วัดอัมพวัน

ที่ตั้ง ถนนโยธาธิการ สายวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘ ๙๖๖๙ ๐๐๕๒ 

วัดอัมพวัน เดิมชื่อวัดบางม่วง สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชกาลพระเจ้าปราสาททองประมาณ พ.ศ. ๒๑๗๕ สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ หอไตรกลางน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สมบูรณ์ที่สุด อุโบสถของวัดมี “พระพุทธมงคลสุโขทัย” ประดิษฐานเป็นพระประธาน นอกจากนี้ยังมีมณฑปพระพุทธบาท ภายในมีพระพุทธบาทจำลองทำด้วยโลหะประดิษฐานอยู่บนฐานปูน และศาลาท่าน้ำที่งดงามมาก

วัดสังฆทาน

ที่ตั้ง ๑๐๐/๑ ซอยบางศรีเมือง ๑ ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

หมายเลขโทรศัพท์  ๐ ๒๔๔๗ ๑๗๖๖

เดิมชื่อ “วัดสาริโข” อดีตสถานที่แห่งนี้เป็นที่ถวายสลากภัตทุเรียน จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดสังฆทาน  ปัจจุบันวัดนี้มีอุโบสถแก้ว ภายในมีหลวงพ่อโตเป็นพระประธานและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมซึ่งมีต้นไม้ธรรมชาติโดยรอบ บรรยากาศร่มรื่นและเงียบสงบเหมาะกับการปฏิบัติธรรมและฝึกฝนเรียนรู้ของพุทธศาสนิกชน

วัดสวนแก้ว

ที่ตั้ง ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๕ ๑๔๔๔

วัดสวนแก้ว เดิมชื่อ “วัดแก้ว” วัดสวนแก้วนี้ พระพยอม กัลยาโณ ได้พัฒนาพื้นที่ของวัด ด้วยการจำลองสวนโมกขพลารามให้เกิดขึ้นในเมืองตามคำที่ท่านพุทธทาสเคยปรารภ และได้พัฒนาบริเวณวัดอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีลานธรรมเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจัดตั้ง “มูลนิธิสวนแก้ว” ขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก ๖ ประการ ดังนี้

๑. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา

๒. เพื่อส่งเสริมศีลธรรม จรรยาอันดี

๓. เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย

๔. เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์

๕. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

๖. จัดการศึกษา และส่งเสริมการศึกษา

วัดสโมสร

ที่ตั้ง ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๕๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๘๑ ๘๕๗๕ ๔

วัดสโมสร เป็นวัดของชุมชนชาวมอญหรือรามัญ ตั้งอยู่ในชุมชนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายรามัญ มีการจัดงานเพื่ออนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ไทยรามัญเป็นประจำทุกปี มีกิจกรรมที่เป็นชาวไทยเชื้อสายรามัญหลายประการ เช่น การแห่หางหงส์ ธงตะขาบ การทำบุญใส่บาตร การทอยสะบ้า การเล่นสะบ้าหนุ่ม-สาว และมีการแสดงมหรสพภาคกลางคืน ซึ่งได้รักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีวัฒนธรรมของชาวรามัญไว้อย่างดีเยี่ยม

วัดปราสาท

ที่ตั้ง ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี  ๑๑๐๐๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘ ๑๘๐๙ ๕๖๗๗

วัดปราสาท สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย อุโบสถเป็นแบบมหาอุตม์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานและพระสาวก มีภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นโดยฝีมือของสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี เรียกว่า ทศชาติชาดก นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนนทบุรี วัดปราสาทนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้อย่างถูกต้อง จากร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันจึงทำให้ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกด้วย

วัดปรางค์หลวง

ที่ตั้ง ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

หมายเลขโทรศัพท์  ๐ ๒๕๙๕ ๑๔๗๗

วัดปรางค์หลวง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางศาสนาของชาวเมืองนนทบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ประมาณพ.ศ. ๑๙๐๔ เดิมชื่อวัดหลวง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดปรางค์หลวง” จุดเด่นคือ มีพระปรางค์องค์ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ตั้งบนฐานบัวลูกฟักซ้อนกันสามชั้น นอกจากนั้นยังมีปูชนียวัตถุที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และมาเที่ยวชม ได้แก่ พระประธานในอุโบสถนามว่า หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย

วัดบางขนุน

ที่ตั้ง ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย ถนนบางกรวย – จงถนอม จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๓๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๓๒ ๖๒๑๔

ในอดีตวัดบางขนุนเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกได้มีพวกเจ้านายลี้ภัยการเมืองมาพักที่วัดแห่งนี้ และร่วมกันบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนั้นยังมีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ พระอุโบสถ หอไตรกลางน้ำ สังเค็ดหรือเรือนสวด และหินบดยา สำหรับบดยาแผนโบราณ ลักษณะหินบดยา (แพทย์แผนโบราณ) ทำเป็น ๓ ชุด ชุดหนึ่งมีอุปกรณ์ ๓ ชิ้น คือ แท่งหินบด แท่นหินรองบด และไม้สำหรับวางแท่นหินบด อีกทั้งยังมีสมุดข่อยเกี่ยวกับตำราแพทย์แผนโบราณอีกหลายฉบับ

วัดบางไผ่ พระอารามหลวง

ที่ตั้ง ซอยวัดบางไผ่ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๑๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๗๑ ๑๒๙๗

วัดบางไผ่ พระอารามหลวงเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าได้ก่อสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๔๒ นิ้ว เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๓๖ นิ้ว เป็นพระประธานในพระวิหาร สิ่งที่น่าสนใจคือ วัดบางไผ่มีแร่บางไผ่ ซึ่งเป็นธาตุกายสิทธิ์ที่มีแหล่งแร่เฉพาะที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เท่านั้น เมื่อนำมาสร้างเป็นวัตถุมงคลจะทรงพลานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญคือ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และศาลาไทยจตุรมุขกลางน้ำที่งดงาม ประดิษฐานพระไตรปิฎก

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ ๒)

ที่ตั้ง ถนนเทศบาล ๙ ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๑๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๗๑ ๑๑๕๕

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ๒ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในพ.ศ. ๒๕๓๙ ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยวิหารต่าง ๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวปรัชญา และคติธรรมทางพระพุทธศาสนาจีนนิกายฝ่ายมหายาน ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๓ องค์ คือ องค์อดีต องค์ปัจจุบัน และองค์อนาคต ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมที่แกะสลักจากไม้หอมต้นเดียวและองค์เทพสำคัญของลัทธิมหายาน วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ ๒) ถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมมา ทำบุญ เสริมดวง และแก้ปีชง

วัดต้นเชือก

ที่ตั้ง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๗๖ ๒๗๒๐-๑

วัดต้นเชือก มี “หลวงพ่อวิหาร” เป็นพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้แบบโบราณ ภาพเก่าเล่าเรื่องและจัดแสดงประวัติสุนทรภู่ ซึ่งอดีตท่านสุนทรภู่ ได้เดินทางผ่านบริเวณนี้ และได้ประพันธ์บทกลอน เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชุมชนบ้านใหม่ ครั้นเมื่อท่านเดินทางผ่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ทำให้เราสามารถเห็นภาพในอดีตของวัดต้นเชือก