอดไปสู่การเพาะเห็ดแบบมืออาชีพ

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

พิธีบายศรีสู่ขวัญ
ศูนย์เรียนรู้ฯ บ้านโพนสูง บายศรีสู่ขวัญนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่นักท่องเที่ยว

การแสดงต้อนรับ
ศูนย์เรียนรู้ฯ  บ้านโพนสูง การแสดงของบ้านโพนสูงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

ปั่นจักรยาน
รอบ ๆ บ้านโพนสูง ปั่นจักรยานชมสถานที่ต่างๆ จุดเรียนรู้ จุดชมวิว ต่าง ๆ ของบ้านโพนสูง

ชมวิวสะพาน นาบัว
สะพานนาบัว บ้านโพนสูง ชมความงามของธรรมชาติ ณ สะพานนาบัว ถ่ายรูป ชมธรรมชาติ

กิจกรรมเก็บ ลูกหม่อน
สวนหม่อน  บ้านโพนสูง ชมสวนหม่อนและเก็บลูกหม่อน 

กิจกรรมการดำนา
นาแปลงรวม  บ้านโพนสูง นักท่องเที่ยวร่วมเรียนรู้การดำนา  ฝึกดำนา นาแปลงรวมของชุมชน

ชมศูนย์เรียนรู้ฯ สวนเศรษฐกิจพอเพียง และพิพิธภัณฑ์ บ้านโพนสูง
บ้านโพนสูง นักท่องเที่ยวชมศูนย์เรียนรู้ฯต่าง ๆ ของชุมชนบ้านโพนสูง

ชมการสาธิตและทดลองทำเส้นขนมจีนประโดก
ศูนย์เรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นขนมจีนบ้านประโดก เรียนรู้การทำเส้นขนมจีนประโดก    ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของคนในชุมชนประโดกตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรงเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดสำโรงเกียรติ ประกอบด้วย บ้านสำโรงเกียรติ หมู่ที่ ๘ และบ้านสำโรงเกียรติใต้ หมู่ที่ ๒๐ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ทำนา เป็นอาชีพหลัก เลี้ยงสัตว์ปลูกพืชผักสวนครัว เป็นอาชีพเสริม ชุมชนมีการอนุรักษ์ สืบสาน และถ่ายทอดภูมิปัญญา ประเพณี พิธีกรรม และวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าเขมร มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ความโดดเด่นของชุมชนที่สร้างรอยยิ้ม และความสุขแก่ผู้มาเยือน

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดสำโรงเกียรติ  เดิมเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอกันทรลักษ์ ชื่อตำบลสำโรงเกียรติ ภายหลังถูกยุบไปรวมกับตำบลบักดอง ขึ้นกับอำเภอขุนหาญ เป็นชุมชนเผ่าเขมร ๑ ใน ๔ ชนเผ่าของจังหวัด ศรีสะเกษ ที่มีวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น อัตลักษณ์การแต่งกาย อาหารพื้นถิ่น เช่น ยำแตงโม แกงขนุนอ่อน แกงคั่วหอยขม และแกงไข่ผำ ข้าวต้มด่าง ข้าวต้มโดง ขนมเนียล ขนมก๊อบสกอล ไข่เค็มภูเขาไฟ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสำโรงเกียรติ
สำโรงเกียรติ วัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ ของจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันมี พระครูอรุณปุญฺโญภาส เป็นเจ้าอาวาสวัดภายในวัดมีสิ่งเคารพสักการะ คือ “หลวงพ่อพระตาตน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปแบบขอม ปางสมาธิสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 5 นิ้ว เป็นที่เคารพ ศรัทธาและยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน

ปราสาทหินตำหนักไทร
เป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่ มีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐย่อมุมไม้สิบสองบนฐานศิลาทราย ขนาดกว้างยาวประมาณ ๔x๔ เมตร  มีประตูเข้าออกได้ทางเดียว คือ ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้า อีกสามด้านเป็นประตูหลอกสลักเป็นรูปบานประตูลงในเนื้ออิฐ กรอบประตูด้านหน้าสร้างด้วยศิลาทราย ทับหลังเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เหนือพระยาอนันตนาคราช ๗ เศียร มีพระชายา คือ พระลักษมี นั่งอยู่หลังพระชงฆ์ และพระพรหม ผุดมาจากพระนาภี สองข้างพระพรหมขนาบด้วยรูปฤาษีและบุคคลนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

น้ำตกสำโรงเกียรติ
น้ำตกสำโรงเกียรติ เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  ­๘๑ กิโลเมตร และห่างจากชุมชน ๓ กิโลเมตร อยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ชื่อเดิมของน้ำตกแห่งนี้ออกจะน่ากลัวนิด ๆ กับ “น้ำตกปีศาจ” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามหน่วยทหารพรานชื่อ “หน่วยปีศาจ” ที่ได้ใช้บริเวณน้ำตกตั้งเป็นฐานที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพร้อมเปลี่ยนชื่อน้ำตกตามชื่อหมู่บ้านว่า “น้ำตกสำโรงเกียรติ” ในปัจจุบัน

กลุ่มต้นสมพงสี่พี่น้อง
เป็น“รุกข มรดกของแผ่นดิน” อยู่บริเวณ สวนรุกขชาติน้ำตกสำโรงเกียรติ กลุ่มต้นสมพงนี้มีทั้งหมดสี่ต้น อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน  เป็นพันธุ์ไม้เด่นประจำสวนรุกขชาติน้ำตกสำโรงเกียรติ ขนาดลำต้นวัดเส้นรอบวงได้ ๕.๗๗ – ๘.๒๐ เมตร ความสูง ๓๐-๓๕ เมตร อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี 

ทุ่งกะบาลกระไบ
ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากชุมชนประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ มีสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว “ตะวันทอแสงผาชมพูเขียว” ชมพระอาทิตย์ตกดินที่จุดชมวิว “ตะวันยอแสงช่อง   กะบาลกะไบ

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์ปฏิบัติธรรม ตามรอยพ่อ
เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดสำโรงเกียรติ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม และเงียบสงบ และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยศาสตร์พระราชา การเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายในศูนย์ฯมีการปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟ  สวนองุ่น พืชสมุนไพร และพืชผักนานาชนิด

สวนทุเรียนในชุมชน
ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนวัดสำโรงเกียรติ จะประกอบอาชีพหลักคือ การทำสวน ทำไร่ ทำนา โดยเฉพาะสวนผลไม้ สวนทุเรียนดินภูเขาไฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวอำเภอขุนหาญ ทำให้ชาวชุมชนมีรายได้  

ไร่เฌอปรี อัศวินคาวบอย
คำว่า เฌอปรี เป็นภาษาถิ่น (เขมร) แปลว่า  “ไม้กับป่า” เป็นพื้นที่มีความหลากหลาย  สภาพป่าสมบูรณ์ ประมาณ ๕ ไร่ เนื้อที่ทั้งหมด  ๒๐ ไร่  มีน้ำลำห้วยตะแบงไหลผ่าน มีหอคอยดูภูมิทัศน์รอบด้าน มีการเลี้ยงม้า แพะ และหมูป่า มีที่นา บ่อปลา โดยมีกิจกรรม ขี่ม้า มีที่กางเต็นท์ กิจกรรมรอบกองไฟ  รับประทานอาหารพื้นบ้าน

ศูนย์เรียนรู้ตามรอยศาสตร์พระราชา โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ
โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ และยังเป็นโรงเรียนแกนนำ ขับเคลื่อนในการพัฒนาด้วยพลัง ‘บวร’ “ตามรอยพ่อ อย่างพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 88 พรรษาพระพันปีหลวง” ประจำปี 2563 โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน/วัด/โรงเรียน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

พิธีบายศรีสู่ขวัญ และร่วมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนวัดสำโรงเกียรติจะได้เข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเรียกขวัญและสิ่งดี ๆ และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน ตลอดทั้งร่วมการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น รำสามเผ่าขุนหาญ , รำมะม้วด , รำปังอ๊อกเปรี๊ยะแค

ร่วมชมและร่วมกิจกรรมการสาธิตตามฐานการเรียนรู้
ร่วมชมและร่วมกิจกรรมการสาธิตตามฐานการเรียนรู้ เช่น ทอผ้า การทำอาหาร/ขนมพื้นบ้าน/ทำไม้กวาดทางมะพร้าว

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมต้าตงกอกซอย จังหวัดตาก

“ชุมชนต้าตงกอกซอย” เป็นชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่น ตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นท่าน้ำ มีสะพานไม้ไผ่ยื่นตรงลงไปในแม่น้ำปิง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการค้าขายมานานกว่า ๘๐ ปี ศูนย์กลางตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าขนาดใหญ่ของอำเภอบ้านตาก ในอดีตเป็นทั้งท่าเรือและท่ารถโดยสารที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คน ใช้สัญจรข้ามฟากระหว่างแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก

วิถีชีวิตเรียบง่ายผูกพันกับสายน้ำ บ้านเรือนสร้างด้วยไม้สักโบราณ มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเองและเป็นต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทงสายของจังหวัดตาก ด้วยความโดดเด่นดังกล่าวทำให้ชุมชนต้าตงกอกซอย มีการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา เรียกว่า “กาดต้าตง” เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนได้ทุกมิติ

 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก
วัดพระบรมธาตุ บ้านตาก บรรจุพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า  (พระธาตุประจำปีมะเมีย) ความศักดิ์สิทธิ์ ขององค์หลวงพ่อทันใจทำให้ประชาชนทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามานมัสการและกราบไหว้พระบรมธาตุอย่างไม่ขาดสาย

วัดพระบาท ดอยโล้น
วัดพระพุทธบาทดอยโล้น มีสมเด็จมหาสากยะมุณีศรีสรรเพชร พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่มีพุทธลักษณะงดงาม หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร สูง ๓๘ เมตร ประดิษฐานอยู่บนเนินเขามองเห็นแต่ไกล รอยพระพุทธบาทที่อยู่บนเขาสูงชันโดยมีมณฑปสร้างครอบไว้ และในบริเวณเดียวกันยังมีบ่อน้ำธรรมชาติ เป็นหลุมลึกลงไปภายในหินผา อย่างน่าประหลาด มีน้ำซึมอยู่ภายใน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งมีผู้ไปสวดมนต์หรืออธิษฐานจิตบริเวณบ่อน้ำทิพย์ ปรากฏน้ำผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างน่าอัศจรรย์ ตามตำนานกล่าวว่าหากมีผู้หญิงไปตักน้ำในบ่อแห่งนี้น้ำจะแห้ง แต่ถ้าเป็นผู้ชายตักน้ำในบ่อจะไม่มีวันแห้ง

บ้านวัฒนธรรม “ถนนสายวัฒนธรรม ต้าตงกอกซอย”
เป็นสถานที่รวบรวมความรู้ทางประวัติความเป็นมาของชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ฐานเรียนรู้วาดภาพศิลปะ การทำโคมล้านนา การประดิษฐ์กระทงกะลา การทำข้าวแคบ การทำอาหารพื้นถิ่น แกงมะแฮะ แกงหัวตาล

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน
อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีซากดึกดำบรรพ์ (fossil)     ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood) อายุประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ปี คาดว่ามีความยาวที่สุดในโลก โดยมีความยาวประมาณ ๗๒.๒๒ เมตร ซึ่งซากฟอสซิลดังกล่าวไม่สามารถประเมินค่าได้ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความโดดเด่น ซึ่งจะต้องได้รับการคุ้มครองและพัฒนา โดยคำนึงถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน ได้ดำเนินการขุดเปิดไม้กลายเป็นหินให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ทั้งหมด ๗ ต้น ซึ่งแต่ละต้นมีความแตกต่าง ในส่วนของโครงสร้างและความสมบูรณ์ของซากไม้กลายเป็นหิน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้บ้านปากร้องห้วยจี้
บ้านปากร้องห้วยจี้ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ที่นี่มีวิถีชุมชนของคนพื้นถิ่นแท้ ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัส บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานและต้นตาล ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับต้นไม้สองชนิดนี้โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการ (ปีน) ขึ้นตาลขึ้นลาน เป็นความสามารถพิเศษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนของใบลานนำมาพัฒนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ นั่นคือ หมวกใบลานและหมวกใบตาล หมวกของที่นี่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด ไม่ได้ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วยแต่อย่างใด อาศัยความเชี่ยวชาญและฝีมือของชาวบ้านล้วน ๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตรเช้า
บริเวณถนน ในชุมชนต้าตงกอกซอยเป็นกิจกรรมที่ชาวชุมชนคุณธรรมฯ ต้าตงกอกซอย จัดให้กับผู้มาพักโฮมสเตย์ที่ต้องการตักบาตรพระสงฆ์ในช่วงเช้า โดยจะจัดเป็นตะกร้า โดยในตะกร้าจะประกอบด้วยข้าวสุกห่อใบตองและอาหารคาวหวาน ชุดธูปเทียนและข้าวตอก เพื่อถวายพระ

ล่องเรือชมปิง
บริเวณท่าน้ำ ต้าตง ล่องเรือชมทัศนียภาพแม่น้ำปิง ค่าโดยสารคนละ ๓๐ บาท

พิธีบายศรีสู่ขวัญและรับชมชุดการแสดงท้องถิ่น
บริเวณท่าน้ำต้าตง

การทำโคมต้าตง
ณ บ้านเลขที่๒๓๗ หมู่ที่ ๖ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โคมลอยต้าตงเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เกิดจากฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรจงประดิษฐ์ให้มีรูปแบบที่สวยงามตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่น การปล่อยโคมลอยเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่มีมาแต่โบราณ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ให้หมดจากทุกข์โศกและโรคภัยต่าง ๆ

การทำข้าวแคบและการยำข้าวแคบ
ณ บ้านเลขที่๒๓๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ข้าวแคบหรือข้าวเกรียบงาดำ เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวอำเภอบ้านตากที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น เป็นได้ทั้งอาหารคาวและอาหารว่างการทำข้าวแคบ เป็นการนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดดให้แห้ง ทำให้สุกโดยปิ้งหรือทอด ปัจจุบันนิยมทานแบบสดโดยไม่ต้องนำไปตากแดดให้แห้ง

การทำกระทงกะลา
ณ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม “กาดต้าตง”ต้นกำเนิดประเพณีกระทงสาย  มาจากภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น การนำเอามะพร้าวมาแปรรูปเป็นอาหารว่าง เรียกว่า “ไส้เมี่ยง” ส่วนของกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านโดยไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงสร้างสรรค์นำกะลามะพร้าวมาลอยกระทง ภายในกะลามีด้ายดิบฟั่นเป็นรูปตีนกาหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งสำหรับจุดไฟ ก่อนที่จะปล่อยลงลอยไปตามลำน้ำปิงแบบไม่ขาด

สาธิตการสานหมวกใบลาน
บ้านปากร้องห้วยจี้ ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก หมู่บ้านท่องเที่ยว เชิงหัตถกรรม ที่นี่มีวิถีชุมชนของคนพื้นถิ่นแท้ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัสบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานและต้นตาล ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับต้นไม้สองชนิดนี้โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการ (ปีน) ขึ้นตาลขึ้นลาน เป็นความสามารถพิเศษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนของใบลานนำมาพัฒนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ นั่นคือ หมวกใบลานและหมวกใบตาล หมวกของที่นี่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมดไม่ได้ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วยแต่อย่างใดอาศัยความเชี่ยวชาญและฝีมือของชาวบ้านล้วน ๆ

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม