ชุมชนคุณธรรมวัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม จังหวัดระยอง

ชุมชนคุณธรรมวัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทะเลน้อย ในสมัยก่อนหมู่บ้านทะเลน้อย มีชื่อว่า บ้านเนินสระ เพราะมีสภาพพื้นที่เป็นเนิน ติดทะเลและสระน้ำ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตหน้าแล้งบางปีน้ำทะเลหนุนเอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ในบริเวณนี้ ทำให้มีลักษณะคล้ายทะเลเล็ก ๆ จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านทะเลน้อย”

คำขวัญบ้านทะเลน้อย “กล้วยน้ำว้าขึ้นชื่อ เลื่องลือผักกระชับ ถิ่นพักทัพเจ้าตาก ของฝากกะปิน้ำปลา ร่องธาราลำน้ำประแสร์”

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ไหว้ “ศาลสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช” สถานที่นี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ช่วงที่รวบรวมกำลังพล ก่อนที่จะเข้ายึดเมืองจันทบุรี
เจดีย์ ๑๐๐ ปี
วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คาดว่าสร้างราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือก่อนนั้น หากนำมาเทียบกับประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมกรุงและเสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310 จึงคำนวณได้ว่า วัดนี้สร้างมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ
อุโบสถ ๓๐๐ ปี
เป็นสิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือคือ พระอุโบสถหลังเก่า ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ซุ้มประตูหน้าต่างแบบปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องถ้วยลายคราม กล่าวว่าเป็นผลงานสถาปัตยกรรมวัดไทยกึ่งจีนที่วิจิตรงดงามมากแห่งหนึ่งในยุคนั้น

พระพุทธรูปองค์หวาย

นมัสการ “พระพุทธรูปองค์หวาย” เป็นพระพุทธรูปหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ทำจากหวาย (ต้นหวาย) นามว่า “หลวงพ่อโครงหวาย” ปางมารวิชัย
ทำด้วยโครงหวายฉาบปูน
ตู้ลายรดน้ำ
“ตู้ลายรดน้ำ” เป็นของโบราณหายาก ที่มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาชื่นชม

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุด Check In บ้านทะเลน้อย
เป็นสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวไปถ่ายภาพ ตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ประมาณ ๒ กิโลเมตร ติดกับริมแม่น้ำประแสร์
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ชุมชนบ้านทะเลน้อยจะมีบริการให้นักท่องเที่ยวได้ล่องเรือเพื่อชมวิว  ๒ ชายฝั่งแม่น้ำประแสร์ ในยามเย็น และชมเหยี่ยวแดง
ล่องแพแม่น้ำ ประแสร์
ชุมชนบ้านทะเลน้อยมีบริการให้นักท่องเที่ยวล่องแพ เพื่อชมธรรมชาติทั้งสองฝั่งแม่น้ำประแสร์ เมื่อยามค่ำคืน โดยมีการชมหิ่งห้อยและตกหมึก

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านทะเลน้อย
เป็นสถานที่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เช่น ด้านการเกษตร (เพาะผักกระชับ) การปลูกกล้วยน้ำหว้า เป็นต้น
ศูนย์การเรียนรู้เพาะผักกระชับ
ชุมชนบ้านทะเลน้อย มีการเพาะปลูกผักกระชับ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน โดยนายวิสูตร ช่างเหล็ก ประธานกลุ่มเพาะปลูกผักกระชับ จะมีรายได้ต่อครัวเรือนวันละ ๗๐๐-๘๐๐ บาท และจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าชม การเพาะผักกระชับใช้เวลาในการแช่เมล็ด 3 เดือน แต่ถ้าเมล็ดมีการงอกแล้วจะใช้เวลาปลูกประมาณ 7 – 8 วันก็สามารถนำมารับประทานได้
การเพาะปลูกกล้วยน้ำว้า
บ้านทะเลน้อย เป็นชุมชนติดแม่น้ำประแสร์ และทะเลน้อย เป็นจุดบรรจบของน้ำทะเล น้ำจืด และน้ำกร่อย กล้วยน้ำว้า บ้านทะเลน้อย ได้ฉายา “กล้วย 3 น้ำ” ซึ่งมีรสชาติเฉพาะ มีความหวาน เป็นที่ต้องการของตลาด “กล้วยน้ำว้าที่บ้านทะเลน้อยอร่อยที่สุดในโลก”

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ฟังการบรรยาย
ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้บ้านทะเลน้อย วิทยากรประจำชุมชนบรรยายภาพรวมของชุมชน ความเป็นมาของวัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม อุโบสถเก่า ๓๐๐ ปี และพระพุทธรูปโครงหวาย
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, อุโบสถ ๓๐๐ ปี, พระพุทธรูปโครงหวายไหว้ศาลสมเด็พระเจ้าตากสินมหาราช ชมอุโบสถเก่า ๓๐๐ ปี และไหว้พระพุทธรูปโครงหวาย
เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านทะเลน้อย
ภายในชุมชนบ้านทะเลน้อย การทำปลาเค็ม เพาะปลูกผักกระชับ การสาธิตการทำหมวกใบจาก
ล่องเรือ หรือแพ
ณ ท่ากระบัก ริมแม่น้ำประแสร์ ชมธรรมชาติป่าชายเลน ปลูกป่าชายเลน และชมเหยี่ยวแดง
ซื้อของฝาก
ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้บ้านทะเลน้อย จำหน่ายของฝากจากชุมชน เช่น ปลาเค็มแดดเดียว กะปิ-น้ำปลา กล้วยตาก หมวกใบจาก เป็นต้น

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี

มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานมาจากในอดีต วันหนึ่งมีเจ้าเมืองที่ไม่ปรากฎพระนามเสด็จมาระหว่างที่กำลังชมภูมิประเทศ มีหญิงชาวบ้านเห็นพระองค์เหน็ดเหนื่อย จึงเข้ามาถวายน้ำดื่มแก้กระหายแต่ในขันน้ำมีหญ้าคาลอยอยู่เจ้าเมืองทรงกริ้วและเรียกให้หญิงชาวบ้านมาเข้าเฝ้า หญิงชาวบ้านอธิบายว่าต้องใส่หญ้าคาลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าเมืองรับเสวยน้ำในขณะกำลังเหนื่อย เพราะอาจทำให้จุกเสียดและประชวร เจ้าเมืองได้ฟังก็ซาบซึ้ง จึงพระราชทานแหวนให้หญิงชาวบ้านเป็นการตอบแทน เรียกว่าธรรมรงค์ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชุมชนนี้ว่า บ้านธรรมรงค์ และเป็นบ้านถ้ำรงค์ มาจนปัจจุบัน

ชุมชนถ้ำรงค์เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่คนในชุมชนยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มีความพร้อมในทุกด้าน ๆ ด้านศาสนา ด้านชุมชน ด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี จึงทำให้การบริการจัดการต่าง ๆ เป็นไปในทางที่ดี เพราะคนในชุมชนทุกภาคส่วนมี ส่วนร่วมในการดำเนินงานทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จมีการรวมกลุ่ม    
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดถ้ำรงค์
เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาประวัติที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก ไม่มีใครรู้ว่าวัดนี้ก่อสร้างแต่เมื่อใดแม้แต่เจ้าอาวาสคนแรกมาพบ คือ หลวงพ่อผ่าน ได้ทำการสร้างกุฏิสงฆ์ใหม่ซึ่งย้ายจากที่เดิมมา สร้างโรงเรียน นามว่า โรงเรียนวัดถ้ำรงค์ (ผ่านผดุง) หลังจากนั้นท่านได้มรณภาพ ต่อมาไม่นานก็ได้แต่งตั้ง พระภิกษุเทพ ฉายา สิริธโร เป็นเจ้าอาวาส ท่านสามารถดูฤกษ์ งามยามดี ปลูกบ้าน เจิมรถ เจิมบ้าน จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จนได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์เป็น พระครูบรรพตวิบูลกิจ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสุนทรวัชรกิจ.ดร.
หลวงพ่อดำ
หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นรูปหล่อสีดำทั้งองค์ หลวงพ่อดำมีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีแล้ว บริเวณเท้าของหลวงพ่อดำมีโซ่ล่ามอยู่ มีตำนานเล่าว่าหลวงพ่อดำเป็นพระเจ้าชู้เวลาพลบค่ำ เมื่อสาวชาวบ้านเสร็จจากการทำไร่ทำนาต่างพากันเดินกลับบ้าน หลวงพ่อดำก็จะเข้าไปพูดจาเกี้ยวพาราสี ชาวบ้านทนพฤติกรรมของท่านไม่ได้ จึงนำโซ่มาล่ามที่ขาไม่ให้ท่านออกไปไหน
หลวงพ่อขาว
หลวงพ่อขาว ประดิษฐานอยู่ในถ้ำคนละด้านกับเขาถ้ำรงค์ แต่ตอนหลังถ้ำของหลวงพ่อขาวพังทลายลง ชาวบ้านจึงอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาบูรณะซ่อมแซมใหม่ จึงนำมาประดิษฐานเคียงคู่กับหลวงพ่อดำ มีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อขาวน่าจะเป็นพระสงฆ์ที่มีตัวตนมาก่อน เป็นพระที่บวชเรียนมานานชาวบ้านเคารพนับถือจึงสร้างรูปหล่อขึ้นมา
ศาลาท่าชื่น (ศาลเจ้า)
ศาลพ่อปู่อินทนินท์เป็นศาลที่ตั้งอยู่ที่ใกล้ท่าชื่นลำห้วยคลองกะลาตาย  เป็นศาลที่ชาวบ้านภายในหมู่บ้านให้ความนับถือ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ลำห้วยถ้ำรงค์
เป็นลำห้วยที่ชาวบ้านใช้ในการทำการเกษตรซึ่งจะมีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี
เขาถ้ำรงค์
ภูเขาถ้ำรงค์ อยู่บริเวณตรงข้ามวัดถ้ำรงค์ จะมีปากถ้ำเล็กๆถ้ำหนึ่งเป็นทีประดิษฐานของหลวงพ่อดำ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน
นายสง่า สว่างจิต ภูมิปัญญาการทำเกษตรอินทรีย์การเลี้ยงไส้เดือน การเลี้ยงไก่ ปลูกผัก สวนครัว เลี้ยงกบ เพาะเชื้อเห็ด การทำเกษตรปลูกสวนกล้วย มะนาว ต่างๆ

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การทำว่าว เรียนรู้การทำว่าวจุฬาแบบโบราณ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ว่าว ของที่ระลึก
ศูนย์เรียนรู้การทำว่าว นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมกับศูนย์โดยทำว่าวและสามารถนำกลับไปบ้านได้
การนั่งรถราง
หมู่ ๓  ร่วมกิจกรรมนั่งรถรางรอบหมู่บ้าน

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านบางเกตุ จังหวัดเพชรบุรี

ติดทะเลอ่าวไทย มีชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติที่สะอาด บรรยากาศดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ หาดบางเกตุ มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีดงตาล เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน จำนวน 79 ไร่ มีต้นไม้ใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี ได้แก่ ต้นมะม่วงป่า ต้นเกด และพืชหายาก เช่น มะกล่ำตาหนู 

บ้านบางเกตุ มีชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผักบุ้งทะเล หอยทรายเป็นจำนวนมาก บรรยากาศชายหาดเงียบสงบ ปลอดภัย มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมมากางเต็นท์พักผ่อนหย่อนใจ ภายในชุมชนมีโรงแรม ที่พัก ไว้บริการนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ บ้านบางเกตุมีการปลูกน้อยหน่าใน ทุกครัวเรือน เป็นผลไม้พันธุ์พื้นเมืองขึ้นชื่อด้วยรสชาติหวานอร่อย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดโตนดหลวง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลบางเก่า ที่ชาวบ้านบางเกตุนิยมไปเข้าวัดทำบุญ เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่า ก่อสร้างขึ้นราวปลายสมัยอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ มีอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยา ลักษณะคล้ายเรือสำเภา มีประตูเดียว มีหน้าต่าง 2 บาน และเรียกอุโบสถลักษณะนี้ว่า “อุโบสถมหาอุด”

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หาดบางเกตุ
ชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผักบุ้งทะเลหอยทรายเป็นจำนวนมาก บรรยากาศชายหาดเงียบสงบ ปลอดภัย  มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมมากางเต็นท์พักผ่อน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านบางเกตุ (บ้านสวน นกน้อย)
ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๓๖/๒ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ภายในศูนย์ฯ มีการปลูกต้นน้อยหน่า ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติหวานอร่อย นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชผลชนิดอื่นอีกด้วย
ดงตาล ๗๙ ไร่
เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านจำนวน ๗๙ ไร่ มีต้นตาล และต้นไม้ใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี มีพืชหายาก ได้แก่ ต้นมะกล่ำตาหนู ที่ชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกหลานได้รู้จัก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ล่องเรือศึกษาระบบนิเวศน์ ป่าชายเลน
คลองระบายน้ำบ้านบางเกตุบ้านบางเกตุมีเรือบริการนักท่องเที่ยวล่องเรือชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชม.
นอนกระโจมดูดาว
หาดบางเกตุ หาดบางเกตุ เป็นชายหาดที่สะอาด เงียบสงบนักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มากางนอนบริเวณชายหาดเล่นน้ำทะเลขุดหอยทราย
ปั่นจักรยาน/ขึ้นรถราง ชมวิถีชีวิตชุมชน
บ้านบางเกตุ บ้านบางเกตุมีจักรยานและรถรางบริการนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชม. ได้แก่ ชมต้นไม้อายุกว่า ๑๐๐ ปี /เก็บใบชะคราม /ชมการทำโมบายเปลือกหอย / ชมสวนน้อยหน่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
การละเล่นพื้นบ้าน “เพลงโนเน”
บ้านบางเกตุ การแสดงพื้นบ้าน “เพลงโนเน” จัดเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ประเภทเกี้ยวพาราสี มีบทร้องพร้อมบทเจรจาโต้ตอบกันเพลงโนเน ไม่ใช้เครื่องดนตรี การให้จังหวะใช้การปรบมือให้พร้อมเพรียงกัน นิยมเล่นในช่วงวันสงกรานต์ โดยจะรวมกันระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงร่วมร้องเพลงโนเนกันในหมู่บ้าน
ทำอาหารพื้นบ้าน 
บ้านบางเกตุ บ้านบางเกตุเป็นชุมชนที่อยู่ติดทะเลจึงมี ใบชะครามขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำใบชะครามมาประกอบอาหาร ได้แก่ แกงใบชะคราม / ข้าวผัดชะคราม /ทอดมันชะคราม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี

ชุมชนบ้านถ้ำเสือ หมู่ที่ 3  ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน  ภูเขาล้อมรอบมีผืนป่าที่สมบูรณ์ มีธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิตเรียบง่าย เหมาะกับการมาท่องเที่ยวพักผ่อน บรรยายกาศภายในชุมชนร่มรื่น สดชื่น และผ่อนคลาย   อาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตร  ทำสวนผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน  เงาะ ฯลฯ   

ชุมชนบ้านถ้ำเสือ มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน มีธนาคารต้นไม้ที่ปัจจุบันเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ  กิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย  ได้แก่  การทำทองม้วนน้ำตาลโตนด การปลูกผักอินทรีย์  ฐานธนาคารต้นไม้  การปั้นกระสุนเมล็ดพันธุ์ การยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์ การล่องเรือยาง  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดถ้ำเสือ
เป็นวัดในพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางด้านศาสนา และวัฒนธรรม ของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่ การเรียนรู้เกี่ยวกับธนาคารต้นไม้  การปั้นกระสุนเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ การยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ เป็นต้น 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนผลไม้บ้านถ้ำเสือ
เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน โดยผลของเงาะจะกลม รสชาติหวาน กรอบ อร่อย เนื้อร่อน ส่วนทุเรียนเนื้อจะเหลือง หวาน อร่อย นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวชมสวนโดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ สามารถเข้ามาเก็บชิมเงาะได้แบบสด ๆ จากต้น ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจอย่างมาก

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การทำทองม้วนน้ำตาลโตนด
ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำทองม้วนน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านถ้ำเสือ
การปั้นและยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์ต้นไม้
ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการปั้นและยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ เป็นการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ
การล่องเรือยาง
ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ นักท่องเที่ยวได้นั่งเรือยางเพื่อสัมผัสกับอากาศบริสุทธ์ ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านสามเรือน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชุมชนบ้านสามเรือนมีที่พักเชิงนิเวศบ้านสามเรือน เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวชุมชนสามเรือนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้ที่ต้องการสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เห็ดตับเต่า และสัมผัสวัฒนธรรม ประเพณีอันเก่าแก่ของชุมชน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ได้แก่คลองโพ มีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะของดินมีสภาพเหมาะสมกับการเกิด เห็ดตับเต่า 

อัตลักษณ์โดดเด่นและสร้างชื่อให้กับชุมชนบ้านสามเรือน คือ “เห็ดตับเต่า” พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในตำบลสามเรือนร่วมหลักล้าน ทำให้ชื่อเสียงของชุมชนสามเรือนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบในรสชาติของเห็ดตับเต่าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่สั่งซื้อเห็ดตับเต่าสดจากชุมชนแห่งนี้

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดสามเรือน
เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ทั้งนี้นอกจากจะเปิดให้ผู้คนเดินทางมาไหว้พระให้มีจิตใจสงบร่มเย็นเพื่อให้พักผ่อนหย่อนใจด้วยความสงบและสบายใจ
วัดใหม่กลางเกาะระกำ
เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ทั้งนี้นอกจากจะเปิดให้ผู้คนเดินทางมาไหว้พระให้มีจิตใจสงบร่มเย็นเพื่อให้พักผ่อนหย่อนใจด้วยความสงบและสบายใจ

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพ
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพเป็นแหล่งเพาะปลูกเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พิพิธภัณฑ์ บ้านลุงหอม
พิพิธภัณฑ์บ้านลุงหอม ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพ
จุดชมรังนกกระจาบ เหมาะสำหรับกิจกรรมรังนกกระจาบ ในบริเวณจะมีวิวสองข้างทางที่มีความสวยงาม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพ
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพเป็นแหล่งเพาะปลูกเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ล่องเรือ/ นั่งรถราง/ ปั่นจักรยาน ชมนิเวศสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ รังนกกระจาบ อุทยานหุ่นไล่กา
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเทโพเป็นแหล่งเพาะปลูกเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สาธิตการทำแร้วดักปลา
พิพิธภัณฑ์บ้านลุงหอม ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน 
เยี่ยมชมสวนกล้วยไม้
สวนกล้วยไม้ร่มวลี จุดนี้เหมาะสำหรับการเรียนรู้การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้
ไหว้พระขอพรพระวัดสามเรือน
วัดสามเรือน เป็นจุดรวมจิตใจของชาวสามเรือน และเป็นสถานที่สำคัญในการจัดกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ ประเพณีอาบน้ำคืนเพ็ญในวันลอยกระทง

ที่มา กระทรวงวัฒธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชุมชนคุณธรรมบ้านไทรน้อยเป็นชุมชนบ้านมอญในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำการเกษตร ทำนา ปลูกข้าวโพด ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่บริหารจัดการโดยชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์วิถีถิ่น ศิลปะ งานฝีมือ ภูมิปัญญา อาหาร การแสดง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงภูมินิเวศน์ที่เป็นแหล่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติได้อย่างดี
ชุมชนแห่งนี้ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมชาวมอญที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมภาคกลางเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน และสืบทอดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแฝงอยู่ในทุกเทศกาลสำคัญของชุมชน รวมทั้งนำความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดไทรน้อย
หลวงพ่อใหญ่ พระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวปีพ.ศ. 2313 เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในท้องถิ่น เสาในโบสถ์ทำด้วยไม้ตะเคียนทุกต้น

วัดท่าสุทธาวาส
เดิมเรียกว่า “วัดผีมด” สร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.๒๓๑๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๐ มีประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อเศียรและหลวงพ่อเฒ่า มีคำขวัญของวัดคือ”หลวงพ่อเศียรคุ้มเกล้า หลวงพ่อเฒ่าคุ้มภัย”
วัดบุญกันนาวาส
วัดบุญกันนาวาส สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๖ โดยมีนางบุญมี และนายแจ่ม บริจาคที่ดินสร้างวัด มีหลวงพ่อเพชร ที่พบใต้ฐานโบถส์ เมื่อคราวดีดโบสถ์ขึ้น ประชาชนทั่วไปนิยมไปกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล
วัดปราสาททอง
วัดปราสาททอง สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปีพ.ศ. ๒๒๐๐ ต่อมากลายเป็นวัดร้าง มีซากฐานเจดีย์ใหญ่ปรากฎอยู่ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๒ เดิมชาวบ้านเรียกชื่อวัดหลายชื่อ เช่น ชาวบ้านทางเหนือ เรียก “วัดใต้” ชาวบ้านทางใต้ เรียก”วัดเหนือ” ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบวัด เรียก “วัดเจดีย์” เมื่อคราวมีผู้ดูแลวัด ชื่อ”ตาบูน” ก็เรียก”วัดตาบูน” มีหลวงพ่อศิลานาเวงประดิษฐานอยู่ในวิหาร สร้างด้วยศิลาแลงปางสมาธิ ผู้คนทั่วไปจะไปกราบไหว้ขอให้ช่วยเหลือต่าง ๆ ตามแต่ปรารถนา หากสำเร็จจะจุดพลุถวายท่าน
วัดเก้าห้อง
เดิมชื่อวัดท้ายตลาด ตั้งอยู่บ้านเก้าห้อง สร้างเป็นวัดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ พระประธานในโบสถ์สร้างด้วยหินทรายปิดทองทั้งองค์ ใบเสมาคู่ทำด้วยศิลาแลงสลักลวดลายเครือเถาวัลย์เป็นของเก่าแก่ มีวัตถุมงคล คือเหรียญ , แหวนหลวงพ่อพระครูสุมนเมธากร (หลวงพ่อโก๊ะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเก้าห้อง ซึ่งเป็นเหรียญที่แปลก นั่นคือ หลวงพ่อนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ลูกศิษย์เมื่อยามได้รับนิมนต์ไปในงานต่าง ๆ

 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บึงบัว
บึงบัวใกล้โฮมสเตย์ไทรน้อย ที่ตั้งใจปลูกบัวไว้เพื่อให้คนในชุมชนได้เก็บดอกบัวไปใช้ในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงไปพายเรือและเก็บบัวในบึงได้

 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ศูนย์การเรียนรู้การขยายพันธุ์ไม้มงคล และ การขยายพันธุ์มะนาวหลากหลายสายพันธุ์พร้อมชมการทำไร่ข้าวโพดและสวนกล้วยหอมทอง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
เมื่อมาที่ศูนย์ จะได้เรียนรู้การขยายพันธุ์ไม้มงคล และ การขยายพันธุ์มะนาวหลากหลายสายพันธุ์ พร้อมชมการทำไร่ข้าวโพด และสวนกล้วยหอมทองที่สวยงามและมีรสชาติดี ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงต้นกล้า การดูแล การปลูก ตลอดจนเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังมีกิจกรรมการปั่นจักรยานชมบ้านเรือนไทย ทุ่งนา และสวนเกษตรของชาวบ้านในชุมชนตามแนววิถีเกษตรแบบพอเพียง ให้นักท่องเที่ยวได้เพลินเพลินกับบรรยากาศวิถีเกษตรของชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว
เรียนรู้การทำขนมไทยมงคล

หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย เรียนรู้การทำขนมไทยมงคล อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน จ่ามงกุฎ ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ขนมชั้น
เรียนรู้การทำอิฐมอญโบราณ
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย เรียนรู้การทำอิฐมอญโบราณที่ทำด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การขึ้นรูปอิฐ ตากอิฐ ไปจนถึงขั้นตอนการเผา
เรียนรู้การขยายพันธุ์ไม้มงคล การขยายพันธุ์มะนาวหลากหลายสายพันธุ์พร้อมชมการทำไร่ข้าวโพดและสวนกล้วยหอมทอง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย เมื่อมาที่ศูนย์ จะได้เรียนรู้การขยายพันธุ์ไม้มงคล และ การขยายพันธุ์มะนาวหลากหลายสายพันธุ์ พร้อมชมการทำไร่ข้าวโพด และสวนกล้วยหอมทองที่สวยงามและมีรสชาติดี ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงต้นกล้า การดูแล การปลูก ตลอดจนเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังมีกิจกรรมการปั่นจักรยานชมบ้านเรือนไทย ทุ่งนา และสวนเกษตรของชาวบ้านในชุมชนตามแนววิถีเกษตรแบบพอเพียง ให้นักท่องเที่ยวได้เพลินเพลินกับบรรยากาศวิถีเกษตรของชุมชน
เรียนรู้การทำ ยาหม่องสมุนไพร
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย นักท่องเที่ยวจะได้ทดลองทำยาหม่องสมุนไพรจากต้นตำรับของ “แม่อบเชย” สินค้าโอทอปขายดีประจำหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ไพร อบเชย กานพลู พิมเสน การบูร วาสลีน พาราฟิน น้ำมันระกำ เมนทอล ไปจนถึงการเคี่ยวสมุนไพรรวมกันจนได้ยาหม่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนำยาหม่องที่ทำด้วยตัวเองกลับไปเป็นของที่ระลึกได้

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านเกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชุมชนคุณธรรมบ้านเกาะเรียน ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันออก โดยมีคลองธรรมชาติหรือคนในชุมชนเรียกว่า “คลองเกาะเรียน” ไหลผ่านภายในชุมชน บอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ภายในบริเวณชุมชนมีวัดช่างทอง   ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน 
ชุมชนแห่งนี้ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีความผูกพันกับสายน้ำ ได้แก่ คลองเกาะเรียน คลองธรรมชาติที่อยู่คู่กับคนในชุมชนมายาวนาน เป็นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงรักษาไว้เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดช่างทอง
วัดช่างทอง เป็นศาสนสถานใน การจัดกิจกรรมทางศาสนาของคนในชุมชน บ่มเพาะเด็ก เยาวชน และประชาชนให้ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม
วัดทรงกุศล
ศาสนสถานในชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนและคนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ ได้แก่ หลวงพ่อขาวและหลวงพ่อดำ
ศาลเจ้าพ่อ เกาะเรียน
ศาลเจ้าพ่อเกาะเรียน สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมเหล่าเซียนจีน ซึ่งชุมชนบ้านเกาะเรียนให้ความเคารพนับถือและจัดงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่เกาะเรียนเป็นประจำทุกปี
ศูนย์การเรียนรู้ การทำขนมไทย บ้านป้ามะลิ
กลุ่มขนมไทยของคุณป้ามะลิ ภาคาพร เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำขนมไทยต้นตำรับท้าวทองกีบม้า ซึ่งการทำขนมไทยนี้ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษ และต่อมาได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขนมไทยป้ามะลิขึ้นเพื่อสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้สู่ชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คลองเกาะเรียนและจุดชมวิวสะพานไม้ไผ่
ชุมชนคุณธรรมบ้านเกาะเรียนมีคลองเกาะเรียน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีสะพานไม้ไผ่ทอดยาวกว่า ๓๐๐ เมตร สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมธรรมชาติสองฝั่งคลองและถ่ายภาพสวย ๆ ไว้เป็นที่ระลึก

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ชุมชนคุณธรรมบ้านเกาะเรียนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ในครัวเรือน อยู่กันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชุมชนอยู่ดี กินดี เหลือกิน สามารถนำไปขาย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ใส่บาตรยามเช้า
คลองเกาะเรียน วิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งคลองเกาะเรียนทุกเช้าตื่นมาจะเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับใส่บาตร เป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาครั้งบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนในชุมชนแห่งนี้ จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และบรรยากาศแบบธรรมชาติที่ประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน
ล่องเรือชมธรรมชาติริมคลองเกาะเรียน
คลองเกาะเรียน คลองธรรมชาติที่แยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก นั่งเรือชมวิถีชีวิตริมสองฝั่งคลอง สัมผัสระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ณ คลองเกาะเรียนแห่งนี้
สาธิตการทำขนมไทย (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน)
ศูนย์การเรียนรู้การทำขนมไทยบ้านป้ามะลิ แหล่งเรียนรู้ขนมไทย ต้นตำรับท้าวทองจีบม้า เปิดให้ผู้สนใจ นักท่องเที่ยว ได้เข้ามาเรียนรู้และซื้อกลับบ้านเป็นของฝาก รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนในชุมชน เป็นการสืบสาน ภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองกา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้านและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ของชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา ๑ แห่ง คือ โรงเรียนบ้านหนองกา ระดับอาชีวศึกษา ๑ แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพปราณบุรี และหน่วยงานราชการ 
ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองกาเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงที่ยังคงความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกินและรักษาศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงาม มีศาลตายายเป็นศาลประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ให้ยึดเหนี่ยว ความเคารพ และสมานสามัคคีของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาของชุมชนในด้านต่าง ๆ 

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แม่น้ำปราณบุรี
เป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของชีวภาพ เป็นแม่น้ำที่ยังประโยชน์แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น โดยมีการสร้างเป็นพื้นที่ชลประทาน และเป็นสถานที่สำหรับล่องเรือเพื่อการท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดนาห้วย
วัดนาห้วย เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีอายุรวม 200 ปี มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดนาห้วยซึ่งเกิดขึ้นโดยความร่วมมือกันของชุมชนกับวัด ในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีในชุมชน โดยมีการจัดแสดงวัตถุโบราณที่ทางเจ้าอาวาสวัดมอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์ และวัตถุเก่าแก่ที่ชาวบ้านได้นำมามอบให้ รวมถึงนิทรรศการชีวประวัติ เจ้าอาวาสวัดนาห้วยองค์ก่อนถึง 10 องค์ ทั้งในรูปแบบของภาพถ่ายและของใช้ ประวัติและวิวัฒนาการทางด้านโบราณคดี 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
โดย นายสมาน ทิพเนตร เป็นผู้ทำการเกษตรจนได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงานจนได้เป็นผู้นำต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การร่วมรำกลองยาว
ศาลาประชาคมบ้านหนองกา เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่สืบสานและสืบทอด รวมทั้งบูรณาการประยุกต์ให้น่าสนใจ และมีหน่วยงานต่าง ๆ เชิญไปร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 
การร่วมประกอบการทำ ผลไม้กวน ผลไม้หยี
อาคารกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองกาสามัคคี เป็นกลุ่มที่แปรรูปสินค้าทางการเกษตรอาทิ กล้วยกวน สับปะรดหยี มะเขือเทศหยี มะขามหยี ขนุนกวน เป็นต้น ซึ่งได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงานในเรื่องรสชาติ และมีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย

ชุมชนคุณธรรมบ้านทุ่งสะท้อน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านเครือข่ายท่องเที่ยวเกษตรครบวงจร ภาคตะวันตก โดยมีนายวีระวุฒิ กลมเกลี้ยง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน อาชีพส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม มะพร้าว ยางพารา เลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอบางสะพานน้อย  

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดถ้ำเขาลักษณ์จันทน์
วัดตั้งอยู่บนที่ราบติดภูเขาลักษณ์จันทน์ เป็นวัดที่มีความ เงียบ สงบ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้านและจะมาประกอบพิธีสำคัญ ๆ ณ วัดแห่งนี้ โดยด้านหลังวัด เป็นภูเขามีต้นจันทน์ผาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และมีถ้ำที่สวยงามอยู่ภายในภูเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำเขาลักษณ์จันทน์

 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ถ้ำเขาลักษณ์จันทน์
เป็นถ้ำเขาหินปูนขนาดใหญ่ หน้าปากถ้ำมีพระพุทธรูป ภายในถ้ำมืดสนิท มีหินงอก หินย้อย รูปร่างแปลกตา มีค้างคาวอาศัยอยู่มากมาย มีทางเดินทะลุออกไปยังด้านหลังเขา เดินขึ้นไปยอดเขาได้ ป่าบนเขาสภาพยังสมบูรณ์มาก เถาวัลย์มีขนาดใหญ่

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนหอมหวล
เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการจัดการพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีทั้งที่อยู่อาศัย การปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้ง ทำให้ผู้เข้าไปเยี่ยมชมเห็นการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม
วิสาหกิจชุมชน 100 พัน มะพร้าวไทย
ชุมชนบ้านทุ่งสะท้อนเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวจำนวนมาก จึงสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ครีมน้ำมันมะพร้าว สบู่น้ำมันมะพร้าว เซรั่มบำรุงผมน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ร่วมทำขนมโก๋โบราณ ด้วยมือทุกขั้นตอน
บ้านขนมโก๋คุณย่า ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔๘ โดยมีคุณย่าบุญถ้วนเป็นวิทยากรด้วยตนเอง เป็นขนมโก๋สูตรโบราณที่ทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทุกขั้นตอนทำด้วยมือ เช่น การโม่แป้งด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่าโม่หิน เป็นต้น ดังนั้น รสชาติของขนมจะเป็นรสชาติเฉพาะของที่ร้านขนมโก๋คุณย่าเท่านั้น ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปของหมู่บ้านด้วย
ร่วมทำขนมทองม้วนสูตรเฉพาะของบ้านทุ่งสะท้อน
บ้านขนมทองม้วน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๒๔/๑ โดยมีนางทองพัฒน์ เล่าปิวรรณ เป็นวิทยากร ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้ร่วมทำขนมทองม้วน เช่น การหยอดแป้งลงเตา การม้วนแป้ง เป็นต้น รสชาติจะมีความละมุน หอม เป็นรสชาติเฉพาะของที่บ้านทุ่งสะท้อนเท่านั้น ซึ่งขนมทองม้วนได้เป็นสินค้าโอทอป นวัตวิถีของบ้านทุ่งสะท้อนอีกด้วย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมบ้านหินเทิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยทั่วไปชุมชนคุณธรรมบ้านหินเทิน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเอียง เนื่องจากทางด้านทิศตะวันตกติดกับภูเขา ประชากรในหมู่ บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การปลูกมะพร้าวเป็นหลัก

ชุมชนคุณธรรมบ้านหินเทินขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งมะพร้าวพันธุ์ดีของทับสะแก ทำให้มีหัตถกรรมจักสานจากทางมะพร้าว มีการปลูกต้นบอนไซมะพร้าว และวิถีชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับมะพร้าวจนเป็น อัตลักษณ์ของชุมชนไปแล้ว อีกทั้งยังมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอีกมากมาย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

วัดบ้านทุ่งเคล็ด
โบสถ์วัดบ้านทุ่งเคล็ด (โบสถ์เหรียญบาท) ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๓ ตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นวัดที่มีพระอุโบสถ “เหรียญบาท” แห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้เหรียญบาทติดที่ผนังด้านนอกจำนวน ๓.๗ ล้านเหรียญ และเหรียญ ๑๐ บาท ภายในอาคารอีกประมาณ ๓ แสนเหรียญ มีการตกแต่งฝ้าเพดานด้วยไม้สักทองและพื้นอุโบสถเป็นหินแกรนิต และมีการรับบริจาคสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรีทั้งเก่าและใหม่ที่ไม่ถูกรางวัล 

วัดอ่างสุวรรณ (วัดหนองหอย)
วัดอ่างสุวรรณ หรือวัดหนองหอย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๖ บ้านหนองหอย ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโบสถ์ขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ตาลถือเป็นโบสถ์ไม้ตาลแห่งเดียวในโลก และโบสถ์ที่ทำมากจากต้นตาลนั้นมีความพิเศษตรงที่การสร้างบ้านเรือนหรือโบสถ์ส่วนใหญ่นั้นจะทำมาจากไม้สักหรือไม้ตะเคียนเพราะไม้จากต้นตาลนั้นจะมีเสี้ยนและมีลำต้นที่ผอมสูง จึงไม่นิยมมาสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ 

วัดนาหูกวาง
วัดนาหูกวาง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๒ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือจดลำห้วย ทิศใต้และทิศตะวันออกจดถนน ทิศตะวันตกจดที่ดินใกล้เคียง อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๑๗.๓๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบจัตุรมุข มีพระประธานประจำอุโบสถ และรูปหล่อหลวงพ่อปู่ทอง

โบสถ์แม่พระฟาติมา
วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นวัดคาทอลิกสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๓๕๔-๒๕๕ ถนนเพชรเกษม ตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

จุดชมวิวทิวเขา ผากิ้งก่า และชมทัศนียภาพสวนมะพร้าว
ผากิ้งก่าบ้านหินเทิน ตั้งอยู่บนเขาซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ด้านบนมีลานหินกว้าง สามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ในพื้นที่อำเภอทับสะแก ชมทัศนียภาพสวนมะพร้าว มองไปทางทิศตะวันออกเห็นท้องทะเลสวยงาม 
ฝายมีชีวิตและหิ่งห้อย หมู่ที่ ๓ บ้านยุบหวาย
ฝายมีชีวิต ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านยุบหวาย และบ้านหินเทิน เป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสองหมู่บ้าน  เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ฝายมีชีวิตเป็นการยกระดับน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำหลากรุนแรง ป้องกันการพังทลายของดิน อาศัยรากไทรสร้างสายน้ำซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศน์ 
ป่าชายเลน เกาะแก้ว หมู่ที่ ๔ บ้านแสงอรุณ
เกาะแก้ว เป็นแหล่งอนุรักษ์ป่าชายเลน และสัตว์น้ำต่าง ๆ  ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือชมป่าชายเลน  และร่วมกิจกรรมการปลูกป่าชายเลน หรือนำสัตว์น้ำ เช่น ปู ปลา มาปล่อยที่เกาะแก้วได้
ชายหาดบ้านแสงอรุณ หมู่ที่ ๔ บ้านแสงอรุณ
ชายหาดแสงอรุณ เป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สามารถลงเล่นน้ำได้ และสามารถไปชมวิถีชีวิตของชาวประมงได้

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ฐานเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรง
ฐานผึ้งโพรงของนายพนม อยู่สุข ชื่อฐานเรียนรู้ “มหัศจรรย์หมู่ชนคนเลี้ยงผึ้ง” คือ การทำอาชีพเสริมจากการเลี้ยงผึ้งโพรงในบ้าน จนสามารถต่อยอดธุรกิจแบ่งขายน้ำผึ้งบรรจุขวด การทำกระเทียมดองน้ำผึ้ง และการขายกล่องของผึ้งโพรงแก่เกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงผึ้งโพรง 
ฐานเรียนรู้การปลูกกุยช่าย
ฐานเรียนรู้การปลูกกุยช่าย โดยพี่น้องสามสาว มีชื่อฐานว่า “สามใบเถาสาวกุยช่าย” ฐานนี้มีการปลูกกุยช่ายเพื่อเป็นอาชีพเสริมให้คนในบ้านได้มีอาชีพในช่วงที่มะพร้าวราคาตกต่ำ จนตอนนี้เป็นเสมือนอาชีพหลักไปแล้ว 
ฐานเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว
เป็นฐานเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ ๆ แบบดั้งเดิมของนายสายันต์ ถ้วยทอง เป็นแหล่งทำน้ำตาลมะพร้าวแท้แหล่งเดียวของบ้านหินเทิน โดยใช้ชื่อฐานว่า “เฒ่าทรนงคนทำตาล”

กิจกรรมการท่องเที่ยว

หัตถกรรมจากกะลามะพร้าว (แก้ว/เข็มขัด/ต่างหู)
ฐานเรียนรู้ร้อยเรียงเม็ดกะลาพาเพลิน เป็นฐานเรียนรู้ที่มีนางประกายฟ้า ฤทธิ์สารพิทักษ์ เป็นวิทยากร โดยการนำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โคมไฟ หัวเข็มขัด สร้อยคอ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และการทำเป็นลูกปัดเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ต่างหู เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้ลงมือหัดทำได้ด้วย
การทำสบู่จากน้ำมันมะพร้าว
ฐานเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ฐานเรียนรู้นี้ ใช้ชื่อฐานว่า “ฐานคนช่างคิดผลิตสินค้า” มีผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวบริสุทธิ์ เช่น สบู่น้ำมันมะพร้าว ลิปมัน น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน ครีมน้ำมันมะพร้าว เซรั่มน้ำมันมะพร้าว และการทำมะพร้าวบอนไซ เป็นต้น
ปลูกป่าชายเลน เกาะแก้ว หมู่ที่ ๔ บ้านแสงอรุณ
ป่าชายเลน เกาะแก้ว หมู่ที่ ๔ บ้านแสงอรุณ ป่าชายเลนเกาะแก้ว เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งประกอบอาชีพของประชาชนในตำบลแสงอรุณ นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อสร้างความสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศน์ 

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม