วัดชลประทานรังสฤษดิ์

ที่ตั้ง ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๘๓ ๘๘๔๕

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยกรมชลประทาน เป็นการผาติกรรมทดแทนการเข้าใช้ที่ดินของวัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองบางตลาด (ปัจจุบันยังคงมีโบราณสถานเดิมของทั้งสองวัด เรียกรวมกันว่า “พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์”) เพื่อสร้างเป็นท่าเรือของกรมชลประทาน และได้อาราธนาพระปัญญานันทภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ปัจจุบันวัดชลประทานรังสฤษดิ์ มีบรรยากาศร่มรื่นทั่วบริเวณวัด มีกิจกรรมเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฝึกสมาธิ เจริญภาวนา ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมตามแนวธรรมของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

วัดชมภูเวก นนทบุรี

ที่ตั้ง ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๙๖๗ ๑๓๔๘

“วัดชมภูเวก” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ โดยชาวมอญที่มาตั้งรกรากบริเวณนี้ ภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของชุมชน แบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านท่าทรายและวัดชมภูเวก โบราณสถานที่สำคัญของวัดชมภูเวก อาทิ อุโบสถหลังเก่า เป็นอุโบสถแบบมหาอุตม์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระแม่ธรณีบีบมวยผม และมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทศิลา ทำด้วยหินชนวนสร้างขึ้นสมัยสุโขทัย ที่รอยพระพุทธบาทจารึกภาษาขอมโบราณ นอกจากนั้นที่นี่ยังมี “พระเจดีย์รามัญ เรียกว่า พระมุเตา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นสถานที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังให้แก่ทหารก่อนออกรบในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑”

วัดคลองขวาง

ที่ตั้ง ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๕๐

 หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๙๒๑ ๙๔๒๑

วัดคลองขวาง เป็นวัดที่มีความงดงามเหมาะสมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงศาสนสถาน โดยมีพระอุโบสถศิลปะปูนปั้นด้วยมือ ลักษณะทรงไทยมีเสาหาม ภายในอุโบสถเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติที่สวยงามมาก ปัจจุบันวัดคลองขวางส่งเสริมให้ประชาชน เยาวชน เข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันพระและวันสำคัญทางศาสนาอยู่เป็นประจำ

วัดคงคา

ที่ตั้ง ๑๙/๑ หมู่ ๑๑ ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

หมายเลขโทรศัพท์  ๐ ๒๙๒๔ ๗๔๓๘

วัดคงคา เป็นวัดที่มีความเก่าแก่มากที่สุดวัดหนึ่งในย่านชานเมืองนนทบุรี สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย หรือประมาณ ๗๐๐ ปี เดิมชื่อ วัดโคก ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดคงคา วัดนี้มีพระอุโบสถเก่าที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป ศิลาแลงปิดทองคำเปลว พุทธลักษณะแบบสุโขทัย หรือชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อศิลาแดง นอกจากนั้นท่านพระครูสุตวัฒน์ภิรมเจ้าอาวาส ได้จัดสร้างรูปเหมือนพระหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔.๙๙ เมตร สูง ๗ เมตร ในท่านั่งสมาธิ โดยเปิดให้ประชาชนได้มากราบไหว้สักการบูชาทุกวัน

วัดไทรใหญ่ นนทบุรี

ที่ตั้ง ๘๙๑๗ ถนน บ้านกล้วย-ไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๕๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๗ ๐๑๐๙

“วัดไทรใหญ่” เดิมชื่อ วัดมหานิโครธาราม แปลว่า “ไทร” ปูชนียวัตถุสำคัญของวัด มีหลวงพ่อทองคำในอุโบสถหน้าตักกว้าง ๑.๖๙ เมตร หล่อด้วยโลหะปางมารวิชัยศิลปะสมัยอู่ทอง นอกจากนี้ยังมีพระมหากัจจายนะ แม่โพสพ และรูปหล่อของพระครูนนททิวาการ (ทิพย์) อดีตเจ้าอาวาส ตัวอุโบสถมีลักษณะทรงไทยหลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกาหน้าบันปิดทองผนังโบสถ์มีภาพจิตกรรมเรื่อง พระเจ้าสิบชาติ “วัดไทรใหญ่”

วัดโพธิ์บางโอ

ที่ตั้ง ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๓๐

 หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๔๗ ๕๘๓๗

วัดโพธิ์บางโอ เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓  โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล  เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง พระอุโบสถทำชายหลังคาของพาไลรอบพระอุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรี ที่หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินทำจากเมืองจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัดตนหนึ่งหน้าดุ อีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่เป็นศิลปะอันงดงามเป็นของประจำวัด

วัดโบสถ์บน

ที่ตั้ง ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

วัดโบสถ์บนมีความสำคัญ คือ เป็นสถานที่บรรลุธรรมของพระมงคลเทพมุนี มีรูปหล่อทองคำของหลวงปู่สด เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันบรรลุธรรม และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพระมงคลเทพมุนี ที่นำวิชชาธรรมกายกลับคืนมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง และยังมีตลาดน้ำวัดโบสถ์บน ภายในตลาด มีการออกร้าน จำหน่ายอาหาร ของกิน ของใช้ เหมาะกับการพักผ่อนในช่วงวันหยุด เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น. แต่จะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

วัดโชติการาม

ที่ตั้ง ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๘๐ ๐๗๐๕-๖

วัดโชติการาม เดิมชื่อวัดสามจีน ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ ซุ้มประตูหน้าต่างที่พระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ บานประตูวิหารเป็นไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางสวยงามมาก โบราณสถานในวัดได้แก่ วิหารทรงโรง ก่ออิฐถือปูน ๓ ห้อง ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี มีจิตรกรรมฝาผนังภายในตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่าง ๆ เช่น ตอนมารผจญ ตอนสัตตมหาสถาน และตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาเสด็จจากดาวดึงส์

วัดแก้วฟ้า

ที่ตั้ง ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ๑๐๗๐๓   

หมายเลขโทรศัพท์ ๐๙ ๒๖๐๕ ๙๗๔๐

วัดแก้วฟ้า เป็นวัดราษฎร์ สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑๖ แห่งกรุงศรีอยุธยาช่วงพ.ศ. ๒๐๙๑ – ๒๑๑๑ ชื่อ “วัดแก้วฟ้า” นั้นตรงกับพระนามของพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๑๔ คือ สมเด็จพระเจ้าแก้วฟ้า (พระยอดฟ้า) โบราณสถานภายในวัดล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย อุโบสถหลังเก่าเป็นแบบทรงโรง ด้านในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย เรียกว่า “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” มีเจดีย์ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์

วัดเสาธงหิน

ที่ตั้ง เลขที่ ๓๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๔๐

 หมายเลขโทรศัพท์  ๐ ๒๕๙๕ ๑๔๔๙

วัดเสาธงหิน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เดิมเรียกว่า “วัดสัก” กล่าวถึงประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จฯ นำทัพผ่านมาทางวัดสัก เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นสักจำนวนมากเป็นที่ร่มรื่นจึงรับสั่งให้หยุดทัพ พร้อมรับสั่งให้ปักธงประจำทัพของพระองค์ลงบนกองทราย ทั้งยังให้นำหินก้อนใหญ่ ๆ มากองทับเสาธงและล้อมรอบธงไว้มิให้ล้ม เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกองทัพ และเป็นสัญลักษณ์จุดนัดหมายของทหารแม่ทัพนายกองและไพร่พล จึงพากันเรียกจุดนัดหมายนี้ว่า เสาธงหิน และต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดเสาธงหิน จนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นภายในอุโบสถยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือกันมากคือ หลวงพ่อโต