ชุมชนคุณธรรมบ้านปรางค์กู่ จังหวัดร้อยเอ็ด

บ้านยางกู่ หรือ ปรางค์กู่ เดิมบริเวณเนื้อที่ประมาณ 500 กว่าไร่ มีลักษณะเป็นดงใหญ่ จากการเล่าขานสืบทอดตำนานประวัติการก่อตั้งชุมชน จนถึงการค้นพบปรางค์กู่ที่ถูกปกปิดซุกซ่อนอยู่ในดงกู่ ที่มีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอย่างหนาแน่นในลักษณะป่ายาง จึงเกิดตำนานซึ่งถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ โดยคำบอกเล่าของผู้สูงอายุว่า อภินิหารของปรางค์กู่ได้ดลบันดาลให้ชาวบ้านมาอยู่อาศัย

ชุมชนบ้านยางกู่ หรือ บ้านปรางค์กู่ เป็นที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถานปรางค์กู่ และกู่น้อย ที่สามารถดึงดูดและเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนได้เป็นอย่างดี ที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้กับสนามบินจังหวัดร้อยเอ็ด และไม่ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดมากนัก นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่แสนอร่อยน่ารับประทานอีกด้วย

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

โบราณสถานปรางค์กู่
ปรางค์กู่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบปาปวน ในลัทธิไศวนิกาย สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนปรางค์กู่เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อ่างเก็บน้ำธวัชชัย
อ่างเก็บน้ำธวัชชัย เดิมชื่อหนอง จอกเจี้ย มีเนื้อที่ ๑,๘๑๒ ไร่ มีน้ำขังตลอดปี เป็นหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางผ่าน จะพบกับภูมิทัศน์ของตะวันลับขอบฟ้า 

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่ ด้วยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปลอดสารเคมี มีลักษณะเป็นข้าว สีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ผิวมันวาว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์

กิจกรรมการท่องเที่ยว

ชมแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
นักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนรู้   วิถีชุมชนเกษตรพอเพียงก็สามารถศึกษาเรื่องของเกษตรวิถีพอเพียงที่นี่ได้ทั้งด้านการเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ไปจนถึงการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

ชมโบราณสถานปรางค์กู่
โบราณสถานปรางค์กู่ ฟังนักเล่าเรื่อง พร้อมชมโบราณสถาน โบราณวัตถุในปรางค์กู่  ซึ่งมีการเก็บกรุอายุกว่า ๘๐๐ ปี และมีวัตถุโบราณอื่น ๆ ต่างก็มีเรื่องราวมากมาย

ชมศูนย์เรียนรู้กลุ่มผลิตภัณฑ์ CPOT และ OTOP
นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ CPOT และ OTOP เช่น ทอเสื่อกก ผ้าสไบขิด หมอนขิด ผ้าพันคอ งานฝีมือเหล่านี้จะมีการเปิดสาธิตและทดลองให้ทำด้วย นอกจากนี้ยังมีการร้องรำให้นักท่องเที่ยวได้สนุกสนานและเพลิดเพลินอีกด้วย

ที่มา กระทรวงวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น