ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อย จังหวัดหนองบัวลำภู

ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อย มีวิถีชีวิตแบบอีสานโบราณ อาชีพหลักคือการทำการเกษตร และอาชีพรองที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่คือการทอผ้า และทำงานฝีมือด้านการแปรรูปผ้า และการจักสานมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูงซึ่งมีการจัดสรรทำการเพาะปลูก ยังคงความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติ และพืชพรรณธรรมชาติภายในท้องถิ่น

ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นชุมชนที่ทำหัตถกรรมงานฝีมือด้านการทอผ้าอย่างแพร่หลาย แทบทุกครัวเรือน ผลิตผ้ามัดหมี่ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ชุมชนอย่าง “ลายไห” ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย แหล่งโบราณคดีดังกล่าวเรียกว่า “โนนดอนกลาง” 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑ์บ้านกุดกวางสร้อย
อยู่ห่างจากหมู่บ้านกุดกวางสร้อยประมาณ 600 เมตร พื้นที่โดยรอบของเนินเป็นที่ราบใช้สำหรับการทำนา ห่างจากเนินดินไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแนวเทือกเขาหินทราย เรียกว่า “ภูเก้า” โดยได้ทำการขุดค้นทางด้านโบราณคดีมาแล้ว 2 ครั้ง 1  ปี พ.ศ. 2517 ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2535 เป็นแหล่งที่ขุดพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 2,500 ปี ได้แก่ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์ กำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก เป็นต้น โบราณวัตถุต่าง ๆ บางส่วนได้นำไปเก็บไว้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น และในบริเวณหมู่บ้านยังได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านกุดกวางสร้อย เพื่อจัดแสดงวัตถุโบราณบางส่วนให้เที่ยวชมอีกด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านโนนดอนกลาง เชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก เป็นแหล่งขุดค้นพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์ กำไลสำริด กำไลหิน ลูกปัดแก้ว แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก เป็นต้น โบราณวัตถุต่าง ๆ บางส่วนได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนี้ในบริเวณหมู่บ้านยังได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงวัตถุโบราณบางส่วนอีกด้วย

กลุ่มทอผ้าลายประยุกต์บ้านกุดกวางสร้อย กลุ่มทอผ้าลายประยุกต์บ้านกุดกวางสร้อย มีศักยภาพ และสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในด้านชุมชนที่สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าที่ประยุกต์ลวดลายจากโบราณวัตถุลงบนผืนผ้า อีกทั้งยังมีการต่อยอดพัฒนาลวดลายใหม่ ๆ ออกมา  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อุทยานแห่งชาติ ภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพธรณีเป็นภูเขหินทรายซึ่งมีชั้นของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดาน หรือหินดินดานปนทรายเป็นฐาน ด้านล่างมีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรังมีเนื้อที่ประมาณ 201,250 ไร่ หรือ 322 ตารางกิโลเมตร

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนมัลเบอร์รี่อินทรีย์ชุมชนคุณธรรม บ้านกุดกวางสร้อย สวนมัลเบอร์รี่ภายในชุมชนกุดกวางสร้อย เป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตมากในช่วงฤดู ผลมักออกผลสีแดงสดไปจนถึงสีม่วงเข้ม หากมีขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะดัดเป็นพุ่มให้สวยงาม เหมาะแก่การเที่ยวชม และอุดหนุนผลไม้ที่ปลูกแบบอินทรีย์ของชุมชน  นอกจากมัลเบอร์รี่ที่ปลูกกันมากแล้ว ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะแบ่งเนื้อที่ในการปลูกพื้นผักสวนครัวหลากหลายชนิด 

กิจกรรมการท่องเที่ยว

เยี่ยมชม ภูมิปัญญาผ้าทอกุดกวางสร้อย กลุ่มทอผ้าลายประยุกต์บ้านกุดกวางสร้อย อำเภอโนนสังจังหวัดหนองบัวลำภู ภูมิปัญญาการทอผ้า เป็นการทอผ้าเป็นลายประวัติศาสตร์แหล่งการขุดค้นกุดกวางสร้อย คือ ลายไห  ซึ่งมีอายุกว่า 3,000 ปี มาร่วมกันอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ผ่านการทอผ้าที่ปราณีต สวยงาม ผ้าทอของบ้านกุดกวางสร้อยจะมีลักษณะเด่นคือลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายไหมีสีสันสดใส เนื้อผ้านุ่มละเอียด สวมใส่สบาย นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทอผ้า รวมทั้งได้ทดลองทอผ้าด้วยตนเอง และได้ของที่ระลึกที่ทำจากผ้าทอกลับบ้านด้วย ทั้งนี้เป็นการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

กิจกรรมสาวไหม ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อย อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู การสาวไหม (สาวหลอก) เป็นการฝึกฝนและเรียนรู้วิธีการได้มาซึ่งเส้นใย โดยการนำฝักรังไหมมาต้มแล้วสาวเอาเส้นใยไหม เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจที่จะเรียนรู้ เส้นไหมที่ได้นั้นจะได้มาจากการดึงเส้นใยจากหลาย ๆ รังรวมกันเป็นเส้นเดียวกันในการสาวคราวเดียวกัน เพื่อให้เส้นไหมของแต่ละรังพันกันเป็นเกลียว ทำให้เกิดการเกาะยึดซึ่งกันและกันมีความเหนียวทนทาน เนื้อเส้นไหมกระชับแน่นและมีการสะท้อนแสงและหักเหไปในทิศทางต่างกัน ดูสวยงามเป็นวับวาวเมื่อทอเป็นผืนผ้าไหม นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การสาวไหมและทดลองทำด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้รับประทานดักแด้ ซึ่งได้จากการสาวไหมอีกด้วย

ข้าวพลับพลึง ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อย อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ข้าวพลับพลึง เป็นการนำข้าวมาทำเป็นอาหารว่าง โดยการใช้ภูมิปัญญาในการทำส่วนผสมอันกลมกล่อม โรยงา แล้วแต่งหน้าด้วยมะพร้าวอ่อน แล้วห่อด้วยใบตองให้สวยงาม ข้าวพลับพลึง คือ ข้าวที่เก็บเกี่ยว ประมาณ 28 – 30 วันหลักจากที่ข้าวเริ่มออกรวง หรือสังเกตจากข้าวในแต่ละรวงสุกเหลืองประมาณ 3 ใน 4 ส่วน การเก็บเกี่ยวข้าวในระยะนี้จะได้ข้าวพลับพลึงหุงสุก น้ำกะทิ เกลือ น้ำตาล เนื้อมะพร้าวอ่อน และงา การทำจะเริ่มจากนำข้าวพลับพลึงที่หุงสุกมาผสมกับน้ำกะทิ น้ำตาล เกลือ ตามสัดส่วน ผสมให้เข้ากัน นำไปห่อใบตอง โรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อนและงา แล้วห่อให้สวยงาม นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำ “ข้าวพลับพลึง” ตั้งแต่เริ่มต้นการห่อ เป็นของว่าง ได้ทดลองชิม และได้นำกลับไปทาน

ทำน้ำอัญชันเพื่อสุขภาพ

ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดกวางสร้อย อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นการนำประโยชน์จากวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพซึ่งดอกอัญชันมีประโยชน์ในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ไขมันแตกตัวและเผาผลาญได้ง่ายขึ้น พร้อมลดคอเลสเตอรอลได้ดี บำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ และช่วยลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้ ลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็ง

วิธีการทำ เริ่มจากการต้มน้ำ 10 ลิตร พอน้ำเดือดใส่น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม คนให้น้ำตาลละลายดีจากนั้นใส่ดอกอัญชันที่ล้างทำความสะอาดแล้ว 1 กิโลกรัม เติมน้ำมะพร้าวเพื่อความหอมหวานจากธรรมชาติ ทิ้งไว้ให้เย็นกรองเอาเฉพาะน้ำมาบรรจุภาชนะเพื่อรับประทาน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บดอกอัญชันจนถึงขั้นตอนพร้อมดื่ม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ จังหวัดศรีสะเกษ

บ้านกู่ เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมานานกว่าสามร้อยปี  จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีวัดบ้านกู่ซึ่งสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓  เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ ของชาวปรางค์กู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญของชุมชน 

“บ้านกู่” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีเสน่ห์ของชุมชนด้วยการต้อนรับแบบวิถีของชาวกูย      มีอัตลักษณ์ของชุมชน คือการแต่งกายและภาษาพูด ชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ สตรีชาวกูย เป็นผู้มีความสามารถและขยันขันแข็ง มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้เสริมจากการทำการเกษตร ผลิตผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ 

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
“ปรางค์กู่”หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะโก” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูประจำชุมชน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ปรางค์กู่ ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง เรียงตัวตามแนวแกนทิศเหนือ -ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุมเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อสอดรับกับบันไดทางขึ้น ปราสาททั้ง 3 หลัง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวยู (U) อายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 -ต้น พุทธศตวรรษที่ 17

วัดบ้านกู่
วัดบ้านกู่ สร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่งาม เกจิอาจารย์ของอำเภอปรางค์กู่ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกูย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกู่และศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สระกู่
สระกู่ เป็นแหล่งน้ำโบราณที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รอบสระน้ำกู่ เป็นป่าไม้ชุมชน มีต้นมะขามจำนวนมาก อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ภายในชุมชน บ้านเรือน มีความสะอาด    น่ามอง ยังคงวิถีชีวิตของชาวกูย ที่เป็นอัตลักษณ์ ของชุมชน โดยบริเวณใกล้สระน้ำจะมีปราสาทปรางค์กู่ ที่เป็นโบราณสถานสมัยขอมโบราณที่มีอายุยาวนาน ซึ่งชาวชุมชนบ้านกู่ มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาทำความสะอาดชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนแห่งนี้ มีความสะอาด ถูกสุขอนามัย 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้าวอินทรีย์
ประชาชนชาวบ้านกู่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ทำนา

– เกษตรอินทรีย์
– ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
– ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง รวมถึงการ ทำไร่อ้อยสวนยางพารา  เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

สาวไหม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๑๔  กิจกรรม “สาวไหม” เป็นการนำรังไหมที่เลี้ยง มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือดก่อน แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบา ๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขึ้นมา   การสาวไหมมีวิธีการขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญอยู่มาก ผู้ทำการสาวไหมต้องมีความชำนาญ  เส้นไหมจึงจะออกมาสวยงามสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทำและร่วมกิจกรรมของชุมชนได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเส้นไหม และขั้นตอนอื่น ๆ ร่วมด้วย

ร่วมทอผ้าด้วย กี่กระตุก แบบดั้งเดิม
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุมชนจะมีฐานการเรียนรู้การทอผ้าไหมชาติพันธุ์กูย  นักท่องเที่ยวสามารถชม และร่วมทอผ้า ตลอดทั้งช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ที่บริเวณลานวัฒนธรรมดุงกูย

สวมชุดชาวกูย
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ชุดอัตลักษณ์ของชาวกูย บ้านกู่ นักท่องเที่ยวร่วมทดลองสวมใส่และถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกได้

ทำขนมพื้นบ้าน
บ้านกู่ หมู่ที่ ๑ ขนมพื้นบ้าน “ขนมไปรกระซัง”ชุมชนทำขนมพื้นบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่วมทำขนมและรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ไปเยี่ยมชม

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม