ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) จังหวัดนครสวรรค์

ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ อาชีพการทำการตาลโตนด เจดีย์ทรงลังกาคว่ำสมัยสุโขทัย มีพิพิธภัณฑ์จำนวน ๔ หลัง มีแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ  หนึ่งเดียวในสยามจุดนัดพบยม-น่าน จระเข้ด่างเกยไชย เป็นต้น

ชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) มีประเพณี วัฒนธรรม และเทศกาลที่ดีงามของชาวบ้าน ที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน อาทิ  ประเพณีการห่มผ้าองค์หลวงพ่อพระบรมธาตุเกยไชย งานเทศกาลกินตาล ฯลฯ และมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) คือ ข้าวขาวเกยไชย เค้กตาลโตนด คุกกี้ตาล

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พระบรมธาตุเกยไชย
เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ แบบลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ไม่ทำเสาหาน ความสูงปัจจุบันประมาณ ๑๔ เมตร ซึ่งได้รับสถาปัตยกรรมมาจากสมัยสุโขทัย ในช่วงของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นต้นมา ในปี พ.ศ. ๑๙๐๖ อย่างน้อยที่สุดเป็นเวลามากกว่า ๖๕๘ ปีที่ผ่านมา

วิหารพระพุทธศรีสรรเพชญ์
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระบรมธาตุ เกยไชย เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน โดยมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง และในครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ พระครูนิธานปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอชุมแสง เจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) รูปปัจจุบัน ท่านได้ทำการออกแบบและก่อสร้างอาคารรอบนอก ก่อผนังด้วยศิลาแลง สำหรับไว้ใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว หลังคาหน้าจั่ว ทำจากไม้ตาลทั้งหลังแต่เดิมพิพิธภัณฑ์หลังนี้ ยังไม่มีชื่อเรียกที่เป็นทางการว่าอะไร ซึ่งได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อันเนื่องมาจากความคิดของพระครูนิทานธรรมประนาท อดีตเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ รูปที่ ๔ เจ้าคณะตำบลเกยไชย ร่วมกับคณะครู – อาจารย์ของโรงเรียนชุมชนวัดเกยไชยเหนือ ผู้นำท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้านในตำบลเกยไชย ซึ่งจุดกำเนิดที่สำคัญของการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ
วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับการจัดสรรงบประมาณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๙,๖๐๐,๐๐๐.- บาท (เก้าล้านหกแสนบาทถ้วน) ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ บูรณะปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ ก่อสร้างห้องน้ำ และสถานที่จอดรถ เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

พิพิธภัณฑ์ราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย”
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ซึ่งมีขนาดความกว้าง ๑๗.๖๐ เมตร ความยาว ๔๐.๕๐ เมตร ภายในอาคาร ชั้น ๑ เป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการ ๖ โซน สำหรับอาคารด้านบนชั้นที่ ๒ เป็นสถานที่จัดแสดงรูปปั้นราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่าง เกยไชย” ซึ่งออกแบบและปั้นโดยช่างฝีมือท้องถิ่น คือ นายประเทือง แสงวิเศษ และคณะ รูปปั้นราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย” มีขนาดลำตัว กว้าง ๗.๖๐ เมตร ยาว ๔๔ เมตร และมีขนาดความสูง ๖.๓๐ เมตร ตามลำดับ ณ ปัจจุบันเป็นรูปปั้นจระเข้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในโลก ก็ว่าได้

อาคารอาศรมศิลป์ท้องถิ่นชุมชน ต.เกยไชย
สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในบริเวณ วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารจากโรงเรียนรุ่งอรุณ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับอุปกรณ์การทำตาลโตนด ซึ่งเป็นอาชีพพื้นบ้านของชาวบ้านตำบลเกยไชย และได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ จากตาลโตนด

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หนึ่งเดียวในสยาม จุดนัดพบยม-น่าน
แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด แม่น้ำน่านจะมีสีแดงขุ่น เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน ส่วนมากจะไหลผ่านบริเวณที่น้ำกัดเซาะและเกิดจากการพังทลายของดินลูกรัง ดินดาน ทำให้มีสีแดงขุ่น ส่วนแม่น้ำยมจะมีสีเขียวใส เนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำไหลผ่านจะเป็นที่ราบลุ่มดินทราย จึงทำให้น้ำมีสีเขียวใสแม่น้ำทั้งสองสายนี้เปรียบเสมือนสายโลหิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้

ทุ่งนาที่สวยที่สุดในปฐพี
ทุ่งนาที่สวยที่สุด คือ ทุ่งนาข้าวที่มีพื้นหลังเป็นทุ่งต้นตาลโตนด ที่มีความสวยงามโดยธรรมชาติ เป็นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เป็นที่พักผ่อน ผ่อนคลายสายตา และชื่นชมกับความสวยงามได้เป็นอย่างดี

สวนตาลโตนด
สวนตาลโตนด ในเขตอำเภอชุมแสงมีมากกว่า 24,000 ต้น (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2560) พบมากในเขตตำบลท่าไม้ และตำบลเกยไชย ตามลำดับ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อ ตำบล เกยไชย
เป็นแหล่งเรียนรู้ และท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ และเป็นแหล่งพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวเกยไชย เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การประกอบอาหารพื้นบ้าน
วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) และหมู่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน ที่อยู่ในชุมชนคุณธรรมวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) การประกอบอาหารพื้นบ้าน (คาว/หวาน) อาทิ เช่น แกงหัวตาลสามรส ผัดกุ้งยอดตาล น้ำพริกกุ้งเสียบตาลเต๋า แกงปลากรายหัวตาล การทำน้ำตาลสดเดือดแรก น้ำตาลปึก–ปี๊บ จาวตาลเชื่อม จาวตาลอบแห้ง ลอนตาล ลอยแก้ว ลอนตาลล่องธารา ขนมตาล เค้กตาลโตนด ทองม้วนตาลสด คุกกี้ตาล ฯลฯ

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 สถานที่สำคัญ

วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้

  • พระบรมธาตุเกยไชย (เพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง)
  • หลวงพ่อทองอยู่ (เพื่อการสอบเข้าราชการ และสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง)
  • พระพุทธศรีสรรเพชญ์ (เพื่อส่งเสริมชีวิตคู่ และความรักให้ ยืนยาว)
  • พญาด่างเกยไชย (เพื่อเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ สืบชะตา และรับโชคดี)
  • พระเจ้าตากสินมหาราช (เพื่อความโชคดี จากการเสี่ยงโชค)

การชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

  • วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)
  • หมู่บ้านต่างๆ
  • เมืองชุมแสง
  1. วัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ)
  • ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  • พิพิธภัณฑ์ราชาจระเข้ยักษ์ “พญาด่างเกยไชย”
  • วิหารหลวงพ่อทองอยู่
  • หนึ่งเดียวในสยาม จุดนัดพบ ยม-น่าน
  • พระบรมธาตุเกยไชย
  • วิหารพระพุทธศรีสรรเพชญ์
  • อาคารอาศรมศิลป์ท้องถิ่นชุมชนตำบลเกยไชย
  • พิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ
  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
  1. หมู่บ้านต่างๆ
  • กลุ่มเบเกอรี่ตาล หมู่ที่ 4
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยว บ้านปากคลองเกยไชย หมู่ที่ 5
  • กลุ่มอาชีพจากตาลโตนด หมู่ที่ 6
  • ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อ ตำบลเกยไชย หมู่ที่ 7
  • ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตาลโตนดริมทางหลวง 225 หมู่ที่ 9
  • กลุ่มขนมไทยจากตาลโตนด หมู่ที่ 14
  • กลุ่มแปรรูปน้ำพริก หมู่ที่ 15
  • กลุ่มผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด-มะพร้าว หมู่ที่ 14 ตำบลท่าไม้
  1. เมืองชุมแสง
  • สะพานหิรัญนฤมิตร
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
  • ชุมแสงแกลอรี่
  • ตลาดเก่ากว่า 100 ปี
  • ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
  • สถานีรถไฟเมืองชุมแสง

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น