ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์ จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ๓๒/๑ หมู่ ๗ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๑. ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์ ปิ่นสุวรรณ เบญจรงค์
๒. ชื่อผู้ประกอบการ บริษัท ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ จำกัด
๓. ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ ต่างหูเบญจรงค์ลายดอกกุหลาบ
ในการผลิตเบญจรงค์แต่ละครั้งมักมีเบญจรงค์ที่มีตำหนิ หรือแตกหัก จึงมีการนำชิ้นส่วนที่แตกหัก หรือชิ้นที่มีตำหนิมาตัดเอาส่วนที่ยังใช้ได้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับเบญจรงค์ เพื่อเป็นการนำสิ่งของที่ไม่มีคุณค่ามาสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และลายที่ใช้ คือลายกุหลาบ ซึ่งเป็นลายในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๔. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน ๐๘.๐๐ น. -๑๗.๐๐ น.
๕. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐ ๓๔๗๕ ๑๓๒๒
๖. ช่องทางออนไลน์
Facebook: ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ P.BEN THAILAND

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จ.สมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ๑๘๕-๑๙๑ ถ.ประชาอุทิศ ต.อัมพวา อ.อัมพวา  จ.สมุทรสงคราม
๑. ชื่อยี่ห้อ/แบรนด์ ภัทรพัฒน์
๒. ชื่อผู้ประกอบการ มูลนิธิชัยพัฒนา
๓. ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
๓.๑ ชื่อผลิตภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าวแท้
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการทำน้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติแท้ ๑๐๐% ของชุมชน และเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรชุมชนอัมพวา พร้อมสร้างโอกาสให้เกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามมีรายได้อย่างยั่งยืนโดยนักท่องเที่ยวสามารถชมสาธิตการทำน้ำตาลมะพร้าว โดยนำน้ำตาลสดจากสวนของเกษตรกรเครือข่ายมาแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ ๑๐๐ %
๓.๒ ชื่อผลิตภัณฑ์ น้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติจากน้ำหวานดอกมะพร้าว ๑๐๐%
น้ำส้มสายชูหมัก จากน้ำหวานดอกมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ๑๐๐% หมักด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ให้รสเปรี้ยว กลมกล่อม มีกลิ่นหอมของน้ำหวานดอกมะพร้าวเป็นเอกลักษณ์
สรรพคุณ : มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีกรดอะซีติกสูง ช่วยขจัดสารพิษ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ควบคุมความดัน ลดคอเลสเตอรอลและไขมันในตับ ทำให้ผิวพรรณสดใส ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
๔. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
จันทร์- พฤหัส ๐๙.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น.
ศุกร์-อาทิตย์ ๐๙.๐๐ น. – ๒๑.๐๐ น.
๕. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐ ๓๔๗๕ ๒๒๔๕
๖. ช่องทางออนไลน์
Facebook : อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชเอม ผ้าขาวม้าอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ๙/๘ ถ.ประชาอุทิศ ซ.มูลนิธิชัยพัฒนา ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
๑. จากจุดเริ่มต้นที่นำ “ผ้าขาวม้า” มาผลิตเย็บออกมาเป็นกระเป๋าในรูปแบบต่างๆ ผ้าขาวม้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นไทยในตัวอยู่แล้ว ได้ใส่ภูมิปัญญาเข้าไปแปรรูปให้ใช้สอยได้ง่ายขึ้นเป็นกระเป๋าต่างๆ
การต่อยอดธุรกิจ นำผ้าขาวม้าแบบไทยๆแบบดั้งเดิม สู่แฟชั่นยุคสมัยใหม่ นำลวดลายของผ้าขาวม้าที่มีเสน่ห์ของไทย มาทำเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ กระเป๋าสะพาย กระโปรง เสื้อ กางเกง ผ้าพันคอ รองเท้า
๒. ประเภทของผลิตภัณฑ์
ของใช้ เครื่องประดับ และตกแต่ง
๓. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน
ทุกวัน ๑๒.๐๐-๒๑.๐๐ น.
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๙ ๙๔๒๙ ๙๐๕๑
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : ผ้าขาวม้า อัมพวา ชเอม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ร้านน้องอุ้มซีฟู้ด อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ซอยสุคนธมาน อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๑. ร้าน “น้องอุ้มซีฟู้ด” (ชื่อเดิมคือ ร้านน้องอุ้ม อัมพวา) เปิดขายมานานกว่า ๒๐ ปี ตัวร้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง บรรยากาศภายในร้านจัดโต๊ะนั่งแบบโล่งๆ โปร่งสบาย มีศาลาริมน้ำจัดโต๊ะนั่งให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ รับลมชมวิวแม่น้ำแม่กลองสวยๆ ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลสดใหม่ ฝีมือแม่ครัวระดับตำนาน ที่ใครได้ลองแล้วต้องแวะเวียนกลับมาอีกครั้งแน่นอน
๒.เมนูเด่น/เมนูแนะนำ
๒.๑ หมึกผัดกะปิ
๒.๒ เมี่ยงคะน้าหมูหยอง
๒.๓ แกงส้มไข่ปลาริวกิว
๓.วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน
ทุกวัน เวลา ๐๙.๓๐ – ๒๑.๐๐ น.
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๖ ๓๖๓๘ ๘๘๙๘
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : น้องอุ้มซีฟู๊ด อัมพวา

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ครัวคุณจ๋า จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ๑๕/๒ หมู่ ๑ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๑. ร้านอาหารทะเล เมนูพื้นบ้าน บรรยากาศดี ติดริมน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบ ในท้องถิ่นเป็นตัวชูโรง ได้แก่ ผักชะคราม มีอาหารหลากหลายเมนู ที่โดดเด่น ได้แก่ น้ำพริกผักชะคราม,ปลาทูแดดเดียว,แกงส้ม ใบชะคราม วัตถุดิบมีความสดใหม่ ราคาย่อมเยาว์และเป็นร้านอาหารอร่อย ๑๐๐ ปี ของกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ถือเป็นร้านอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ใครผ่านมาต้องแวะมารับประทานแทบทุกครั้ง
๒. เมนูเด่น/เมนูแนะนำ
๒.๑ น้ำพริกใบชะคราม-ปลาหมอเทศแดดเดียว
๒.๒ หลนปู
๒.๓ ปลาทูทอดน้ำปลา
๒.๔ ปูนึ่ง
๓. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของร้าน
ทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม
๐๘ ๑๘๐๘ ๒๗๐๑
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : ร้านครัวคุณจ๋า วัดเขายี่สาร

อุทยาน ร. ๒ จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๑. อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ อุทยาน ร.๒ ตั้งอยู่ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น หอกลาง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ห้องชาย จัดแสดง ให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ มีพระพุทธรูปสำหรับบูชารวมทั้งแท่นพระบรรทม ซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ห้องหญิง แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิง ไทยโบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ ห้องครัวและห้องน้ำ จัดแสดงลักษณะครัวไทยมีเครื่องหุงต้ม ถ้วย โรงละครกลางแจ้งและสวนพฤกษชาติ เป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดและมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง จำหน่ายพันธุ์ไม้ อุทยาน ร.๒ เป็นสถานที่ๆ มีความร่มรื่น เหมาะสำหรับเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศแบบไทยที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐ น.- ๑๖.๓๐ น. หยุดทุกวันพุธ
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ
ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท
ชาวต่างชาติ ๖๐ บาท
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม ๐ ๓๔๗๕ ๑๖๖๖
๕.ช่องทางออนไลน์ Facebook : อุทยาน ร.๒
๖.สิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ / ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้ง ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
๑. ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดริมแม่น้ำ ที่เปิดขายตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงดึก แต่จะครึกครื้นมากเป็นพิเศษช่วงเย็นเป็นต้นไป ชาวบ้านจะพายเรือนำสินค้ามาขายหลากหลายชนิด บ้างก็วางขายริมสองฝั่งคลอง ทั้งอาหารไทย อาหารทะเล ผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก ให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายใช้สอยกันอย่างเพลิดเพลิน นอกจากนี้ ยังมีเรือบริการพาชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืนอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ตุลาคม จะมีหิ่งห้อยเยอะที่สุด เสน่ห์ของตลาดน้ำอัมพวาอยู่ที่บ้านเรือนแบบดั้งเดิม เป็นบ้านไม้หลังคาสังกะสีที่ยังคงอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม
๒. วัน/เวลา/ช่วงเวลา เปิด-ปิด ของสถานที่
ศุกร์-อาทิตย์/วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๑๐.๐๐ น.- ๒๑.๓๐ น.
๓. ค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่/ค่าบริการต่าง ๆ –
๔. เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อสอบถาม ๐ ๓๔๗๕ ๑๓๕๑
๕. ช่องทางออนไลน์
Facebook : ตลาดน้ำอัมพวา@AmphawaFloating Market
๖. สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ / ที่จอดรถ / จุดบริการนักท่องเที่ยว / ร้านอาหาร

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม

ในอดีตเรือสำเภาที่ล่องมาค้าขาย ในเรือมีพี่น้องชาวจีนเดินทางมาด้วยกัน ๓ คน คือ พี่คนโตชื่อจีนเครา คนรองชื่อจีนขาน น้องคนสุดท้องชื่อจีนกู่ เมื่อล่องเรือมาถึงบริเวณเขายี่สารในอดีตซึ่งเป็นท้องทะเล เกิดอุบัติเหตุเรือพุ่งชนภูเขาจนเรือแตก ซึ่งก็คือบริเวณด้านหลังเขายี่สาร ที่เรียกกันว่า อู่ตะเภา พี่น้องทั้งสามจึงพลัดพรากจากกันไป โดยจีนขานอยู่ที่เขายี่สาร และได้รับการขนานนามเป็นพ่อปู่ศรีราชา ถือเป็นต้นกำเนิดชุมชนเขายี่สาร

เขายี่สาร เป็นภูเขาลูกเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม จึงมีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ อาหารการกิน ฯลฯ ที่แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดสมุทรสงคราม มีโบราณสถานสำคัญ เก่าแก่ และมีพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร  ซึ่งรวบรวมภูมิปัญญา และความรู้เกี่ยวกับชุมชน มีงานหัตถกรรม การประกอบอาชีพที่น่าสนใจและมีอาหารพื้นถิ่นที่หารับประทานที่อื่นไม่ได้

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดเขายี่สาร
เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระวิหารบนยอดเขาที่มีลักษณะเป็นรูปเรือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งเป็นองค์ประธานของวัด รวมทั้งหลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปปางมารวิชัยอันเป็นงานช่างฝีมือชาวขอม หน้าวิหารแห่งนี้มีพระพุทธรูปแบบทรงเครื่องปางยืน พระมณฑปและบานประตูสลักไม้ศิลปะสมัยอยุธยา ตอนปลายซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ขั้นสูง
– ถ้ำพระนอน อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีนิ้วพระบาทเก้านิ้ว
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร
ก่อตั้งราวปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยรวบรวมข้าวของเครื่องใช้และโบราณวัตถุจากวัดเขายี่สาร รวมทั้งสิ่งของที่รับบริจาคมาจากชาวบ้านในชุมชนยี่สาร เพื่อนำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจอันเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางด้านโบราณคดีและอนุรักษ์ไปด้วยในคราวเดียวกัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ชมเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์สามารถเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
ศูนย์เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากชาวชุมชน ที่ต้องการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ จากพืชป่าชายเลนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ โดยเลือกส่วนที่เป็นเปลือกไม้ หรือใบไม้ของพืชป่าชายเลนมาต้มให้ได้น้ำสีเข้มข้น นำผ้าฝ้ายที่ขจัดไขมันออกแล้วมามัดเพื่อสร้างลวดลายแล้วแช่ในน้ำย้อม จากนั้นจึงนำไปซักและตากในที่ร่ม นำผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติพืชป่าชายเลนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตามประโยชน์ของการใช้สอย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน
ชมวิธีการอนุรักษ์ป่าชายเลน ของชาวชุมชนยี่สาร ที่ดูแลป่าไม้ และปลูกป่าทดแทน

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนวัดเขายี่สาร
โรงเรียนวัดเขายี่สาร ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกผักสวนครัว การแสดงหุ่นสาย และเปิดให้บุคคลภายนอก ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

กิจกรรมการทำผ้ามัดย้อม กลุ่มเปลือกไม้
กลุ่มเปลือกไม้ บ้านเขายี่สาร ทดลองทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ด้วยพืชป่าชายเลน สืบทอดภูมิปัญญาและสร้างลวดลายที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้ง ยังสามารถ    ช็อปปิ้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อ กระเป๋า หมอน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) จังหวัดสมุทรสงคราม

เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ อาศัยระบบนิเวศสามน้ำที่มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ ๒ ครั้ง จึงเหมาะแก่การทำสวนยกร่อง ชาวบ้านส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชผลแบบผสมผสาน ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ นอกจากนี้ยังมีไม้ผลอื่น ๆ อีกมากมาย 

เสน่ห์ของชุมชนคุณธรรมฯวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เป็นชุมชนที่ดำรงวิถีชีวิตชาวสวน เป็นชุมชนเกษตรที่พึ่งพาตนเองและอยู่อย่างพอเพียง มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เหมาะแก่การเรียนรู้ หลากหลาย มีประเพณีที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก คือ ประเพณีตักบาตรขนมครก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
วัดบางพลับ
เป็นวัดเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าตากสินมหาราชและเหล่าทหารใช้บริเวณวัดนี้เป็นที่พักค้างคืน และประกอบพิธีกรรมภายในอุโบสถ ก่อนจะยกทัพเรือข้ามฟากไปรบกับพม่าที่ค่ายบางกุ้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยเป็นวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับวัดบางกุ้ง จึงเรียกชุมชนนี้ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ชุมชนบ้านพักทัพ” และเรียกชื่อวัดว่า วัดพักทัพ ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็นวัดบางพลับในที่สุด
วัดแก่นจันทน์เจริญ
ตามประวัติเล่าว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ บนที่ดินของพระยาดาราและคุณหญิงปิ่น บนเนื้อที่เกือบ ๗ ไร่ เมื่อแรกมีพระสงฆ์มาอยู่ชื่อพระอธิการแสง และพระอธิการทอง ต่อมาวัดทรุดโทรมลงจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ กำนันจึงนิมนต์หลวงพ่อโห้ เจ้าอาวาสวัดบางพลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทน์เจริญด้วย
ลานจันบวร
เป็นพื้นที่ตลาดวัฒนธรรม ภายในบริเวณวัดแก่นจันทน์เจริญซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียน นำพืชผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนมาวางจำหน่าย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองบางพลับ
เป็นคลองที่ไหลผ่านภายในชุมชน ทางวัดแก่นจันทน์เจริญจึงทำ   ท่าน้ำสำหรับเป็นที่นั่งเล่น พักผ่อน และในอนาคตจะมีกิจกรรมการพายเรือ และการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนส้มโอ
ชุมชนบ้านบางพลับปลูกส้มโอขาวใหญ่โดยใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมไปกับการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วดึงนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเป็นชุมชนแรกของจังหวัดสมุทรสงครามที่ปลูกส้มโอขาวใหญ่

 กิจกรรมการท่องเที่ยว

การตักบาตรขนมครก
วัดแก่นจันทน์เจริญ เป็นงานประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย จัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ สมัยหลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส มีความเป็นมาว่า ในสมัยที่หลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่พระสงฆ์ในวัดทำการตัดเลื่อยไม้เพื่อมาใช้ในการสร้างเสนาสนะ ได้มีแม่ค้าพายเรือนำขนมครกมาจำหน่ายและถวายพระ ชาวบ้านเห็นจึงซื้อขนมครกถวายพระเป็นประจำ จนเป็นประเพณีสืบต่อมา
ปั่นจักรยาน
ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) เส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวภายในชุมชนระยะทาง ๕ – ๗ กิโลเมตร เริ่มจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยมีจักรยานไว้สำหรับนักท่องเที่ยวปั่นภายในชุมชน ไปยังโบราณสถานวัดบางพลับ ประกอบไปด้วย พระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ เสมา ซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากนั้นปั่นจักรยานไปยังบ้านพญาซอชมรุกขมรดก ต้นมะพร้าวซอ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และพบกับปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะสาธิตการทำกะโหลกซอ และฟังเพลงบรรเลงจากซออันไพเราะ เดินทางปั่นจักรยานผ่านเส้นทางสวนส้มโอ แวะชิมส้มโอปลอดสารสด ๆ จากต้น ต่อจากนั้นปั่นจักรยานไปยังวัดแก่นจันทน์เจริญ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอุโบสถชมภาพจิตรกรรมฝีมือช่างเอก
ทำผลไม้กลับชาติ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ “ผลไม้กลับชาติ” คือการนำผักหรือผลไม้ที่มีรสชาติขมอย่างบอระเพ็ด มะกรูด มาแช่อิ่มกลายเป็นของหวานแบบไทยโบราณ ซึ่งสูตรนี้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของครอบครัวหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันเอง ก็มีการนำผักผลไม้ที่ขึ้นริมรั้วบ้านอย่างมะระขี้นก พริก มะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ แตงกวา มาแช่อิ่มเพื่อให้มีรสชาติหวาน กินได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผลไม้กลับชาติ”

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม